การคบค้าสมาคมกับคนดี
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
การคบค้าสมาคมกับคนดี มีผลดีมากมาย อาทิ
ประการแรก เป็นการส่งเสริมกันให้ทำความดี และห้ามปรามจากการทำความชั่ว อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า
“ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้นอยู่ในความขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันให้มีความอดทน”
(อัลอัสรฺ: 1-3)
ประการที่สอง เป็นการเร่งรีบและแข่งขันในการทำความดี อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
“และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์ซึ่งความกว้างของมันเท่ากับบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง”
(อาล อิมรอน: 133)
และพระองค์ตรัสว่า
“และบรรดาผู้ศรัทธาชายและหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน ซึ่งพวกเขาจะใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดีและห้ามปรามในสิ่งที่ไม่ดี และพวกเขาจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและจ่ายซะกาต และภักดีต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ ชนเหล่านี้แหละที่อัลลอฮฺจะทรงเอ็นดูเมตตาพวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ”
(อัตเตาบะฮฺ: 71)
และพระองค์ตรัสว่า
“และในการนี้บรรดาผู้แข่งขัน (สู่ความสำราญในสวนสวรรค์) ทั้งหลาย จงแข่งขันกันเถิด”
(อัล-มุฏ็อฟฟิฟีน: 71)
ประการที่สาม ความดีและบะเราะกะฮฺของการรวมกลุ่มกับคนดีนั้น ผู้ที่เข้าร่วมกลุ่มก็จะได้รับความดีงามไปด้วย แม้ว่าการงานของเขาจะไม่ได้มีความดีในระดับเดียวกับคนเหล่านั้นก็ตาม ดังที่มีบันทึกจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“แท้จริงอัลลอฮฺทรงมีมลาอิกะฮฺที่วนเวียนไปตามถนนหนทางเพื่อเสาะหาผู้ที่รำลึกถึงพระองค์ ครั้นเมื่อเขาพบกลุ่มชนใดที่กำลังรำลึกถึงพระองค์
พวกเขาก็จะกล่าวแก่กันว่า มาเถิด มาสู่สิ่งที่พวกท่านปรารถนา (สถานที่ซึ่งมีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ)”
และในตอนท้ายของหะดีษ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
แล้วอัลลอฮฺก็ตรัสแก่บรรดามลาอิกะฮฺว่า ข้าขอประกาศแก่พวกเจ้าว่า ข้าได้อภัยโทษแก่พวกเขาทั้งหมดแล้ว
ทันใดนั้นมลาอิกะฮฺท่านหนึ่งก็กล่าวขึ้นมาว่า ‘ในกลุ่มนั้นมีบุคคลที่ไม่ใช่คนในกลุ่มพวกเขาด้วย พวกเขามาเพียงเพื่อธุระบางอย่างเท่านั้น’
พระองค์ก็ตอบว่า พวกเขาคือกลุ่มคนซึ่งผู้ที่ร่วมวงคลุกคลีกับพวกเขาจะไม่ผิดหวัง”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 6408 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2689)
ท่านอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า
“หากปราศจากสามสิ่งดังนี้แล้ว ฉันคงไม่อยากมีชีวิตในดุนยานี้อีกต่อไป สามสิ่งนั้นคือ
♦ ความกระหายในวันที่ร้อนระอุ (ถือศีลอด)
♦ ช่วงเวลาอันแสนลำบากในยามค่ำคืน (ละหมาดตะฮัจญุด) และ
♦ การร่วมสมาคมกับกลุ่มชนที่เฟ้นหาคำพูดที่ดี ๆ มาพูดคุยกัน เหมือนดังการเฟ้นหาอินทผลัมชนิดที่ดี ๆ”
มีกี่คนกันแล้วที่ได้รับทางนำจนกลายเป็นผู้ที่รักษาการละหมาดอย่างดี ละทิ้งการคบหาสมาคมกับมิตรสหายชั่ว ๆ และตั้งใจทำการเรียกร้องบุคคลอื่นไปสู่แนวทางของอัลลอฮฺ ?! สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ หลังจากนั้นก็เป็นเพราะกัลยาณมิตร (มิตรที่ดี มิตรที่ประเสริฐ) ที่เขาคบหาด้วยนั่นเอง
ท่านอบูสะอีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“ท่านอย่าได้คบผู้ใดเป็นมิตรสหายนอกจากผู้ศรัทธา และอย่าได้ให้ผู้ใดรับประทานอาหารของท่านนอกจากผู้ยำเกรง”
(บันทึกโดยอัต-ติรมิซียฺ หะดีษเลขที่ 2395)
อัล-ค็อฏฏอบียฺ ได้อธิบายหะดีษนี้เพิ่มเติมว่า การให้รับประทานอาหารที่ระบุในหะดีษนั้นคือการเชิญมารับประทานอาหารร่วมกัน มิใช่การให้อาหารที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีพทั่วไป ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า
“และพวกเขาเลี้ยงอาหารจากสิ่งที่เขารัก แก่ผู้ยากจน เด็กกำพร้า และเชลยศึก”
(อัลอินสาน: 8)
ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเชลยศึกนั้นคือ บรรดากาฟิร มิใช่ผู้ศรัทธาหรือผู้มีความยำเกรงแต่อย่างใด ทั้งนี้ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวปรามการเป็นมิตรกับผู้ที่มิใช่ผู้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และยังตำหนิการปะปน และร่วมรับประทานอาหารกับพวกเขา เพราะการรับประทานอาหารร่วมกันนั้นจะทำให้จิตใจมีความรักและความอ่อนโยนต่อกัน
(เอานุลมะอฺบูด เล่ม 13 หน้า 123)
แปลโดย : ฟารีด พุกมะหะหมัด / Islamhouse