กัลยาณมิตร (มิตรที่ดี)
  จำนวนคนเข้าชม  15447

 

กัลยาณมิตร (มิตรที่ดี)

 

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

 

        มวลการสรรเสริญทั้งหลายเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความศานติและความจำเริญจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์ และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวและเราะสูลของพระองค์

 

        มนุษย์ทุกคนล้วนมีสัญชาติญานรักการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และคบหามิตรสหายที่จะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อประโยชน์สุขทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ ทั้งนี้ มนุษย์โดยทั่วไปนั้นมีความแตกต่างกันทั้งด้านศาสนาและจรรยามารยาท มีทั้งคนดีที่ควรแก่การเลือกคบเป็นมิตร และคนชั่วที่ควรหลีกห่าง ไม่ร่วมคบค้าสมาคมด้วย

การได้คบหาสมาคมกับคนดีนั้นเป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า    
 

“ในวันนั้น (วันกิยามะฮฺ) บรรดามิตรสหายทั้งหลายต่างกลายเป็นศัตรูต่อกัน นอกจากผู้ที่มีความยำเกรง” 
 

(อัซซุครุฟ: 67)

 

ในทางตรงกันข้าม การคบหาและเป็นมิตรกับคนชั่วก็จะนำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺตะอาลา ตรัสว่า  

        “และวันที่ผู้อธรรมจะกัดมือของเขาแล้วจะกล่าวว่า ถ้าฉันได้ยึดแนวทางร่วมกับท่านเราะสูลก็จะเป็นการดี โอ้ความวิบัติแก่ฉัน หากฉันไม่คบคนนั้นเป็นเพื่อน (ก็คงจะดี) แน่นอน เขาได้ทำให้ฉันหลงผิดจากการตักเตือน หลังจากที่มันได้มายังฉัน และชัยฏอนมารร้ายนั้นเป็นผู้เหยียดหยามมนุษย์เสมอ” 

(อัลฟุรกอน: 27-29)

       มีบันทึกของอัล-บุคอรียฺ และมุสลิม รายงานจากอบูมูซา อัล-อัชอะรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า 

“อุปมาเพื่อนดีและเพื่อนเลวนั้น ดั่งคนขายน้ำหอมและช่างตีเหล็ก

คนขายน้ำหอมนั้น เขาอาจแต้มน้ำหอมแก่เรา เราอาจซื้อน้ำหอมจากเขา หรืออย่างน้อยเราก็ยังมีกลิ่นหอมติดตัวมาจากเขา

ส่วนช่างตีเหล็กนั้น เขาอาจทำให้เสื้อผ้าเรามีรอยไหม้ หรืออาจทำให้เรามีกลิ่นเหม็นไหม้ก็ได้" 


(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 5534 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2628)

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า 


« الرَّجُلُ عَلَى دِيْنِ خَلِيْلِهِ، فَلْيَنْظُرْ أَحَدُكُمْ مَنْ يُخَالِلُ » [رواه الترمذِي برقم 2378]
 

 “บุคคลคนหนึ่งนั้นจะเดินตามแนวทางของเพื่อนของเขา ดังนั้นจงพิจารณาดูว่าเขากำลังคบมิตรกับใครอยู่" 
 

 

(บันทึกโดยอัต-ติรมิซียฺ หะดีษเลขที่ 2378)

       คำว่า “แนวทางของเพื่อนของเขา” หมายถึง อุปนิสัย จรรยามารยาท และความเคยชินของเพื่อนของเขา โดยให้พิจารณาคนที่เขาคบหาอยู่ หากเขามีความพึงพอใจในอุปนิสัยของเพื่อนของเขา โดยไม่กระอักกระอ่วน และไม่หลีกเลี่ยงแล้ว ในที่สุดเขาก็จะลอกเลียนอุปนิสัยนั้นมาจากเพื่อนเขาโดยไม่ทันรู้ตัว 

(เอานุลมะอฺบูด เล่ม 13 หน้า 123)

มีบทกลอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า


عَنِ الْمَرْءِ لَا تَسْأَلْ وَسَلْ عَنْ قَرِيْنِهِ      فَكُلُّ قَرِيْنٍ بِالْمُقَارَنِ يَقْتَدِيْ
 

จะดูใครใคร่ลองดูมิตรของเขา    หมู่คนเราต่างเลียนแบบมิตรสหาย

       มนุษย์นั้นมีสัญชาติญาณในการรับเอาอุปนิสัยต่าง ๆ มาจากเพื่อนสนิทมิตรสหายของเขา ซึ่งจิตวิญญาณของเรานั้นเปรียบเสมือนดั่งกองทหารที่ถูกจัดระเบียบร่วมกัน

        มีบันทึกของอัล-บุคอรียฺและมุสลิม จากรายงานของอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮอันฮฺ ว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

“จิตวิญญาณของมนุษย์นั้นเปรียบเสมือนเหล่าทหารที่ถูกจัดระเบียบให้เป็นกองพัน (ที่แตกต่างกัน)

ดังนั้น วิญญาณใดที่ทำความรู้จักกันก็จะสนิทสนมคุ้นเคยกัน และวิญญาณใดที่ไม่ทำความรู้จักกันก็จะเข้ากันไม่ได้" 


(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3336 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2638)

        ทั้งนี้ อัลลอฮฺได้ทรงสร้างวิญญาณขึ้นมาสองประเภทที่มีลักษณะตรงข้ามกันตั้งแต่แรกเริ่ม กล่าวคือฝ่ายหนึ่งเป็นวิญญาณที่ดี และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นวิญญาณที่ไม่ดี เมื่อเรือนร่างของแต่ละคนได้มาพบเจอกันในโลกดุนยา ก็จะรู้สึกคุ้นเคยเข้ากันได้ หรืออาจจะรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ตามแต่สภาพเดิมของวิญญาณที่อัลลอฮฺทรงสร้างขึ้นมา โดยคนที่ดีก็จะโน้มเอียงหากลุ่มคนที่ดี ในขณะที่คนชั่วก็จะคบหากับกลุ่มคนชั่ว 

(เอานุลมะอฺบูด เล่ม 13 หน้า 124)



 

แปลโดย : ฟารีด พุกมะหะหมัด / Islamhouse