"ตะกาฟุล"ธุรกิจประกันภัยขนาดใหญ่ในโลกมุสลิม
นิพล แสงศรี
ธุรกิจประกันภัย
แม้อุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลงอัตราเติบโตชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2551 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกตะวันตกที่หลายที่ผ่านมา แต่ตลาดประกันภัย ”ตะกาฟุล” ซึ่งเป็นกรมธรรม์สำหรับลูกค้ามุสลิมกลับสวนกระแสมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่า ท่านทราบหรือไม่ว่า ตลาดประกันที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในประเทศมุสลิมได้แก่ มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรต
รายงานจากการประชุมสุดยอดของกลุ่มบริษัทประกันปี 2012 ที่นครลอนดอนประเทศอังกฤษ ระบุว่า ในปี 2015 ข้างหน้า เม็ดเงินประกันในตลาดโลกจะทะลุถึง 25 พันล้านดอลลลาร์สหรัฐ โดยตลาดตะกาฟุลโลกมีมูลค่า 14,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.04 แสนล้านบาท) มาตั้งแต่ปี 2553 ในกลุ่มประเทศรอบอ่าวเปอร์เชียมูลค่าอยู่ที่ 11 พันล้านดอลลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ปี 2012 โดยซาอุดิอาระเบียอยู่ที่ 4.3 พันล้านดอลลลาร์สหรัฐ ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรต ธุรกิจตะกาฟุล กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5 ปีหลังๆ 900 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ และในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้มีเงินตะกาฟุลหมุนเวียนประมาณ 2 พันล้านดอลลลาร์สหรัฐ โดยมาเลเซียประเทศเดียว มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตะกาฟุลในอินโดนีเซีย กำลังเฟื่องฟูและมีอัตราเติบโตร้อยละ 35 % และยังรวมถึงการขยายตัวของธุรกิจตะกาฟุลในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมได้แก่ ตลาดตะกาฟุลสิงคโปร์
การประกันที่นิยมกระทำกันมากได้แก่ การประกันเพื่อสุขภาพ กาารประกันจากอุบัติเหตุและการขับขี่ และการประกันในโครงการต่างๆ (ตามลำดับ) โดยมีบริษัทตะกาฟุลที่ดำเนินงานตามหลักชะรีอะฮ์กว่า 173 บริษัทกระจายอยู่ในกว่า 25 ประเทศทั่วโลก และแนวโน้มตลาดตะกาฟุลมีโอกาสจะเติบโตขึ้น ทั้งในกลุ่มประเทศมุสลิมที่พัฒนาแล้วและในกลุ่มประเทศมุสลิมที่กำลังพัฒนา เช่น บังลาเทศ และปากีสถาน หรือแม้แต่ ซูดานยังมียอดตะกาฟุลถึง 280 ล้านดอลลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 2008
ส่วนสาเหตุนั้นมาจาก ประชากร 1 ใน 4 ของโลกเป็นคนมุสลิม นับเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพสำหรับการขยายตัวของกรมธรรม์ตะกาฟุล ส่งผลให้ในช่วงหลังๆ บริษัทประกันภัยต่างๆ ที่ไม่ใช่บริษัทตะกาฟุลหันมาสนใจตะกาฟุลมากขึ้ััน รวมถึงความต้องการของมุสลิมนิยมที่จะใช้ความคุ้มครองแบบอิสลามมีมากกว่าเดิม
ระบบประกันภัย
ในอิสลามสิ่งที่มนุษย์ต้องพึงพาอันดับแรกคือ ผู้สรรสร้างสรรพสิ่งต่างๆ พร้อมเชื่อฟังและปฎิบัติตามข้อชี้นำที่มาจากพระเจ้า ที่เรียกว่า พระคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเปรียบเป็นไกด์ไลน์ของมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ ส่วนหนึ่งจากข้อชี้นำจากพระคัมภีร์อัลกุรอานคือ การช่วยเหลือกัน การเกื้อกูลกัน การให้ค้ำประกันในด้านความมั่นคงและความสงบสุขทางสังคม
อัลกุรอานระบุความว่า
"และพวกท่านจงช่วยเหลือกันบนการเป็นสิ่งที่ดีงามและสร้างความยำเกรงต่อพระเจ้า และพวกท่านอย่าช่วยเหลือกันบนสิ่งที่เป็นบาปและเป็นศัตรูกัน"
(อัลมาอิดะฮฺ : 2)
" โอ้บรรดา ผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริงสุรา การพนัน แท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้นเป็นสิ่งโสมมอันเกิดมาจากชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ"
(อัลมาอิดะฮฺ : 90)
" โอ้บรรดาศรัทธาชนทั้งหลายพวกท่านจงอย่างได้กินทรัพย์สินระหว่างพวกท่านด้วยวิถีทางไม่ชอบธรรม"
(อันนิซาอ : 29)
และอัลฮะดีษยังระบุความว่า
"อัลลอฮจะทรงให้ความช่วยเหลือบ่าวตราบใดที่บ่าวยังคงให้ความช่วยเหลือพี่น้องเขา"
หลักฐานข้างต้นชี้ให้เห็นถึง โลกทัศน์ของศาสนาอิสลามและวิสัยทัศน์ของคนมุสลิม จำเป็นต้องมีการช่วยเหลือกันในสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือที่หวังการตอบแทนจากพระเจ้าในโลกหน้าหรือการช่วยเหลือที่หวังกำไรในโลกนี้ตามครรลองศาสนา
โครงการประกันภัยแรกเท่าที่ปรากฎในพระคัมภีร์อัลกุรอานคือ ยุคประเทศอียิปต์ประสบความแห้งแล้ง เมื่อฟาโรห์ฝันว่า มีวัวอ้วนเจ็ดตัวกำลังถูกวัวผอมเจ็ดตัวกัดกินและรวงข้าวเจ็ดรวงถูกรวงข้าวแห้งเจ็ดรวงรัดกิน นบียูซุฟจึงทำนายฝันว่า อียิปต์จะมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์แค่เวลา 7 ปี และต่อจากนั้นจะเกิดความแห้งแล้งประชาชนจะอดอยากเป็นเวลา 7 ปี นบียูซุฟจึงเสนอต่อกษัตริย์ฟาโรห์ให้สะสมพืชพันธ์ธัญญาหารในปีที่สมบูรณ์ไว้ 7 ปีสำหรับเลี้ยงประชาชนในปีที่แห้งแล้ง วิธีดังกล่าวถูกนับว่า หลักประกันภัยพื้นฐาน กล่าวคือ เก็บออมวันนี้เพื่อใช้ในอนาคต
แม้แต่ชาวอาหรับในยุคก่อนหน้าศาสนาอิสลามมาถึงคาบสมุทรอาระเบีย พ่อค้าชาวอาหรับนิยมเดินทางไกลเพื่อค้าขายระหว่างแคว้น ทิศเหนือมุ่งหน้าไปแคว้นชาม (ซีเรีย) และทิศใต้มุ่งหน้าไปยังแคว้นเยเมน ก่อนเดินทางพวกเขามักนำเงินส่วนหนึ่งมารวมไว้เป็นกองกลางเพื่อช่วยเหลือสมาชิกร่วมกองคาราวานที่อาจประสบภัยระหว่างทาง และหากพวกเขาบางคนประสบภัยพวกเขาจะใช้เงินกองกลางมาช่วยเหลือ แต่หากเดินทางกลับมาโดยไม่ประสบภัยใด ๆ เกิดขึ้น เงินจำนวนนี้ก็จะถูกคืนให้แก่เจ้าของเงิน
หลังนบีมุฮัมมัด อพยพมายังนครมะดีนะฮ์ หลักประกันสังคมสำหรับประชาชนในด้านต่างๆ ตกอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของรัฐและกองคลังบัยตุลมาล กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามประชาชนประสบปัญหา เช่น ประสบวินาศภัยเกิดขึ้นกับบุคคล หรือทายาทของผู้เสียชีวิต บัยตุลมาลจะทำหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือและจ่ายชดเชย เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัวและผู้ประสบความเดือดร้อนทันที โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะเป็นสมาชิกประกันหรือจ่ายเบี้ยประกันครบหรือไม่ตาม ตราบใดที่เขาเป็นมุสลิมหรืออยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม
ขณะเดียวกันนบีมุฮัมมัด ยังชื่นชมชาวอัชอะรีย์ จากประเทศเยเมน ซึ่งนิยมเก็บเรี่ยรายทรัพย์สินจากสมาชิกและนำมารวมกันเป็นกองทุนกลาง ก่อนนำมาแบ่งปันและช่วยเหลือกัน เพื่อตอบสนองความต้องการ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางประกันทางสังคมหรือเรียกกันว่า ตะกาฟุล อิจญ์ติมาอีย์ ที่ปรากฎมาตั้งแต่ยุคแรกของศาสนาอิสลาม โดยพบข้อสังเกตุประการหนึ่งคือ ไม่มีการนำเงินกองกลางของสมาชิกไปลงทุนหมุนเวียน หรือเกี่ยวข้องกับระบบดอกเบี้ยแต่ประการใด
ส่วน Insurance (การประกัยภัย) แบบตะวันตกปรากฎราวก่อนศตวรรษที่ 13 เป็นที่แพร่หลายตามเมืองต่าง ๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน สัญญาการประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลฉบับแรกของโลกออกให้ ณ เมืองเจนัว ประเทศอิตาลี ลงวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1347 ต่อมาธุรกรรมประเภทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นในตะวันตก เอกชนชาวตะวันตกก็เข้ามาทำแทน โดยอาสาแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นโดยใช้หลักการบริหารจัดการความเสีี่่ยงสมัยใหม่ และมีการนำเอาเงินสมทบของสมาชิกไปแสวงหาประโยชน์ตามแนวคิดธุรกิจแบบเก็งกำไร หรือนำไปลงทุนที่เกี่ยวข้องกับระบบดอกเบี้ย หรือนำเงินทุนที่มาจากระบบดอกเบี้ยจ่ายเป็นค่าเบี้ยแก่สมาชิก จนประกันภัยกลายเป็นธุรกิจที่มีเม็ดเงินไหลหมุนเวียนมากมายในกลุ่มประเทศตะวันตก ก่อนแนวคิดลักษณะนี้จะขยายตัวย้อนเข้าสู่ตะวันออกกลางและโลกมุสลิมในเวลาต่อมา
มติเอกฉันท์ของนักวิชาการ
ปัจจุบันระบบประกันที่พบทั้งในประเทศอิสลามและไม่ใช่ประเทศอิสลามมีมากมายหลายรูปแบบ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. กลุ่มประกันเชิงแลกเปลี่ยนการช่วยเหลือ หมายถึง การที่แต่ละคนหรือแต่ละหน่วยงานสาธารณประโยชน์หรือองค์กรการกุศลได้ระดมเงินหรือรวบรวมทรัพย์สินหรือสิ่งของมีค่าเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนกลาง เพื่อนำไปช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระสมาชิกที่เดือนร้อน หมุนเวียน สลับซับเปลี่ยนกันไปตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งสามารถพบได้ในชุมชน มัสญิด และองค์การกุศลต่างๆ
2. กลุ่มประกันสังคม หมายถึง กองทุนกลางที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระของประชาชน ตามข้อตกลงที่รัฐได้กำหนดไว้ ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในกลุ่มประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม
3. กลุ่มประกันเชิงธุรกิจ หมายถึง บริษัทที่ดำเนินธุรกิจได้ระดมเงินทุนจากสมาชิกและจัดตั้งกองทุนกลาง เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระสมาชิกที่เดือนร้อนตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้โดยใช้หลักการบริหารจัดการความเสีี่ยง (Risk managment) และเพื่อนำเงินทุนกองกลางไปลงทุนทำธุรกิจด้านอื่นๆแบบหมุนเวียนโดยหวังผลกำไรที่จะเกิดขึ้นตามแนวคิดการลงทุนสมัยใหม่
ระบบประกันเชิงธุรกิจพบได้ในการประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย ซึ่งอาจจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือการประกันอัคคีภัย (Fire Insurance), การประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance), การประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance), และ การประกันเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous/Casualty Insurance)
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายอิสลามและนักนิติศาสตร์อิสลาม ได้ทำการศึกษาและทำการวิจัยเกี่ยวกับการประกันสมัยใหม่ เพื่อหาข้อชี้ขาดตามบัญญัติศาสนา โดยสรุปได้ความว่ามี 2 ประเด็น
1. การประกันแบบเแลกเปลี่ยนการช่วยเหลือ (al-Tamin al-Ta‘a Wuni หรือ al-Tamin al-Tabaduli) หมายถึง การตกลงกันเพื่อจ่ายเบี้ยประกันตามกำลังความสามารถของทุกคนเพื่อนำมารวมเป็นกองกลาง ก่อนจะนำไปช่วยสมาชิกคนอื่นที่ประสบความเดือดร้อน การดำเนินงานของบริษัทประกันดังกล่าวกับคล้ายองค์กรการกุศล ซึ่งเน้นการค้ำประกันและรับผิดชอบร่วมกันแต่ไม่เน้นการสร้างผลกำไรแก่สมาชิก และถือว่าทุกคนต่างเป็นหุ้นส่วนขององค์กรหรือถือหุ้นบริษัทตามปริมาณการจ่ายเบี้ยไม่ใช่แค่สมาชิกธรรมดา โดยบริษัทประกันเชิงช่วยเหลือ (al-Ta‘a Wuni) ถูกก่อตั้งเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1986 ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
นักกฎหมายอิสลาม นักนิติศาสตร์อิสลาม ตลอดจนนักปราชญ์อาวุโส ได้มีมติและส่งเสริมประกันประเภทนี้ เนื่องจากโครงสร้างดังกล่าววางบนฐาน Takaful ดั่งเดิมกล่าวคือ เป็นข้อตกตงที่จะร่วมบริจาค ช่วยเหลือกัน และรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน โดยไม่ถือเป็นธุรกรรมทางซื้อขาย ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้กรมธรรม์ประกันภัยอื่นๆ ให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือวิธีการแบบตะวันตก โดยกลับไปสู่เจตนารมณ์เดิมของ Takaful คือ เน้นให้ความคุ้มครองและความมั่นคงแก่สมาชิกทุกคนมากกว่าการลงทุนเก็งกำไร
2. การประกันเชิงธุรกิจ (al-Tamin Biqist Thabit หรือ al-Tamin al-Tijari) หมายถึง บริษัทประกันจะที่ดำเนินงานเหมือนบริษัทที่ทำธุรกิจและสถาบันเงินการลงทุน เช่น ธนาคาร โดยจะระดมเงินจากยอดสมาชิกเพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุนประกันความเสี่ยงในด้านต่างๆแก่สมาชิก ขั้นตอนต่อไปจะนำเงินจำนวนดังกล่าว (ซึ่งปัจจุบันมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาล) ไปลงทุนในโครงการต่างๆ อีกทีตามแนวคิดธุรกิจและการลงทุนแบบเก็งกำไรและการจัดการความเสี่ยง
สมาคมนักปราชญ์อาวุโส องค์การนิติศาสตร์อิสลาม และสภาวินิจฉัยอิสลามระหว่างประเทศ ได้ทำการศึกษาแนวทางของระบบประกันสมัยใหม่อย่างละเอียดพบว่า
(1) บริษัทฯ มักจะทำเป็นสัญญาซื้อขาย
(2) เมื่อไม่มีอุบัติเหตุอันใดเกิดขึ้นดังที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยช่วงระหว่างปี บริษัทฯจะได้รับเบี้ยประกันในขณะที่ผู้เอาประกันจะไม่ได้รับสิ่งใดเลย แต่หากเกิดอุบัติเหตุดังที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเป็นอันตรายต่อทรัพย์สินและสินค้า ผู้เอาประกันจะได้รับเพียงเงินจำนวนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้นแม้จะจ่ายไปแล้วหลายสิบปีก็ตาม
(3) มีความเสี่ยงแบบเล่นการพนัน โดยเฉพาะประกันภัยที่ต้องจ่ายกันรายปี กล่าวคือ ถ้าลูกค้าซื้อประกันภัยรถยนต์ และไม่เกิดอุบัติเหตุในระหว่างอายุกรมธรรม์ บริษัทฯก็ได้เบี้ยประกันลูกค้าไป แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดเมื่อใดและเสียหายมากน้อยแค่ไหน บริษัทฯก็จ่ายค่าเสียหายให้ผู้เอาประกันมากกว่าที่ผู้เอาประกันเคยจ่ายเบี้ยประกัน ธุรกรรมประกันดังกล่าวมีลักษณะคล้ายการพนันและเข้าข่ายการเสี่ยงโชค
(4) ข้อสำคัญมีการนำเงินสมทบของสมาชิกไปกองรวมกับกองทุนที่ปะปนดอกเบี้ย หรือนำเงินสมาชิกไปแสวงหาประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับระบบดอกเบี้ย หรือบริษัทนำเงินดอกเบี้ยมาจ่ายชดเชยแก่สมาชิก หรือบริษัทจ่ายชดเชยมากกว่าจำนวนเงินที่สมาชิกจ่ายค่าเบี้ยประกันทั้งนี้ขึ้นตามระยะเวลา
(5) อื่นๆ ที่ขัดต่อกฎหมายชะรีอะฮ์ (ยังไม่ขอกล่าว)
สมาคมนักปราชญ์อาวุโส องค์การนิติศาสตร์อิสลาม และสภาวินิจฉัยอิสลามระหว่างประเทศ จึงได้ออกแถลงการณ์เมื่อปี ค.ศ.1985 ณ กรุงญิดดะฮฺ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า สัญญาหรือข้อตกลงใดที่ทำกับกรมธรรม์ประกันภัยเชิงพาณิชย์และธุรกิจ (al-Tamin Biqist Thabit) และเต็มไปด้วยการหลอกลวง มีความเสี่ยง เอารัดเอาเปรียบ หรือเกี่ยวพันธ์กับระบบดอกเบี้ย ซึ่งเป็นตัวทำลายข้อตกลงให้เป็นโมฆะ การทำสัญญากับกรมธรรม์ประกันภัยจึงเป็นสิ่งต้องห้าม
สมาคมนักปราชญ์อาวุโส องค์การนิติศาสตร์อิสลาม และสภาวินิจฉัยอิสลามระหว่างประเทศ
- Islamic Fiqh Academy ,Jiddah ภายใต้การดูแลกำกับของ OIC
- Fiqh Academy ,Makkah ภายใต้การดูแลกำกับของ The Muslim World League (MWL, or Rabita)
- The European Council for Fatwa and Research (ECFR), London
- Shariah Fuqaha Academy,Amarica
อ้างอิง/ศึกษาเพิ่มเติม
* al-Tamin Wa Badhu al-Shubuhat by Dr.Jalal Mustafa al-Sayyad (อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ มหาวิทยาลัยมาลิกอับดุลอะซีซ ประเทศซาอุดิอาระเบีย)
* Nitham al-Tamin by Mustafa Ahmad al-Zarqa (อาจารย์ประจำ วิทยาลัยชะรีอะฮ มหาวิทยาลัยจอร์แดน ประเทศจอร์แดน)
* Hukm al-Sharia al-Islamiyah Fi Uqud al-Tamin by Dr.Hasan Hamid Hassan (อาจารย์ดูแลหลักสูตรชะรีอะฮฺศึกษาขั้นสูง วิทยาลัยชะรีอะฮฺ มหาวิทยาลัยมาลิกอับดุลอะซีซ ประเทศซาอุดิอาระเบีย)
* al-Taa wun al-Iqtisadi Baina al-Duwal al-Islamiyah by Sayyid Hasan Abbas Zaki (ที่ปรึกษาสูงสุดของผู้นำสหรัฐอาหรับเอมิเรติและกรรมการขององค์การบริหารจัดการ (Idarah al-SunDuq) เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอาหรับ, อบูดาบี)
* al-Ashqari, Muhammad Sulaiman, et.al. 1998. Qadhaya Iqtisadiyah Mu a Sarah. (Jordan : Dar al-Nafa is), หน้า 11-12 (เล่ม 1).
* www.alrajhitakaful.com
* http://islamstory.com/ar