หลักเกณฑ์ 4 ประการ เกี่ยวกับการตั้งภาคี
  จำนวนคนเข้าชม  6610

 

หลักเกณฑ์ 4 ประการ เกี่ยวกับการตั้งภาคี

 

เชค มุฮัมหมัด บิน อับดุ้ลวะฮ้าบ 

 

บิ้สมิ้ลลาฮ้รร้อฮฺมานิ้รร่อฮีม

 
         กระผมขอวิงวอนจากอัลลอฮฺพระผู้ทรงเกียรติ พระผู้เป็นพระเจ้าแห่งบรรลังก์อันยิ่งใหญ่ ให้พระองค์โปรดทรงดูแลท่านทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ และขอพระองค์โปรดทรงทำให้ท่านเป็นบุคคลที่มีความจำเริญไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม และขอพระองค์โปรดทรงทำให้ท่านเป็นส่วนหนึ่งจากบุคคลที่ เมื่อใดที่เขาได้รับ (ความโปรดปราน) เขาก็รู้จักขอบคุณ เมื่อใดที่เขาโดนทดสอบ เขาก็อดทน และเมื่อใดที่เขาประพฤติผิด เขาก็ขออภัย เพราะแน่นอนว่าบุคคลทั้งสามประเภทนี้ คือ ต้นเรื่องของความสุข
 

        โปรดตระหนักรู้ไว้ว่า อั้ลฮะนีฟียะฮฺนั้น คือ วิถีแห่งท่านอิบรอฮีม ซึ่งได้แก่การที่ท่านต้องให้การสักการะและภักดี (อิบาดะฮฺ) แด่อัลลอฮฺแต่เพียงผู้เดียว โดยอยู่ในสภาพที่มีความบริสุทธ์แด่พระองค์ในการเชื่อมั่นยึดถือ ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ ความว่า 
 

"และข้าไม่ได้สร้างมนุษย์และญินมาเพื่ออื่นใด นอกเสียแต่เพียงเพื่อให้พวกเขากระทำการสักการะและภักดี (อิบาดะฮฺ) ต่อข้าเท่านั้น"
 

(อั้ซซาริย้าต/56)

 

        เมื่อท่านได้รับทราบแล้วว่า อัลลอฮฺทรงสร้างท่านขึ้นมาเพื่อการสักการะและภักดีต่อพระองค์ ท่านก็จำต้องตระหนักรู้ไว้ด้วยว่า การสักการะและภักดี (อิบาดะฮฺ) จะไม่ถูกเรียกว่าการสักการะและภักดี นอกเสียแต่จะมีขึ้นมาโดยอยู่คู่กันกับการให้เอกภาพเท่านั้น เฉกเช่นเดียวกันกับการละหมาด ที่จะไม่ถูกเรียกว่า การละหมาด เว้นเสียแต่จะมีขึ้นมาโดยอยู่คู่กันกับความสะอาดเท่านั้น

         ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่การตั้งภาคีได้เข้าไป (ยุ่งเกี่ยว) กับการสักการะและภักดี เมื่อนั้น การสักการะและภักดีดังกล่าวก็ถือเป็นอันพินาศสิ้น เฉกเช่นเดียวกันกับภาวะสกปรก (ฮะดัษ) เมื่อมันเข้าไป (ยุ่งเกี่ยว) กับภาวะสะอาด (อัตต่อฮารอฮฺ)

        เมื่อได้รับทราบว่า เมื่อใดก็ตามที่การตั้งภาคีได้เข้าไปปะปนอยู่ในการทำการสักการะและภักดี เมื่อนั้น มันก็จะส่งผลทำให้การสักการะและภักดีดังกล่าวเป็นอันต้องพินาศลง และยังส่งผลให้การงานต่างๆ ต้องเป็นโมฆะสิ้น อีกทั้งผู้กระทำการดังกล่าวยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาบุคคลที่พำนักอยู่ในนรกตลอดกาลอีกด้วย 

          หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อัลลอฮฺจะโปรดทรงทำให้ท่านได้หลุดพ้นจากข่ายใยนี้ ซึ่งหมายถึงการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ อันเป็น (พฤติกรรม) ที่อัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งยิ่งได้ตรัสเกี่ยวกับมันไว้ (ความ) ว่า 

" แน่นอนว่าอัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้ในการที่พระองค์จะถูกทำให้มีภาคีขึ้นกับพระองค์

และพระองค์จะทรงอภัยให้ในกรณีอื่นๆ จากนี้ แก่บุคคลที่พระองค์ทรงประสงค์ "

 (อันนิซ้าอฺ/116)


 ดังกล่าวนี้ ก็ด้วยกับการได้รับทราบถึงหลักเกณฑ์ 4 ประการ ที่อัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งได้ทรงระบุไว้ในพระคัมภีร์ของพระองค์

หลักเกณฑ์ที่หนึ่ง 

          ท่านต้องทราบว่า บรรดาผู้ปฏิเสธที่ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ ได้ทำสงครามกับพวกเขานั้น พวกเขาต่างเชื่อมั่นกันว่า อัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งยิ่งนั้น คือ พระผู้สร้าง พระผู้ให้ พระผู้ทรงจัดการดูแล แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเข้าสู่อัลอิสลามแต่ประการใด และหลักฐาน ก็ได้แก่พระดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่งยิ่งที่มีความว่า 


        "จงกล่าวว่า ใครคือ พระผู้ทรงให้ปัจจัยแก่พวกท่านจากฟากฟ้าและผืนแผ่นดิน หรือใครกัน คือ พระผู้ทรงครอบครองการได้ยินและการมองเห็น และใครคือ พระผู้ทรงทำให้สิ่งที่มีชีวิตออกมาจากสิ่งที่ไร้ชีวิตและทรงทำให้สิ่งที่ไร้ชีวิตออกมาจากสิ่งที่มีชีวิต และใครกัน คือ พระผู้ทรงบริหารเรื่องราว พวกเขาก็จะพากันตอบว่า อัลลอฮฺ ดังนั้นเจ้าจงกล่าวเถิดว่า แล้วทำไมพวกท่านถึงไม่ยำเกรงกัน"

(ยูนุส/31) 


หลักเกณฑ์ที่สอง 

          แน่นอนว่าพวกเขาต่างพูดกันว่า พวกเราไม่ได้ทำการวอนขอต่อสิ่งต่างๆ เหล่านั้นและไม่ได้มุ่งหน้าเข้าสู่สิ่งต่างๆ ดังกล่าว นอกเสียแต่เพียงเพื่อแสวงหาความใกล้ชิด และเพื่อแสวงหาการช่วยเจรจาต่อรอง (ชะฟาอะฮฺ -การเป็นตัวกลางในการวอนขอหรือเจรจาต่อลองผลประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น- ) เท่านั้นเอง

        ซึ่งหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องการ (แสวงหา) ความใกล้ชิดนั้น ได้แก่ พระดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง ที่มีความว่า 

          "และบรรดาผู้ที่ยึดถือเอาสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากพระองค์มาเป็นผู้ให้การปกครองและดูแลนั้น พวกเราไม่ได้สักการะและภักดี (อิบาดะฮฺ) ต่อสิ่งต่างๆ ดังกล่าว นอกเสียแต่เพียงเพื่อให้พวกเขาเข้ามาทำให้พวกเรามีสถานภาพที่ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺเท่านั้น แน่นอนว่าอัลลอฮฺจะทรงทำการชี้ขาดระหว่างพวกเขา ในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งต่อกัน แน่นอนว่าอัลลอฮฺจะไม่ทรงชี้แนะบุคคลที่เป็นผู้โกหกและช่างปฏิเสธ "

(อั้ซซุมัร/3) 

        สำหรับหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องชะฟาอะฮฺนั้น ได้แก่ พระดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่ง (ที่มีความ) ว่า

         " และพวกเขาได้พากันทำการสักการะและภักดี (อิบาดะฮฺ) ต่อสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ ที่เป็นสิ่งที่ไม่ให้โทษและไม่ให้คุณแก่พวกเขา และต่างพากันพูดว่า สิ่งต่างๆ ดังกล่าวนี้ คือ บรรดาผู้ที่ทำการช่วยเจรจาต่อรองของพวกเรา ณ ที่อัลลอฮฺ "

(ยูนุส/18) จนกระทั่งจบอายะฮฺ

          การช่วยเจรจาต่อรอง (ชะฟาอะฮฺ) มีด้วยกันสองชนิด (ได้แก่) การช่วยเจรจาที่ถูกปฏิเสธและถูกคัดค้านเอาไว้ (ว่าไม่มีอยู่จริง) และการช่วยเจรจาที่ได้รับการยืนยันไว้ว่า (มีอยู่จริง)

         - การช่วยเจรจาที่ถูกปฏิเสธและถูกคัดค้านเอาไว้ (ว่าไม่มีอยู่จริง) คือ การช่วยเจรจาที่ได้รับการวอนขอมาจากผู้อื่น หรือสิ่งอื่น ที่ไม่ใช่อัลลอฮฺ ในประเด็นที่ไม่มีผู้ใดสามารถกระทำได้นอกจากอัลลอฮฺเพียงเท่านั้น และหลักฐานก็คือ พระดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง (ที่มีความ) ว่า 

         " เหล่าผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงบริจาค (บางส่วน) จากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยแก่พวกเจ้าเสีย ก่อนที่วันๆ หนึ่งซึ่งจะไม่มีการซื้อขายใดๆ (เกิดขึ้น) ในวันนั้น ตลอดจนไม่มีมิตรภาพใดๆ และไม่มีการช่วยเหลือเจรจาต่อลองใดๆ (อีกด้วย) จะมาถึง และพวกที่ปฏิเสธนั้น พวกมัน คือ บรรดาผู้อธรรม

(อัลบะกอเราะฮฺ/254)

         - ส่วนการช่วยเจรจาที่ได้รับการยืนยันไว้ว่า (มีอยู่จริง) นั้น คือ การช่วยเจรจาที่ได้รับการวอนขอมาจากอัลลอฮฺ และผู้กระทำการช่วยเจรจานั้น เป็นบุคคลผู้ได้รับเกียรติให้กระทำการช่วยเจรจาดังกล่าว และผู้รับประโยช์จากการช่วยเจรจานี้ คือ บุคคลที่อัลลอฮฺทรงพอพระทัยในคำพูดและการกระทำของเขา (ซึ่งมันจะมีขึ้นได้) ถายหลังจากพระอนุมัตินั่นเอง ดังที่พระองค์พระผู้ทรงสูงส่งยิ่งได้ตรัสไว้ (ความ) ว่า 

" ใครกัน จะมาช่วยเจรจาต่อรอง ณ ที่พระองค์ได้ เว้นเสียแต่ด้วยพระอนุมัติของพระองค์เท่านั้น "

(อัลบะกอเราะฮฺ/255)


หลักเกณฑ์ที่สาม 

        เป็นที่แน่นอนว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้ปรากฏตนต่อบรรดาผู้คนที่มีความแตกต่างกันในพฤติกรรมการสักการะของพวกเขา บ้างก็ให้การสักการะต่อบรรดามลาอิกะฮฺ บ้างก็ให้การสักการะต่อบรรดานบีและบรรดาคนดีๆ ทั้งหลาย บ้างก็ให้การสักการะต่อต้นไม้และก่อนหิน และบ้างก็ให้การสักการะต่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ซึ่งท่านร่อซู้ลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ก็ได้ทำสงครามกับผู้คนเหล่านั้น โดยท่านไม่ได้ทำการแบ่งแยกในระหว่างพวกเขาแด่ประการใด
ซึ่งหลักฐานก็ได้แก่พระดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง (ที่มีความ) ว่า 

" และพวกเจ้าจงสู้รบกับพวกมันตราบจนกระทั่งไม่มีความวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้นอีก และจนกระทั่งศาสนาทั้งหมดจะเป็นของอัลลอฮฺ "

(อั้ลอันฟาน/39)

ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ได้แก่ พระดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง (ที่มีความ) ว่า 

        " และส่วนหนึ่งจากบรรดาสัญญาณของพระองค์นั้น ได่แก่ กลางคืนและกลางวัน รวมไปถึงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ พวกเจ้าอย่าได้ทำการก้มกราบต่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และจงก้มกราบต่ออัลลอฮฺพระผู้ทรงสร้างพวกมันเหล่านี้ขึ้นมาเถิด หากว่าพวกเจ้าเป็นผู้ที่ทำให้การสักการะและการภักดีมีขึ้นเพียงเฉพาะแด่พระองค์เท่านั้น "

(ฟุตซิลัต/37)

และหลักฐานเกี่ยวกับบรรดามลาอิกะฮฺ ได้แก่ พระดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง (ที่มีความ) ว่า 

"..และท่านก็จะไม่สั่งให้พวกเจ้าทำการยึดถือเอาบรรดามลาอิกะฮฺ และบรรดานบีมาเป็นพระเจ้า..."

(อาละอิมรอน/80) จนกระทั่งจบอายะฮฺ

และหลักฐานเกี่ยวกับบรรดานบี ได้แก่ พระดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง (ที่มีความ) ว่า 

         "และเมื่ออัลลอฮฺตรัสว่า อีซาบุตรของมัรยัม เจ้านั้นได้พูดกับผู้คนหรือ ว่า พวกท่านจงยึดถือเอาฉัน และมารดาของฉันเป็นพระผู้ทรงสิทธิ์อันถูกต้องต่อการได้รับการสักการะและภักดีอื่นจากอัลลอฮฺกันเสียเถิด... "

 (อั้ลมาอิดะฮฺ/116)

และหลักฐานเกี่ยวกับบรรดาคนดีๆ ได้แก่ พระดำรัสของพระองค์ (ที่มีความ) ว่า 

           "บุคคลเหล่านั้นคือ (บรรดาบุคคล) ที่พวกเขาพากันวอนขอ โดยพวกท่านเหล่านั้นต่างคาดหวังในสื่อกลางสู่พระผู้เป็นเจ้าของพวกท่าน ( คือ ด้วยการแข่งขันกันทำความดี) ผู้ใดกันในเหล่าพวกท่านที่มีความใกล้ชิดเป็นที่สุด โดยที่พวกท่านต่างมุ่งหวังความโปรดปรานของพระองค์ และหวาดหวั่นต่อการลงโทษของพระองค์... "
 

(อั้ลอิสร้ออฺ/57) จนกระทั่งจบอายะฮฺ

ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับต้นไม้และก้อนหินนั้น ได้แก่ พระดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง (ที่มีความ) ว่า 

" พวกเจ้าไม่เห็นล้าตและอุ้ซซาดอกหรือ ตลอดจนมะน้าตซึ่งเป็นตัวที่สามอีกตัวหนึ่ง (ด้วย) "

(อันนั้จมฺ/19-20)

รวมไปถึงฮะดี้ษของ อบูวากิดอั้ลไลซี่ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุ ที่ได้กล่าวไว้ (ความ) ว่า 

          “พวกเราได้ออกไปที่ฮุไนน์พร้อมกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ซึ่งขณะนั้นพวกเราเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มแรกถัดจากการปฏิเสธ (กุฟริ) และปรากฏว่าพวกมุชริกนั้น พวกเขามีต้นพุทธาอยู่ต้นหนึ่ง ที่พวกเขาใช้สำหรับนั่งพักและใช้แขวนอาวุธยุทโธปกรณ์ของพวกเขากันไว้ที่นั่น ซึ่งมันถูกเรียกขานกันว่า ซาตุอันว้าต แล้วพวกเราก็ผ่านไปที่ต้นพุทธาอีกต้นหนึ่ง พวกเราจึงพากันกล่าวว่า ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺครับ ได้โปรดทำให้พวกเราได้มี ซาตุอันว้าต เหนือนกันกับที่พวกเขามี ซาตุอันว้าต ...” จนกระทั่งจบฮะดีษ


หลักเกณฑ์ที่สี่ 

          แน่นอนว่าพวกที่ตั้งภาคีในยุคของพวกเรานั้น มีการตั้งภาคีที่เป็นความผิดที่ร้ายแรงเสียยิ่งกว่า (การตั้งภาคี) ของชนยุคก่อนเสียอีก ทั้งนี้ เป็นเพราะชนยุคก่อนนั้น พวกเขาจะตั้งภาคีกันในยามที่พวกเขาอยู่ในภาวะปกติสุข แต่จะพากันให้ความบริสุทธิ์ในยามที่พวกเขาอยู่ในภาวะคับขัน ในขณะที่พวกที่ตั้งภาคีในยุคของพวกเรานั้น การตั้งภาคีกลับมีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในภาวะปกติสุขและภาวะคับขัน

ซึ่งหลักฐานก็ได้แก่พระดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง (ที่มีความ) ว่า 

          "ดังนั้น เมื่อพวกเขาโดยสารอยู่ในเรือเดินสมุทร พวกเขาก็จะวอนขอต่ออัลลอฮฺโดยอยู่ในสภาพที่มีความบริสุทธิ์ในการยึดมั่นต่อพระองค์ แต่แล้วครั้นเมื่อเราได้ทำให้พวกเขาได้แคล้วคลาดมาสู่ผืนแผ่นดิน เมื่อนั้นพวกเขาก็ต่างพากันตั้งภาคีขึ้นมา"

(อั้ลอันกะบู้ต/65)


        อัลลอฮฺทรงมีความรู้ที่สุด และการสดุดีตลอดจนความศานติสุขจงมีแด่ท่านมุฮัมหมัดและต่อวงศ์วานของท่านตลอดจนสหายของท่านด้วยเถิด


 

อาบีดีณ โยธาสมุทร แปลและเรียบเรียง