จริยธรรมอันดีงามของมุสลิม 11-22
อับดุลลอฮฺ บิน อับดุลหะมีด อัล-อะษะรีย์
สิบเอ็ด...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะไม่สิ้นหวังและย่อท้อในความเมตตาของอัลลอฮฺ เมื่อพวกเขาเผชิญหน้ากับบททดสอบ เพราะอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงห้ามในเรื่องนี้ แต่พวกเขาจะเผชิญหน้ากับบททดสอบด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าทางออกและการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺจะต้องมีมาในเร็ววันอย่างแน่นอน เพราะพวกเขามีความเชื่อมั่นในคำมั่นสัญญาของอัลลอฮฺ และตระหนักว่าภายหลังจากความยากลำบากนั้นมีความง่ายดายอย่างแน่นอน พวกเขาจะพินิจใคร่ครวญถึงสาเหตุของบททดสอบด้วยการตรวจสอบตนเองอยู่เสมอ พวกเขาจะยึดมั่นในหลักคำสอนที่ว่า บททดสอบและเคราะห์กรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ล้วนมาจากน้ำมือของพวกเขาเอง และพวกเขาทราบดีว่า การที่ความช่วยเหลือของอัลลอฮฺอาจจะล่าช้าออกไปนั้น ก็เพราะมาจากความผิดบาปที่พวกเขาปฏิบัติ หรือไม่ก็เพราะความบกพร่องของพวกเขาในการปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสในเรื่องนี้ว่า
“และเคราะห์กรรมอันใดที่ประสบแก่พวกเจ้า ก็เนื่องด้วยน้ำมือของพวกเจ้าได้ขวนขวายไว้”
(สูเราะฮฺ อัช-ชูรอ : 30)
ไม่ว่าพวกเขาจะประสบกับเรื่องร้ายแค่ไหน หรือยามที่ต้องการจะปกป้องศาสนา พวกเขาจะไม่ปักใจเชื่ออย่างเต็มร้อยต่อปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ หรือตัวแปรทางโลก รวมถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็จะไม่มองข้ามองค์ประกอบเหล่านี้ และก่อนที่จะพิจารณาสิ่งอื่นใด พวกเขาจะยึดมั่นในหลักคำสอนที่ว่า การเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา การขออภัยโทษต่อพระองค์จากความผิดบาปต่างๆ การเข้าหาพระองค์ และการขอบคุณ(ชุกูร)ต่อพระองค์ในช่วงเวลาที่มีความผาสุก คือ สาเหตุสำคัญที่สุดที่จะทำให้ได้พบทางออกของปัญหาได้เร็วขึ้นหลังจากที่ต้องเจอกับความทุกข์ยากมายาวนาน
สิบสอง...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะมีความรู้สึกหวั่นเกรงในผลตอบแทน(ที่เลวร้าย)จากการเนรคุณและไม่สำนึกบุญคุณต่อความโปรดปรานของอัลลอฮ ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า พวกเขาจึงเป็นผู้ที่มีความขะมักเขม้นในการขอบคุณ(ชุกูร)ต่ออัลลอฮฺและสรรเสริญสดุดีต่อพระองค์มากที่สุด และพวกเขาจะขอบคุณ(ชุกูร)ต่ออัลลอฮฺและสรรเสริญสดุดีต่อพระองค์ในทุกความโปรดปรานทั้งที่เล็กน้อยและที่ใหญ่ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า
“ท่านทั้งหลายจงมองไปยังผู้ที่อ่อนด้อยกว่าพวกท่าน(ในเรื่องทรัพย์สิน ฯลฯ) และจงอย่ามองไปยังผู้ที่อยู่เหนือกว่าพวกท่าน ซึ่งมันจะเป็นการเหมาะสมที่สุดที่จะทำให้พวกท่านไม่ดูแคลนในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ”
(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 2963)
สิบสาม...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะประดับประดาตนเองด้วยมารยาทอันประเสริฐและอุปนิสัยที่ดีงาม ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า
“ผู้ศรัทธาที่อีมานของเขาสมบูรณ์ที่สุด นั้นคือผู้ที่มีมารยาทที่ดีงามที่สุดในหมู่พวกเขา”
(หะสัน เศาะฮีหฺ บันทึกโดยอัต-ติรมีซีย์ หมายเลข 1162 อบูดาวูด หมายเลข 4682 และอัด-ดาริมีย์ หมายเลข 2792)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวอีกว่า
“แท้จริง ในบรรดาผู้ที่ฉันรักมากที่สุดในหมู่พวกท่านและที่พำนักของพวกเขาใกล้ชิดกับฉันมากที่สุดในวันกิยามะฮฺ นั้นคือ ผู้ที่มีมารยาทที่ดีงามที่สุดในหมู่พวกท่าน”
(เศาะฮีหฺ บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 2018)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวอีกว่า
“แท้จริง ผู้ศรัทธาคนหนึ่งจะบรรลุถึงตำแหน่งของผู้ถือศีลอดและผู้ดำรงการละหมาดด้วยกับการมีมารยาทที่ดีงาม”
(บันทึกโดยอบูดาวูด หมายเลข 4798)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวอีกว่า
“ไม่มีสิ่งใดที่จะมีน้ำหนักยิ่งบนตาชั่งมากไปกว่าการมีมารยาทที่ดีงาม และแท้จริงผู้ที่มีมารยาทที่ดีงามนั้น จะบรรลุถึงตำแหน่งของผู้ถือศีลอดและผู้ดำรงการละหมาด”
(เศาะฮีหฺ บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 2004)
สิบสี่...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะมีความบริสุทธิ์ใจในการแสวงหาความรู้และการปฏิบัติอะมัล และพวกเขาจะมีความรู้สึกหวั่นเกรงต่อการโอ้อวด ดังที่อัลลอฮฺ ได้ดำรัสในเรื่องนี้ว่า
“พึงทราบเถิด การอิบาดะฮฺโดยบริสุทธิ์ใจนั้นเป็นของอัลลอฮฺพระองค์เดียว”
(สูเราะฮฺ อัซ-ซุมัร : 3)
สิบห้า...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะให้เกียรติต่อสิทธิหรือข้อห้ามต่างๆ ของอัลลอฮฺ ตะอาลา พร้อมกันนั้นพวกเขาจะมีความรู้สึกที่กระวนกระวายใจเมื่อมีการละเมิดข้อห้ามต่างๆ ของพระองค์ และพร้อมที่จะช่วยศาสนาของพระองค์และบทบัญญัติต่างๆ ของพระองค์ และพวกเขาจะให้ความสำคัญต่อสิทธิของพี่น้องมุสลิม และชอบที่จะให้พี่น้องของพวกเขาได้รับความดีงาม ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสในเรื่องนี้ว่า
“ฉะนั้นผู้ใดที่ให้เกียรติแก่บทบัญญัติของอัลลอฮฺ แท้จริงมันเป็นส่วนหนึ่งแห่งการยำเกรงของจิตใจ”
(สูเราะฮฺ อัล-หัจญ์ : 32)
สิบหก...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะมีความขะมักเขม้นในการละทิ้งความกลับกลอก(นิฟาก) โดยที่พยายามในการทำความดีทั้งที่เปิดเผยและปกปิดในสภาพที่เหมือนๆ กัน พวกเขาจะมองว่าการงานที่พวกเขาปฏิบัติมานั้นมีเพียงน้อยนิด เพื่อเป็นแรงกระตุ้นในการเพิ่มพูนความดีต่อไป และจะพยายามให้ความสำคัญในการปฏิบัติอะมัลของโลกอาคิเราะฮฺก่อนอะมัลของโลกดุนยานี้ทุกครั้ง
สิบเจ็ด...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะมีหัวใจที่อ่อนโยนเป็นอย่างมาก พวกเขาจะร้องไห้อย่างมากมายในความบกพร่องของพวกเขาที่มีต่อสิทธิของอัลลอฮฺ ตะอาลา ทั้งนี้ก็เพื่อหวังว่าพระองค์จะทรงเมตตาต่อพวกเขา และพวกเขาจะพินิจใคร่ครวญ และร้องไห้ รวมถึงให้ความสนใจอย่างมากในเรื่องความตายเมื่อพวกเขาเห็นญะนาซะฮฺ(ศพ) และพวกเขาจะระลึกถึงความตาย ความเจ็บปวดของมัน รวมถึงบั้นปลายชีวิตที่เลวร้าย จนกระทั่งหัวใจของพวกเขาสะท้านหวั่นไหว
สิบแปด...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะมีความรู้สึกที่ถ่อมตนมากยิ่งขึ้น ในทุกๆ ครั้งที่พวกเขาได้ก้าวสู่ตำแหน่งที่ใกล้ชิดอัลลอฮฺ ตะอาลา
สิบเก้า...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะหมั่นเตาบะฮฺตัวอยู่เสมอ พวกเขาจะทำการอิสติฆฟารขอลุแก่โทษทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะพวกเขาสำนึกอยู่เสมอว่าพวกเขาไม่ได้รอดพ้นจากการทำความผิด แม้กระทั่งในช่วงขณะที่ทำความดีเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺก็ตาม พวกเขาจะขอลุแก่โทษในความบกพร่องที่เกิดขึ้นในการทำอิบาดะฮฺ พวกเขาจะระลึกถึงการเฝ้ามองของอัลลอฮฺอยู่เสมอ และจะไม่รู้สึกลำพองใจในสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติ พวกเขาจะรังเกียจการอวดโชว์และความโด่งดัง แต่ทว่าพวกเขาจะสำนึกอยู่เสมอในความบกพร่องและความอ่อนด้อยในการทำอิบาดะฮฺของพวกเขา และนับประสาอะไรกับความผิดพลาดที่พวกเขาได้ทำไว้
ยี่สิบ...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะมีความเข้มงวดต่อการยำเกรงต่ออัลลอฮฺเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาจะไม่กล่าวอ้างตนเป็นผู้ที่มีความยำเกรง แต่พวกเขาจะมีความรู้สึกที่เกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ อัซซะวะญัลละ อย่างมากมาย
ยี่สิบเอ็ด...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะมีความรู้สึกที่หวั่นเกรงต่อบั้นปลายชีวิตที่เลวร้าย พวกเขาจะไม่ละเลยต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ มองว่าโลกดุนยาเป็นเรื่องเล็กน้อยต่ำต้อยสำหรับพวกเขา ไม่ทะเยอทะยานในการสร้างอาคารบ้านเรือน นอกจากเป็นไปเท่าที่มีความจำเป็นและไม่ฟุ้งเฟ้อ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า
“ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ดุนยามิใช่อื่นใดสำหรับอาคิเราะฮฺ เว้นแต่เสมือน คนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านที่เอานิ้วจุ่มลงในทะเล ดังนั้น จงมองดูเถิดว่า มีสิ่งใดติดกลับมาบ้าง”
(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 2858 และอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 2256)
ยี่สิบสอง...
ชาวสะละฟุศศอลิหฺ จะไม่พอใจกับความผิดที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับศาสนาและคนที่เชื่อมั่นในศาสนา แต่พวกเขาจะปฏิเสธความผิดนั้น และช่วยหาข้อแก้ต่าง(กล่าวคือ ช่วยหาเหตุผลหรือปัจจัยที่เป็นสาเหตุของข้อผิดพลาดของเขา โดยที่คิดต่อเขาในแง่ดี -ผู้แปล-) ให้แก่ผู้ที่มีทรรศนะดังกล่าว หากว่าเขาเป็นผู้ที่สมควรจะได้รับการแก้ต่างในเรื่องนั้น และจะช่วยพี่น้องมุสลิมปกปิดความผิดนั้นไว้ให้เงียบที่สุด พวกเขาจะเข้มงวดในการสำรวจและเถียงกับตัวเองในสถานะที่ต้องพึงระวัง พวกเขาไม่นิยมชมชอบที่จะเห็นเรื่องไม่ดีของผู้อื่นถูกเปิดเผย แต่พวกเขาจะจัดการขัดเกลาข้อเสียของตนเสียมากกว่าจะไปยุ่งกับข้อเสียของคนอื่น และจะพยายามปกปิดข้อเสียของผู้อื่นให้มาก และจะพยายามปิดกั้นการแสดงความเป็นศัตรูกับผู้คน และพยายามอาศัยวิธีการต่อรองอะลุ่มอะลวยให้มากที่สุด จะไม่ตอบโต้ใครด้วยสิ่งที่ชั่วร้าย และจะไม่ละเมิดต่อผู้ใดทั้งสิ้น ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า
«لَا يَدْخُلُ الجَنَّةَ قَتَّاتٌ»
“ผู้ที่แพร่งพรายเรื่องราวที่ยังไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงจะไม่ได้เข้าสวรรค์(เพราะจะเป็นการกล่าวร้ายให้แก่ผู้อื่น)”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลข 6056)
ในอีกสำนวนหนึ่ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لَا يَدْخُلُ الْجَنَّةَ نَمَّامٌ» “ผู้ที่พูดให้ร้ายแก่ผู้อื่นจะไม่ได้เข้าสวรรค์”
(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 168)
แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ / Islamhouse