วีรชนแห่งอิสลาม
เรียบเรียงโดย … อารีฟีน มีล่าม
สัจธรรมข้อหนึ่งในโลกนี้คือข้อเท็จจริงที่ว่า “สิ่งใดก็ตามที่จะสามารถคงอยู่ต่อไปได้ สิ่งนั้นจะต้องได้รับการรักษาไว้ อย่างมั่นคง” โดยศาสนาอิสลามที่สืบทอดมาจนถึงเราทุกวันนี้ ทั้งในด้านหลักศรัทธา หลักประกอบศาสนกิจ และหลักการดำเนินชีวิต ล้วนแล้วแต่เป็นมรดกที่ได้รับการปกป้องจากอัลลอฮฺ โดยพระองค์ทรงให้เหล่าบรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นองครักษ์ ผู้พิทักษ์หลักการเหล่านั้นในยุคเริ่มแรก ท่านเราะสูล จึงได้เทิดเกียรติของพวกเขาว่าเป็น “ดวงดาราแห่งประชาชาติ”
ซึ่งเมื่อเราพิจารณาถึงการพิทักษ์ศาสนาของเศาะหาบะฮฺแล้ว เราจะพบว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นกลุ่มชนที่มุ่งมั่นในการรักษาหลักการศาสนาอย่างแท้จริง โดยมิติในการทำงานของพวกเขานั้นมีหลากหลายวาระและนัยยะ ซึ่งครอบคลุมทุกแง่มุมของศาสนา ดังต่อไปนี้
หนึ่ง การพิทักษ์ศาสนา ผ่านการรักษาแม่บทของศาสนา
ในทุกชนชาติ ทุกศาสนา จารีตประเพณี และกฎหมายบ้านเมือง ต่างก็มีรากฐานของตนซึ่งผ่านการตกผลึกจากความเข้าถึงแก่นแท้แห่งแม่บทของสิ่งเหล่านั้น การรักษาแม่บทของแต่ละสิ่งไว้จึงเป็นการรักษาความดั้งเดิมของสิ่งนั้นไว้ทั้งหมด
สำหรับอิสลามแล้ว แม่บทของศาสนามีอยู่สองแม่บทหลัก ๆ ด้วยกันคือ อัลกุรอาน และอัซซุนนะฮฺ โดยอัลลอฮ์ ได้ให้ ความสำคัญกับการพิทักษ์แม่บทสูงสุดอย่างอัลกุรอานไว้อย่างมาก ดังอายะฮฺที่ว่า
"แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมา และแท้จริงเราคือผู้พิทักษ์รักษามัน"
(ยูซุฟ 12)
เหล่าเศาะหาบะฮฺ จึงทุ่มเทและพากเพียรอย่างที่สุดในการรักษา และปกป้องทั้งสองสิ่งนั้นจากการบิดเบือน เติมแต่ง หรือตัดทอน เนื่องจากพวกเขาตระหนักดีว่า การบิดเบือนตัวบทเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับ อัฏเตารอฮฺ และอัลอินญีล อย่างแน่นอน โดยการรักษาอัลกุรอานนั้น เริ่มต้นตั้งแต่การบันทึกของเศาะหาบะฮฺในสมัยของท่านเราะสูลุลลอฮฺ เพียงแต่ยังกระจัดกระจายไม่มีการรวบรวมเป็นรูปเล่มอย่างสมบูรณ์เหมือนทุกวันนี้
เศาะหาบะฮฺชั้นแนวหน้าอย่างท่าน อุมัร อิบนุล คอฏฏอบ จึงมีความคิดเห็นว่า ควรจะจัดการรวบรวมอัลกุรอานให้เป็นรูปแบบที่สมบูรณ์เนื่องจากมีผู้ท่องจำอัลกุรอานเป็นจำนวนมากถูกสังหารในสมรภูมิ ยะมามะฮฺ ท่านก็ได้นำเสนอความเห็นนี้ให้แก่ท่านอบูบักร ซึ่งในตอนแรกก็ถูกคัดค้าน มาโดยตลอดเพราะท่านกลัวว่าจะเป็นบิดอะฮฺในศาสนา แต่ท้ายที่สุดแล้วท่านอบูบักร ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของท่านอุมัร และได้จัดตั้งให้ท่าน ซัยดฺ อิบนุ ษาบิต ทำการรวบรวมอัลกุรอานจากเศาะหาบะฮฺ ท่านต่างๆ เพราะท่านเป็นผู้หนึ่งที่ใกล้ชิดที่สุดกับท่านเราะสูล และได้รับมอบหมายให้บันทึกอัลกุรอานในหลาย ๆ วาระ ทั้งยังสามารถท่องจำอัลกุรอานได้ทั้งเล่มอีกด้วย ซึ่งมีเศาะหาบะฮฺเพียงไม่กี่คนที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมเช่นนี้
การรวบรวมอัลกุรอานได้เสร็จสมบูรณ์ลงในสมัยของท่านอบูบักรฺ ต่อมาก็มีข้อขัดแย้งเรื่องการอ่านอัลกุรอาน ไม่ตรงกัน จนในสมัยของท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน เคาะลีฟะฮฺท่านที่สาม ต้องทำการคัดสำเนาอัลกุรอานและแจกจ่ายไปยังหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อจะรักษาความถูกต้องของอัลกุรอานไว้ แต่ปัญหาเรื่องการอ่านก็ยังไม่จบแค่นั้น เนื่องจากอัลกุรอานที่เขียนด้วยอักษรอาหรับโบราณ จะไม่มีสระเหมือนที่เราอ่านกันในปัจจุบันนี้ เมื่อถึงสมัยของท่านอะลี เคาะลีฟะฮฺท่านที่สี่ ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการอ่านอัลกุรอานผิดเพี้ยนของผู้ที่ไม่ใช่อาหรับ ท่านอะลีจึงสอนศิษย์ของ ท่านนาม “อบุลอัสวัด อัดดุอะลีย์” เกี่ยวกับหลักไวยกรณ์อาหรับ ซึ่งท่านได้นำองค์ความรู้จากท่านอะลีไปต่อยอดและเป็นคน แรกที่ทำการใส่สระในภาษาอาหรับ จนทำให้เรื่องการอ่านอัลกุรอานเป็นการง่ายขึ้นสำหรับคนในยุคนั้น
ส่วนการรักษาหะดีษ เหล่าเศาะหาบะฮฺ มักจะใช้การท่องจำเป็นหลัก โดยเศาะหาบะฮฺจำนวนมากไม่อนุญาตให้ทำการบันทึกหะดีษเลย จนเศาะหาบะฮฺหลาย ๆ ท่านก็ต้องยอมที่จะเผาบันทึกหะดีษที่ตัวเองบันทึกไว้ เนื่องจากมีรายงาน จากท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์ว่า ท่านนะบี ได้สั่งกำชับไว้ว่า
"ท่านทั้งหลายอย่าได้บันทึกสิ่งใดจากฉัน นอกจากอลักุรอานเท่านั้น"
(มุสลิม 5326)
ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความสับสนที่จะเกิดขึ้นระหว่างการบันทึกอัลกุรอาน และการบันทึกหะดีษ แต่ก็มีเศาะหาบะฮฺ จำนวนไม่น้อยที่ได้ทำการบันทึกหะดีษ หลังจากที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาหมดแล้วและไม่ต้องบันทึกอีกต่อไป โดยนักรายงานหะดีษคนสำคัญในหมู่ เศาะหาบะฮฺ คือท่าน อบูฮุรอยเราะฮฺ และคนสำคัญในหมู่เศาะหาบียะฮฺคือ ท่านหญิงอาอิ ชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา และด้วยแม่บทที่สำคัญนี้ มุสลิมทุกยุคทุกสมัยจึงมีแหล่งอ้างอิงหลักฐานทางศาสนาที่ทุกกลุ่มต่างยอมรับ โดยพร้อมเพรียงกัน ไม่มีกลุ่มไหนสามารถปฏิเสธแม่บททั้งสองได้
สอง การพิทักษ์ศาสนา ผ่านขบวนการดะอฺวะฮฺ อิสลามิยะฮฺ
การดะอฺวะฮฺ (الدعوة) ตามความหมายในภาษาไทยแล้ว หมายถึง การเชิญชวน หรือการเรียกร้องไปยังเป้าประสงค์หนึ่งใด ซึ่งการดะฮฺวะฮฺของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ย่อมไม่ใช่การเรียกร้องไปสู่สิ่งอื่น เว้นแต่เป็นการเรียกร้องไปสู่ศาสนาอิสลามเท่านั้น
การเรียกร้อง จะเป็นการพิทักษ์ได้อย่างไร? ในเมื่อภาพลักษณ์ ของการดะฮฺวะฮฺนั้นเป็นการเผยแพร่ เชิญชวน และไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับการป้องกันพิทักษ์รักษา จากพระดำรัสของอัลลอฮฺ ความว่า
"จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระผู้อภิบาลของสูเจ้า ด้วยวิทยปัญญา ข้อตักเตือนที่ดีเยี่ยม และจงโต้เถียงพวกเขาด้วยกับสิ่งที่ดีกว่า"
(อันนะหฺล 125)
1. "วิทยปัญญา" มีสองความหมายหลัก หนึ่งคือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมา ไม่ว่าจะเป็นอัลกุรอาน หรืออัซ ซุนนะฮฺ และ สองคือการรู้จักกาลเทศะ รู้จักเรียงลำดับก่อนหลังและความเหมาะสม ส่วน
2. "ข้อตักเตือนที่ดีเยี่ยม" หมายถึง ข้อตักเตือนที่สามารถเข้าถึงหัวใจของกลุ่มเป้าหมาย ให้เขาตระหนักถึงผลดีและผลเสียที่จะตามมา พร้อมกับเปลี่ยนแปลงหรือ ปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดีขึ้น
3. “โต้เถียงด้วยกับสิ่งที่ดีกว่า” หมายถึง การยกหลักฐานอันประจักษ์แจ้งเมื่อมีการโต้เถียงกับฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้พวกเขาต้องยอมศิโรราบในสัจธรรมอย่างบริสุทธิ์ใจ
เมื่อใดก็ตามที่ดาอีย์คนหนึ่ง สามารถรวมทั้งสามองค์ประกอบไว้ได้ เมื่อนั้นเขาก็จะมีการดะอฺวะฮฺที่สมบูรณ์แบบ การดะอฺวะฮฺในอิสลามไม่ใช่งานที่มีเป้าหมายเพียงแค่การขัดคอผู้อื่นเหมือนคนขวางโลก ไม่ใช่การประจบกลุ่มเป้าหมายจนไร้ความเป็นอัตลักษณ์ และไม่ใช่งานขายฝันที่วาดมโนภาพไว้สวยหรูแต่ทำจริงไม่ได้ แต่งานดะฮฺวะฮฺอิสลามียะฮฺคือภารกิจที่ ตั้งอยู่บนหลักความเป็นจริง โดยอาศัยการผสานกันอย่างลงตัวระหว่างความเข้มแข็ง และความอ่อนโยน
กล่าวคือ การดะอฺวะฮฺเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความสามารถในการนำเสนอสิ่งที่เป็นสัจธรรมความจริงได้อย่างถูกกาลเทศะ พร้อมกับรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สามารถส่งผ่านข้อตักเตือนที่มาจากความบริสุทธิ์ใจให้เข้าถึงหัวใจของผู้ที่รับสารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเมื่อใดที่ถูกคัดค้านก็สามารถหักล้างข้ออ้างของอีกฝ่ายได้ด้วยหลักฐาน
โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการดะอฺวะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ อาจารย์ของเหล่าเศาะหาบะฮฺ พี่น้องหลาย ๆ ท่านที่เคยลงสนามการดะอฺวะฮฺจริงย่อมเข้าใจดีว่า การดะอฺวะฮฺไม่ได้เป็นเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ กลุ่มเป้าหมายของเราต่างก็มีคำตอบในใจของตัวเองอยู่แล้วสำหรับประเด็นที่กำลังสนทนาอยู่ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะนิ่งเฉยปล่อยให้เรานำเสนอความเชื่อของเราฝ่ายเดียว โดยเขาอาจจะตั้งคำถามในสิ่งที่เรานำเสนอแก่เขา ยิ่งไปกว่านั้นเขาอาจจะสวนเรากลับด้วยคำถามเชิงจู่โจม เพื่อสร้างความไขว้เขวแก่หลักความเชื่อของเราก็ได้ ณ จุดนั้นเองการดะฮฺวะฮฺในเชิงตอบโต้ จึงเป็นอาวุธทางปัญญาที่จะคุ้มกันศาสนาอิสลาม
เมื่อใดที่เหล่าเศาะหาบะฮฺต้องลงสนามดะอฺวะฮฺแล้วแน่นอนยิ่งพวกเขาจะต้องพบกับชุบฮะฮฺ หรือคำถามจากต่างศาสนิกที่ยิงเข้ามาเพื่อหมายจะหักล้าง ซึ่งเศาะหาบะฮฺ ก็หาได้ใช้ยุทโธปกรณ์ใดตอบโต้คำถามเหล่านั้นไม่ แต่พวกเขาใช้การดะฮฺวะฮฺตามแนวทางของท่านนะบี ในการโต้ตอบชุบฮะฮฺเหล่านั้น และขจัดความเคลือบแคลงสงสัยในหลักความเชื่อของศาสนา จึงทำให้ชนรุ่นถัดไปได้ ศาสนาที่บริสุทธิ์ตกทอดมาได้ถึงเราในทุกวันนี้
สาม การพิทักษ์ศาสนา ผ่านศาตราวุธ
ตลอดเส้นทางการดำเนินไปของประวัติศาสตร์โลก เราได้พบเจอหลาย ๆ สิ่งทั้งความสุขสมและขมขื่น ทั้งความรุ่งเรืองและมอดดับ สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในหน้าประวัติศาสตร์คือ เรื่องของสงครามและการต่อสู้ หลาย ๆ ครั้งที่การต่อสู้ ในประวัติศาสตร์ได้ฉายภาพให้เห็นว่า การต่อสู้สามารถจะเป็นได้ทั้งอาวุธ ชุดเกราะ และจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ เราต้องตระหนักว่าในโลกนี้มีทั้งวิญญูชนที่เจรจากันได้ด้วยสันติวิธี และชนผู้ไร้อารยธรรมที่นิยมระรานผู้อื่นด้วยความรุนแรง อิสลามจึงต้องบัญญัติหลักเกณฑ์ในการทำสงคราม เพื่อใช้ในการตอบโต้ความอธรรมของกองทัพป่าเถื่อน และดำรงไว้ซึ่งความผาสุกของมวลมนุษยชาติโดยรวม
อัลลอฮฺทรงบัญชาให้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ เรียกร้องเหล่าเศาะหาบะฮฺ ทำการต่อสู้เพื่อปกป้องศาสนาจากการรุกรานของผู้ปฏิเสธศรัทธา ซึ่งเศาะหาบะฮฺหลาย ๆ ท่านมิได้สันทัดการต่อสู้ และหลาย ๆ ท่านรังเกียจการต่อสู้เป็นที่สุด แต่เพราะพวกเขาศรัทธามั่นต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ เหล่าเศาะหาบะฮฺ จึงยอมพลีกายถวายชีวิตในการฝึกฝน และต่อสู้เพื่อปกป้องศาสนา ด้วยความเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อน้อมรับพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า อัลลอฮฺ จึงทรงช่วยเหลือพวกเขาในทุก ๆ สมรภูมิ ดังที่เราจะเห็นได้จากการรุกรานของพวกกุฟฟารที่ไม่สามารถทำร้ายกองทัพของมวลมุสลิมได้ และอัลลอฮฺทรงชื่นชมหัวใจที่แกร่งดังเหล็กกล้าของเศาะหาบะฮฺไว้ในพระดำรัสที่ว่า
"ในหมู่ผู้ศรัทธามีเหล่าบุรุษผู้ซื่อตรงต่อสัญญาที่พวกเขาให้ไว้กับอัลลอฮฺ ดังนั้นในหมู่พวกเขามีผู้ที่ปฏิบัติตามสัญญา
และมีผู้ที่รอคอย(ตำแหน่งชะฮีดในสมรภูมิ) และพวกเขาก็ไม่เปลี่ยนแปลง(ยังคงมั่นต่อคำสัญญา)"
(อัลอะหฺซาบ 24)
ผลลัพธ์ที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนจากความเสียสละของเศาะหาบะฮฺในภารกิจนี้ คือการที่ศาสนาอิสลามสามารถตอบโต้ความอธรรมของกองทัพป่าเถื่อนอย่างพวกกุฟฟารมักกะฮฺ ทั้งยังสามารถจะรักษาชีวิตของวีรบุรุษในหมู่เศาะหาบะฮฺไว้ได้จำนวนมาก จนกระทั่งพวกเขาได้ส่งทอดมรดกจากท่านเราะสูล ให้แก่ชนรุ่นหลังได้อย่างครบถ้วน
ส่ี การพิทักษ์ศาสนา ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม
เราได้ทราบแล้วในเรื่องความทุ่มเทของเศาะหาบะฮฺ ในการรักษาศาสนาผ่านทางการรักษาแม่บทอัลกุรอาน และอัซซุนนะฮฺซึ่งเป็นแกนหลักของศาสนา ถัดจากนั้นก็ผ่านการดะอฺวะฮฺซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันศาสนาในส่วนที่เป็นนามธรรม และ จากนั้นก็ผ่านการทำสงครามซึ่งเป็นเกราะสำหรับศาสนาในส่วนที่เป็นรูปธรรม จนมาถึงตอนนี้ก็ยังมีจุดสำคัญ อีกประการหนึ่งที่จะเห็นได้ถึงความทุ่มเทของเหล่าเศาะหาบะฮใฺนการปกป้องศาสนาและส่งต่ออุดมการณ์ดังกล่าวให้แก่คนรุ่น ถัดไปผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การขัดเกลาทางสังคม” อิสลามได้ให้ความสำคัญกับบริบททางสังคมของมุสลิมอย่างครอบคลุมและชัดเจน โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ อัลลอฮฺทรงกำชับเกี่ยวกับการขัดเกลาทางสังคม คือเรื่องของการสั่งใช้ในความดี และการห้ามปรามความชั่ว ซึ่งอัลลอฮฺทรงเน้นย้ำสิ่งนี้ให้แก่เศาะหาบะฮฺ และผู้ที่ประสงค์จะเจริญรอยตามพวกเขา ให้ตรึกตรองอายะฮฺที่ว่า
"สูเจ้าทั้งหลายคือประชาชาติที่ดีเลิศ ถูกบังเกิดเพื่อมนุษยชาติ พวกเจ้าจะสั่งใช้ในความดี และห้ามปรามจากสิ่งชั่ว และศรทัธาต่ออัลลอฮฺ"
(อาละอิมรอน 110)
โองการดังกล่าวมิใช่การยกย่องเหล่าเศาะหาบะฮฺอย่างเกินจริง เนื่องด้วยเหล่าเศาะหาบะฮฺมีศักยภาพอย่างเปี่ยมล้น ในการสั่งใช้ให้ปฏิบัติสิ่งดีงาม และห้ามปรามจากการประพฤติอันมิชอบ เมื่อถึงคราวที่พวกเขาต้องสั่งให้ผู้อื่นปฏิบัติสิ่งที่ดี พวกเขาจะไม่รอช้า นั่นเพราะพวกเขาตระหนักดีถึงผลบุญที่จะตามมา หากการเชื้อเชิญได้รับความสำเร็จ
ดังเช่นเรื่องราวการเผยแพร่ศาสนาแก่ชาวมะดีนะฮฺของท่านมุศอับ อิบนุ อุมัยร และในการดะอฺวะฮฺชาวเยเมนของ ท่านมุอาซ อิบนุ ญะบัล ซึ่งทั้งสองเป็นเยาวชนที่เดินทางไปเพื่อเรียกร้องผู้คนสู่เตาฮีด การให้เอกภาพแด่อัลลอฮ์ ทั้งๆที่ทั้งสองต่างรู้ดีว่าพวกเขาต้องแบกรับภาระอันหนักนี้ แต่มิได้ปฏิเสธโอกาสในการทำความดีจากท่านเราะสูล และท้ายที่สุดอัลลอฮฺก็ประทานความสำเร็จให้การดะอฺวะฮฺของเขาทั้งสองด้วยจำนวนผู้ตอบรับในการเชิญชวนของพวกเขาอย่างที่คาดไม่ถึง
ผลดีที่ตามมาในสังคมภายหลังการรณรงค์กันเรื่อง “อัลอัมรุ บิลมะอฺรูฟ” พฤติกรรมเลียนแบบที่จะเกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม คือ เมื่อคนกลุ่มหนึ่งในสังคมกระตือรือร้นในการแข่งขันกันทำความดี กลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคมก็จะ มีความรู้สึกต้องการเข้าร่วมในการชิงชัยครั้งนี้ด้วย สังคมโดยรวมจึงมีการแสดงออกกันในเรื่องของความดีงามและศีลธรรม เพิ่มขึ้นตามค่านิยมทางสังคม ซึ่งสิ่งนี้จะมาเป็นเกราะป้องกันการกระทำความชั่วกันอย่างโจ่งแจ้งในสังคมนั้น
สำหรับการห้ามปรามจากสิ่งมิชอบ พวกเขาก็สามารถปฏิบัติได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นที่รัก และเป็นคนที่มีสถานะสูงส่งกว่าก็ตาม แต่เมื่อใดที่เหล่าเศาะหาบะฮฺเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง ก็จะไม่โอนอ่อนผ่อนตามเพราะแค่เห็นแก่ความเป็นมิตร ดังที่จะพบได้จากกรณีศึกษาเกี่ยวกับการที่ท่านอุมัร อิบนุลคอฏฏอบ ทักท้วงการวินิจฉัยของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ในหลาย ๆ ครั้ง และอย่างกรณีที่ท่านซัยดฺ อิบนุ ษาบิต ทักท้วงท่านอบูบักร ในตอนก่อนที่ท่านจะดำเนินการรวบรวมอัลกุรอาน สิ่งเหล่านี้ล้วนฉายภาพให้เราเห็นว่า กระบวนการขัดเกลาทางสังคมของ เศาะหาบะฮฺ เป็นกระบวนการปฏิรูปสังคมที่ทรงประสิทธิภาพเพียงใด
นอกจากนี้เราจะพบว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺ จะเป็นผู้ที่มีความหวงแหนศาสนาอย่างที่สุด และจะไม่ยอมให้คนรุ่นหลังมาบิดเบือนหลักการศาสนาไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ตาม ในรูปแบบการห้ามปรามความชั่วนั้นจะลดหลั่นกันไปตามระดับการชั่งน้ำหนักระหว่างผลดี และผลเสียที่จะตามมาในภายภาคหน้า โดยบางครั้งอาจจะใช้วิธีการเจรจาเพื่อให้พวกเขากลับมาสู่ความถูกต้อง เช่นกรณีที่ท่านอะลี ส่งท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส ไปเกลี้ยกล่อมพวกคอวาริจญ์ ในเมืองกูฟะฮฺ และบางกรณีก็จะใช้วิธีการตัดความสัมพันธ์เพื่อให้คนเหล่านั้นสำนึกผิด เช่นกรณีที่ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร ประกาศกร้าวตัดความสัมพันธ์กับพวกเกาะดะรียะฮฺ และบางกรณีก็จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดปราบปรามชนผู้บิดเบือน ขั้นร้ายแรง เช่นกรณีการยกทัพปราบกบฏริดดะฮฺหลังจากการมรณภาพของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ในสมัยของท่านอบูบักร
กระบวนการขัดเกลาทางสังคมเช่นนี้ เป็นการป้องกันการวิวัฒนาการทางศาสนาที่จะเกิดขึ้นจากน้ำมือของมุสลิมที่จะต้องอาศัยในสังคมมุสลิมรุ่นต่อ ๆ ไป หากเศาะหาบะฮฺไม่ดำรงไว้ซึ่งการสั่งใช้ในความดีหนึ่ง ต่อไปสังคมมุสลิมรุ่นหลังก็จะมองว่า ความดีนั้นเป็นสิ่งด้อยค่าในที่สุด หรืออาจจะไม่เห็นค่าของมันเลย และในอีกวาระหนึ่ง หากเศาะหาบะฮฺไม่ดำรงไว้ซึ่งการห้าม ปรามความชั่วที่ชัดเจนในสังคม ต่อไปสังคมมุสลิมรุ่นหลังก็จะมองว่าความชั่วดังกล่าวนั้นคือสิ่งถูกต้องในที่สุด เช่นนั้นแล้ว การ สั่งใช้ในความดีและห้ามปรามจากความชั่วของเศาะหาบะฮฺ นับว่าเป็นกระบวนขัดเกลาทางสังคมที่ทรงประสิทธิภาพอย่างยิ่งยวด ทั้งยังสามารถเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการวางกรอบนโยบายต่าง ๆ ภายในสังคมมุสลิมรุ่นถัดไปได้เป็นอย่างดี
ณ จุดนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์ที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในการปกป้องศาสนาของเราถัดจากท่านเราะสูล คือเหล่าวีระชนผู้ที่รู้จักในนามว่า “เศาะหาบะฮฺ” ด้วยกับความวิริยะ อุตสาหะ ทั้งด้านสติปัญญา ชีวิต และทรัพย์สิน ที่ยอมสละสิ่งเหล่านี้เพื่อปกป้องและส่งต่อให้แก่ชนรุ่นหลัง คงไม่มีคำขอบคุณใด ๆ ที่เราจะสามารถมอบให้ได้ เว้นแต่การขอดุอาอฺให้แก่พวกเขา และการปกป้องเกียรติของพวกเขาจากการโจมตีของพวกบิดเบือนศาสนา มารศาสนา และพวกมุนาฟิก
ฉะนั้นเราต้องขอดุอาอฺ จากอัลลอฮฺให้พระองค์โปรดทรงอภัยโทษให้แก่ความผิดของพวกเขา และทรงเพิ่มพูนสถานะอันสูงส่งให้แก่พวกเขาทั้งมวลด้วยเทอญ...อามีน