ศอฮาบะฮฺ ต้นแบบแห่งความสำเร็จ
เรียบเรียงโดย … ฮานิส ดาตู
ท่ามกลางกระแสสังคมที่โหมกระหน่ำและพร้อมที่จะพัดพาเราให้หลงทางได้ทุกเมื่อ เป็นเรื่องที่ยากเย็นยิ่งสำหรับผู้ศรัทธาที่จะใช้ชีวิตให้อยู่กรอบอันดีงามที่อัลลอฮฺได้สร้างไว้ ผู้ที่กระทำความชั่วกลับกลายเป็นสามัญชนคนธรรมดาที่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ผู้ที่ถือครองตนภายใต้โอวาทแห่งฟากฟ้ากลับกลายเป็นเฉกเช่นคนแปลกหน้าที่ถูกจับตามอง เปรียบดั่งแกะดำท่ามกลางแกะขาว ท่ามกลางกระแสสังคมเช่นนี้ เราจะยืนหยัดได้อย่างไร หากไร้ซึ่งบุคคลต้นแบบเพื่อเป็นแนวทางและยึดเหนี่ยวหัวใจเราไว้
การศึกษาประวัติศาสตร์ของเหล่าศอฮาบะฮฺ วีรบุรุษผู้หาญกล้าแห่งอิสลามจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับมุสลิมทุกคน เพื่อประจักษ์ว่าพวกท่านช่างแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ จนอยากเดินตามรอยเท้าเพื่อได้รับรู้ว่าท่านเหล่านั้นพบเจออุปสรรคมามากเพียงใด จะได้รู้สึกว่าสิ่งที่เราได้พบเจอกลับกลายเป็นเรื่องปลายนิ้วก้อยโดยทันที และเพื่อรับทราบถึงวิธีการอันชาญฉลาดในการก้าวข้ามอุปสรรค แล้วนำวิธีการเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตัวเรานั่นเอง
ท่านอิมรอน อิบนฺ ฮุศัยนฺ กล่าวว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า
خَيْرُ أُمَّتِي قَرْنِي ثُمَّ الَّذِينَ يَلُونَهُمْ ثُمَّ الَّذِينَ يَلُونَهُمْ ...
"กลุ่มชนที่ดีที่สุดได้แก่ศตวรรษของฉัน ถัดไปก็เป็นพวกที่มาภายหลังพวกเขา ถัดไปก็เป็นพวกที่มาภายหลังพวกเขา(อีกรุ่นหนึ่ง)”
ความหมายของ قَرْنِي (ศตวรรษของฉัน) ณ ที่นี้หมายถึง ผู้คนที่อยู่ในศตวรรษเดียวกับฉัน และพวกเขาก็คือบรรดาศอฮาบะฮฺ (ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยต่อพวกเขา ) นั่นเอง
การศึกษาประวัติศาสตร์ของศอฮาบะฮฺ เหล่าทหารกล้าของอัลลอฮฺมีความสำคัญยิ่งต่อมุสลิมตั้งแต่ปัจเจกบุคคล ครอบครัว และสังคม ดังจะกล่าวไว้ต่อไปนี้
๑. ความสำคัญต่อตนเอง
๑.๑ ด้านการแสวงหาความรู้
การแสวงหาความรู้ เป็นหน้าที่ประการหนึ่งของผู้ศรัทธา หนทางการก้าวไปดื่มด่ำความรู้ในมหาสมุทรแห่งการศึกษาไม่ง่ายดายและราบรื่นนัก ต้องใช้ความเพียรพยายาม อดทนเพื่อดำรงอยู่บนเส้นทางสายนี้ต่อไป เมื่อพบเจออุปสรรคหลายคนเริ่มท้อแท้ ถอดใจ และผู้ที่ไม่มีความอดทนเพียงพอย่อมจากเส้นทางแห่งการศึกษาไปในที่สุด ทั้งที่ในยุคของเราเป็นเรื่องง่ายดายมากในเรื่องของการแสวงหาความรู้ ต่างจากในยุคของท่านนบี ที่บรรดาศอฮาบะฮฺต้องเดินทางไปหาผู้รู้ถึงที่ แม้ไกลแค่ไหนพวกท่านยอมบากบั่น อุตสาหะ จากครอบครัวที่รัก เพราะกระหายในความรู้ การได้รับรู้ความวิริยะอุตสาหะของเหล่าศอฮาบะฮฺ จะเป็นการพิ่มแรงใจให้เราในยามอ่อนแอให้มีพลังขึ้นมาใหม่
ดังเช่นท่านอับดุลลอฮฺ บิน อับบาส ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะแห่งประชาชาติท่านนบีมูฮัมหมัด ท่านสนใจใฝ่รู้ พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ ท่านได้ปรนนิบัติรับใช้ท่านรอซูล มาตั้งแต่เจ็ดขวบ ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดความรู้จากท่านรซูลมาตลอด จนกระทั่งท่านรอซูล ได้กลับคืนสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ ท่านจึงได้ศึกษาหาความรู้จากอุลามะอฺที่เป็นบรรดาศอฮาบะฮฺชั้นอาวุโส ดังที่ท่านได้กล่าวไว้:
เมื่อฉันทราบว่ามีศอฮาบะฮฺท่านหนึ่งท่านใดจำหฮะดีษของท่านรอซูล ถ้าหากฉันไปถึงบ้านของเขาตรงกับเวลาเที่ยงวัน ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อน ฉันก็จะเอนหลังใช้ผ้าห่มหนุนศีรษะนอนอยู่ตรงเชิงบันไดหน้าบ้าน ลมพัดพาฝุ่นมาโดนฉันเต็มไปหมด ถ้าหากฉันจะขออนุญาตเข้าไปหาเขาเสียในตอนนั้นก็จะต้องได้รับอนุญาตอย่างแน่นอน แต่ฉันไม่ปรารถนาจะรบกวนช่วงเวลาพักผ่อนของเขา
และเมื่อเขาออกจากบ้านจึงพบเห็นฉันอยู่ในสภาพเช่นนั้น เขาก็กล่าวว่า :
"โอ้บุตรของลุงของท่านรอซูล ท่านมีธุระอันใดหรือ จึงต้องลำบากลำบนมาถึงที่นี่ด้วยตนเอง เพียงแต่ท่านสั่งมา ฉันจะไปหาท่านทันที"
อิบนิ อับบ๊าสตอบว่า :
"จำเป็นเหลือเกินที่ฉันต้องมาหาท่าน เพราะวิชาความรู้นั้นเราต้องเป็นฝ่ายไปหามัน มิใช่มันจะมาหาเรา" ต่อจากนั้นฉันก็ถามถึงฮะดีษของท่านรอซูล ที่ศอหะบะห์ผู้นั้นท่องจำไว้
นี่คือตัวอย่างของศอฮาบะฮฺผู้ประเสริฐที่มีความวิริยะ อุตสาหะและอดทนเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ และแน่นอน ผู้ที่ดินตามรอยท่านย่อมประสบความสำเร็จ อินชาอัลลอฮฺ
๑.๒ ด้านการใช้จ่ายเวลา
เวลาเป็นนิอฺมัตที่สำคัญที่อัลลอฮฺส่งมาให้เราบริหาร ทุกคนล้วนได้รับเวลาที่เท่ากัน หากแต่ประสิทธิภาพจากการใช้เวลาย่อมต่างกัน หากเราใช้เวลาหมดไปกับสิ่งที่มีแก่นสาร ผลงานที่ออกมาย่อมเป็นที่ชื่นชม หากเราทุ่มเวลาหมดไปกับสิ่งที่หาแก่นสารมิได้ เราย่อมเป็นผู้ที่ขาดทุน
บรรดาศอฮาบะฮฺเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมในการใช้จ่ายเวลาในชีวิตประจำวัน พวกท่านไม่ปล่อยให้แต่ละวันผ่านไปโดยหมดไปกับสิ่งไร้สาระ ตอนกลางวัน ปฏิบัติอามานะฮฺของตนเองที่มีต่อมนุษย์อย่างดีที่สุด สะสางการงานที่ต้องรับผิดชอบโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง เพราะตระหนักดีว่าหลังจากหนึ่งวันผ่านไป อามานะฮฺของวันใหม่ย่อมมาถึง ตกกลางคืน เข้าเฝ้าผู้ทรงสร้างอย่างมิย่อท้อ เสริมสร้างแรงใจ ป้อนอาหารแห่งจิตวิญญาณให้แข็งแกร่ง ท่านอบูบักร อัศศิดดิก ได้กล่าวไว้ว่า:
"พึงรู้เถิดว่า สำหรับอัลลอฮฺทรงมีการงานสำหรับกลางวัน ที่พระองค์จะไม่ทรงตอบรับมันในเวลากลางคืน และทรงมีการงานของเวลากลางคืน ที่พระองค์จะไม่ทรงตอบรับมันในเวลากลางวัน" (หมายถึง การทำหน้าที่ตามกำหนดเวลา ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง)
๑.๓ ด้านการยืนหยัดมั่นคงในศาสนา
การยืนหยัดท่ามกลางกระแสสังคมที่เชี่ยวกราด มีบ้างที่เหนื่อย ท้อแท้ และล้มลง ถึงอย่างไรก็ต้องลุกขึ้นและยืนหยัดต่อไป เพราะเราตระหนักดีว่าสิ่งที่เราพบเจอนั้นช่างเล็กน้อยยิ่งนัก เมื่อเทียบกับบรรดาศอฮาบะฮฺ ผู้มีชีวิตอยู่ในยุคแรกของการเผยแผ่อิสลาม กระแสสังคมที่โหมกระหน่ำและแรงต่อต้านอิสลามอย่างหนักหน่วง มิได้ทำให้ศรัทธาอันแข็งแกร่งสั่นคลอน ตรงกันข้าม ได้เพิ่มศรัทธาอย่างแรงกล้ากลับมา เรามีตัวอย่างจากบรรดาศอฮาบะฮฺมากมายที่ยืนหยัดและยอมสละสิ่งที่ตนมีแม้กระทั่งชีวิต เพื่อเชิดชูไว้ซึ่งศาสนาอันสูงส่ง ตัวอย่างเหล่านี้ จะเพิ่มพลังในหัวใจเราที่อ่อนแรงให้กลับมีพลัง และพร้อมที่จะยืนหยัดในศาสนาอันสูงส่งต่อไป
ท่านอบูบักร อัศศิดดิก ได้กล่าวไว้ว่า:
“ท่านทั้งหลาย ฉันขอสั่งเสียพวกท่านให้เกรงกลัวอัลลอฮฺ ในทุกเรื่อง ทุกสภาพการณ์ จงยึดมั่นอยู่กับความจริง ทั้งในสิ่งที่พวกท่านชอบและไม่ชอบ ไม่มีความดีใดอีกแล้ว นอกจากสิ่งอันเป็นสัจธรรม ใครที่โกหกเขาคือคนชั่ว และใครที่เป็นคนชั่ว เขาย่อมต้องพบกับความพินาศ”
๒. ความสำคัญต่อครอบครัว
ครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในสังคม การสร้างครอบครัวตัวอย่างต้องอาศัยต้นแบบจากคนตัวอย่าง นั่นคือบรรดาศอฮาบะฮฺนั่นเอง
๒.๑ สิทธิระหว่างสามีภรรยา
การที่คนสองคนตกลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน ต้องอาศัยการปรับตัวเข้าหากันและเข้าใจซึ่งกันและกัน ใช้มารยาทที่ดีงามในการอาศัยอยู่ร่วมกัน อีกทั้งต้องเรียนรู้ เข้าใจและปฏิบัติในสิทธิที่พึงมีต่อกันอย่างมิขาดตกบกพร่อง การที่คนๆหนึ่งเริ่มใช้ชีวิตในบทบาทหน้าที่ใหม่ เขาหรือเธอย่อมต้องการแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในบทบาทหน้าที่นั้น และแบบอย่างที่ดีที่สุด ย่อมเป็นแบบอย่างจากบรรดาศอฮาบะฮฺและศอฮาบียะฮฺ ผู้ซึ่งได้เรียนรู้สิทธิระหว่างสามีภรรยาจากท่านรอซูล แล้วนำมาปฏิบัติเพื่อดำรงไว้ซึ่งครอบครัวอุ่นไอรักต่อไป
มีตัวอย่างการแสดงความรักของศอฮาบียะฮฺผู้หนึ่งต่อสามี นางได้สู่ขอสามีของนางก่อนที่เขาจะเสียชีวิต นางคือ อุมมูดัรดาอฺ รอฎิยัลลอฮฺฮูอันฮา อบูดัรดาอฺกำลังจะเสียชีวิต โดยมีอุมมุดัรดาอฺ ภรรยาของเขาอยู่ เมื่อนางได้เห็นสามีที่กำลังจะเสียชีวิต
นางพูดกับอบูดัรดาอฺว่า “เมื่อท่านได้มาสู่ขอฉันในโลกนี้จากพ่อของฉันเพื่อแต่งงาน ฉันก็ตอบรับ”
และนางกล่าวต่อว่า “ฉะนั้น จงขอต่ออัลลอฮฺ ซุบบะฮานะฮูว่ะตาอาลา ให้ฉันได้เป็นภรรยาของท่านอีกในอาคิเราะฮฺด้วยเถิด เพราะฉันอยากเป็นภรรยาท่านอีกในสวรรค์!”
หลังจากอบูดัรดาอฺเสียชีวิต นางก็ถูกทดสอบโดยการถูกสู่ขอเพื่อแต่งงานอีกครั้ง จากมุอาวิยะฮฺ อิบนุ อบีซุฟยาน (ร่อฎิยัลลอฮูอันฮู) ๑ ในคอลีฟะฮฺของมุสลิม ซึ่งท่านมุอาวียะฮฺผู้นี้เป็นชายที่ดีและมีฐานะร่ำรวยและยังป็นศอฮาบะฮฺคนหนึ่งของท่านร่อซูล ศ็อลลอฮูอะลัยฮิว่ะซัลลัม
นางตอบท่านมุอาวียะฮฺไปว่า “ฉันไม่สามารถแต่งงานกับท่านได้ เพราะฉันได้หมั้นหมายกับเขา (อบูดัรดาอฺ) ในสวรรค์แล้ว”
๒.๒ สิทธิระหว่างพ่อแม่กับลูก
ประการแรก คือในเรื่องของความกตัญญูที่ลูกพึงปฏิบัติต่อพ่อแม่
บรรดาศอฮาบะฮฺมากมายที่แสดงแบบอย่างในเรื่องนี้ไว้ ครั้งหนึ่ง ท่านศาสนทูต ได้ประกาศในขณะที่จะออกไปญิฮาดทำสงครามกับกองทัพของศัตรู สาวกผู้หนึ่งได้มาหาท่าน เพื่อขอร่วมในการพลีชีพเพื่อสวนสวรรค์ด้วย
ท่านกลับถามเขาว่า "ท่านมีมารดาอยู่หรือไม่?"
ชายผู้นั้นตอบว่า มี
ท่าน ศาสนทูต จึงกล่าวแก่เขาว่า
«الْزَمْهَا فَإِنَّ الْجَنَّةَ تَحْتَ أَقْدَامِهَا<< "จงกลับไปอยู่กับแม่ของท่าน เพราะแท้จริงสวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของนาง"
(เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 1248)
แม้ว่าการญิฮาดจะเป็นตำแหน่งสูงสุดที่บรรดาศอฮาบะฮฺหวังพิชิต แต่ถึงกระนั้น หากเขามีมารดาที่ยังต้องดูแล นั่นถือเป็นสิ่งที่เขาต้องเลือกทำก่อนการญิฮาด
ประการที่สอง คือ ในเรื่องสิทธิที่ลูกพึงได้รับจากพ่อแม่
ในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ให้ความสุขแก่ลูกโดยการให้ปัจจัยภายนอก(ทรัพย์สิน)มากกว่าปัจจัยภายใน(ความอบอุ่น,การดูแลจิตวิญญาณของลูก) ซึ่งหาได้เป็นความสุขที่แท้จริงไม่ จึงไม่แปลกเลยที่เด็กและเยาวชนเติบโตมาเป็นบุคลากรที่เห็นแต่ความสำคัญของตนเองโดยละเลยหน้าที่ต่อส่วนรวม
ต่างจากบรรดาศอฮาบะฮฺ ในการตัรบียะฮฺลูกๆนั้น พวกท่านจะเน้นหนักในเรื่องปัจจัยภายในมากกว่าปัจจัยภายนอก เด็กๆและเยาวชนที่ถูกบ่มเพาะจึงเติบโตมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพที่ยอมเสียสละ เชิดชูเกียรติแห่งศาสนาต่อไป ดังตัวอย่างของศอฮาบียะฮฺท่านหนึ่งที่หน้าประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้
ท่านหญิงคอนซาอฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮา หรือชื่อจริงว่า ตุมาฎิร บินติ อัมรฺ นางได้ปลูกฝังความรักในญิฮาดลงไปในหัวใจของลูกๆทั้งสี่ จนเมื่อถึงคราวสงครามกอดิซียะฮฺในสมัยท่านคอลิฟะฮฺอุมัร ท่านหญิงคอนซาอฺก็ผลักดันให้ลูกชายทั้ง 4 ของนางออกไปร่วมในกองทัพมุสลิมเพื่อต่อสู้อย่างแข็งขัน จนกระทั่งพวกเขาทั้งหมดได้เป็นชะฮีดในสงครามครั้งนี้ เมื่อข่าวการจากไปของลูกชายทั้ง 4 มาถึง แทนที่นางจะคร่ำครวญ นางกลับกล่าวคำพูดไว้ว่า
“มวลการสรรญเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้ทรงให้เกียรติฉันด้วยการตายของพวกเขา และฉันหวังเหลือเกินว่า ผู้อภิบาลของฉันจะรวบฉันไว้กับลูก ๆ ของฉัน ภายใต้ร่มเงาแห่งความเมตตาของพระองค์ ในสวนสวรรค์อัน เป็นนิรันดร์”
๓. ความสำคัญต่อสังคม
การศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของบรรดาศอฮาบะฮฺ ทำให้เราได้ทราบถึงคุณลักษณะของพวกท่านในฐานะผู้นำที่ดีและในฐานะผู้ตามที่เยี่ยม ซึ่งทั้งสององค์ประกอบจะนำพามาซึ่งสังคมตัวอย่าง เมื่อศอฮาบะฮฺท่านหนึ่งท่านใดถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้นำเพื่อปฏิบัติหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งแล้ว ท่านจะปฏิบัติหน้าที่นั้นอย่างมิขาดตกบกพร่อง เพราะท่านตระหนักดีว่า ตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่ ย่อมมาพร้อมความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง และอัลลอฮฺจะทรงทำการสอบสวนท่านอย่างแน่นอน ท่านจึงดูแลผู้ที่อยู่ใต้ปกครองเป็นอย่างดี ท่านอุมัร เป็นหนึ่งในผู้นำตัวอย่างที่ดูแลผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างทั่วถึง ท่านได้กล่าวไว้ว่า
“แม้เพียงแกะสักตัวที่ตายอยู่ริมแม่น้ำยูเฟรติส เพราะมันหลงฝูง ฉันคิดว่าอัลลอฮฺจะทรงสอบสวนฉันในวันกียามะฮฺ (จากสาเหตุความบกพร่องในการทำหน้าที่ผู้ปกครอง)”
ท่านยังได้กล่าวอีกว่า
“ในวันซึ่งต้องพบกับพระองค์ ความวิบัติจะประสบแก่ผู้ปกครองทั่วทั้งพิภพ ยกเว้นเฉพาะเพียงผู้ที่ปกครองด้วยความเป็นธรรม ตัดสินด้วยความถูกต้อง สัจจริง ใช่ด้วยอารมณ์ ด้วยความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติ ด้วยความปรารถนาส่วนตน หรือด้วยความหวาดหวั่นเกรงกลัวไม่ แต่คือผู้ที่ได้ให้คัมภีร์ของอัลลอฮฺเป็นกระจกสะท้อนอยู่ตรงหน้าเขาเท่านั้น”
นี่คือตัวอย่างผู้นำที่หาได้ยากในปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันนนี้ ตำแหน่งผู้นำถูกซื้อด้วยอำนาจ ชื่อเสียง เงินทอง ตำแหน่งทางสังคม ขอเพียงมีสิ่งเหล่านี้ ตำแหน่งผู้นำเป็นที่ง่ายดาย แม้เขาจะไม่มีความรู้ก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการอิสลามอย่างแท้จริง
ท่านอุมัรได้กล่าวไว้ว่า
“อิสลาม ต้องยึดในญะมาอะฮฺ ญะมาอะฮฺต้องมีการปกครอง การปกครองต้องมีการเชื่อฟัง พึงรู้เถิดว่า ใครก็ตามที่กลุ่มชนของเขาแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้นำเนื่องเพราะความรู้ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในศาสนา นั่นย่อมเป็นการดีสำหรับเขา แต่ใครก็ตามที่กลุ่มชนของเขาแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้นำโดยปราศจากความรู้ ความลึกซึ้งในศาสนาแล้ว นั่นคือหายนะสำหรับเขาและผู้ติดตามเขา”