คอร์รัปชั่น (การทุจริตที่ต้องห้าม)
  จำนวนคนเข้าชม  89304

 

คอร์รัปชั่น (การทุจริตที่ต้องห้าม)

 

นิพล แสงศรี

 

วงจรของคอร์รัปชั่น 
 

        วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล ที่ประชาชนทั่วทุกประเทศต่างสนใจและให้ความสำคัญ องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International – TI ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1993) ได้ให้ความหมายของคำว่า “คอร์รัปชั่น” (Corruption) ไว้หมายถึง การใช้อำนาจที่ได้มาโดยหน้าที่ในการหาประโยชน์ส่วนตัว หรือ การทุจริตโดยใช้หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ อำนาจและอิทธิพลที่ตนมีอยู่ เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและหรือผู้อื่น โดยองค์กรความโปร่งใสสากลได้ระบุถึงกรณีต่างๆที่จะสามารถเกิดขึ้นในการคอร์รัปชั่นดังนี้


 

- การคอร์รัป ชั่นขนาดใหญ่ (Grand corruption) 
 

        เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อบิดเบือนนโยบายหรือใช้อำนาจรัฐใน ทางมิชอบ เพื่อให้ผู้นำหรือผู้บริหารประเทศได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรของชาติ 

- การคอร์รัป ชั่นขนาดเล็ก (Petty corruption) 

       เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับกลางและระดับล่างต่อประชาชนทั่วไป โดยการใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายในทางมิชอบ 

- การติดสินบน (Bribery) 

       เป็นการเสนอ การให้ หรือสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ ทั้งในรูปของเงิน สิ่งของ และสิ่งตอบแทนต่างๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี 

- การยักยอก (Embezzlement) 

        คือ การที่พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กร นำเงินหรือสิ่งของที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ในราชการ มาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง 

- การอุปถัมภ์ (Patronage)

       เป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่นพรรคเล่นพวก ด้วยการคัดเลือกบุคคลจากสายสัมพันธ์ทางการเมือง (คอนเน็กชั่น) เพื่อเข้ามาทำงานหรือเพื่อให้รับผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม 

- การเลือกที่รักมักที่ชัง (Nepotism) 

       เป็นรูปแบบหนึ่งของการเล่นพรรคเล่นพวก โดยเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจที่มี ในการให้ผลประโยชน์หรือให้หน้าที่การงานแก่เพื่อน ครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม 

- ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) 

คือการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ส่วนรวม

        อาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า คอร์รัป ชั่น คือ การกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควร มิชอบ ได้แก่ การเบียดบังทรัพย์ของทางราชการมาเป็นของตน หรือใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เช่นเดียวกับการบอกว่าจะให้/รับทรัพย์สินและประโยชน์แก่เจ้าพนักงานและเจ้า หน้าที่ โดยครอบคลุมทุกอาชีพ หน้าที่ ทั้งในส่วนกลางและในท้องถิ่น หรือราชการและเอกชน 

        การคอร์รัปชั่นขนาดเล็กน้อย (petty corruption) คือ การที่เจ้าหน้าที่รับเงินแม้จะเป็นจำนวนเงินที่น้อยก็ตาม เพื่อดำเนินการบางอย่างให้กับผู้จ่ายเงิน หรือการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ (big corruption) ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงนิยมใช้ในรูปแบบของสินบนเพื่อโครงการใหญ่ๆ เช่น ห้าง บริษัทต่าง ๆ และยังรวมถึงการให้ของขวัญ (gift) ถือเป็นการคอร์รัปชั่นอีกประเภทหนึ่ง รวมถึงการให้ตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การเชิญไปรับประทานอาหาร เพื่อพยายามสร้างความสัมพันธ์อันใกล 


         ส่วนสาเหตุของคอร์รัปชั่นในหน้าทีมีหลายประการแต่ที่พบได้บ่อยที่สุดในหน่วยงาน สถาบัน และองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ 

1. คนในสังคม (ส่วนใหญ่) ยกย่องความร่ำรวย จึงเป็นแรงจูงใจในการแสวงหาเงินทอง 

2. ค่านิยมแบบนิยมพวกพ้องและเครือญาติ ความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์ 

3. ระบบอุปถัมภ์หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์สร้างลูกน้องไว้ช่วยเหลือตนในเรื่องต่าง ๆ 

4. ระบบการควบคุมและตรวจสอบที่ขาดประสิทธิภาพ 

5. การแข่งขันอย่างเข้มข้นเพื่อช่วงชิงตำแหน่งและผลประโยชน์ในหน่วยงาน องค์กร และการเมืองภาครัฐ 


ปัจจุบันการคอร์รัปชั่นในหน้าที่มีหลายรูปแบบ โดยมีให้เห็นตั้งแต่ 

     (1) การซื้อการจัดจ้าง ตั้งแต่การเรียกค่านายหน้า หรือการตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ในการอนุมัติคำร้องเพื่อดำเนินกิจการต่าง ๆ 

     (2) การยักยอกทรัพย์ของทางราชการ หรือการเบิกค่าเบี้ยค่าพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล และค่าเช่าบ้าน เช่น การใช้พาหนะ โดยเบิกค่าพาหนะ หรือการเบิกเบี้ยเลี้ยงเกินวันเวลาที่ปฏิบัติงาน หรือการเบิกค่าเช่าบ้าน แต่ไม่ได้เช่าบ้านจริง 

     (3) การเรียกรับเงิน หรือผลประโยชน์ในการเลื่อนตำแหน่งหรือการโยกย้ายไปในพื้นที่ๆอยากไป โดยการให้ค่าตอบแทน หรือเรียกว่า การซื้อขายเสียง และหาเสียงสนับสนุน


อันตรายของอาชญากรรม 

         นักวิชาการถือว่า คอร์รัปชั่น เป็น อาชญากรรมคอปกขาว (white – collar crime) ซึ่งหมายถึง การกระทำผิดของบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงาน มีอำนาจ และได้ใช้ตำแหน่งและอำนาจที่ตนเองดำรงอยู่ เพื่อแสวงประโยชน์ในทางมิชอบให้แก่ตนและพวกพ้อง ซึ่งผลประโยชน์อาจจะอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นเงิน เป็นสิ่งของ เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้สามารถแปรรูปได้ เช่น ความสะดวกสบายที่มีคนมาบริการให้ในลักษณะที่เรียกว่า การทุจริตคอร์รัปชั่น 

         อาชญากรรม เหล่านี้ ได้เข้ามาเกี่ยวข้องหรือควบคุมชีวิตประจำวันของประชาชนทุกฝีก้าว เช่น หุ้นส่วนในธุรกิจโทรคมนาคม กล้องวงจรปิด เครื่องมือแพทย์ กิจการด้านอุตสาหกรรมอาหาร รวมไปถึงบริษัทรักษาความปลอดภัยของเอกชน หรือการดักฟังทางโทรศัพท์อันเป็นละเมิดสิทธิ์ประชาชนโดยตรง โดยวงจร ของการทุจริต มีการพัฒนาซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีการใช้เงินจำนวนมาก เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐของอาชญากร หรือเพื่อให้มาซึ่งการเข้าถึงประโยชน์มหาศาลจากงบประมาณประเทศ และยิ่งยากต่อการตรวจสอบ ข้อสำคัญมีแนวโน้มไปสู่การก่ออาชญากรรมระดับโลก หรือ “อาชญากรรมข้ามชาติ” กล่าว คือ การกระทำความผิดเป็นขบวนการ มีความสลับซับซ้อน ใช้เงินจำนวนมากสร้างอิทธิพลให้ตนเอง ตัดตอนพยานหลักฐาน มีการครอบงำกระบวนการยุติธรรม และยากต่อการบังคับใช้กฎหมาย


การคอร์รัปชั่นในต่างประเทศ

         การจัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perceptions Index) ประจำปี 2008 ระบุว่า ประเทศ ที่มีปัญหาทุจริตติดสินบนหนักที่สุดจากที่สำรวจทั้งหมด 180 ประเทศ (ทั่วโลก) คือ โซมาเลีย พม่า และอิรัก โดย TTI ได้ประเมินให้โซมาเลียได้คะแนนเพียง 1 คะแนนส่วนพม่าได้คะแนน 1.3 คะแนนเท่ากับอิรัก (น้อยเท่ากับมากสุด)

         เหตุการณ์ เล็กๆ ในตูนิเซีย จุดประกายครั้งแรกโดยพ่อค้าเร่ Mohamed Bouazizi เมื่อวันที่17 ธันวาคม 2010 ที่ลุกขึ้นต่อต้านอภิสิทธิ์ชน แต่ได้รับการกระทำอย่างรุนแรงเหนือศีลธรรมgเป็นการตอบกลับ จนกระทั่งวันที่ 14 มกราคม 2011 การประท้วงต่อต้านของประชาชน ทำให้ประธานาธิบดี Zine El Abidine Ben Ali ผู้ปกครองตูนิเซีย (ตั้งแต่ปี 1987) ต้องก้าวลงจากตำแหน่งด้วยข้อหาการคอรัปชั่นและการใช้อำนาจกดขี่ประชาชน เหตุการณ์ดังกล่าวได้กระพือและเป็นจุดเริ่มต้นที่เรียกว่า การปฏิวัติจัสมิน (Jasmine Revolution) ก่อนจะขยายตัวกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า อาหรับสปริง (Arub Spring) ไปทั่วแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง 

         ผลการศึกษาประเทศที่ยากจน (เช่น ประเทศอียิปต์) พบว่า ชาติ ที่มีมรดกวัฒนธรรมเก่าแก่และยิ่งใหญ่ของโลก มีพีระมิดและสืบทอดอารยธรรมที่ล้ำค่าของอียิปต์ แต่ปัจจุบันมีฐานะเป็นแค่ประเทศยากจนติดอันดับโลก คำถามที่ว่า ทำไมประเทศอียิปต์ยากจน ? เหตุผลต่างๆ มีมากมาย แต่ในที่สุด เมื่อประชาชนอียิปต์รวมตัวกันชุมนุมประท้วงรัฐบาลและขับไล่ผู้นำและกล่าว เป็นเสียงเดียวกันว่า ความยากจนของอียิปต์มาจากการเป็นรัฐที่คอรัปชั่น 

         นอกจากนั้นการข้อหาคอรัปชั่นยังเขย่ารัฐบาลในประเทศบาห์เรน ลิเบีย ซีเรีย และเยเมน ด้วย การลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลในโลกอาหรับเริ่มมานับแต่ปี 2554 ประสบการณ์จากประเทศใกล้เคียงน่าจะทำให้การเมืองในโลกอาหรับดีขึ้นหรือปฎิรูปประเทศ แต่ผลสำรวจกลับพบว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นกลับแย่ลงกว่าเดิมในเกือบทุกประเทศ ทั้งที่ประเด็นนี้เคยเป็นเหตุผลหลักของการลุกฮือขับไล่รัฐบาลและผู้นำ โดยใน 4 ประเทศที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ปรากฏว่าผู้คนส่วนใหญ่ใน 3 ประเทศได้แก่ อียิปต์, ตูนิเซีย และเยเมน มีความคิดว่าประเทศของตนเกิดการทุจริตประพฤติมิชอบมากขึ้นยิ่งกว่า 2-3 ปีก่อน ยกเว้น ลิเบีย ที่มีเพียง 46% คิดว่าประเทศตนมีคอร์รัปชั่นมากขึ้น 

        ส่วนหลายชาติอาหรับที่ไม่เผชิญการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลและขับไล่ผู้นำ แต่ผลพวงของอาหรับสปริงได้เพิ่มความตึงเครียดทางการเมือง ผลสำรวจก็พบเช่นกันว่าผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาคอร์รัปชั่นแย่ลงกว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นที่เลบานอน (84%), โมร็อกโก (56%) และอิรัก (60%) 

        อินเดียนเอ็กซ์เพรสส์ของอินเดีย รายงานว่า บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ (เพิร์ก) ได้จัดอันดับการทุจริต ใน 16 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 7 ของประเทศ และเขตเศรษฐกิจที่ทุจริตมากที่สุด ส่วนอันดับ 1 คือ กัมพูชา 

       จุดจบของผู้/กลุ่มคอร์รัปชั่นมีทางเลือกให้ไม่มากนัก ได้แก่ ประชาชนเดินขบวนขับไล่หรือเนรเทศ, ยุบสภาฯหรือลาออก, ถูกสังหาร และร้ายแรงสุดคือสงครามกลางเมือง


กฎหมายต่อต้าน การทุจริต และคอร์รัปชั่น 

         องค์การ สหประชาชาติ เห็นว่าปัญหาดังกล่าวกระทบต่อความบริสุทธิ์โปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐ กระทบต่อการปกครองระบบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจของโลก จึงได้มีการจัดทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ขึ้น (United Nations Convention against Corruption) ซึ่งมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 โดยมีประเทศที่ลงนามรับรองอนุสัญญาฯ จำนวน 140 ประเทศ จากยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย แอฟริกา อเมริการวมทั้งประเทศไทยด้วย มีผลทำให้ทุกประเทศสมาชิกต่างออกกฎหมายควบคุม ต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น

         ในกลุ่มประเทศอาหรับเราจะพบ (الهيئة امكافحة الفساد) การตั้งหน่วยงานและองค์กรอิสระรวมกันต่อต้านและตรวจสอบการทุจริตในหลาย ประเทศ เช่น เลบานอน ได้แก่ Arab Anti-Corruption Organization, และซาอุดิอาระเบีย ได้แก่ National Anti-Corruption Commission เป็นต้น


อิสลามต่อต้านการคอร์รัปชั่น 

        หากท่านศึกษาข้อมูลที่กล่าวมา ท่านจะพบ สาเหตุหรือแรงกระตุ้นให้เกิดการทุจริตและคอร์รัปชั่นในหน้าที่คือ ความโลภ ความอยากได้ในทรัพย์สินหรือสิ่งของหรือสิ่งตอบแทนหรือหน้าที่และตำแหน่งที่ ดีกว่าหรือมีโอกาศมากกว่า คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึง งาน หรือ การทำงาน ไว้มากกว่า 300 ครั้ง โดยมากกว่า 10 กว่าครั้งมักจะกล่าวควบคู่กับการศรัทธาหรือกิจกรรมที่ดีงาม หรือถูกต้องตามศาสนบัญญัติ เมื่อใดก็ตามที่คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวถึงงาน อัลกุรอานมักจะกล่าวถึงการสอบสวนและตอบแทนในโลกหน้าควบคู่ไปเสมอ อัลกุรอานระบุความว่า 

"บุคคล ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง โดยเขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะเขามีการดำรงชีพที่ดี

และแน่นอนเราจะตอบแทนรางวัลของพวกเขากับพวกเขาที่ดียิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขา เคยกระทำไว้"
 

(อันนะฮฺลุ :97 )

         การทำงานหรือการหาเลี้ยงชีพเป็นสิ่งอิสลามส่งเสริม ทั้งในรูปแบบทำคนเดียวเพียงลำพัง เช่น ค้าขายและรับจ้าง หรือทำงานร่วมกับบุคคลอื่นๆ เช่น เป็นพนักงานและเจ้าหน้าที่ ในหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้ค่าจ้าง เงินเดือน หรือค่าตอบแทนตามตกลง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอะมานะฮ์หรือหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องปฎิบัติอย่างตรงไป ตรงมาเพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ตกลงกันไว้โดยไม่ทุจริตต่อหน้าที่ 

ท่านนบีมุฮัมมัด  เคยกล่าวความว่า 

"ทุกๆคนนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบ และทุกๆคนนั้นจะถูกสอบสวนจากหน้าที่รับผิดชอบ"

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ )

        และในหนังสือซอเฮี๊ยะอัลบุคอรีย์ ระบุว่า แท้จริงท่านนบีมุฮัมมัด  เคยมอบหมายงานชิ้นหนึ่งให้ชายคนหนึ่งกระทำ (เก็บซะกาตฺและเศาดาเกาะฮ์) เมื่อเขากับมาหาท่านพร้อมทรัพย์สิน เขากล่าวว่า อันนี้คือทรัพย์สินท่านและอันนี้คือทรัพย์ฮะดียะฮ์สินน้ำใจที่เขามอบให้ฉัน ท่านนบีมุฮัมมัด  จึงกล่าวตักเตือนความว่า

         "ถ้าเขานั่งในอยู่กับบ้านพ่อแม่เขา เขาจะได้รับสิ่งของฮะดียะฮ์กระนั้นหรือ ! ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ใครก็ตามจากพวกท่านจะต้องไม่รับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ใช่สิทธิของเขา ยกเว้นเขาจะกลับไปพบอัลลอฮ์โดยเขาจะต้องแบกรับสิ่งนั้นในวันกิยามะฮ์"

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์)

และนั้นก็คือการแสวงหาผลประโยชน์จากหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ที่ท่านห้าม เพราะ 

(1) เขารับในสิ่งที่เขาไม่มีสิทธิแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ และถูกสอบสวนในวันกิยามะฮ์ 

(2) หากเป็นสิ่งที่มีจำนวนมากหรือมหาศาล อาจส่งผลกระทบหรือสร้างปัญหาต่อคนอื่นและสังคมส่วนรวม ดังนั้นเราจึงพบว่า

"ท่านนบีมุฮัมมัด  ได้สาปแช่งคนที่ให้สินบน และคนที่รับสินบน และคนประสานงานระหว่างผู้ให้สินบน และผู้ที่รับสินบน"

(บันทึกโดยอัลฮากิมและอะฮ์มัด)

        อันตราย และผลกระทบของการทุจริตที่มีต่อฝ่ายตรงข้ามและสังคมมีอย่างใหญ่หลวง การทุจริตจึงถูกห้ามทั้งในภาคสังคม การปกครอง หรือแม้แต่ภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจ และค้าขาย

"ท่านนบีมุฮัมมัด  บุคคลใดทุจริตพวกเราบุคคลนั้นไม่ใช่พวกเรา"

(บันทึกโดย มุสลิม)

         การทุจริตและคอร์รัปชั่นในหน้าที่ถูกปฎิเสธมานานกว่า 1400 กว่าปีแล้ว และการต่อต้านยังคงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นความผิดที่ส่งผลกระทบต่อตัวบุคคลและเป็นอาชญากรรมทางสังคมส่วนร่วม ที่สามารถนำพาประเทศชาติไปสู่ความหายนะหรือเป็นตัวบ่อนทำลายความมั่นคง ของมนุษยชาติ อัลกุรอานระบุความว่า

"และท่านอย่าได้แสวงหาความหายนะบ่อนทำลายบนโลก แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงรักบรรดาผู้ที่สร้างความหายนะและบ่อนทำลาย"

(อัล เกาะศ็อด : 77 )

"และพวกเจ้าจงอย่ากินทรัพย์สมบัติของพวกเจ้าระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ และจงอย่าใช้จ่ายมัน ให้แก่ผู้พิพากษา

เพื่อที่พวกเจ้าจะได้กินส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินสมบัติของผู้อื่น ด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นบาปทั้งๆ ที่พวกเจ้ารู้กันอยู่"

(อัลบะเกาะเราะฮ์ : 188)










ข้อมูลจาก //

-National Anti-Corruption Commission,Saudiarabia.
-Arab Anti-Corruption Organization,Jordan.
-http://blog.eduzones.com/rangsit/1648
-http://thaipublica.org/2011/12/7-thingsindex-corruption-201
-http://www.thaipost.net/news/100713/76192 -http://www.oknation.net/blog/print.php?id=872214