พวกเราเชื่อเรื่องกำหนดสภาวการณ์
เชค มุฮัมหมัด บิน ซอและฮฺ อั้ลอุไซมีน
พวกเราเชื่อเรื่องกำหนดสภาวการณ์ ทั้งที่เป็นสิ่งที่ดีและไม่ดี ซึ่งหมายถึง การวางกำหนดการของอัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งล้วนเป็นไปตามความรอบรู้ของพระองค์และเหตุผลอันเหมาะสมยิ่งของพระองค์
การวางกำหนดสภาวการนั้นมีด้วยกันสี่ลำดับ
ลำดับที่หนึ่ง ทรงรู้
พวกเราเชื่อว่าอัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง ทรงรู้ทุกสิ่ง ทรงรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิดขึ้นตลอดจนรายละเอียดของการมีขึ้นของสิ่งนั้นๆว่าเป็นเช่นไร ซึ่งเป็นความรู้ที่ทรงมีมาแต่ดั้งเดิมไม่มีจุดเริ่มต้นและเป็นความรู้ที่ถาวรไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นความรู้ของพระองค์จึงไม่ใช่การรับรู้ในข้อมูลที่เคยผ่านการไม่รู้ในเรื่องนั้นๆ มาก่อน และเป็นความรู้ที่จะไม่มีการลบเลือนหรือหลงลืมเกิดขึ้นภายหลังจากความรู้นั้น
ลำดับที่สอง ทรงบันทึก
พวกเราเชื่อว่า อัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง ได้ทรงบันทึกเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นตราบจนถึงวันกิยามะฮฺไว้แล้วในแผ่นบันทึกที่ได้รับการพิทักรักษา
"เจ้าไม่รู้หรือว่า แท้จริงอัลลอฮฺทรงรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในฟากฟ้าและแผ่นดิน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนอยู่ในบันทึก แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นย่อมง่ายดายยิ่งสำหรับอัลลอฮฺ"
(อั้ลฮั้จญฺ/70)
ลำดับที่สาม ทรงประสงค์
พวกเราเชื่อว่าอัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง ทรงมีพระประสงค์เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆทั้งหมดในฟากฟ้าและแผ่นดินไม่มีสิ่งใดมีขึ้นมาได้เว้นเสียแต่จะมีขึ้นมาด้วยพระประสงค์ของพระองค์เท่านั้น สิ่งใดก็ตามที่พระองค์ทรงประสงค์มันก็จะเกิดขึ้น ส่วนสิ่งใดที่พระองค์ไม่ทรงประสงค์มันก็จะไม่เกิดขึ้น
สำดับที่สี่ ทรงสร้าง
พวกเราเชื่อว่า อัลลอฮฺ พระผู้ทรงสูงส่ง ทรงเป็น
"พระผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง และพระองค์คือพระผู้ทรงเป็นพระผู้ทรงรักษาและดูแลทุกๆสิ่ง
บรรดากุญแจแห่งบรรดาฟากฟ้าและแผ่นดินนั้นเป็นของพระองค์"
(อั้ซซุมัร/62-63)
ทั้งสี่ลำดับที่ได้กล่าวไปนี้ครอบคลุมทุกสิ่งที่เกิดขึ้นโดยพระองค์เอง และสิ่งที่เกิดขึ้นโดยผู้เป็นบ่าว หมายความว่า ทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นกับปวงบ่าวนั้น ไม่ว่าจะหมายถึง คำพูด การกระทำ หรือการละทิ้ง ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงรู้ และได้ทรงบันทึกไว้แล้ว ณ ที่พระองค์ ตลอดจนพระองค์อัลลอฮฺยังได้ทรงประสงค์และทรงสร้างสิ่งนั้นๆให้มีขึ้นมาอีกด้วย
"สำหรับบางส่วนของพวกเจ้าที่ต้องการจะมีความเที่ยงตรง และพวกเจ้าย่อมมิอาจมีความต้องการใดๆได้
นอกเสียจากอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าแห่งทุกสรรพสิ่งจะได้ทรงประสงค์(ให้มันมีขึ้น)เท่านั้น"
(อั้ตตั้กวี้ร/28-29)
"และหากอัลลอฮฺทรงประสงค์พวกเขาก็คงไม่ฆ่าฟันกัน แต่ทว่าอัลลอฮฺนั้นทรงกระทำดังที่ทรงต้องการ"
(อั้ลบะกอเราะฮฺ/253)
"และหากอัลลอฮฺทรงประสงค์พวกเขาคงไม่กระทำเช่นนั้น ดังนั้นเจ้าจงปล่อยพวกเขาและสิ่งที่พวกเขาใส่ความกันขึ้นมาไปเสีย"
(อันอันอาม/112)
"และอัลลอฮฺนั้นทรงสร้างพวกเจ้าตลอดจนสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกันขึ้นมา"
(อั้ศศ้อฟฟ้าต/96)
อย่างไรก็ดีพร้อมกันนั้นพวกเราก็ยังเชื่อว่า อัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงทำให้ผู้เป็นบ่าวมีความสามารถในการตัดสินใจเลือกและมีความสามารถในการดำเนินการ(ตามที่ตนได้เลือก) ซึ่งบนความสามารถทั้งสองประการนี้นี่เองที่จะส่งผลให้เกิดการกระทำขึ้น
หลักฐานที่ยืนยันว่า การกระทำของปวงบ่าวนั้น มีขึ้นโดยการตัดสินใจเลือกและโดยความสามารถของพวกเขาเองนั้นมีดังนี้
หนึ่ง ♥ ดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่ง ที่(มีความ)ว่า
"ดังนั้นพวกเขาจงเข้ามาหาสวน(แหล่งพาะปลูก – หมายถึงภรรยา)ของพวกเจ้าเช่นใดก็ได้ตามที่พวกเจ้าต้องการ"
(อั้ลบะกอเราะฮฺ/223)
และดำรัสของพระองค์(ความ)ว่า
"และถ้าความพวกเขามีความประสงค์ที่จะออกไป แน่นอนว่าพวกเขาย่อมจะต้องตระเตรีมสัมภาระไว้ให้พร้อมเพื่อการนั้นแล้ว"
(อั้ตเตาบะฮฺ/46)
พระองค์ได้ทรงยืนยันว่าการมาหาและการออกไป(ข้างต้น)ของบ่าวนั้น เป็นไปโดยความประสงค์และความต้องการของเขาเอง
สอง ♥ การมีการกำหนดข้อสั่งใช้และข้อห้ามต่อบ่าว ทั้งนี้เพราะถ้าหากบ่าวไม่มีความสามารถในการตัดสินใจเลือก และไม่มีความสามารถในการลงมือปฏิบัติแล้ว คำสั่งและข้อห้ามดังกล่าวที่มีขึ้นกับบ่าวผู้นั้น ย่อมเท่ากับเป็นการมอบหมายหน้าที่ให้ในสิ่งที่เขาไม่มีความสามารถจะกระทำตามได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เหตุผลอันสมบูรณ์ของอัลลอฮฺและความเมตาของพระองค์ ตลอดจนดำรัสของพระองค์ที่ได้ทำการปฏิเสธไว้ ตรัสไว้(ความ)ว่า
"อัลลอฮฺมิได้ทรงมอบหมายหน้าที่ใดแก่ชีวิตหนึ่งชีวิตใด นอกเสียจากจะเป็นสิ่งที่ชีวิตนั้นมีความสามารถจะกระทำตามได้เท่านั้น"
(อั้ลบะกอเราะฮฺ/286)
สาม ♥ การชมเชยผู้ประพฤติดีในการทำดีของเขา ตลอดจนตำหนิผู้ประพฤติผิดในความผิดของเขา และมีการตอบแทนผลบุญให้แก่บุคคลทั้งสองประเภทตามความเหมาะสมกับแต่ละประเภท ทั้งนี้เพราะถ้าหากการกระทำไม่ใช่สิ่งที่มีขึ้นโดยเป็นผลมาจากการประสงค์และการตัดสินเลือกของผู้เป็นบ่าวแล้ว แน่นอนว่า การชื่นชมที่มีให้แก่ผู้ประพฤติดีย่อมเป็นสิ่งไร้สาระ และการตำหนิผู้ประพฤติชั่วก็ย่อมเป็นการอธรรมอย่างแน่นอน
สี่ ♥ การที่อัลลอฮฺ พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง ได้ทรงส่งบรรดาร่อซู้ลซึ่งล้วน
"เป็นบรรดาผู้แจ้งข่าวดี และเป็นบรรดาผู้กล่าวตักเตือน ทั้งนี้เพื่อมิให้มนุษย์มีหลักฐานหรือข้ออ้างอิงใดๆอื่นต่ออัลลอฮฺอีก
หลังจากที่บรรดาร่อซู้ลเหล่านั้น(ได้มายังพวกเขาแล้ว)"
(อันนิซ้าอฺ/165)
ถ้าหากการกระทำของผู้เป็นบ่าวมิได้เกิดขึ้นโดยเป็นผลมาจากการประสงค์และการตัดสินเลือกของผู้เป็นบ่าวเองแล้ว แน่นอนว่าหลักฐานและข้ออ้างอิงอื่นๆย่อมยังคงไม่หมดไปด้วยกับการส่งบรรดาร่อซู้ลมาทำหน้าที่เป็นแน่
ห้า ♥ ตัวผู้กระทำเองทุกๆคนต่างสัมผัสและรับรู้ได้ว่า เขาได้กระทำหรือได้ละจากการกระทำนั้นๆโดยไม่รู้สึกถึงการถูกบังคับใดๆ เขายืน เขานั่ง เขาเข้า เขาออก เขาเดินทาง และเขาลงหลักพักอาศัยได้ด้วยความประสงค์ของเขาล้วนๆโดยไม่มีความรู้สึกเลยว่ามีผู้ใดมาคอยบังคับเขาให้กระทำ มิหนำซ้ำยังสามารถแยกแยะได้จากสิ่งที่มันเกิดขึ้นจริง(ในชีวิตของเขา)ว่า อันใดคือการกระทำที่เกิดขึ้นโดยการตัดสินใจเลือกของเขา และอันใดคือการกระทำที่เกิดขึ้นโดยการถูกบังคับให้กระทำ และเช่นเดียวกันบทบัญญัติเองก็ได้ทำการแยกแยะระหว่างผลการตัดสินของการกระทำทั้งสองลักษณะที่กล่าวถึง โดยที่บทบัญญัติจะไม่เอาความใดๆกับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นสิทธิของอัลลอฮฺ พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง ที่ผู้กระทำกระทำออกมาโดยอยู่ในสภาวะที่ถูกบังคับให้กระทำ
อย่างไรก็ดีพวกเรามองว่า เรื่องการกำหนดสภาวะการณ์ของอัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งยิ่งนั้น ไม่ถือเป็นหลักฐานหรือข้ออ้างอิงให้แก่ผู้ที่มีประพฤติฝ่าฝืนในการกระทำการฝ่าฝืนของเขาได้แต่ประการใด ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนนั้นเป็นผู้ที่ลงมือกระทำการฝ่าฝืนนั้นๆด้วยการตัดสินใจเลือกของเขาเองโดยที่เขาไม่ได้รู้ว่า อัลลอฮฺ พระผู้ทรงสูงส่ง ทรงกำหนดให้การกระทำนั้นมันเกิดกับเขา เพราะคนเรานั้นย่อมไม่ทราบถึงกำหนดสภาวการณ์ของอัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งยิ่งได้ เว้นเสียแต่เมื่อเรื่องราวที่อยู่ในกำหนดนั้นๆจะเกิดขึ้นแล้วเสียก่อน
"และชีวิตหนึ่งย่อมไม่รู้ว่ามันจะขวนขวายมาซึ่งสิ่งใดในวันพรุ่ง"
(ลุกมาน/34)
เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ผู้อ้างหลักฐาน ได้นำสิ่งที่ตนไม่รู้ว่ามันคือหลักฐานในขณะที่ตนลงมือกระทำการกระทำนั้น มาถืออ้างเป็นข้อแก้ตัวเพื่อสนับสนุนการแก้ตัวของตน (การกล่าวอ้างเช่นนี้)จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้อย่างไร ?
อัลลอฮฺ พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง ได้ทรงปฏิเสธความถูกต้องของการกล่าวอ้างนี้ไว้ในดำรัสของพระองค์ที่(มีความ)ว่า
"บรรดาผู้ตั้งภาคีจะกล่าวกันว่า หากว่าอัลลอฮฺทรงประสงค์พวกเราตลอดจนบรรพบุรษของพวกเราก็คงไม่กระทำการตั้งภาคีใดๆ และพวกเราคงไม่อ้างว่าสิ่งใดเป็นเรื่องต้องห้าม เฉกเช่นเดียวกันนี้ที่พวกที่มาก่อนหน้าพวกเขาได้ปฏิเสธกันมาแล้ว จนกระทั่งพวกเขาได้ลิ้มรสการลงโทษของเรา จงกล่าวว่า พวกท่านมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงใดหรือที่จะนำมาเสนอแก่พวกเรา? พวกท่านมิได้ดำเนินตามสิ่งใดอยู่เลยเว้นเสียแต่เพียงการคิดเอาเองเท่านั้น และพวกท่านนั้นไม่ได้มีอะไรอื่นเลยนอกเสียแต่จะกุความเท็จกันขึ้นมาเท่านั้นเอง"
(อั้ลอันอาม/148)
พวกเราจะบอกกับคนที่กระทำการฝ่าฝืนแล้วกลับยกเอาการกำหนดสภาวการณ์มาเป็นข้ออ้างแก่ตนเองว่า ทำไมคุณถึงไม่ลองลงมือกระทำการที่เป็นการภักดีโดยให้คาดคะเนเอาว่าการกระทำนี้แหละคือสิ่งที่อัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง ได้ทรงกำหนดมันไว้ให้เกิดกับคุณล่ะ? ทั้งนี้เนื่องจากมันไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลยระหว่างการภักดีกับการฝ่าฝืนในแง่ของการไม่สามารถหยั่งรู้ถึงสิ่งที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ก่อนหน้าที่จะมีการกระทำใดๆของคุณเกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้เองเมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้แจ้งให้บรรดาศ่อฮาบะฮฺได้ทราบว่า ทุกๆคนล้วนได้รับการกำหนดที่นั่งของตนในสรวงสวรรค์และในนรกไว้เรียบร้อยแล้ว
พวกท่านเหล่านั้นจึงกล่าวขึ้นว่า จะให้พวกเราปล่อยวาง(ให้มันเป็นไปตามกำหนด)และละทิ้งการปฏิบัติไปเลยมิดีหรือ?
ท่านกล่าวว่า “ ไม่ พวกท่านจงปฏิบัติกันเถิดเพราะทุกคนจะได้รับการอำนวยความสะดวกแก่สิ่งที่เขาถูกสร้างมาเพื่อมัน”
(ดูศ่อฮีฮุ้ลบุคอรีย์/4945)
และพวกเราจะบอกกับคนที่กระทำการฝ่าฝืนแล้วกลับยกเอาการกำหนดสภาวการณ์มาเป็นข้ออ้างแก่ตนเองอีกว่า ถ้าหากคุณต้องการเดินทางไปมักกะฮฺซึ่งทางที่จะไปได้มีอยู่สองเส้นทางด้วยกัน โดยที่เส้นทางหนึ่งเพื่อนของคุณได้ให้ข้อมูลกับคุณไว้ว่ามันน่ากลัว(มีอันตราย)และเดินทางลำบาก ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยและเดินทางสะดวก แน่นอนว่าคุณก็คงต้องเลือกเส้นทางที่สอง และคงเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเดินทางไปในเส้นทางที่หนึ่งโดยพูดว่า นี่แหละคือ สิ่งที่ถูกกำหนดให้เกิดแก่ฉัน เพราะถ้าหากคุณทำเช่นนั้นใครๆเขาก็คงนับกันว่าคุณนั้น จัดอยู่ให้กลุ่มคนวิกลจริตประเภทหนึ่งอย่างแน่นอน
เช่นกันพวกเราจะบอกกับเขาว่า ถ้าหากมีใครเสนอตำแหน่งสองตำแหน่งเพื่อให้คุณเลือกทำงาน ซึ่งหนึ่งในสองตำแหน่งนั้นมีค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนที่มากและสูงกว่าอีกตำแหน่งหนึ่ง แน่นอนว่าคุณก็คงจะเลือกทำงานในตำแหน่งที่เงินเดือนสูงกว่าและคงไม่ไปเลือกตำแหน่งที่มีค่าตอบแทนน้อยกว่าเป็นแน่ เมื่อเป็นเช่นนี้ สำหรับกรณีที่เป็นงานของอาคิเราะฮฺ ท่านจะไปเลือกเอาอะไรที่มันต้อยและต่ำกว่าให้ตัวท่าน แล้วมาอ้างว่ามันคือกำหนดสภาวการณ์ได้อย่างไรกัน ?
และพวกเราจะบอกกับเขาอีกว่า พวกเราเห็นคุณเวลาที่ร่างกายของคุณถูกให้ประสพกับโรคภัย(ป่วย) คุณก็เที่ยวตระเวณออกไปหาหมอให้มารักษาคุณ มิหนำซ้ำคุณยังทนเจ็บทนปวดในการผ่าตัดรักษา และทนกับความขมของยา แล้วทำไมคุณถึงไม่ยอมทำเช่นนั้นบ้างกับโรคร้ายที่เป็นผลมาจากการฝ่าฝืนที่มันมีอยู่ในหัวใจของคุณ ?
พวกเราเชื่อว่า ความไม่ดีนั้น จะไม่ถูกนำไปอ้างอิงถึงอัลลอฮฺพระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากความสมบูรณ์แบบของความเมตตาและเหตุผลที่มีความเหมาะสมยิ่งของพระองค์ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม กล่าวไว้ว่า “ และความไม่ดีนั้นมิได้(ถูกอ้าง)ถึงพระองค์ ” บันทึกโดย มุสลิม (ดูศ่อฮี้ฮฺ มุสลิม/771)
ดังนั้น ตัวตนของกำหนดสภาวการณ์ของอัลลอฮฺ พระผู้ทรงสูงส่งนั้น ย่อมไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีอยู่ในนั้นอย่างแน่นอน เพราะว่ามันออกมาจากความเมตตาและเหตุผลที่มีความเหมาะสมยิ่ง ทว่าความไม่ดีนั้นจะมีอยู่ใน(ตัวของ)สิ่งที่ถูกกำหนดต่างหาก โดยอ้างจากคำกล่าวของท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ในดุอาอฺกุนูตที่ท่านได้สอนท่าน อั้ลฮะซันไว้(ความ)ว่า
“และขอพระองค์โปรดทรงปกป้องข้าพระองค์ให้พ้นจากความไม่ดีของสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ด้วยเถิด”
(จะเห็นได้ว่า)ท่านได้อ้างอิง “ ความไม่ดี ” สู่ “สิ่งที่ทรงกำหนด” แต่อย่างไรก็ดีความไม่ดีที่มีอยู่ใน(ตัวของ)สิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดนั้น ไม่ได้เป็นความไม่ดีล้วนๆ(ร้อยเปอร์เซ็น) ทว่ามันเป็นความไม่ดีในจุดๆ หนึ่งจากในมุมมองหนึ่งและเป็นความดีในอีกมุมมองหนึ่ง หรือเป็นความไม่ดีในจุดหนึ่งที่เป็นความดีในจุดอื่นๆ แทน
จากที่กล่าวไปนี้จะเห็นได้ว่าความหายนะต่างๆที่เกิดขึ้นในแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแร้ง โรคภัย ความขัดสน และความหวาดกลัว ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ทว่ามันกลับเป็นเรื่องดีในจุดอื่นๆแทน อัลลอฮฺ พระผู้ทรงสูงส่งยิ่ง ได้ตรัสไว้(ความ)ว่า
"ความหายนะได้เกิดขึ้นทั้งในผืนแผ่นดินและในผืนน้ำด้วยกับสิ่งที่น้ำมือของผู้คนได้ก่อไว้
ทั้งนี้เพื่อที่เราจักได้ให้พวกเขาได้ลิ้มรสกับบางสิ่งที่พวกเขาได้กระทำกันไว้ เพื่อที่พวกเขาจะได้กลับมา"
(อัรรูม/41)
เช่นเดียวกัน การตัดมือโจรและการสังหารผู้ผิดประเวณีโดยการขว้างด้วยก้อนหินนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่ดีสำหรับตัวผู้ขโมยและตัวผู้ประพฤติผิดในแง่ของการต้องถูกตัดมือและถูกสังหาร แต่มันกลับเป็นเรื่องดีกับพวกเขาเองในแง่มุมอื่น เพราะโทษทัณฑ์นั้นๆถือเป็นการลบล้างความผิด ซึ่งจะส่งผลให้พวกเขารอดพ้นจากการถูกลงโทษในอาคิเราะฮฺ อีกทั้งการลงทัณฑ์ดังกล่าวนี้ยังเป็นเรื่องดีในแง่มุมอื่นอีกเพราะถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ให้การปกป้องดูแลทรัพยสินตลอดจนเกียรติยศและเชื้อสายนั่นเอง
ในหนังสือ อะกีดะฮฺ อะฮฺลิ้ซซุนนะวั้ลญะมาอะฮฺ
อาบีดีณ โยธาสมุทร แปลและเรียบเรียง