ลอยกระทงกับมุสลิม
โดย… อาจารย์ อิมรอน สาดและ
ท่านพี่น้องที่เคารพรักทุกท่าน เราเป็นผู้ศรัทธาต่อพระองค์อัลเลาะห์ เราจะต้องมีความตระหนักในเรื่องของความยำเกรงต่อพระองค์ให้ตลอดชีวิตของเรา เพราะชีวิตของเรานั้นดำเนินไปสู่โลก อาคีเราะห์ เราจะพบว่าพี่น้องเรา พ่อแม่เรา ญาติเรา หลายคนได้เดินทางไปสู่โลกอาคีเราะห์มากมายแทบจะไม่ว่างเว้นในแต่ละวัน มันเป็นบทเรียนให้เราได้รำลึกว่าวันหนึ่งเราจะต้องเดินทางไปสู่โลกอาคีเราะห์เหมือนกับพวกเขาเหล่านั้น จุดเริ่มต้นคือในกุโบ้ร หลุมฝังศพที่เราเห็นกันอยู่เป็นประจำ
ท่านพี่น้องที่เคารพรัก มีสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะลูกหลานของเรา ที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยของเรานี้ คือขนบธรรมเนียมประเพณีในบ้านเรา ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของศาสนา เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรานี้ มีศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุด รองลงมาคืออิสลาม คริสต์ และอื่นๆ ดังนั้นขนบธรรมเนียมประเพณีและกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธที่ชาวไทยใด้ปฏิบัติกันเป็นประจำนั้น เราในฐานะมุสลิมผู้ศรัทธาต่อพระองค์อัลเลาะห์ จะต้องศึกษาให้เข้าใจ และจะต้องนำมาบอกกล่าว กับลูกหลานเยาวชนให้เข้าใจเช่นเดียวกัน
เทศกาลลอยกระทง ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือราวเดือนพฤศจิกายน เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ประวัติความเป็นมาของประเพณีลอยกระทงและ เหตุผลในการลอยกระทงก็คือ
1.เพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ตามความเชื่อของลัทธิพราหมณ์
2.เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมทานที เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ
3.เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
4.เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าในวันเสด็จจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา
5.เพื่อขอบคุณพระแม่คงคา หรือเทพเจ้าแห่งน้ำที่ให้อาศัย น้ำดื่ม น้ำใช้
6. เพื่อแสดงความคารวะขออภัยต่อพระแม่คงคาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ไม่ว่าจะโดยมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม
7.เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้ มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา
ท่านพี่น้องที่เคารพรักทุกท่าน สิ่งที่เราในฐานะผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลาน ต้องคอยสอดส่องดูว่า บุตรหลานของเราจะไปร่วมในกิจกรรมลอยกระทงกับเขาหรือไม่ ในอดีตที่ผ่านมาเราอาจจะปล่อยปละละเลยด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรืออาจไม่สนใจเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่เราปฏิบัติตามประเพณีของไทย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว มันไม่ใช่ มันเป็นประเพณีที่อิงประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวกับศาสนาโดยตรง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราที่เป็นมุสลิมและลูกหลานที่เป็นมุสลิมจะต้องระมัดระวังอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่พระองค์ อัลเลาะห์ ได้ทรงตักเตือนและห้ามปรามพวกเราไว้อย่างหนักแน่นกว่าเรื่องอื่นๆ คือ เรื่องการทำ ชิริก หรือการตั้งภาคีต่อพระองค์อัลเลาะห์
การทำชิริก นั้นถือว่าเป็นบาปใหญ่ที่สุดในบรรดาบาปใหญ่ทั้งหลาย ที่เรียกว่า อัลก้าบาเอ็ร ( الكبائر ) บาปที่ใหญ่ที่สุดนั้นคือ อัชชิรกุบิลลาห์ ( الشرك بالله ) คือการตั้งภาคีต่อพระองค์ อัลเลาะห์ เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งโดยเฉพาะลูกหลานของเรา ยิ่งต้องระมัดระวังให้มากๆ เพราะบุคคลเหล่านั้นจะมีแนวโน้มที่จะก้าวเข้าไปสู่การทำ ชิริก หรือการทำ ริดดะห์ ตกจากศาสนาอิสลามโดยไม่รู้ตัว อันตรายเหลือเกิน พระองค์อัลเลาะห์นั้น ฮุวัลฆอฟูรุ้รรอฮีม ( هُوَالْغَفُوْرُالرَّحِيْمُ ) คือผู้ทรงให้อภัยยิ่งทรงเมตตายิ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่พระองค์อัลเลาะห์ ไม่ยอมให้อภัยอย่างเด็ดขาด คือการตั้งภาคีต่อพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์ อัลกุรอ่าน ซูเราะห์อันนิซาอฺ النساء سورة โองการที่48 ว่า
"แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺนั้น จะไม่ทรงให้อภัยให้กับผู้ที่ทำ ชิริก ตั้งภาคีกับพระองค์ แต่พระองค์จะให้อภัยกับบาปอื่นๆ สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ "
ดังนั้นมุสลิมที่มีพฤติกรรมผิดพลาด ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอห์ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเล่นการพนัน ทำซินา ลักขโมย ดื่มสุรา หรือทำความผิดที่เป็นบาปใหญ่อื่นๆ และเขาได้ทำการเตาบัต ขอสารภาพผิดต่ออัลลอฮ์ อย่างจริงใจ อัลลอฮ์ จะทรงให้อภัยแก่เขา เพราะพระองค์คือ ผู้ทรงให้อภัยยิ่งทรงเมตตายิ่ง นอกจากการทำ ชิริก เท่านั้น วัลอิยาซุบิลลาห์
การทำ ริดดะห์ หรือการตกออกจากศาสนาอิสลาม หมายถึงการที่มุสลิมคนหนึ่ง ซึ่งป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ และบรรลุศาสนภาวะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นชาย หรือหญิง เขาได้ละทิ้งศาสนาอิสลาม ไปยึดมั่นในศาสนาอื่น หรือปฏิเสธอิสลามด้วยความเต็มใจ ผู้ที่ละทิ้งศาสนาอิสลามแบบนี้ เรียกว่า มุรตั้ด หรือผู้ที่สิ้นสภาพการนับถือ ศาสนาอิสลาม ซึ่งเกิดขึ้นได้ ๓ ทางด้วยกันคือ ทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ
ประการที่ 1 (ตกมุรตัด)ทางกาย คือการแสดงออกทางการปฏิบัติเกิดได้หลายประการ เช่น
1) การกราบไหว้รูปปั้น กราบไหว้ดวงดาว กราบไหว้ดวงอาทิตย์หรือสิ่งอื่น โดยถือเป็นสิ่งเคารพสักการะ ตลอดจนกราบมนุษย์ด้วยกัน เช่นบิดา มารดา หรือญาติผู้ใหญ่ ไม่ได้ทั้งสิ้น
2) การกระทำอย่างเปิดเผยเช่นการเย้ยหยันต่อพระองค์อัลเลาะห์ เย้ยหยันศาสนาอิสลาม เย้ยหยันอัลกุร-อ่าน หรือเย้ยหยันศาสดานบีมู่ฮำมัด เป็นต้น
3) ร่วมปฏิบัติในพิธีสักการบูชาของศาสนาอื่น เช่นเข้าร่วมพิธีทางศาสนาในงานบวชนาคหรือในงานศพ หรือแต่งกายเป็นภิกษุสามเณร หรือเป็นนักบวชของศาสนาอื่น
4) ยับยั้งหรือไม่ร่วมมือในการกล่าวสอนปฏิญาณตน สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม เราเป็นมุสลิมวายิบจะต้องรีบสอนคำกล่าวนี้ทันที
5) การตั้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับ อัลเลาะห์ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น
6) การตั้งผู้หนึ่งผู้ใดเป็นสื่อกลางติดต่อ ระหว่างเขากับอัลเลาะห์ เพื่อขอถ่ายโทษหรือขอล้างบาป ดังเช่นบางศาสนาเขาถือว่านักบวชเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า ในการรับสารภาพบาป แต่เราเป็นมุสลิมไม่ต้องมีตัวกลางระหว่างเรากับอัลเลาะห์
7) การเห็นดีเห็นงามกับการกระทำ หรือพิธีกรรมของมุซริก(ผู้ตั้งภาคี) หรือให้ความร่วมมือกับมุชริก ในการบ่อนทำลายศาสนาอิสลาม หรือสร้างความปั่นป่วน กดขี่ข่มเหงพี่น้องมุสลิม
8) การที่มุสลิมผินหลังให้ศาสนาอิสลามโดยไม่ทำการศึกษา และไม่ปฏิบัติตามบัญญัติอิสลามโดยเจตนาพระองค์อัลเลาะห์ ทรงตรัสว่า
"และผู้ใดแสวงหาศาสนาหนึ่งอื่นจากอิสลามแล้ว ศาสนานั้นจะไม่ถูกรับจากเขาเป็นอันขาด และในโลกหน้า(อาคิเราะห์) เขาก็จะอยู่ในหมู่ ผู้ที่ขาดทุน "
(ซูเราะอาละอิมรอน โองการที่ 85)
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคือการตกมุรตั้ดทางกาย คือสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม วัลอิยาซุบิลลาห์
ประการที่ 2 (ตกมุรตัด) ทางวาจา เกิดได้หลายประการ
1) พูดจาดูหมิ่นบทบัญญัติของศาสนาเช่นพูดว่า ละหมาดแล้วไม่เห็นจะร่ำรวยเลย ฯลฯ
2) กล่าวเท็จหรือบิดเบือนบทบัญญัติของศาสนาเช่นพูดว่า ไม่ต้องบริจาคซะกาตก็ได้ เพราะศาสนาไม่ได้บังคับ หรือพูดว่ากินเหล้า ดื่มสุราไม่บาปเป็นต้น
3) กล่าวดูหมิ่นองค์อัลเลาะห์ ดูหมิ่นบรรดามลาอิกะห์ เช่นพูดว่าอัลเลาะห์ไม่มีความยุติธรรม ไฉนเล่าทำให้ฉันลำบากทุกวัน ในขณะที่คนอื่นเขาสุขสบาย ร่ำรวย หรือดูหมิ่นพระเดชานุภาพของพระองค์
4) กล่าวประนามมุสลิมด้วยกันว่าเขาไม่ใช่มุสลิม
5) กล่าวเย้ยหยัน เหยียดหยาม อัลเลาะห์ ,ศาสนาอิสลาม,หรือท่านนบีมูฮัมมัด หรือกล่าวว่าไม่เชื่อการฟื้นคืนชีพใหม่ในโลกหน้า(อาคิเราะห์) หรือกล่าวปฏิเสธเรื่องการตอบแทนผู้ทำความดี หรือการลงโทษผู้ทำความชั่ว อัลเลาะห์ได้ทรงตรัสไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
"เจ้าจงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า ต่ออัลเลาะห์และโองการของพระองค์และศาสนทูตของพระองค์กระนั้นหรือที่พวกท่านเย้ยหยัน
พวกท่านอย่าได้แก้ตัวเลยแท้จริงพวกท่านได้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว หลังจากการมีศรัทธาของพวกท่าน (คือได้ตกมุรตั้ดไปแล้ว)"
ประการที่ 3 (ตกมุรตัด)ทางจิตใจ เกิดขึ้นได้หลายประการ
1) สงสัยในคุณลักษณะของอัลเลาะห์ เช่นสงสัยในใจว่าอัลเลาะห์มีองค์เดียวหรือหลายองค์กันแน่ มีจริงหรือไม่มีกันแน่
2) สงสัยในคุณลักษณะของท่านร่อซู้ล เช่นสงสัยว่าคำสอนของท่านนบีมูฮำมัด เป็นจริงหรือเท็จกันแน่ หรือสงสัยว่าท่านนบีมูฮำมัด เป็นศาสนทูตจริงหรือเปล่า
3) สงสัยเรื่องสวรรค์เรื่องนรก เรื่องวันกิยามัตว่าจะมีจริงหรือไม่
4) การไม่เชื่อว่าพวกมุซริกหรือผู้ตั้งภาคีต่ออัลเลาะห์หรือกาเฟร ผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นอยู่นอกแนวทางของศาสนาอิสลามหรือสงสัยว่าเขาเป็นกาเฟร จริงหรือไม่ ทั้งๆที่การแสดงออกของเขามันเปิดเผยออกมาแล้วว่าไม่ใช่มุสลิม
5) การเชื่อว่าศาสนาอื่นหรือลัทธิอื่นมีความถูกต้องสมบูรณ์มากกว่าศาสนาอิสลามและมีความเชื่อมั่นว่าศาสนาอิสลามยังมีความบกพร่อง มีความผิดพลาด หรือไปยอมรับคำตัดสินด้วยกับบัญญัติอื่นว่ามีความถูกต้องชอบธรรมมากกว่าบัญญัติอิสลาม เช่นในใจคิดว่า การตัดสินเรื่องการแบ่งมรดกในอิสลาม ผู้ชาย 2 ส่วน ผู้หญิง 1 ส่วนไม่ยุติธรรม ต้องเอาตามกฎหมายบ้านเมืองฯลฯ
6) มีใจเกลียดชังต่อบัญญัติอิสลาม เกลียดชังต่อซุนนะห์แบบอย่างของท่านศาสดามูฮำมัด องค์อัลเลาะห์ ได้ทรงกล่าวไว้ว่า
"ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าพวกเขาเกลียดชังสิ่งที่ อัลเลาะห์ ได้ประทานลงมา พระองค์จึงทรงทำให้ การงานของพวกเขานั้นไร้ผล"
(ซูเราะห์มูฮำมัด อายะห์ที่ 9)
ท่านพี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย เหตุที่จะทำให้เรานั้นสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม ดังตัวอย่างที่ได้ยกมา นี้เป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยังมีพฤติกรรมอื่นอีกหลายประการ ที่อาจทำให้มุสลิม ที่ศรัทธาต่ออัลเลาะห์นั้น จะต้องหลุดพ้นจากศาสนาอิสลามโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นขอให้เรา ท่านทั้งหลาย และลูกหลานของเรานั้น ต้องยึดหลักศรัทธา 6 ประการใว้อย่างเคร่งครัด และเมื่อรู้ตัวว่าตัวเองนั้นสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมแล้ว จะต้องรีบกล่าวปฏิญาณตนโดยทันที พร้อมเตาบัตตัวอย่างบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์
คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ