แบบอย่างการดำเนินวิถีชีวิตของศอฮาบะฮฺผู้ที่ได้รับรองสรวงสวรรค์
โดย... One Muslimah
บรรดาซอฮาบะฮฺที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก มีเกียรติประวัติอันงดงาม และถูกกล่าวขานในประวัติศาสตร์อิสลามนั้นมีมากมาย บางท่านก็ได้รับฉายานามตามอัจฉริยภาพความโดดเด่น อาทิเช่น “อัลอัชรอลมุบัชชะรูน” คือ บรรดาศอฮาบะฮฺที่ได้รับการแจ้งข่าวดี หรือได้รับการรับรองว่าเป็นผู้ที่จะได้รับสวนสวรรค์ 10 ท่าน ได้แก่
1) ท่านอบูบักร อัศศิดดิ๊ก – ฉายานาม “อัศศิดดิก : ผู้สัจจริง” ผู้เป็นสหายคนสนิทของท่านรอซูล เป็นชายคนแรกที่เข้ารับอิสลาม โดยปราศจากความลังเลสงสัยใดๆ ท่านเป็นบิดาของท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ภริยาท่านนบี ) และเป็นหนึ่งในสี่บรรดาคอลีฟะฮฺผู้ทรงคุณธรรม ท่านอบูบักรเป็นกำลังสำคัญและให้ความช่วยเหลือท่านนบี ในการเผยแพร่และปกป้องศาสนาในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านสรรพกำลัง ความคิด ทรัพย์สิน และชีวิต ดังกุรอานตอนหนึ่งถูกประทานลงมา ความว่า
“ส่วนผู้ที่ยำเกรงที่สุดนั้นก็จะถูกให้อยู่ห่างจากนรก นั่นคือ ผู้ที่ใช้จ่ายทรัพย์สินของเขาเพื่อขัดเกลาตนเอง”
(กุรอานซูเราะฮฺอัลลัยลฺ 92: 17-18)
ท่านเป็นผู้ที่รักและศรัทธาโดยปราศจากความคลางแคลง พูดน้อย ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เป็นอย่างมาก นอบน้อมถ่อมตน ระวังตนจากความผิดต่างๆ รักความยุติธรรม นำความถูกต้องวางไว้เหนืออำนาจ ชอบแข่งขันสร้างความดีงาม ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เป็นผู้มีความรู้มากและเฉลียวฉลาด ชาญชัยและหาญกล้า มีจิตใจเอื้ออาทร
ดังที่ท่านนบี ได้เคยกล่าวไว้ว่า
“ไม่มีทรัพย์สินของผู้ใดที่ยังประโยชน์แก่ฉัน ในการเผยแพร่ศาสนา เช่น ทรัพย์ของอบูบักรอีกแล้ว”
(ติรมีซีย์ และอิบนุมาญะฮฺ)
“มาดแม้น การศรัทธาของอบูบักร ถูกนำมาชั่งเทียบกับศรัทธาของประชาชาตินี้ แน่แท้ ศรัทธาของอบูบักรย่อมหนักกว่า”
(อัลบัยฮะกีย์)
“ประชาชาติของฉันที่มีเมตตาธรรมมากที่สุดคือ อบูบักร และผู้ที่เข้มแข็งในศาสนามากที่สุดคือ อุมัร”
(รายงานโดยอะฮฺหมัด, อิบนุมาญะฮฺ)
2) ท่านอุมัรฺ บินคอฏฏอบ – ฉายานาม “อัลฟารูก : ผู้จำแนกความถูกผิด” ผู้ซึ่งเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและเฉียบคม เป็นผู้ถ่อมตน ผู้ซึ่งถูกกล่าวขานว่า “สัจธรรมนั้นอยู่ที่ลิ้นและหัวใจของเขา” อีกทั้งยังเป็นบิดาของท่านหญิงฮัฟเซาะฮฺ (ภริยาท่านนบี )
3) ท่านอุษมาน บินอัฟฟาน – ท่านเป็นผู้ที่ได้แต่งงานกับบุตรสาว 2 คนของท่านนบี จึงได้รับฉายานามว่า “ซุลนูรัยนฺ : เจ้าของรัศมีสองดวง" หรือบุรุษแห่งสองรัศมี หรือผู้เป็นเจ้าของสองดวงประทีป ท่านเป็นผู้สนับสนุนและอุทิศสรรพกำลังและทรัพย์สินเพื่อการเผยแพร่ศาสนา อีกทั้งยังเป็นผู้ที่แม้แต่มวลมลาอิกะฮฺยังละอายต่อท่าน
4) ท่านอะลี บินอบีฏอลิบ – ฉายานาม “อบุลฮาซัน และอบูตุรอบ” เป็นเด็กชายคนแรกที่เข้ารับอิสลาม และเป็นผู้ที่ขึ้นไปนอนบนเตียงและพร้อมจะรับคบดาบของศัตรูแทนท่านรอซูล ท่านเป็นบุตรเขยของท่านนบี (คือแต่งงานกับท่านหญิงฟาตีมะฮฺบุตรสาวท่านนบี ) เป็นผู้ที่มีความรู้เปรียบดั่งมหาสมุทรแห่งความรู้ มีศรัทธาที่มั่นคงต่ออัลลอฮฺ กล้าหาญ ยุติธรรม
5) ท่านอับดุรเราะฮฺมาน บินเอาฟฺ – วีรชนแห่งผู้กล้า เป็นผู้เสียสละและใช้จ่ายทรัพย์สินไปในหนทางของ อัลลอฮฺเป็นอย่างมาก เป็นพ่อค้าที่ชาญฉลาด และมีความซื่อตรง
6) ท่านอบูอุบัยดะฮฺ อิบนิอัลญัรรอฮฺ – ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “อัลอะมีน : ผู้เป็นที่ไว้วางใจแห่งประชาชาตินี้” ท่านเป็นผู้รักสันโดษ เป็นแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ เป็นวีรบุรุษผู้กล้าหาญ เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน และไม่ยึดติดกับยศตำแหน่งใดๆ และท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับบททดสอบแห่งศรัทธาอันหนักอึ้ง กล่าวคือต้องเลือกระหว่าง “อิสลาม ศาสนาของอัลลอฮฺ” กับ “บิดาผู้ปฏิเสธอิสลามและหมายจะฆ่าท่าน” ซึ่งอัลลอฮฺได้ประทานโองการเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงมา ความว่า
“เจ้าจะไม่พบกลุ่มชนใดที่พวกเขาศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และวันปรโลก รักใคร่ชอบพอผู้ที่ต่อต้านอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์เลย ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นบิดาของพวกเขา หรือลูกหลานของพวกเขา หรือพี่น้องของพวกเขา หรือ เครือญาติของพวกเขาเองก็ตาม ชนเหล่านั้นอัลลอฮฺจะได้ทรงบันทึกการศรัทธาไว้ในหัวใจของพวกเขา …”
(กุรอานซูเราะฮฺอัลมุญาดะละฮฺ 58: 22)
7) ท่านฏอลฮะฮฺ บินอุบัยดุลลอฮฺ – ผู้ได้รับฉายานาม “อัลกอรีนานิ์ : ผู้ถูกมัดติดกัน” เนื่องมาจากท่านฏอลละฮฺและท่านอบูบักร ถูกพวกอันธพาลผู้ปฏิเสธศรัทธาจับท่านทั้งสองมัดติดกันและรุมทำร้าย ด้วยเหตุผลเพียงเพราะท่านทั้งสองเข้ารับอิสลาม ท่านเป็นหนึ่งในแปดคนที่เข้ารับอิสลามในยุคแรกโดยการเผยแพร่เชิญชวนของท่านอบูบักร ท่านเป็นผู้รักษาสัญญาอย่างมั่นคง ไม่เคยคดโกง บิดพริ้ว เป็นผู้กล้าหาญ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยความใจบุญ
8) ท่านซุบัยรฺ บินเอาวาม – ท่านเข้ารับอิสลามเมื่ออายุได้ 8 ปี เป็นบุตรของป้าของท่านนบี และเป็นสามีของท่านหญิงอัสมาอฺ บุตรีของท่านอบูบักร ท่านมีความอดทนเป็นอย่างมากต่อการถูกทรมานนานัปการจากผู้ปฏิเสธศรัทธา ถึงขั้นถูกจุดไฟเผา เพื่อแลกกับการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ท่านเป็นวีรบุรุษแนวหน้าแห่งสมรภูมิรบ
9) ท่านสะอีด บินเซด – ผู้เป็นน้องเขยของท่านอุมัร บินคอฏฏอบ ท่านสะอีดเป็นผู้เข้ารับอิสลามในช่วงแรกๆ และมีทั้งปู่และพ่อเป็นผู้ศรัทธาก่อนการประกาศศาสนาของท่านนบี ดังที่อัลกุรอานซูเราะฮฺอัซซุมัร โองการที่ 17-18 ถูกประทานลงมา โดยได้กล่าวถึงผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺก่อนที่ท่านนบี จะได้รับการแต่งตั้ง ความว่า
“และบรรดาผู้ที่หลีกหนีให้ห่างจากพวกเจว็ด เพื่อที่จะไม่สักการะบูชามัน และหันไปจงรักภักดีต่ออัลลอฮฺ สำหรับพวกเขานั้นมีข่าวดี ดังนั้นจงแจ้งข่าวดีแก่ปวงบ่าวของข้า บรรดาผู้ที่สดับฟังคำกล่าว แล้วปฏิบัติตามอย่างดีที่สุด ชนเหล่านี้คือบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขา และชนเหล่านี้พวกเขาคือผู้ที่มีสติปัญญาใคร่ครวญ”
ซึ่งทั้งสองโองการนี้ถูกประทานลงมาแก่บุคคล 3 คน ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺองค์เดียวในยุคญาฮิลิญะฮฺ แม้ไม่มีคัมภีร์และยังไม่มีการแต่งตั้งนบีก็ตาม ได้แก่ ท่านเซด บินอัมร์ บินนุฟัยล์ (ผู้เป็นบิดาของท่านสะอีด) ท่านอบูซัรริน อัลฆิฟารีย์ และท่านซัลมาน อัลฟาริซีย์
ท่านสะอีด เป็นผู้ที่ไม่เคยอยากได้ยศตำแหน่งทางการปกครองใดๆ ไม่เคยร้องขอตำแหน่งใดๆ ไม่เคยใช้เส้นสายเพื่อแสวงหาประโยชน์ใดๆ ใส่ตนเอง ท่านเป็นผู้ที่รักสันโดษ เป็นนักเผยแพร่ศาสนาโดยเปิดบ้านเป็นแหล่งเผยแพร่ศาสนา ให้การช่วยเหลือผู้อ่อนแอและผู้ยากไร้
10) ท่านซะอฺด์ บินอบีวักกอส – ชายผู้ซึ่งอัลกุรอานถูกประทานลงมาเพื่อยืนยันศรัทธาของเขา เมื่อครั้งที่เขาเข้ารับอิสลาม แม่ของเขาสาบานว่าจะไม่พูดกับเขา และจะไม่กินไม่ดื่มจนกว่าท่านซะอฺด์จะปฏิเสธอิสลาม แล้วนางก็ได้อดอาหารอยู่เช่นนั้นถึง 3 วัน แต่ท่านซะอฺด์ได้กล่าวกับแม่ของท่านว่า “โอ้แม่จ๋า ลูกจะไม่ทิ้งศาสนาของอัลลอฮฺ เพื่อการนี้โดยเด็ดขาด” และในที่สุด อัลลอฮฺก็ได้ทรงประทานโองการเกี่ยวกับเรื่องท่านซะอฺด์ ลงมาถึงสองโองการด้วยกัน คือ ซูเราะฮฺอัลอังกะบุต อายะฮฺที่ 8 ความว่า
“และเราได้สั่งเสียแก่มวลมนุษย์ให้ทำดีต่อบิดามารดาของเขา และถ้าทั้งสองได้บังคับเคี่ยวเข็ญเจ้า ให้เจ้าทำการตั้งภาคีต่อข้า ในสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ใดๆ เจ้าก็จงอย่าเชื่อฟังเขาทั้งสอง ยังข้าคือการกลับของพวกเจ้า ดังนั้น ข้าจะแจ้งแก่พวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไว้”
และซูเราะฮฺลุกมาน อายะฮฺที่ 15 ความว่า
“แต่ถ้าเขาทั้งสองได้บังคับให้เจ้าตั้งภาคีต่อข้า โดยที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น เจ้าก็อย่าได้เชื่อฟังปฏิบัติตามเขาทั้งสอง และจงอดทนอยู่กับเขาทั้งสองในโลกนี้ด้วยการทำดี (ปรนนิบัติต่อเขาทั้งสองในโลกนี้อย่างมีคุณธรรม)”
นอกจากนี้ ยังมีบรรดาศอฮาบะฮฺท่านอื่นๆ อีกมากมาย ที่เรามักได้ยินชื่อเสียงเรียงนามอยู่บ่อยๆ อาทิเช่น
♥ * คอลิด บินวะลีด เจ้าของฉายานาม “ซัยฟุลลอฮฺ : ดาบของอัลลอฮฺ”
♥ * อับดุลลอฮฺ อิบนิอับบาส ผู้ได้รับฉายานาม “ฮิบรุลอุมมะฮฺ : ปราชญ์แห่งประชาชาติ” และเป็น “เราะอีซุลมุฟัซซิรีน : ผู้นำปวงปราชญ์ด้านอรรถาธิบายอัลกุรอาน”
♥ * ฮัมซะฮฺ ผู้ได้รับฉายาว่า “อะสะดุลลอฮฺ : ราชสีห์แห่งอัลลอฮฺ” ผู้ซึ่งได้รับชะฮีดในสมรภูมิสงครามอุฮุด (ผู้ซึ่งถูกฮินดฺภรรยาของอบูซุฟยานกินตับ อันเนื่องมาจากความเคียดแค้น)
♥ * บิลาล บินรอบาฮฺ ผู้เป็นที่รู้จักกันในนาม “มุอัซซินของท่านรอซูล ”
♥ * มุอาซ บินญะบัล ผู้เป็นที่รอบรู้ในเรื่องฮะลาลฮะรอมดีที่สุด
♥ * ซัยดฺ บินษาบิต เป็นศอฮาบะฮฺที่รอบรู้ในเรื่องเกี่ยวกับมรดกทั้งหลาย
♥ * ษาบิต บินกอยสฺ บินชัมมาส ผู้เป็นที่รู้จักในนามของ นักพูด นักเจรจา ของชาวอันศอร
♥ * ซัลมาน อัลฟาริซี ผู้ได้รับฉายาว่าเป็น “ศอฮิบุล กิตาบัยนฺ : เจ้าของ 2 คัมภีร์ (คือ เป็นผู้รอบรู้ในคัมภีร์อินญีลและอัลกุรอาน)”
♥ * อบูฮุรอยเราะฮฺ ผู้ได้รับฉายานาม “พ่อแมวน้อย” เป็นศอฮาบะฮฺที่รายงานฮะดิษมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นผู้ที่กล่าวคำอิสติฆฟารฺถึงวันละ 12,000 ครั้ง และผูกปมไว้ 1,000 ปม เพื่อนับขณะกล่าวตัสบีฮฺ และจะไม่นอนจนกว่าจะได้กล่าวตัสบีฮฺจนครบ
♥ * อับดุลลอฮฺ บินมัสอูด เป็นศอฮาบะฮฺที่ใช้ชีวิตทั้งหมดไปกับการอยู่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านรอซูล ในทุกหนทุกแห่ง อีกทั้งยังได้ชื่อว่า “ศอฮิบุฏฏอฮูร : สหายผู้รักความสะอาด” เพราะเขามักจะถือมิสวาก (ไม้ถูฟัน) และรองเท้าให้ท่านนบี อยู่เสมอ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ท่านนบี เคยชี้นำไว้ว่า “จงเชื่อในสิ่งที่เขาพูด และถ้าหากฉันจะชี้ตัวผู้นำของพวกท่านโดยไม่ปรึกษาผู้ใดแล้ว ฉันจะชี้ที่ตัวเขา”
♥ * ซัยดฺ บินฮาริษะฮฺ ผู้ซึ่งเป็นทาสของท่านนบี และต่อมาก็กลายเป็นบุตรบุญธรรมของท่านนบี
♥ * ญะฟัรฺ บินอบีฏอลิบ ผู้พลีชีพในสมรภูมิมุตะฮฺ และได้รับฉายาว่า “ซุลญะนาฮัยนฺ : ผู้มี 2 ปีก” อันเนื่องมาจากท่าน นบี ได้แจ้งให้ทราบว่า อัลลอฮฺทรงประทานสองปีกให้แก่เขา เพื่อเขาจะได้โบยบินไปในสรวงสวรรค์ตามที่เขาปรารถนา
♥ * อุมมุอัมมาเราะฮฺ ศอฮาบียะฮฺ เจ้าของฉายานาม “วีรสตรีแห่งบะดัร”
ยังมีเรื่องราวชีวประวัติของบรรดาศอฮาบะฮฺเหล่านี้ รวมทั้งบรรดาศอฮาบะฮฺผู้ที่มิได้ถูกกล่าวหรือเอ่ยนามถึง ณ ที่นี้ ผู้เป็นประดุจดัง “ผู้ถือธงชัยแห่งอิสลาม” ผู้เสียสละ ยอมพลีชีพ เพื่อปกป้องอิสลาม และทำหน้าที่เผยแพร่อิสลามด้วยศรัทธาที่อิคลาส (ความบริสุทธิ์ใจ) ด้วยอัคลาก (จรรยามารยาท) ที่ดีงาม เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ย่อมเป็นโรงพิมพ์ เป็นเบ้าหลอม เป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตในโลกดุนยาอันแสนสั้นนี้แก่เราได้เป็นอย่างดี
ไม่เป็นที่ประหลาดใจแก่ชนรุ่นหลังอย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายในปัจจุบันเลยว่า เหตุใด “อิสลาม” จึงถูกเผยแพร่แผ่กระจายไปทั่วแผ่นดินของอัลลอฮฺอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ผู้ศรัทธาในสมัยของบรรดาศอฮาบะฮฺมีจำนวนไม่มากนัก คำตอบที่ได้ หาใช่ “ปริมาณ หรือ จำนวนคน” ไม่ แต่สิ่งที่ชนยุคโลกาภิวัตน์อย่างเราซึ่งมากด้วยจำนวนและปริมาณ (ยังไม่นับรวมเทคโนโลยีอันทันสมัย) ไม่สามารถเทียบเทียมได้ คือ “หัวใจแห่งศรัทธา” ต่างหาก “หัวใจ” ที่มาดแม้นว่าบาดแผลที่กายจะสาหัสเพียงใด สักกี่หยดเลือดถูกหลั่งลงดิน จะถูกทรมานด้วยวิธีการโหดร้ายป่าเถื่อนทารุณสักเพียงไหน ก็มิอาจทำให้ “หัวใจแห่งศรัทธาของบรรดาศอฮาบะฮฺดาวนำแห่งประชาชาติอิสลาม” โอนเอียง หวั่นไหว หรือสั่นคลอนแม้แต่น้อย ไม่มีศาสตราวุธใดที่มีอานุภาพ สามารถทำลาย “หัวใจแห่งศรัทธา” ของพวกเขาได้
ถึงแม้ว่าร่างกายของบรรดาศอฮาบะฮฺดาวเด่นแห่งประชาชาติอิสลาม ผู้พิทักษ์ปกป้องอิสลามยิ่งกว่าชีวิตของพวกเขาเอง ยิ่งกว่าบุคคลผู้เป็นที่รักในครอบครัวของพวกเขาเอง จะถูกฝังลงสู่ผืนแผ่นดินของอัลลอฮฺแล้วก็ตาม แต่ชื่อเสียงเรียงนาม ความสามารถ ความโดดเด่น และจริยวัตรอันงดงาม ยังคงส่องประกายเจิดจรัสจ้ายิ่งกว่าหมู่ดาวบนท้องนภายามราตรีกาล และยังถูกจารึกกล่าวขานในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ตราบจนวันกิยามะฮฺ
ยังมิเพียงพอแก่ผองเราอนุชนคนรุ่นหลังดอกหรือ ที่จะน้อมนำเอาแบบอย่างอันดีงามของพวกเขาเหล่านั้นมาปฏิบัติตาม เพื่อสร้างสังคมแห่งความสันติอีกครั้ง
ขออัลลอฮฺทรงพอพระทัยและทรงตอบแทนความดีงามแด่บรรดาศอฮาบะฮฺดาวนำแห่งประชาชาติอิสลาม
อ้างอิง
1) สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ประเทศไทย. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมความหมายภาษาไทย. ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัด เพื่อการพิมพ์อัลกุรอานแห่งนครมะดีนะฮฺ.
2) อักบัรฺ ชาห์ นะญีบอะบาดี, ผู้เขียน และ บรรจง บินกาซัน, ผู้แปล. ประวัติศาสตร์อิสลาม เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสืออิสลาม กรุงเทพฯ . 2552.
3) อัล อะชาอีรีย์, ผู้ถอดความ. ต้นแบบแห่งชาวสวรรค์. ส.วงศ์เสงี่ยม: กรุงเทพฯ.
4) เมาลานา คอลิด ฏุรอต, ผู้เขียน และ มันศูร อับดุลลอฮฺ, ผู้แปลและเรียบเรียง. ศอฮาบะฮฺ: ดาวนำแห่งประชาชาติอิสลาม. สำนักพิมพ์อาลีพาณิชย์: สงขลา.