ทีวีมุสลิม ปรากฎการณ์ใหม่
  จำนวนคนเข้าชม  10024

 

ทีวีมุสลิม ปรากฎการณ์ใหม่

 

นิพล แสงศรี


         ปัจจุบัน เป็นยุคโลกาภิวัตน์ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสื่อสารมวลชนก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดดจน ถูกเรียกว่า The Age of Information ศักยภาพและความนิยมในของสื่อประเภทต่างๆ เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารหรือความรู้สู่ประชาชนได้ อย่างมีประสิทธิภาพได้ทุกชนชั้นและทุกระดับ ช่วงสงครามอัฟกานิสถาน (พ.ศ.2544-2546) และสงครามอิรัก (พ.ศ.2546-2550) สำนักข่าวทีวีอัลญะซีเราะฮ์ ได้นำเสนอข้อมูลข่าวผ่านดาวเทียม ไนล์แซต อาหรับแซต และฮอตเบิร์ด อย่างอย่างเจาะลึกและให้ความเป็นธรรม จนโลกตะวันตกจ้องจับตาดูความเคลื่อนไหว แม้สังคมไทยทั่วไปจะมองว่าไม่ใช่สิ่งใหม่แต่ประการใด แต่ทีวีมุสลิมคือปรากฏการณ์ใหม่สำหรับสังคมมุสลิมไทย และอาจจะเป็นตัวอย่างและแนวทางทีดีสำหรับมุสลิมที่อาศัยในที่ไม่ใช่ประเทศอิสลาม เช่น กัมพูชา ลาว เวีดนาม และในประเทศอื่นๆที่กระจายอยู่ทั่วโลก ที่จะให้ความสำคัญต่อบทบาทของสื่อต่อวิถีชีวิตมุสลิม 


อัลญะซีเราะฮ์ 

         นานนับทศวรรษที่ซีเอ็นเอ็นและบีบีซี เวิร์ลด์ และอื่นๆ สื่อของตะวันตกครอบครองพื้นที่ทั้งหมดของตลาดข่าวโทรทัศน์ในระดับโลก ทำให้ทรรศนะของซีเอ็นเอ็นและ บีบีซี มักจะถูกนำมาอ้างอิงถึงมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งทำให้เกิดสภาวะของ "การครอบงำ" ขึ้น ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม การ "ครอบงำ" ของสื่อในระดับสากลต่อประเด็นหนึ่งๆ หรือต่อประเทศหนึ่งๆ นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่จำเพาะแต่ในพื้นที่ของประเทศนั้นๆ แต่ยังหมายถึงการก่อให้เกิด "ความคิดเห็นร่วม" ในระดับนานาชาติ สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความกดดันแก่นักข่าวและกลุ่มคนทำข่าวที่รักความเป็นธรรม หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบต่างคิดหาหนทาง ต่อสู้เพื่อดิ้นรน ให้หลุดพ้นจากการครอบงำในเชิงสื่อ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง 

          เหตุการณ์ 11 กันยา สงครามก่อการร้าย (อัฟกานิสถาน) และสงครามอ่าวเปอร์เชียครั้งที่ 2 (อีรัค) ก่อกำเนิดสถานีโทรทัศน์ 24 ชม. ที่นำเสนอข่าวสารภาคภาษาอาหรับขึ้นมาอย่างน่าสนใจ สำนักข่าวทีวีอัลญะซีเราะฮ์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2539 ในประเทศเล็กๆอย่าง ประเทศกาตาร์ โดย เชคฮามัด บิน คอลีฟะฮ์ อัลตานี ที่มุ่งครอบคลุมผู้ชมทั่วโลกทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับ เพื่อสร้างความเข้าใจในหลายๆด้านอย่างเท่าเทียมเและเป็นธรรม โดยมีผู้บริหารชาวอังกฤษที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการข่าว BBC มานานกว่า 40 ปี มีผู้เชียวชาญจากทีวี CNBC ยุโรป ทำหน้าที่ด้านการตลาด มีนักข่าวระดับมืออาชีพที่รู้จักกันดีอีกจำนวนมากพาเหรดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของอัลญะซีเราะฮ์ ไม่ว่าจะเป็นจากกลุ่มนักข่าวบีบีซี ซีเอ็นเอ็น และรอยเตอร์

         การก่อกำเนิดสถานีโทรทัศน์ข่าวอัลญะซีเราะฮ์ ถือเป็นการปฎิวัติวงการสื่อโลกเพราะสามารถปลดแอกการครอบงำข้อมูลข่าวสารจากสื่อตะวันตก และพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชนบนโลกในเชิงรูปแบบการนำเสนอ เนื้อหา และความจริง ยุติธรรมในการนำเสนอเนื้อหา ตลอดจนถือเป็นปรากฎการณ์สำคัญสำหรับมุสลิมในยุคที่โลกเต็มไปด้วยระบบเครือข่าย จนได้รับฉายาว่า ซีเอ็นเอ็นของโลกมุสลิม


ต้นทุนกับความคุ้มค่า

         แม้ต้นทุนการก่อกำเนิดสถานีโทรทัศน์ข่าวอัลญะซีเราะฮ์ จะอยู่ราวๆ 150 ล้านริยาลการ์ตา (1 ริยาล = 8 บาท 50 สต.) แต่ถือว่าคุ้มค่าในการลงทุนตามที่กล่าวมา ส่วนในประเทศไทยกล่าวกันว่า ต้นทุนการผลิต 6 ช่อง 6 สถานีๆ ละ 2 ล้านบาท (6x2 ล้าน = 12 ล้านบาท/เดือน) เท่ากับ 150 ล้านบาทต่อปี โดย 50% ถือเป็นการทำเพื่องานศาสนาของทุกท่าน ส่วนอีก 50% เป็นรายจ่ายสำหรับคนทำงาน แม้จะไม่มีผลกำไรเหมือนสื่อทางธุรกิจ ดังที่ท่านพบเห็นตามทีวีช่องต่างๆ เสา หลักของโครงการทีวีมุสลิมไทยส่วนใหญ่ จะอาศัยโครงสร้างเชิงสถาบันในรูปมูลนิธิ สหกรณ์ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นในรูปการบริจาคช่วยเหลือ หรือการระดมลงทุนถือหุ้นแบบมุฏอรอบะห์ ก่อนจะนำเงินทุนที่ได้ไปลงทุนในด้านต่างๆ รวมถึงอาจจะหารายได้ด้วยการขายโฆษณาและอื่นๆ ที่ไม่ขัดกับกฎหมายชะรีอะฮ์ เพื่อนำผลกำไรมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าช่องสถานีดาวเทียม หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 

         คุณภาพ ของรายการขึ้นอยู่กับศักยภาพของทีมงานและบุคคลากรในแต่ละช่อง ซึ่งมักจะประกอบด้วยมุสลิมส่วนใหญ่มีทั้งผู้รู้ทางศาสนา ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสื่อ หรือผู้มีประสบการณ์บริหารจัดการ และบางคนอาจเคยได้รับการอบรมเฉพาะทาง ขณะที่บางคนอาจเคยทำงานให้กับบริษัทที่มีชื่อ แต่เหนือสิ่งอื่นใดล้วนเป็นบุคคลที่มีแนวคิดและอุดมการณ์รับใช้ศาสนาเชิงสร้างสรรค์และพัฒนาแบบบูรณาการอย่างสอดคล้องกับยุคสังคมออนไลน์และ ยุคดิจิตอล

         แม้ต้นทุนจะสูง แต่สิ่งที่ทุกคนส่วนใหญ่ได้รับคือความเข้าใจในศาสนาและศรัทธาของมุสลิมทั่วประเทศไทยเพิ่มพูนเป็น เท่าทวีคูณ โดยภาพที่ชัดเจนมากคือ ภาพข่าว สาระธรรมทางศาสนา ถูกนำมาเสนอโดยนักวิชาการผู้รอบรู้ และทีมงานผู้เสียสละ นำเสนอรายการเข้าถึงมุสลิมทั่วประเทศถึงในบ้าน ซึ่งถือเป็นการลดภาระรายจ่าย เรียนรู้ง่าย และสะดวกสบายสำหรับผู้ฟังและเรียนรู้ ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ทุกท่านอาจจะต้องเดินทางออกจากบ้านไปนั่งฟังบรรยายที่ บ้านอาจารย์ หรือไปเรียนตามโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา หรือนั่งฟังตามงานบรรยายในงานประจำปีของมัสญิดต่างๆ แนวทางดังกล่าวยังถือเป็นทางเลือกที่ดีลงทุนน้อย และเป็นทางออกใหม่เหมาะสำหรับกับสภาพสังคมมุสลิมไทยที่มีฐานะต่างกัน 


การนำเสนอและการบริโภคข้อมูลข่าวสาร 

         ผังรายการที่พบส่วนใหญ่จะเน้นให้เข้าถึงทุกคนในสังคม โดยไม่จำกัดเพศ วัย ศาสนา และอาชีพ ได้แก่ รายการตักเตือน รายการเชิญผู้รู้มาตอบคำถามจากทางบ้าน รายการบรรยายศาสนาตามหัวข้อและประเด็น รายการข่าวและวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ รายการเด็ก เยาวชน  รวมถึงรายการสำหรับสตรีและครอบครัว บางช่องทีวีจะมีรายการละครสร้างสรรค์และสะท้องสังคมที่อยู่ในกรอบของศาสนา หรือรายการข่าวสารที่มีสาระอย่างถูกต้องและทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะข่าวสารจากอาเซียน โลกอาหรับ และตะวันออกกลาง ซึ่งสื่อตะวันตกขาดความรอบคอบ และเสนอข่าวไม่ครอบคลุมเนื้อหาตามความเป็นจริง 

        การให้ข้อมูลข่าวสารของทีวีทั่วไปหรือสื่อ (Information) คือ การแจ้งข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากอคติของสื่อมวลชน เช่น รายการข่าวหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมและโลก หรือชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่างๆ  อธิบายเชิงลึกและเชิงกว้างให้เข้าใจข่าวสารเรื่องนั้นได้อย่าง ชัดเจนและรอบด้าน หรือส่งเสริมความคิดใหม่ๆ เช่น แนวทางในการปรับตัวที่ถูกต้อง หรือนำไปสู่ความเจริญทางสังคม ส่งเสริมด้านจริยธรรมและศีลธรรม 

          นอกจากนั้นสื่อยังทำหน้าที่ประสานสัมพันธ์ หรือเรียกกันว่า Correlation ซึ่งทำหน้าที่ประสานสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน องค์กร และสถาบันต่างๆ ในสังคม รวมไปถึงประสานสัมพันธ์และความสามัคคี แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ สื่อมวลชนเป็นเสมือนผู้เฝ้าระวังและตรวจสอบความเป็นไปของสังคมในด้านต่างๆ เช่น ความเชื่อ สังคม การศึกษา เศรษฐกิจ และการเมือง กล่าวคือควรสอดส่อง ติดตาม เก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสมาชิกในสังคม และรายงานให้สมาชิกในสังคมได้ทราบ หรือเรียกกันว่า To Inform

         สื่อโทรทัศน์นับได้ว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายและมีอิทธิพลมากที่สุดต่อความ คิด โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยจะดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ 3-4 ชั่วโมง หากรายการโทรทัศน์ที่ผลิตออกมามีประโยชน์ มีสาระน่ารู้ และน่าสนใจ จะสามารถยกระดับความคิด ความรู้ของผู้ชมได้ ในขณะเดียวกันหากบางช่องเสนอรายการที่มุ่งหาจำนวนผู้ชมให้มากเข้าไว้ (เรตติ้งดี) โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียทางด้านจริยธรรมและศีลธรรมที่จะตามมา ก็สามารถทำให้ผู้ชมเข้าใจผิดและหลงผิดได้

         ความไม่เป็นกลางในการนำเสนอตามฐานะของสื่อที่ดี รวมทั้งการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเห็นได้ชัดโดยขาดความรับผิดชอบ อาจจะทำสถานีได้รับการต่อว่าจากสังคมและไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะสื่อขาดความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวสารต่อสาธารณชน

         ยิ่งเป็นทีวีมุสลิม ยิ่งควรดำเนินงานด้วยความยุติธรรมและรายการดังกล่าวอย่างปราศจากชิริก บิดอะฮฺ และฮะรอม รวมทั้งส่งเสริมคนทำความดีและมีความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า แต่ไม่สนับสนุนคนทำสิ่งที่ผิดหรือสร้างศัตรูระหว่างกัน การเขียนข่าวการ รายงานข่าว นอกจากจะต้องคำนึงถึงความถูกต้องแม่นยำ ความรอบด้านของข้อมูลแล้ว ยังต้องระมัดระวังด้านการใช้ภาษาด้วยสุภาพ ประโยคต้องไม่กำกวม กระชับ สื่อสารด้วยความชัดเจน

          สำหรับผู้ชมและผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร ที่เสนอโดยสื่อทั่วๆไป ทั้งมุสลิมและไม่มุสลิมมากกว่าหนึ่งช่องถือเป็นสิ่งที่ดี ขณะอีกมุมหนึ่งอาจจะมีสิ่งที่ไร้สาระ ขัดหลักจริยธรรมอิสลาม และแม้รายการต่างๆจะมีประโยชน์ แต่บางครั้งบางรายการอาจจะมีโทษ คุกคามครอบครัว และนำไปสู่หนทางที่หลงผิด ดังนั้นการบริโภคข้อมูลข่าวสารจึงควรเป็นไปอย่างมีสติใคร่ครวญ รอบคอบ และใช้วิจารณญาณในการรับชมและรับฟัง 


อนาคตทีวีมุสลิมไทย 

         ปัจจุบันการสื่อสาร (Communication) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ในสังคม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ และเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้อื่น โดยมีแน้วโน้มขยายตัวมากขึ้น ดังรายงานระบุว่า อัตราการขยายตัวของผู้ชม ทั้งโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียม เคเบิล และทีวี สามารถเข้าถึงครัวเรือนไทยถึง 50% หรือประมาณ 11 ล้านครัวเรือน ประมาณกว่า 38.5 ล้านคน รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับภาพรวมของธุรกิจเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมใน ภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโฆษณาของเอเชียมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ปี 2554 ทั้งใน จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย ที่เติบโตถึง 12% 

         อนาคตหากทีมงานสื่อมุสลิม สามารถเช่าสัญญานดาวเทียมจากบริษัทไทคม จนสามารถออกอากาศในระบบ C BAND ได้ จะทำให้การส่งสัญญานครอบคลุมพื้นที่ๆ มีผู้ชมพูดภาษาไทยมากกว่า 80 ล้านคน และจะเข้าถึงผู้ชมที่พูดภาษามลายูทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิม (ประมาณราวๆ 1400 ล้านคน ) ซึ่งจะได้รับข้อมูลข่าวสารจากทีวีมุสลิมไทยและรู้จักศาสนาอิสลามได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเมื่อการปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมอาเซียนและยุค "ทีวีดิจิตอล" (Digital TV)