การทารุณสัตว์
  จำนวนคนเข้าชม  13496

 

การทารุณสัตว์


 

เขียน ดร.อับดุลวาฮิด  บุชดัก


 

ประเด็นที่สี่ การทารุณสัตว์เป็นสิ่งที่นำไปสู่การลงโทษของอัลลอฮฺ

        ในเมื่อความเมตตาต่อสัตว์เป็นสิ่งที่นำไปสู่การได้รับการอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นการทารุณกรรมก็เป็นสิ่งที่นำไปสู่การได้รับการลงโทษ และเข้าสู่ขุมนรก ดังที่ท่านศาสดา มูฮัมมัด ได้กล่าวว่า 

 
« دَخَلَتِ امْرَأَةٌ النَّارَ فِى هِرَّةٍ رَبَطَتْهَا ، فَلَمْ تُطْعِمْهَا ، وَلَمْ تَدَعْهَا تَأْكُلُ مِنْ خِشَاشِ الأَرْضِ » رواه البخاري رقم 3318
 

“หญิงคนหนึ่งได้เข้านรกด้วยกับสาเหตุที่นางได้ทรมานแมว โดยที่นางได้มัดมันไว้โดยปราศจากการให้อาหารกับมัน

และนางก็มิได้ปล่อยให้มันได้กัดกิน แม้กระทั่งสิ่งสกปรก ตามพื้นดิน”
 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์)

         มนุษย์ชาติทั้งในอดีตและปัจจุบัน บางส่วนได้รับการทารุณกรรมต่างๆ นานา มีการกดขี่ เข่นฆ่า และเหยียดหยาม ทำร้ายชาติพันธุ์มนุษย์ ส่วนในมิติของอิสลามมนุษย์จะต้องได้รับเกียรติ แต่อิสลามไม่หยุดอยู่แค่เพียงการพิทักษ์ หรือปกป้องสิทธิมนุษยชนและเกียรติยศของมนุษย์เท่านั้น อิสลามถือว่าการทารุณกรรมแม้กระทั่งต่อสัตว์เดรัจฉานก็ถือเป็นสิ่งที่จะนำพาไปสู่การลงโทษของพระผู้เป็นเจ้าได้ 

 

        อิสลามมีบทบัญญัติห้ามการทารุณกรรมสัตว์ ครั้งหนึ่งท่านศาสนทูต ได้เห็นที่อยู่ของมดถูกเผาด้วยไฟโดยศอหาบะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮฺ บางท่าน 

 
(من أحرق هذه؟ قلنا نحن قال : إنه لا ينبغي أن يعذب بالنار إلا رب النار) رواه الطبري و الحاكم

ท่านเราะซูล  จึงพูดในเชิงตำหนิว่า “ใครเป็นผู้เผารังมดเหล่านี้ ?” 

เขากล่าวว่า “เราเป็นผู้ที่เผามัน” 

ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า 

“แท้จริงแล้วมิบังควรแก่ผู้ใดที่จะใช้ไฟในการลงโทษ(หรือฆ่า) ยกเว้นพระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นเจ้าของไฟ” 

(บันทึกโดยอัตตอบรอนีย์และอัลฮากีม) 

        และไม่น่าแปลกใจแม้กระทั่งการมัดสัตว์และล้มมันลงให้นอนตะแคง เพื่อจะเชือดมัน หากทิ้งสัตว์ให้อยู่ในลักษณะดังกล่าวเป็นเวลานานก็เท่ากับเป็นการทรมานสัตว์ ดังที่ชายคนหนึ่งได้ล้มแกะตัวหนึ่งให้นอนตะแคง เพื่อที่จะเชือด แต่เขาก็ได้เริ่มลับมีดของเขา เมื่อท่านศาสนทูต เห็นดังนั้น ท่านก็ได้พูดกับชายผู้นั้นว่า 


{ أتريد أن تميتها موتات هل حددت شفرتك قبل أن تضجعها } رواه الطبري و الحكم   

“ท่านต้องการให้มีการตายซ้ำแล้วซ้ำอีก(ทรมาน) ต่อสัตว์ ทำไมท่านไม่ลับมีดของท่านเสียก่อน หลังจากนั้นท่านจึงค่อยไปล้มมันให้นอนตะแคง” 

(บันทึกโดยอัฏฏอบรอนีย์และอัลฮากีม)

        จากอัลหะดีษข้างต้นได้สร้างความรู้สึกให้เรารู้ลึกถึงบทบัญญัติของอิสลามที่ได้สร้างความเมตตาในทุกๆมิติของการดำรงชีวิตมนุษย์ ท่านศาสดามูฮัมมัด ได้ทำการอบรมบุคคลที่ได้บรรทุกสัมภาระที่หนักเกินความสามารถของสัตว์ที่จะแบกรับมันไว้

         ครั้งหนึ่งท่านได้เข้าไปในสวนของชายชาวอันศอร (ชาวเมืองอัลมะดีนะฮ์) คนหนึ่ง เมื่อท่านศาสดา ได้เข้าไปในสวนนั้น ท่านก็จะได้พบอูฐตัวหนึ่ง และเมื่ออูฐตัวนั้นได้เห็นท่านศาสดา มันก็ได้ร้องไห้ และน้ำตาของมันไหลนองหน้า ท่านศาสนทูต ได้เห็นสภาพดังกล่าว ท่านก็ได้เดินเข้าไปหาอูฐตัวนั้น และได้เช็ดน้ำตาของมัน 



(مَنْ صَاحِبُ الْجَمَلِ؟ " فَجَاءَ فَتًى مِنَ الْأَنْصَارِ، فَقَالَ: هُوَ لِي يَا رَسُولَ اللهِ، فَقَالَ: " أَمَا تَتَّقِي اللهَ فِي هَذِهِ الْبَهِيمَةِ الَّتِي مَلَّكَكَهَا اللهُ، إِنَّهُ شَكَا إِلَيَّ أَنَّكَ تُجِيعُهُ وَتُدْئِبُهُ ") رواه الإمام أحمد رقم 1745
 

หลังจากนั้นท่านศาสนทูต ได้กล่าวว่า “ใครเป็นเจ้าของอูฐตัวนี้” 

ทันใดนั้นมีเด็กหนุ่มชาวอันซอรฺคนหนึ่งได้มา พลางกล่าวว่า “ฉันเอง โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ” 

        ท่านศาสนทูต ก็ได้พูดกับเจ้าของมันว่า “ท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าเถิด เกี่ยวกับการดูแลสัตว์ ซึ่งอัลลอฮ์ได้ทรงมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของท่าน มันได้ร้องทุกข์ต่อฉันว่า ท่านได้ปล่อยให้มันหิวโหย และได้ใช้งานมันหนัก” 
 

(บันทึกโดยอิมามอะหมัด)

       การให้สัตว์บรรทุกสัมภาระหนักจนเกินความสามารถ อิสลามถือว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดต่อสิทธิของสัตว์ และเป็นสิ่งที่อิสลามต่อต้าน เยี่ยงเดียวกับการที่ทำให้สัตว์ประสบกับภาวะอดอยาก ผอมโซ พิการ หรือเสียชีวิต 

        ครั้งหนึ่งท่านศาสนทูต ได้เดินผ่านสัตว์ที่เจ้าของของมันได้ผูกมัดสัมภาระไว้บนหลังของมันและได้มัดเชือกผูกไว้ที่ใต้ท้องของมัน ท่านศาสนทูต ได้รู้สึกเศร้าสลดต่อภาพดังกล่าวที่มีการละเมิดสิทธิของสัตว์ ท่านศาสนทูต ได้พูดด้วยกับความโกรธว่า


«اتَّقُوا اللَّهَ فِي هَذِهِ الْبَهَائِمِ الْمُعْجَمَةِ، فَارْكَبُوهَا صَالِحَةً، وَكُلُوهَا صَالِحَةً» رواه أبوداود رقم 2548

“ท่านทั้งหลายจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า ในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำต่อสัตว์เหล่านี้ที่ถูกผูกมัดไว้

พวกท่านจงขี่มันด้วยกับความดีงาม และจงบริโภคมันด้วยกับความดีงาม” 

(บันทึกโดยอบูดาวุด)

        จากความหมายของอัลหะดีษข้างต้นทำให้เราทราบว่า การใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงดูสัตว์เป็นสิ่งที่ศาสนาอิสลามบังคับกับเจ้าของของมัน จากหลักการที่นักนิติศาสตร์(ฟุกอฮาอฺ) ของอิสลามได้วินิจฉัยโดยได้ระบุว่า กรณีที่เจ้าของสัตว์ไม่ยอมให้อาหารสัตว์หรือเลี้ยงดูสัตว์ เขาจะต้องถูกบังคับโดยหลักศาสนาให้จำหน่ายสัตว์ หรือไม่ก็ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูสัตว์ หรือเชือดสัตว์เพื่อบริโภค (จะไม่ปล่อยให้สัตว์มีชีวิต อย่างทรมานจากความหิวโหย)

       เป็นที่ประจักษ์ในประวัติศาสตร์ของอิสลามในยุคสมัยของคอลีฟะฮ์(ผุ้ปกครอง) อุมัรอิบนุอัลคอตตอบ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ในวันหนึ่งที่ท่านคอลีฟะฮ์ได้เดินตระเวนเพื่อดูแลความเป็นสุขของประชาชน ท่านได้เห็นชายคนหนึ่งได้ดึงขาแกะ และลากมันเพื่อเอาไปเชือด ท่านคอลีฟะฮ์ได้รู้สึกเศร้าสลดกับการกระทำอันรุนแรงต่อสัตว์ที่พูดจาไม่ได้ ท่านคอลีฟะฮ์อุมัร รอฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้พูดกับชายคนนั้นว่า 


"ويلك قدها إلى الموت قوداً جميلاً" من كلام عمر بن الخطاب رضي الله عنه

 “ท่านแย่มาก ท่านจงนำมันไปสู่ความตาย(เชือด) ด้วยกับการนำพาที่ดีงาม” 

        นักนิติศาสตร์อิสลาม (ฟุกุฮาอฺ) ได้มีมติเกี่ยวกับสิทธิของสัตว์ไว้ว่า “หากว่า แมวตาบอดตัวหนึ่งได้เข้าไปพักพิงในบ้านของผู้หนึ่งผู้ใด จำเป็นที่เจ้าของบ้านหลังนั้นจะต้องให้อาหารเลี้ยงดูมัน เนื่องจากมันไม่สามารถเดินทางต่อไปไหนได้อีก”

        ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักการอิสลามที่เกี่ยวกับความเมตตาและพิทักษ์สิทธิของสัตว์ ซึ่งเป็นหลักการที่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ดั่งที่ปรากฏตัวอย่างการปฏิบัติในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามและกลายเป็นธรรมนูญการดำเนินชีวิตของมุสลิม ที่ห้ามการทรมานสัตว์ การบรรทุกที่เกินกำลังของสัตว์ ไม่ทารุณกรรม หรือไม่ตีสัตว์ในขณะที่มันเดิน ไม่ใส่บังเหียนที่หนัก หรือถ่วงด้วยโซ่ตรวนและห้ามการทารุณกรรมสัตว์ในทุกๆประเภท

 

 

แปลและเรียบเรียงโดย.. อ.มุหำหมัด  บินต่วน