แนวทางการจัดระบบซะกาต ตอนที่ 3
  จำนวนคนเข้าชม  14616

 

 

แนวทางการจัดระบบซะกาตในสมัยอะมะวียะฮฺ และสมัยต่อมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อับดุลเลาะ   หนุ่มสุข


   ก. สมัยอะมะวียะฮฺ ( 41-132 ฮศ. / 661-750 คศ.)

 
          เมื่ออาณาจักรอิสลามเข้าสู่ยุคสมัยของอะมะวียะฮฺ ผู้นำส่วนใหญ่ในราชวงศ์ได้ให้ความสำคัญกับซะกาตน้อยลง เนื่องจากรายได้ของรัฐส่วนใหญ่ได้มาจากทรัพย์สงครามและภาษี อย่างไรก็ตามซะกาตยังคงเป็นแหล่งรายได้ประเภทหนึ่งของกองคลัง (บัยตุลมาล) มีดีวานซะกาต (องค์กรซะกาต) เฉพาะ และมีสาขาอยู่ในแคว้นและหัวเมืองทั่วไป ผู้นำของรัฐในยุคนี้ได้แยกการเก็บซะกาตออกจากการเก็บภาษี อย่างชัดเจน และจะเก็บซะกาตเฉพาะทรัพย์สินที่เปิดเผยเท่านั้น (อะบูอุบัยดฺ, 1986: หน้า675)
 
          การใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ฟุ่มเฟือยของเหล่าผู้นำ และการใช้จ่ายทรัพย์สินจากกองคลัง (บัยตุลมาล) อย่างสุรุ่ยสุร่าย และมีความคลุมเครือ ได้ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนโดยทั่วไป พวกเขาเกิดความไม่มั่นใจในการจ่ายซะกาตให้รัฐ และเกิดคำถามมากมายว่า การจ่ายซะกาตให้รัฐที่มีสภาพดังกล่าวมีความถูกต้องตามหลักการศาสนาหรือไม่ อย่างไร?   (อ้างแล้ว ,หน้า676)  กองคลัง (บัยตุลมาล) ในสมัยอะมะวียะฮฺ มิได้เป็นของประชาชน แต่กลายเป็นของบุคคล (ผู้นำรัฐ) ที่สามารถใช้จ่ายทรัพย์สินในกองคลังได้ตามอำเภอใจ หลักการของท่านนบี  ที่ว่า “เอาจากคนรวยเพื่อให้คนจน” ได้กลายเป็น “เอาจากคนจนเพื่อให้คนรวย “ ในสมัยนี้ (อันนัดวีย์, 1977 : หน้า 35)
 
          สภาพดังกล่าวนี้แม้ว่าจะเกิดขึ้นในวงจำกัด เฉพาะในหมู่ราชวงศ์ และพวกศักดินา แต่ก็มีผลกระทบไม่น้อยต่อภาพพจน์ของผู้นำรัฐอิสลาม และต่อการบริหารรัฐกิจโดยรวม จนกระทั่งท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ (61-101 ฮศ.) ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺคนที่8 ของราชวงศ์อะมะวียะฮฺ ทุกอย่างจึงกลับสู่บรรยากาศอิสลามอีกครั้งหนึ่ง
 
          ท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ เป็นเคาะลีฟะฮฺที่มีคุณสมบัติดีที่สุดของราชวงศ์อะมะวียะฮฺ และเป็นเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมหลังจากเคาะลีฟะฮฺทั้ง 4    ภารกิจสำคัญของท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซคือ การปฏิรูประบบการบริหาร และระบบการคลัง (บัยตุลมาล) ให้มีประสิทธิภาพตามหลักการของอิสลาม ท่านได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อเรื่อง การจัดเก็บซะกาต และการแจกจ่ายซะกาตยังผู้ที่มีสิทธิตามครรลองที่ถูกต้อง แนวทางของท่านที่สำคัญมีดังนี้ :

     1. การยกเลิกภาษีต่างๆที่ถูกกำหนดขึ้นโดยขัดกับกฎหมายอิสลาม คงเหลือแต่ซะกาตและภาษีที่สอดคล้องกับกฎหมายอิสลามเท่านั้น ท่านกล่าวว่า :
"  فأما المسلمون فإنّما عليهم صدقات أموالهم، إذا أدّوها في بيت المال كتبت لهم البراءة، فليس عليهم في عامهم ذلك في أموالهم تباعة "                                                     
 
มุสลิมจะต้องรับผิดชอบต่อการจ่ายซะกาตทรัพย์สินของเขา เมื่อใดก็ตามที่เขาจ่ายซะกา ตแก่กองคลัง (บัยตุลมาล) เขาก็ไม่ต้องจ่ายทรัพย์ใดๆอีกในปีนั้น (อ้างแล้ว หน้า 47)
 
การยกเลิกภาษีหลายประเภทและการเอาจริงเอาจังในเรื่องซะกาตทำให้ประชาชนผ่อน คลายไม่ต้องแบกรับภาระการจ่ายที่หนักเกินไป และสามารถยืนบนขาของตัวเองได้ ผลที่ เกิดขึ้นก็คือ พวกเขาสามารถยกระดับมาตรฐานชีวิตจากสภาพที่ยากจนได้สำเร็จ

     2.  การจัดระบบในการแจกจ่ายซะกาตที่ดีเยี่ยมและมีความเป็นธรรมของท่านอุมัร เป็นผลทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากซะกาต นับเป็นครั้งแรกที่อาณาจักรอิสลามไม่มีคนยากจนมารับซะกาต และนับเป็นครั้งแรกที่อาณาจักรอิสลามมีผู้มีสิทธิรับซะกาตเหลือน้อย จนกลายเป็นปัญหาของคนรวยในการสืบหาคนจนเพื่อมอบซะกาตให้ (อ้างแล้ว, หน้า61)    ดังตัวอย่างจากรายงานของท่านยะห์ยา อิบนุ สะอีด ซึ่งเป็นคนที่ท่านอุมัรอิบนุอับดิลอะซีซ ส่งไปเก็บซะกาตในแอฟริกา เมื่อเขาเก็บซะกาตได้ ก็เริ่มหาคนรับซะกาต แต่เขาไม่พบคนยากจนที่จะมารับซะกาตแม้แต่คนเดียว เขาจึงนำซะกาตไปซื้อทาสจำนวนหนึ่งเพื่อปล่อยเป็นอิสระ    (อ้างแล้ว หน้า61)

      3.   การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนของบุคคลในการดำรงชีพ โดยที่ท่านอุมัร อิบนฺ อับดิลอะซีซ ได้วางหลักประกันในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนจากกองคลัง( บัยตุลมาล )และซะกาต ท่านได้กำหนดมาตรฐานของความพอเพียงใว้ว่า :"  لابدّ للرجل من المسلمين من مسكن يأوي إليه، وخادم يكفيه مهمّته، وفرس يجاهد عليه، وأثاث في بيته. "                                                                               

“ ชายมุสลิมคนหนึ่งนั้นจะต้องมีที่อยู่สำหรับอาศัย มีคนรับใช้สำหรับแบ่งเบาภาระ มีม้าสำหรับทำญิฮาด และมีเครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นภายในบ้าน “ ( ฟุอ้าด อับดุลลอฮฺ ,1996: หน้า 6 )

      ผู้ที่ขาดแคลนสิ่งเหล่านี้มีสิทธิ์ได้รับการอุดหนุนสงเคราะห์จากซะกาตและบัยตุลมาล

     4. การใช้หลักธรรมาภิบาลของท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ ในการบริหารกิจการที่เกี่ยวกับซะกาตทำให้ประชาชนเกิดการศรัทธาเชื่อมั่นต่อผู้นำและเชื่อมั่นต่อรัฐ และยินดีที่จะสนองนโยบายของรัฐ  การจัดเก็บซะกาตในสมัยท่านอุมัรจึงเป็นไปด้วยความสะดวก เนื่องจากได้รับความร่วมมืออย่างดีจากประชาชน หลักธรรมาภิบาลของท่านอุมัรที่สำคัญก็คือ การเป็นแบบอย่างของความสมถะ ความเรียบง่าย ความเคร่งครัดในวิถีปฏิบัติทางศาสนา และการมีคุณธรรมอันสูงส่งในการใช้จ่ายทรัพย์สินของรัฐ ท่านได้กำหนดให้สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายที่ข้ารัฐการทุกคนต้องปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น ท่านจะไม่อนุญาต ให้ข้ารัฐการหรือเจ้าหน้าที่ของท่านประกอบธุรกิจการค้า และไม่อนุญาตให้รับของกำนัล (ฮะดียะฮฺ) จากประชาชน ท่านถือว่าสิ่งเหล่านี้คือการฉ้อราษฎร์ (ริชวะฮฺ)  (อันนัดวีย์, 1977 :  หน้า 60)
   
           แนวทางของท่านอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซนำความเจริญรุ่งเรือง และความผาสุกร่มเย็นมาสู่ประชาคมมุสลิมอย่างแท้จริง ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺโดยยึดแบบอย่างจากท่านนบี  ท่านอบูบักร และท่านอุมัรอิบนุลคอฎฎ็อบ วิถีปฏิบัติของท่านได้รับความชื่นชอบจากประชาชนทั่วทั้งอาณาจักร ทั้งคนมุสลิมและไม่ไช่มุสลิม จนท่านถูกขนานามว่าเป็นเคาะลีฟะฮฺ ผู้ทรงธรรมคนที่5 ในประวัติศาสตร์ของอิสลาม


ข. สมัยอับบาสียะฮฺ (123-656 ฮศ. / 750 – 1283 คศ. )  เเละสมัยต่อมา


          ผู้นำรัฐในสมัยอับบาสีฮฺะฮฺเเละสมัยต่อมามิใด้ให้ความสนใจในเรื่องซะกาตและการจัดเก็บซะกาต ด้วยสาเหตุสองประการคือ :

1)   การเติบโตของรายใด้จากภาษีเคาะรอจ (ภาษีที่ดิน) เเละภาษีอาชู๊ร (ภาษีสินค้า10%) ที่เรียกเก็บจากบรรดามุสลิม จนกระทั้งได้กลายเป็นรายใด้หลักที่สำคัญของรัฐ รัฐจึงไม่ให้ความสนใจรายได้เล็กๆอย่างซะกาต

2)   กิจการซะกาตขึ้นตรงต่อกรมสรรพากร (ดีวานเคาะรอจ)  เจ้าหน้าที่เก็บภาษีเคาะรอจ เป็นคนเดียวกันกับเจ้าหน้าที่จัดเก็บซะกาตซึ่งจะเก็บจากทรัพย์สินที่เปิดเผยเช่นพืชไร่เเละผลไม้ เท่านั้น ส่วนทรัพย์สินที่ไม่เปิดเผย เช่นเงินทองจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้จ่ายด้วยตนเอง (ฟุอ้าด อับดุลลอฮฺ, 1996 หน้า6)
       
       เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่พบข้อมูลใดๆที่บ่งบอกถึงการจัดระบบซะกาตที่ดีในภาครัฐตลอดช่วงสมัยของอับบาสียะฮฺในอิรัก (ซึ่งรวมถึงสมัยอันดะลูสียะฮฺในสเปน) สมัยฟาฏิมียะฮฺในอียิปต์ และสมัยอุษมานียะฮฺ (ออตโตมัน)ในตุรกี         การใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ้งเฟ้อของเหล่าผู้นำ ตลอดจนการเเก่งเเย่งชิงดีชิงเด่นกันในทางการเมืองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐไม่สามารถจัดระบบซะกาตให้เป็นไปตามเจตนารมของอิสลามใด้


บทสรุป

             ซะกาตเป็นหน้าที่ทางศาสนาของมุสลิมทุกคนที่ครอบครองทรัพย์สินถึงจำนวนและครบรอบปี  ซะกาตถูกบัญญัติให้มีการจัดเก็บเเละเเจกจ่ายอย่างเป็นระบบโดยผ่านองค์กรหรือสถาบันที่รับผิดชอบ  ท่านนบี ใด้วางแนวทางที่ชัดเจนในการจัดระบบซะกาตซึ่งต่อมาบรรดาเดาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมใด้เจริญรอยตามแนวทางดังกล่าวและใด้พัฒนาระบบซะกาตให้สอดคล้องกับความความเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอิสลาม ซะกาตในยุคสมัยดังกล่าว จึงกลายเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของระบบประกันสังคมและระบบการคลัง(บัยตุลมาล)ในขณะเดียวกัน  อย่างไรก็ตามพบว่าเเนวทางสำคัญที่ทำให้การจัดระบบซะกาตในสมัยดังกล่าวมีประสิทธิภาพก็ คือ การมีคุณธรรมและความโปร่งใส ดังนั้นองค์กรใดก็ตามที่มีหน้าที่ในการจัดการซะกาต เจ้าหน้าที่เเละบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นผู้มีคุณธรรมเเละมีความโปร่งใส เพราะมิเช่นนั้นเเล้วการจัดการซะกาตก็จะประสบปัญหาและไม่สามารถเป็นหลักประกันให้สังคมได้

 

ระบบซะกาต 1 >>>>Click

 


บรรณานุกรม

- คัมภีร์อัลกุรอานุลกะรีม
- ฟุอ้าด อับดุลลอฮฺ .1996 . นุซุมุซซะกาต วะตะเตาวุรุ ตัตบีกิฮา.คูเวต:
www.zakat.org.lb/  10/2/2007.
- มัสอูด ยะห์ยา .2002.อัลหะยาตุลอิจติมาอียะฮฺวัลอิกติศอดียะฮฺฟีอัศริลคุละฟาอิรรอซีดีน .วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์อิสลาม   คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย อันนีลัยนฺ ประเทศซูดาน.
- มูฮำมัดฎอยฟุลลอฮฺ .มปป.อัลหะยาตุลอิกติศอดียะฮฺฟิลอุศูริลอิสลามียะฮฺ อัลอูลา. อัมมาน : ดารุฎอริก
- มูฮัมมัด อัมหะซูน .2002. มันหะยุนนะบีย์ฟิดดะฮฺวะฮฺ. พิมพ์ครั้งที.1. อียิปต์:ดารุสสะลาม
- หะซัน อิบรอฮีม หะซัน .1964.ตารีคุลอิสลาม.พิมพ์ครั้งที่ 7 .ไดโร: มักตะบะฮฺอันนะฮฺเฎาะฮฺอัลมิศรียะฮฺ
- อะบูอุบัยดฺ อัลกอซิม .1986.กิตาบุลอัมวาล. พิมพ์ครั้งที่1.เบรุต:ดารุลกุตุบอัลอิลมียะฮฺ.
- อักร็อม ฎิยาอฺ อัลอุมะรีย์ .1998. อัศรุลคิลาฟะฮฺอัรรอฮิดะฮฺ. พิมพ์ครั้งที่2.อัรริยาฎ: มักตะบะฮฺอัลอุมัยกาน.
- อันนะวะวีย .มปป. อัลมัจมูอ์. อัลมักตะบะฮฺ อัลอาละมียะฮฺ.
- อันนัดวีย์ อะบุลหะซันอะลี.1977.ริยาลุลฟิกรฺ วัดดะฮฺวะฮฺ ฟิลอิสลาม. พิมพ์ครั้งที่5. คูเวต: ดารุลเกาะลัม
- อับดุลลอฮฺอัลกอรี.2537.สี่เคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม . ดลมนธรจน์บากา เเปลเเละเรียบเรียง. พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพมหานคร:  สำนักพิมพ์ อิสลามิค อะเคเดมี
- อิบนุลก็อยยิม.1997. ซาดุลมะอ๊าด. พิมพ์ครั้งที่30. เบรุต:  มุอัสสะสะฮฺอัรริสาละฮฺ
- อิบนฺ สะอฺดิ. มปป. อัฎเฎาะบะกอต. เบรุต: อัลบะยาน
- อิบนฺ หะญัร อัลอัสเกาะลานีย.1985.ฟัตฮุลบารีย์.พิมพ์ครั้งที่2.ไคโร: ดารุ้รรอยยาน.
- อัลก็อรฎอวีย์.1981.ฟิกฮุซซะกาต. พิมพ์ครั้งที่5. เบรุต:มุอัสสะตุรริสาละฮฺ
- อัลบุคอรีย์.1997.ศอเหี๊ยะฮฺ อัลบุคอรีย์.พิมพ์ครั้งที่1 อัรริยาฎ:ดารุสสลาม.
- อัสสัยยิด อะห์มัด อัลมุค็อซรอนญี.1419.อัซซะกาตวะตันมิยะตุลมุจตะมะฮอฺ. มักกะฮฺ: รอบิเฎาะตุลอาลัมอัล อิสลามีย์.