สิทธิของสัตว์ที่พวกมันพึงได้รับ
เขียน ดร.อับดุลวาฮิด บุชดัก
ประเด็นที่สอง การปรับปรุงผิวถนนและเส้นทางสัญจรให้ราบเรียบเป็นสิทธิของสัตว์ที่พวกมันพึงได้รับ
ท่านอุมัร อิบนุ อัลคอตตอบ อัลฟารุค (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) ถือเป็นบุคคลตัวอย่างในการให้สิทธิกับสัตว์ ในการปรับเส้นทางสัญจรให้ราบเรียบ และถือว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของท่านในขณะที่ท่านได้พูดว่า
"لو أن بغلة عثرت بشط العراق لخشيت أن يسأني الله عنها لِمَ لَمْ تصلح لها الطريق يا عمر"ـ من كلام الخليفة الفاروق رضي الله تعالى عنه
“ถ้าหากว่าฬ่อตัวหนึ่งได้เดินสะดุดสิ่งของบนเส้นทางเดินในส่วนหนึ่งส่วนใดของดินแดนอิรัก ฉันมีความกลัวว่าพระองค์อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงสอบสวนฉัน
และถามฉันว่า ทำไมเจ้าไม่ทำการปรับปรุงเส้นทางเดินให้กับมันเล่า โอ้ อุมัร”
วจีกรรมดังกล่าวสะท้อนถึงความก้าวล้ำของอารยธรรมที่สูงส่งแห่งอิสลาม ซึ่งเราจะพบว่ามีบุคคลที่ได้เรียกร้องถึงสิทธิของสัตว์ในประชาชาติอิสลาม เมื่อ 15 ศตวรรษที่แล้ว เมื่ออิสลามได้ปกป้องและดูแลสิทธิของสัตว์ แม้กระทั่งสิทธิของการเดินบนทางสัญจร ดังนั้นสิทธิของการให้อาหาร น้ำดื่มและการเลี้ยงดู ก็ยิ่งได้รับการตอบสนองอย่างสมบูรณ์แน่นอน
เป็นที่น่าชื่นชม ในคำประกาศเรียกร้องอย่างโดดเด่นของอุมัร อิบนุอัลคอตตอบ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) เกี่ยวกับสิทธิของสัตว์ ในขณะที่ประชาชาติอื่นๆ เช่นโรมัน , เปอร์เชีย มนุษย์ยังถูกกดขี่และการยึดมนุษย์มาเป็นทาส เกียรติยศของมนุษย์ถูกย่ำยี ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับสิทธิแม้กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ของพวกเขา เยี่ยงสิ่งถูกสร้างที่พระองค์อัลลอฮฺได้ให้เกียรติแก่พวกเขาไว้ ดังเช่นโองการพระองค์อัลลอฮฺ ที่ว่า
“และแน่นอนเรา(อัลลอฮฺ) ได้ให้เกียรติยศกับลูกหลานของอาดัม(มนุษย์)”
(ซูเราะห์อิสรออฺ โองการที่ 70)
แม้กระทั่งในยามสงคราม ท่านศาสนฑูตมูฮัมมัด ท่านได้สั่งเสียตักเตือนบรรดาศอฮาบะฮ์ของท่านต่อการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ สัตว์ และต้นไม้ด้วยความดีงาม โดยที่ท่านศาสนทูต ได้กล่าวไว้ว่า
(اغزو باسم الله و لا تقتلوا شيخاً هرماَ و لا عابداً في صومعته و لا صبياً و لا امرأةً و لا تهدموا جداراً و لا تغوروا بئراً و لا تخربوا عامراً و لا تقطعوا شجرةً يستظل بها ابن السبيل و لا تذبحوا بهيمة لغير مأكولة) رواه أبو داود
“พวกท่านทั้งหลายจงทำสงครามด้วยพระนามของอัลลอฮฺ อย่าสังหารคนชราภาพ นักบวชที่บำเพ็ญตนอยู่ในโบสถ์หรืออาศรม อย่าได้สังหารเด็ก สตรี อย่าทำลายเรือกสวนไร่นา อย่าถมหรือทำลายบ่อน้ำ อย่าทำลายสิ่งปลูกสร้าง อย่าตัดต้นไม้ที่ผู้เดินทางใช้พักเป็นร่มเงา อย่าเชือดสัตว์ที่ไม่อนุมัติให้บริโภคเนื้อของมัน”
(บันทึกโดยอิมาม อบูดาวุด)
ด้วยกับคุณธรรมแห่งความเมตตาอันสูงส่งของอิสลาม จึงทำให้โลกมนุษย์และโลกของสัตว์ได้รับสิทธิด้านความเมตตาที่เสมอภาคกัน จนทำให้อิสลามสามารถพิชิตหัวใจของมนุษย์โลกได้ ก่อนการพิชิตดินแดนต่างๆ ของพวกเขา จึงทำให้โลกในอดีตต้องใฝ่หาคุณธรรมอิสลาม จนกระทั่งนักคิดชาวฝรั่งเศสชื่อ “กอสฟาน ลูบูน” ได้พูดถึงอารยธรรมของอาหรับในอดีต หลังจากที่เขาได้ศึกษาอย่างละเอียดถึงประวัติศาสตร์อิสลาม เขาได้กล่าวว่า
“ไม่มีประวัติศาสตร์การพิชิตใดๆ ที่ดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม ให้มากไปกว่าชาวอาหรับมุสลิม”
ดังนั้นเราลองมาศึกษาบทพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์อิสลาม ที่สามารถยืนยันถึงความสูงส่งแห่งจริยธรรมอิสลามที่มีต่อสัตว์อย่างเป็นรูปธรรม
แปลและเรียบเรียงโดย อ.มุหำหมัด บินต่วน