สิทธิของสัตว์ในอิสลาม
เขียน ดร.อับดุลวาฮิด บุชดัก
ทุกวันนี้ท่านได้ประจักษ์ถึงฐานะของสัตว์ภายใต้จริยธรรมอิสลามหรือไม่ ? สัตว์ได้รับสิทธิและความเมตตาในฐานะที่เป็นสิ่งถูกสร้าง(มัคลูก) ของอัลลอฮฺ บนพื้นพิภพนี้หรือไม่ ?
คำตอบจากคำถามเหล่านี้ ได้ประจักษ์ชัดในโองการของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่ได้ระบุว่า แท้จริงโลกของสัตว์ก็เป็นเยี่ยงเดียวกับโลกของมนุษย์ ดังที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสว่า
{ وَمَا مِنْ دَابَّةٍ فِي الْأَرْضِ وَلَا طَائِرٍ يَطِيرُ بِجَنَاحَيْهِ إِلَّا أُمَمٌ أَمْثَالُكُمْ } ـ الأنعام 38
“ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใดที่อยู่บนโลก หรือสัตว์ปีกที่บินด้วยกับสองปีกของมัน ต่างก็เป็นประชาชาติเยี่ยงเดียวกับประชาชาติของสูเจ้าทั้งหลาย”
(ซูเราะฮฺ อัลอันอาม โองการที่ 38)
ท่านซัยยิด กุตุบ(รอฮิมะฮุลลอฮฺ) ได้แสดงทรรศนะของท่านเกี่ยวกับโองการนี้ในตัฟซีรของท่านชื่อ “ฟีซิลาสิลกุรอาน” ว่า
หมายถึงสัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ จากบรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเภท แมลง, สัตว์มีพิษ, สัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์มีกระดูกสันหลัง,และสัตว์ปีกประเภทต่างๆ , แม้กระทั่งแมลงประเภทมีปีกบินได้ สัตว์ทุกประเภทที่มีชีวิตทั้งหมดต่างมีระบบการมีชีวิตที่เป็นประชาชาติ และมีลักษณะพิเศษของแต่ละประชาชาติ แต่ก็มีวิถีชีวิตที่เป็นระบอบเดียวกันในการดำรงชีพ ดังเช่นการมีระบอบการมีชีวิตในประชาชาติของมนุษย์ (เช่นการมีผู้นำฝูง, การพิทักษ์ฝูง, การแสวงหาแหล่งอาหาร และการแบ่งหน้าที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น) ดังนั้น จากมิตินี้ สัตว์ก็มีสิทธิที่จะได้รับความเมตตา เหมือนดังเช่นสิทธิที่มนุษย์จะได้รับความเมตตา เพราะสัตว์ก็มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ , ความรู้สึก , ความเจ็บปวด และมีอัตลักษณ์เฉพาะอย่าง เยี่ยงเดียวกับปรากฏการณ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์
ถ้ามิเช่นนั้นแล้วจะไม่มีความหมายใดๆ เกี่ยวกับวจนะของท่านศาสดามูฮัมมัด ที่ได้สั่งเสียให้ประชาชาติของท่านมีคุณธรรมในการปฏิบัติต่อสัตว์ แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่จะนำสัตว์ดังกล่าวไปสู่การสูญเสียชีวิต (ในขณะที่จะเชือด) โดยที่ท่านศาสดามูฮัมมัด ได้กล่าวว่า
«إِنَّ اللهَ كَتَبَ الْإِحْسَانَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ، فَإِذَا قَتَلْتُمْ فَأَحْسِنُوا الْقِتْلَةَ، وَإِذَا ذَبَحْتُمْ فَأَحْسِنُوا الذَّبْحَ، وَلْيُحِدَّ أَحَدُكُمْ شَفْرَتَهُ، فَلْيُرِحْ ذَبِيحَتَهُ»، رواه مسلم (رقم 1956)
“แท้จริงแล้วพระองค์อัลลอฮได้บันทึกคุณธรรมความเมตตาไว้กับทุกๆสิ่ง ดังนั้นเมื่อสูเจ้าทั้งหลายจะสังหาร(ชีวิต) ก็จงสังหารด้วยกับคุณธรรม (ไม่ทรมาน) และเมื่อสูเจ้าทั้งหลายต้องการที่จะเชือดสัตว์ ก็จงมีคุณธรรมในการเชือดสัตว์ (ไม่ทรมาน) เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดจากสูเจ้าต้องการที่เชือดสัตว์ ก็จงลับมีดให้คมและให้สัตว์ได้ผ่อนคลาย”
(บันทึกโดยมุสลิม)
ประเด็นที่หนึ่ง การตั้งชื่อบางซูเราะห์(บท) ของคัมภีร์อัลกุรอานเป็นชื่อของสัตว์
เมื่อมองอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าในคัมภีร์อัลกุรอานมีบางบท (ซูเราะห์) ได้มีชื่อเป็นชื่อของสัตว์ เช่น วัวตัวเมีย (อัลบะกอเราะห์) , ปศุสัตว์ (อัลอันอาม) , มด (อันนัมลฺ) เป็นต้น การตั้งชื่อบทของอัลกุรอานด้วยกับชื่อของสัตว์ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไร้สาระแต่อย่างใด แต่เป็นการส่งสัญญาณจากพระผู้เป็นเจ้า ให้มนุษย์ได้เห็นถึงความสำคัญต่อสัตว์ในฐานะ
ประการที่หนึ่ง สัตว์เป็นสิ่งที่ถูกสร้าง (มัคลูก) ของพระผู้เป็นเจ้า
ประการที่สอง สัตว์เป็นแหล่งที่มาของปัจจัยยังชีพที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงประทานให้กับเรา
แท้จริงท่านศาสนฑูตมูฮัมมัด ได้ประกาศถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า
« «لَوْلَا أَنَّ الكِلَابَ أُمَّةٌ مِنَ الأُمَمِ لَأَمَرْتُ بِقَتْلِهَا» رواه الترمذي (رقم 1489)
“ถ้าหากว่าสุนัขมิใช่เป็นประชาชาติหนึ่งจากประชาชาติต่างๆ ฉันก็จะมีคำสั่งใช้ให้ฆ่ามันทิ้ง”
(บันทึกโดยอัตติรมีซีย์)
ดังนั้น สัตว์ ตามนัยยะแห่งวจนะดังกล่าว อนุมัติให้ฆ่าหรือกำจัดได้หากว่าสัตว์ดังกล่าวทำอันตรายต่อมนุษย์ในบางครั้งบางคราว ในที่นี้ท่านศาสนทูต ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงแห่งอัลกุรอาน เกี่ยวกับสถานภาพของสัตว์ที่ถือว่าเป็นประชาชาติที่ถูกบันทึกไว้ในอัลกุรอานตามนัยยะแห่งโองการที่ว่า
{ وَمَا مِنْ دَابَّةٍ فِي الْأَرْضِ وَلَا طَائِرٍ يَطِيرُ بِجَنَاحَيْهِ إِلَّا أُمَمٌ أَمْثَالُكُمْ } ـ الأنعام 38
“ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใดที่อยู่บนโลก หรือสัตว์ปีกที่บินด้วยกับสองปีกของมัน ต่างก็เป็นประชาชาติเยี่ยงเดียวกับประชาชาติของสูเจ้าทั้งหลาย”
(ซูเราะห์อัลอันอาม โองการที่ 38)
แปลและเรียบเรียงโดย อ.มุหำหมัด บินต่วน