แนวทางการจัดระบบซะกาตในสมัยคอลีฟะฮ์ทั้ง 4
  จำนวนคนเข้าชม  17450

 

แนวทางการจัดระบบซะกาตในสมัยคอลีฟะฮ์ทั้ง 4

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อับดุลเลาะ   หนุ่มสุข

  

แนวทางการจัดระบบซะกาตในสมัยอบูบักร (รฎ) (11-13 ฮศ.  /632-634 คศ. )
    
    
          เมื่อท่านนบี ใด้เสียชีวิตลงในวันจันทร์ที่12 เดือน เราะบีอุลเอาวัล ฮศ.11 ท่านอบูบักรก็ได้รับการคัดเลือกจากเหล่าเศาะฮาบะฮฺ ให้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ (ผู้สืบทอดหน้าที่แทนท่านนบี) ปัญหาแรกที่ท่านอบูบักรต้องเผชิญคือปัญหากลุ่มต่างๆที่ไม่ยอมจ่ายซะกาต โดยที่พวกเขามีความคิดว่าการจ่ายซะกาตนั้นเป็นภารกิจที่สิ้นสุดลงด้วยการเสียชีวิตของท่านนบี ท่านอบูบักรได้แสดงจุดยืนอันเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวต่อกรณีดังกล่าว ท่านถือว่าคนเหล่านั้นสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม (มุรตัด) เนื่องจากได้ปฏิเสธหลักการสำคัญ หลักการหนึ่งของอิสลาม ท่านได้กล่าวว่า:
    

     “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าข้าพเจ้าจะต้องทำสงครามกับผู้ที่แบ่งแยกระหว่างการละหมาดและการจ่ายซะกาต เพราะแท้จริงซะกาตเป็นสิทธิของทรัพย์สิน

     ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า หากพวกเขาไม่ยอมให้อิน๊ากแก่ฉัน (อิน๊ากคือ ลูกแพะเพศเมีย) ซึ่งพวกเขาเคยให้เป็นซะกาตแก่ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ แน่แท้ข้าพเจ้าจะทำสงครามกับพวกเขา”

(บุคอรีย์ 1997: หมายเลข 1400)
    

          และแล้วท่านอบูบักรก็ได้ส่งกองทัพไปปราบปรามกลุ่มคนเหล่านั้น และท่านก็ประสบความสำเร็จ ด้วยการนำกลุ่มชนมุสลิมที่มุรตัดเหล่านั้นกลับเข้าสู่สถานภาพเดิมแห่งอิสลามด้วยความสมัครใจ

(หะซัน อิบรอฮีม หะซัน 1964: 1/350)
              

         ผลจากการปราบปรามครั้งนี้ทำให้รัฐอิสลามภายใต้การนำของท่านอบูบักรมีเสถียรภาพ และความมั่นคงยั่งยืน ประชาชนมุสลิมจากเผ่าต่างๆกลับมาสมัครสมานสามัคคี ภายใต้ร่มธงอิสลามเดียวกัน ระบบซะกาตที่ทำท่าจะระส่ำระสายในตอนแรกก็กลับมามีชีวิตชีวา อันเนื่องมาจากจำนวนผู้ที่จ่ายซะกาตมีเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งซะกาตได้กลายเป็นแหล่งรายได้อันดับหนึ่งของกองคลัง (บัยตุลมาล) ในที่สุด

   
      
สำหรับแนวทางการจัดระบบซะกาตในสมัยของท่านอบูบักรพอสรุปได้ดังนี้:
    
     1.  การจัดตั้งกองคลังกลาง (บัยตุลมาล) ในปีที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ เพื่อเป็นที่ เก็บรวบรวมรายได้ต่างๆของรัฐที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเฆาะนีมะฮฺ  (ทรัพย์สินที่ยึดมาจากศัตรูในการทำสงคราม) จากซะกาต และจากภาษีอื่นๆ เช่นภาษีญิซยะฮฺ ที่ เก็บจากผู้อยู่ในอารักขาที่มิใช่เป็นมุสลิม และภาษีเคาะร็อจ หรือภาษีที่ดินเป็นต้น

(มัสอู๊ด  ยะหยา 2002: 71-75)  

          กองคลัง (บัยตุลมาล ) ในสมัยของท่านอบูบักรยังไม่มีความชัดเจน ในเรื่องการจัดระบบ การสำรวจ และการบันทึก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการสถาปนารูปแบบการคลัง ของรัฐอิสลาม ซึ่งสมัยต่อมาได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นกองคลังที่ทรงอนุภาพยิ่ง
      
    2. การส่งเจ้าหน้าที่ไปยังหัวเมืองต่างๆเพื่อจัดเก็บซะกาตโดยเฉพาะในช่วงหลังจากการปราบปรามกลุ่มมุรตัด และกลุ่มผู้ไม่ยอมจ่ายซะกาต ท่านอบูบักรได้แสดงออกถึงการเอาจริง เอาจังในเรื่องนี้ด้วยการระดมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อส่งไปยัง หัวเมืองต่างๆ และเผ่าต่างๆ ที่กระจัด กระจายอยู่ในคาบสมุทรอาหรับ ในขณะเดียวกันก็ได้ส่งสารไปยังชาวเมืองต่างๆ โดยเรียกร้อง เชิญชวนให้จ่ายซะกาตดังตัวอย่างของท่าน อนัส อิบนุ มาลิก ที่ถูกส่งไปยังชาวบะห์เรน พร้อม ด้วยสาส์นจากท่านอบูบักรฺ

(ฟูอ๊าด อับดุลลอฮ์, 1996 :  หน้า 4)

     3. การแบ่งปันซะกาตให้กับคนยากจนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้อพยพ (มุฮาญิรีน) หรือ กลุ่มชาวเมืองมะดีนะห์ (อันศ็อรร์) กลุ่มพลเรือน หรือกลุ่มทาส กลุ่มเพศชาย หรือกลุ่มเพศหญิง  (มัศอู๊ด ยะห์ยา 2002: 47) ท่านอบูบักร์ จะแยกส่วนรายได้ของรัฐอย่างชัดเจน เพื่อจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ์ เช่น ส่วน ของซะกาตก็จะจ่ายให้กับผู้มีสิทธิ์รับซะกาต และส่วนของเฆาะนีมะหฺ  (ทรัพย์เชลย) ก็จะ จ่ายให้กับผู้มีสิทธิ์ในทรัพย์เชลยเป็นต้น (อ้างแล้ว)
    
     4. การยึดมั่นในซุนนะห์ของท่านนบี  อย่างเคร่งครัด โดยท่านอบูบักรฺ ได้ปฏิบัติตามแนวทาง ของท่านนบี ที่ได้วางไว้เป็นแบบอย่าง จนท่านสามารถบรรลุความสำเร็จในการจัดระบบ ซะกาตเป็นที่น่าพอใจ
 

 

แนวทางการจัดระบบซะกาตในสมัยอุมัรฺ อิบนุลค็อฎฎ็อบ (รฎ.)  (13 – 23 ฮศ./634 -644 คศ.)
 
 
           เมื่อท่านอบูบักรฺสิ้นชีวิตลง ท่านอุมัร อิบนุลค็อฎฎ็อบก็ได้รับตำแหน่งเคาะลีฟะห์คนต่อมา ท่านอุมัรฺเป็นคนที่มีบุคลิกภาพ และอัฉริยภาพที่โดดเด่น มีภาวะความเป็นผู้นำที่สูง ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ในประวัติศาสตร์อิสลาม ท่านได้สร้างความเกรียงไกรด้วยการขยายอาณาจักรอิสลาม  สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับรัฐในกิจการทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการทหาร และที่สำคัญก็คือ ท่านได้สร้างความอยู่เย็นเป็นสุขให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาราษฎร์ทั้งผู้ที่เป็นมุสลิม และไม่ใช่มุสลิม
 
     สำหรับแนวทางการจัดระบบซะกาตในสมัยท่านอุมัร พอสรุปได้ดังนี้ :
 
     1.  ท่านอุมัรฺได้จัดตั้งกองคลัง (บัยตุลมาล) ทั้งกองคลังกลางที่อยู่ในเมืองหลวง (นครมะดีนะฮฺ) และกองคลังย่อยที่กระจัดกระจายอยู่ตามแคว้นต่างๆ ท่านได้วางระบบการบริหาร การจัดการอย่างดีเยี่ยม ทำให้ทรัพย์สินอันมากมายที่เป็นรายได้ของกองคลังในขณะนั้น  ถูกจัดเป็นระบบ และสามารถนำมาใช้จ่ายในกิจการของรัฐอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น ท่านอุมัรฺยังได้กำหนดระบบ  ดีวาน (   ديوان  ) หมายถึง ระบบองค์กร หรือสำนักงานเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่บริหาร จัดการงานเฉพาะด้าน นับว่าท่านเป็นผู้นำมุสลิมคนแรกที่จัดตั้งระบบดีวาน ในรัฐอิสลาม (อบูอุบัยดฺ 1986 หน้า 236, 237)ดีวานที่สำคัญที่ท่านอุมัรได้จัดตั้งขึ้น ได้แก่ :
 
     1.) ديوان العطاء ( องค์กรเพื่อแบ่งปันทรัพย์สิน หรือเงินอุดหนุน ) มีหน้าที่ทำบัญชี ทรัพย์สินประเภทต่างๆ ที่เป็นรายได้ของบัยตุลมาล และทำบัญชีรายชื่อทหาร และพลเรือน ที่ รัฐจะต้องให้เงินอุดหนุน และสวัสดิการ 
 
     2.) ديوان الإنشاء (องค์กรตรวจตราทรัพย์สิน/สถิติ) มีหน้าที่ทำทะเบียน และทำรายงาน งบประมาณ รายได้ รายจ่ายของแผ่นดิน ตลอดจนจำนวนประชากร และบัญชีทรัพย์สินของ ข้ารัฐการอีกด้วย
 
     3.) ديوان الخراج (องค์กรจัดเก็บภาษี หรือกรมสรรพากร ) มีหน้าที่จัดเก็บรวบรวมภาษีประเภทต่างๆ ตลอดจน ทรัพย์เฆาะนีมะห์   ฟัยอฺ และซะกาต

(อับดุลลอฮฺ อัลกอรี, 2537 : หน้า 44)

 
          จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าท่านอุมัรฺ ได้แยกฝ่ายจัดเก็บซะกาตออกจากฝ่ายแจกจ่ายซะกาตอย่างชัดเจน ในส่วนของฝ่ายจัดเก็บซะกาตนั้น นอกจากจะแบ่งตามแคว้น และหัวเมืองต่างๆ แล้ว ยังมีการแบ่งตามประเภท ของซะกาตอีกด้วย เช่น แผนกปศุสัตว์  แผนกผลิตผลการเกษตร  แผนกทองคำ เงิน และแผนกสินค้า เป็นต้น

     ส่วนฝ่ายแจกจ่ายนั้น ท่านอุมัรมีนโยบายว่า จะต้องให้อย่างพอเพียง ท่านกล่าวว่า :

" إذا أعطيتم الناس فاغنوه "  “ เมื่อท่านให้แล้ว ก็จงให้อย่างพอเพียง ”

( อัสสัยยิด อะหฺมัด อัล มุค็อซรอนญี, 1419 : หน้า 212)  

     2.  เนื่องจากรัฐมีรายได้เข้ากองคลังเป็นจำนวนมาก ท่านอุมัรฺจึงได้กำหนดเงินอุดหนุน เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนทุกชั้นอย่างถ้วนหน้า ทุกคนจะได้รับลดหลั่นกันตามสถานภาพการเข้ารับอิสลามก่อนหลัง และการเป็นเครือญาติใกล้ชิด กับท่านนบี  ในส่วนของซะกาต ท่านอุมัรฺจะสำรวจ และตรวจสอบผู้มีสิทธิ์ในด้านความต้องการ และจำนวนซะกาตที่จะให้อย่างเพียงพอกับความต้องการ ดังที่ได้กล่าวมา

          นอกจากนั้นท่านอุมัรยังได้ใช้ส่วนของซะกาตในการบำรุงกองทัพ การสร้างมัสยิด และสร้างบ้านเรือนให้แก่มุสลิมที่ยากจนอีกด้วย (มัสอู๊ด ยะหฺยา ,2002 :หน้า 159) แต่ท่านอุมัรได้ระงับการจ่ายซะกาตแก่มุอัลลัฟ (มุสลิมใหม่) เนื่องจากท่านเห็นว่ารัฐอิสลาม ในขณะนั้นได้กลายเป็นรัฐที่ใหญ่โตและกว้างขวาง มีผู้เข้ารับอิสลามเป็นจำนวนมาก จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องจ่ายให้มุอัลลัฟ ในฐานะของการเป็นมุอัลลัฟ แต่ได้จ่ายให้ในฐานะอื่นๆ

(อ้างแล้ว: หน้า 162) 

     3. ท่านอุมัรได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคัดเลือกบุคลากร ในการทำงานกับท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและกองคลัง ท่านจะมีความละเอียดรอบคอบ ในการคัดเลือก และท่านจะไม่รีรอในการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติผิด หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

     บรรดาเจ้าหน้าที่ที่ท่านอุมัรแต่งตั้ง เป็นอามิลเก็บซะกาตนั้นจะมีคุณสมบัติดังนี้ :

1- เป็นมุสลิม  

2-บรรลุศาสนภาวะ

3-มีอะมานะหฺ (ความซื่อสัตย์ และความรับผิดชอบ)

4-มีความรู้เกี่ยวกับบทบัญญัติของซะกาต

5-มีความสามารถในการทำงาน

     ตัวอย่างเช่น ท่านสุฟยาน  อิบนุ ดับดิลลาหฺ ท่านอบู หัษมะฮฺ และท่ามูฮัมมัด อิบนฺ มัสละมะฮฺ เป็นต้น (อบูอุบัยดฺ , 1989 :   หน้า 552)
 
      4.  ท่านอุมัรฺได้ยึดถือ แนวทางของท่านนบี  และแนวทางของท่านอบูบักรฺ ในการจัดระบบซะกาต พร้อมกันนั้นก็ได้นำวิธีการบริหารจัดการ แบบใหม่ของเปอร์เซีย มาประยุกต์ใช้ จนทำให้ระบบซะกาตในสมัยของอุมัรฺ เป็นระบบที่ทันสมัย สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ อย่างมีประสิทธิภาพ


 

แนวทางการจัดระบบซะกาตในสมัยของท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (23 – 35 ฮศ. / 644 – 656 คศ. )


          เมื่อท่านอุมัรถูกฆาตกรรม ในปลายปี ฮศ.23 ท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน ก็ได้รับการแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺคนต่อมา ท่านได้เจริญรอยตามท่านนบี ท่านอบูบัก และท่านอุมัรฺ ในการจัดระบบซะกาต ทั้งในด้านการจัดส่งเจ้าหน้าที่ (อามิล) ไปยังแคว้นต่างๆ เพื่อเก็บรวบรวมซะกาต และในด้านการแจกจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิ์

          และเนื่องจากยุคของท่านอุษมานเป็นยุคของการขยายดินแดน ซึ่งเป็นยุคที่ต่อเนื่องจากท่านอุมัรฺ  กองคลังกลาง (บัยตุลมาล) จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สินจากแหล่งต่างๆ ของรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทรัพย์สินสงคราม (เฆาะนีมะหฺ) ภาษีที่ดิน (เคาะรอจ) ภาษีรายหัวของผู้ที่ไม่ใช่เป็นมุสลิม (ญิซยะฮฺ) และจากซะกาต มีผลทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรมุสลิม มีความสะดวกสบาย และฟุ้งเฟ้ออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

          อย่างไรก็ตามในส่วนของซะกาตนั้น พบว่าท่านอุษมานได้ปรับเปลี่ยนการจัดเก็บซะกาตใหม่ โดยจัดเก็บเฉพาะทรัพย์สินที่เปิดเผย คือ ทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ (อามิล) สามารถคำนวณได้ เช่นผลผลิตทางการเกษตร และปศุสัตว์ เป็นต้น สำหรับทรัพย์สินที่ปกปิด เช่น เงินทองที่สะสมไว้  เจ้าของจะเป็นผู้แจกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิ์เอง ไม่จำเป็นจะต้องส่งให้รัฐ (อักรอม อัลอุมะรีย์ , 1998 :หน้า 216)  สำหรับเหตุผลในเรื่องนี้ก็คือ ท่านอุษมานไม่ต้องการให้เกิดความลำบาก แก่ประชาชน และเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ อีกทางหนึ่งด้วย (ฟูอ๊าด อับดุลลอฮฺ, 1996 :หน้า 5)
 
          การเลือกเก็บซะกาตเฉพาะทรัพย์สินที่เปิดเผย ทำให้รายได้ของกองคลัง(บัยตุลมาล)ลดลง ท่านอุษมานจึงได้ชดเชยด้วยทรัพย์สินที่เป็นรายได้จากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากทรัพย์สงคราม และภาษีต่างๆ อันเป็นผลมาจากการขยายดินแดน และอาณาจักรอิสลาม และด้วยบุคลิกของความเป็นคนใจดี มีความโอบอ้อมอารีเป็นเลิศ ท่านอุษมานได้แจกจ่ายทรัพย์สินจำนวนมหาศาล ทั้งของส่วนกลาง และส่วนตัว ให้กับคนยากจน และให้กับบุคคลต่างๆ ที่รัฐจะต้องดูแล และอุปถัมภ์ (อ้างแล้ว)

 

แนวทางการจัดระบบซะกาตในสมัยท่านอะลี อิบนฺ อะบีฎอลิบ ( 35 – 40 ฮศ./656 – 661 คศ.)
 

          หลังจากที่ท่านอุษมาน อิบนฺ อัฟฟาน ถูกฆาตกรรมในปีที่ 35 ฮศ. ท่านอะลี อิบนฺ อะบีฎอลิบ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะห์คนที่ 4 ท่ามกลางสถานการณ์รอบด้านที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ระส่ำระส่าย ท่านได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการคลังใหม่ โดยเน้นความถูกต้อง ความโปร่งใส และความยุติธรรม และยึดมั่นในแบบฉบับของท่านนบี  ท่านอบูบักรฺ และท่านอุมัรฺอย่างเคร่งครัด
 
ในส่วนของซะกาตนั้น ท่านอะลีได้ให้ความสำคัญอย่างมาก ท่านได้ประกาศว่า :

" إن الله فرض في أموال الأغنياء أقوات الفقراء، فما جاع فقير إلا بتخمة غني "             

     "แท้จริงอัลลอฮฺได้กำหนดให้อาหารของคนจนอยู่ในทรัพย์สินของคนรวย คนจนจะไม่หิวนอกจากคนรวยจะกินอิ่มจนท้องอืด"

(มูฮัมมัด ฏ็อยฟุลลอฮฺ มปป. หน้า 123 )

          ด้วยเหตุดังนี้ ท่านอะลีจึงใช้ระบบการคลัง (บัยตุลมาล)เพื่อรวบรวมซะกาต และอื่นๆ และจ่ายทรัพย์สินเหล่านั้นให้แก่ผู้มีสิทธิ์อย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ท่านไม่เคยปล่อยให้ทรัพย์สินคงไว้ในกองคลัง นอกจากเป็นส่วนที่ไม่สามารถแบ่งได้ในวันนั้น (อ้างแล้วหน้า 124)
 
           สำหรับแนวทางของท่านอะลีในการจัดระบบซะกาตนั้น เป็น แนวทางเดียวกับท่านนบี  ท่านอบูบักร และท่านอุมัร โดยท่านเน้นเรื่องความเป็นธรรม และความโปร่งใส ดังตัวอย่างจากรายงานที่ระบุว่าท่านอะลีได้สั่งเสียเจ้าหน้าที่ (อามิล) ที่ส่งไปเก็บซะกาตให้มีความเป็นธรรมต่อเจ้าของทรัพย์สิน อย่าเลือกทรัพย์สินที่ดีๆ เช่น แพะลูกอ่อน แพะมีท้อง แพะมีน้ำนมมาก และแพะอ้วนที่เจ้าของเลี้ยงไว้เชือดรับประทาน เพราะจะทำให้เจ้าของมีความเดือดร้อนและมีความขุ่นเคืองในจิตใจ และอย่าเลือกเอา แพะ แกะ อูฐ ที่มีอายุมาก เพราะจะทำให้เสียหายต่อผลประโยชน์ส่วนรวม

          และมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่เก็บซะกาตของท่านอะลีจะแบ่งทรัพย์สินออกเป็น3 กอง โดยให้เจ้าของทรัพย์สินเลือกเอาที่ต้องการไว้ ส่วนเจ้าหน้าที่จะเลือกซะกาตจากกองที่ 2  (มูฮำหมัด ฎอยฟุลลอฮฺ มปป. หน้า 102)
 
          รายงานดังกล่าวนี้คือตัวอย่างที่แสดงถึงความเป็นธรรมของท่านอะลี อิบนฺ อะบีฏอลิบ  ความเป็นธรรมที่ท่านอะลีได้ใช้เป็นแนวทางสำคัญในการปกครองและการบริหารกิจการต่างๆในสมัยของท่านจนได้รับสมญานามว่าเป็นเคาะลีฟะฮ์คนหนึ่งที่ทรงธรรม

 

 

ติดตามการจัดระบบซะกาตในสมัยต่อมา

ในตอนที่ 3.....