ร่วมมือกันสร้างสิ่งที่ดีงาม
  จำนวนคนเข้าชม  6788

 

ร่วมมือกันสร้างสิ่งที่ดีงาม


 

โดย... อาจารย์ อรุณ  บุญชม


 

พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย “จงยำเกรงอัลลอฮฺและจงร่วมมือกันสร้างสิ่งที่ดีงามเถิด”

 

         ในหลวงอันเป็นที่รักของเราได้ตรัสไว้ในวาระที่อีหม่ามและคณะครูสอนศาสนาอิสลามเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2533 ความตอนหนึ่งว่า “กรรมการอิสลามและผู้บริหารโรงเรียนทุกแห่งทุกคน จึงชอบที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้ประสานกันโดยใกล้ชิด และส่งเสริมสนับสนุนกันอย่างจริงจัง เพื่อให้งานที่ทำดำเนินไปได้อย่างสอดคล้อง คล่องตัว และได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน ตรงตามความประสงค์ในการพัฒนาคน”

 

         ในสังคมมุสลิมมีองค์กรที่สำคัญอยู่ 2 ประเภท นั่นคือ องค์กรการบริหารและองค์กรการศึกษา องค์กรการบริหารมี 3 ระบบ คือคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ส่วนองค์กรการศึกษาก็มีหลายระบบ เช่น ระบบปอเนาะ ระบบโรงเรียน ระบบวิทยาลัย และระบบมหาวิทยาลัย

          องค์กรในสังคมมุสลิมทั้ง 2 ประเภทนี้ จำเป็นต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด อย่าแยกกันทำงานโดยไม่ให้ความสนใจและไม่ประสานงานกัน หากองค์กรสังคมทั้ง 2 ประเภทนี้ร่วมมือกันในการทำงานอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายไปสู่จุดแห่งความเจริญก้าวหน้าของสังคมมุสลิมอย่างใกล้ชิด ดังพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น สังคมมุสลิมทั้งระบบจะก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างแน่นอน

          ในคำสอนของอิสลาม ถ้าความดีถูกกระทำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม คนที่รู้จะต้องให้ความร่วมมือ สนับสนุนช่วยเหลือ ถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของอิสลามอันจักก่อให้เกิดพลังอันเข้มแข็งของสังคม วัฒนธรรมการช่วยเหลือกันทำความดีในสังคมหากยึดถือกันเป็นวัฒนธรรมถาวร สังคมนั้นมีแต่จะพัฒนาไปสู่ความสูงส่งไม่มีทางจะตกต่ำ เราจะสังเกตด้วยประสบการณ์ตนเองได้เลยว่า วัฒนธรรมเช่นนี้ถูกปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งช่วยกันโดยไม่ต้องว่าจ้าง แต่ช่วยกันด้วยความเสียสละแบบช่วยกันไปช่วยกันมา ทำให้คนในสังคมมีสำนึกห่วงหาอาทรกันอย่างจริงใจต่อกัน ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่เอาตัวรอด ไม่ทอดทิ้งกัน

          ในมุมกลับกันอิสลามห้ามสนับสนุนความชั่วความผิดที่ใครได้กระทำ เมื่อมีคนทำความผิดใดในสังคม อิสลามห้ามคนอื่นสนับสนุน หากมีการสนับสนุน ผู้สนับสนุนก็ร่วมเป็นผู้กระทำความผิดในระนาบเดียวกันกับผู้กระทำ แม้แต่การสนับสนุนด้วยวาจามิใช่ด้วยการกระทำก็ตาม คำสอนของอิสลามห้ามการส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือกันในเรื่องความผิดอย่างเด็ดขาด เพราะนั่นจะเป็นเหตุให้สังคมตกต่ำถึงขั้นล่มสลายและหายนะ

อัลกุรอานได้บัญญัติว่า

“และพวกเจ้าจงช่วยเหลือซึ่งกันและกันในความดีงามและความยำเกรง

และอย่าได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำบาปและการเป็นศัตรู”
 

(ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ:2)


          การอยู่ร่วมกันในสังคมและการบริหารสังคม ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามคำสอนจากอัลกุรอานโองการนี้โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะองค์กรบริหารและองค์กรการศึกษาดังที่ในหลวงของเราได้ทรงตรัสไว้ว่า ในท้องถิ่นมุสลิมไม่ว่าจะพื้นที่ใดก็ตาม ต้องมีองค์กร 2 ประเภทนี้อยู่ในทุกท้องถิ่น คือ มีมัสยิดและโรงเรียน อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีโรงเรียนสอนอัลกุรอานและสอนศาสนาระดับพื้นฐานที่เรียกว่า “ฟัรดูอีน” บางพื้นที่ก็มีโรงเรียนที่สอนในระดับที่สูงขึ้นไปตามแต่ศักยภาพของท้องถิ่นนั้น ทั้งมัสยิดและโรงเรียนจะต้องช่วยเหลือสนับสนุนกันตลอดเวลา อย่าทอดทิ้งกันเป็นอันขาด

 

 


ที่มา : จดหมายข่าวคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา