เศรษกิจพอเพียงที่หายไป
  จำนวนคนเข้าชม  9418

เศรษกิจพอเพียงที่หายไป

 

โดย อาจารย์ อิบรอฮีม และซัน


 

          ก่อนอื่นผมใคร่ขอตักเตือนท่านทั้งหลาย และตัวของกระผมเอง จงพยายามยืนหยัดตั้งมั่นอยู่ในความยำเกรง ตักวาต่ออัลเลาะห์ ของเราให้มาก ๆ เถิด โดยพยายามประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่พระองค์ทรงใช้ และห่างไกลจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และนับเป็นความโปรดปรานจากพระองค์อัลเลาะห์ ที่พระองค์ให้โอกาสแก่เรามีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยมีอีกหลายๆคนจากพี่น้องมุสลิม ที่หมดโอกาสจะสร้างคุณงามความดีเพิ่มเติมให้กับตัวเองเพื่อให้เป็นเสบียง และเกิดความสุข หลังจากความตายของเขา 

 

          ท่านพี่น้องที่เคารพ ขอพวกเราจงรำลึกอยู่เสมอว่า จะทำอะไรให้กับชีวิตอันแสนสั้นที่เหลืออยู่นี้ ให้มีคุณค่าและเกิดประโยชน์ กับชีวิตของเราอย่างแท้จริงและมากที่สุดได้ วันเวลาที่ผ่านไป อาจจะปล่อยปะละเลยไปบ้าง ความขาดทุนจึงถือว่าเพียงพอแล้วที่หมดไปกับสิ่งที่ไร้ค่าไร้สาระ แล้วจะทำอย่างไรเล่าที่มีคุณค่าให้กับชีวิตอย่างแท้จริง และไม่ประสบกับความขาดทุนในบั้นปลายของชีวิตอีก เรื่องนี้พระองค์อัลเลาะห์ ได้มีกล่าวในอัลกุรอาน ซูเราะห์ตุ้ลอัสริ سورة العصر อายะห์ที่ ๑-๓ พระผู้อภิบาลทรงตรัสว่า



وَالْعَصْرِ (1) إِنَّ الْإِنْسَانَ لَفِي خُسْرٍ (2) إِلَّا الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ وَتَوَاصَوْا بِالْحَقِّ وَتَوَاصَوْا بِالصَّبْرِ (3)

 

"ขอยืนยันขอสาบานด้วยกับเวลา อัสริ แท้จริงมนุษย์อยู่ในความขาดทุน ยกเว้นบรรดาผู้มีศรัทธา และประพฤติแต่ความดีงาม

และพวกเขาตักเตือนกันในสัจธรรม และพวกเขาตักเตือนกันในขันติธรรม"

         จากโองการข้างต้น พอจะสำรวจในตัวของเราได้แล้วว่า ทุกวันนี้เราเป็นผู้ที่มีอิหม่านศรัทธาถูกต้องตามแนวทางของ อะห์ลิสซุนนะห์วั้ลญามาอะห์ อย่างแท้จริงหรือเปล่า ปฏิบัติอามั้ลที่ซอและห์ หรือได้ปฏิบัติคุณงามความดีที่พระองค์ทรงใช้ และละเว้นสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามถูกต้องตามองค์ประกอบกฎเกณฑ์เงื่อนไขตามศาสนบัญญัติหรือเปล่า ? และเราจะต้องระวังรักษาคุณงามความดี ที่ได้ทำให้มีความปลอดภัย จนถึงวันที่นำเสนอต่อพระองค์ อัลเลาะห์ ในวันแห่งการตอบแทน (วันกิยามะห์) หรือไม่

          ท่านพี่น้องที่เคารพ จากสิ่งที่เราพยายามสำรวจ ในตัวเองดังที่กล่าวมานั้น เราต้องอาศัยวิชาความรู้ ที่ค้นคว้า ศึกษาเท่านั้น ถึงจะสามารถเข้าใจ และสำรวจได้อย่างถูกต้อง เรียกว่า ศึกษาไป ปฏิบัติไป แก้ไขกันไป ในสิ่งที่ไม่ถูกให้ถูกต้องในแต่ละอย่าง จนกว่าชีวิตของเราจะหาไม่ หันมาปรับปรุงแก้ไขพัฒนาชีวิตของที่เหลืออยู่นี้ให้ดีที่สุด ศึกษา รุก่น อิหม่าน ทั้ง ๖ ประการ 

  ♦ และรายละเอียดวิชา เตาฮีด ของแต่ละข้อ ที่จำเป็นจะต้องศรัทธาให้เข้าใจถูกต้องอย่างแท้จริง 

  ♦ และศึกษากฎเกณฑ์เงื่อนไขของ ศาสนบัญญัติที่จำเป็นต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง 

  ♦ และศึกษาวิธีการดูแลรักษา อามั้ล คุณงามความดีของเราให้ปลอดภัย โดยศึกษาให้รู้ถึงจริยธรรมคุณธรรมทางจิตใจ 

  ♦ และนอกเหนือจากสิ่งที่ได้นำมาปฏิบัติแล้ว ให้นำไปบอกเตือนกับผู้อื่น เพื่อที่เรานั้นจะได้อยู่ในหมู่ของบุคคลที่ถูกยกเว้นจากการขาดทุน ตามที่ พระองค์อัลเลาะห์ บอกไว้ดังที่ได้กล่าวมา

 

          การปฏิบัติ อามั้ล คุณงามความดี มิได้หมายถึงอยู่แค่เพียงภาคพิธีกรรม บำเพ็ญภาวนาเพียงอย่างเดียวก็หาไม่ แต่การดำเนินชีวิต ของเราบนโลกดุนยานี้ อยู่ในกรอบกำหนดพระบัญญัติของพระองค์อัลเลาะห์ ที่เป็นอามั้ลที่ดีงามได้อีกเช่นเดียวกัน โดยที่เรามีการเหนี๊ยตที่ดีและไม่ละเมิดกรอบบัญญัติของพระองค์ เช่นการหาปัจจัยยังชีพที่ ฮาลาล และใช้ไปในหนทางที่ถูกต้อง ไม่ฟุ่มเฟือย รู้จักประมาณตนให้เหมาะสมกับสภาพตัวเองเพื่อให้เกิดความสมดุลกับการดำเนินชีวิต 

 

          มนุษย์ทุกคนจะดำรงชีพอยู่ได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ที่สำคัญคือต้องมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย แต่ทั้งสามอย่างนี้ จะไม่มีความหมายใดๆเลย หากปราศจากวิญญาณในร่างกาย ดังนั้นการดำเนินปฏิสัมพันธ์ใดๆกับสิ่งมีชีวิต ที่เรียกว่ามนุษย์ จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมด หากมุ่งพัฒนาปัจจัยหนึ่งปัจจัยใด โดยละเลยปัจจัยอื่นๆ ก็จะทำให้ชีวิตมนุษย์ขาดความสมดุล และนำมาซึ่งความเสียหายใหญ่หลวง ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อิสลามจึงมุ่งเน้นสร้างความสมดุลแก่ชีวิตตามแนวทางซึ่งมีกล่าวในอัลกุรอาน ซูเราะห์อัลก้อซ้อส سورة القصص อายะห์ที่ 77 พระผู้อภิบาลทรงตรัสว่า



وَابْتَغِ فِيمَا آتَاكَ اللَّهُ الدَّارَ الْآخِرَةَ وَلَا تَنْسَ نَصِيبَكَ مِنَ الدُّنْيَا وَأَحْسِنْ كَمَا أَحْسَنَ اللَّهُ إِلَيْكَ وَلَا تَبْغِ الْفَسَادَ فِي الْأَرْضِ إِنَّ اللَّهَ لَا يُحِبُّ الْمُفْسِدِينَ (77)

 

“จงแสวงหาภาคผลแห่ง ปรภพในสิ่งที่พระองค์อัลเลาะห์ ทรงประทานแก่เจ้าไว้ และอย่าลืมภาคผลที่เจ้าพึงได้จากโลกใบนี้ ...” 

          ไม่มีความขัดแย้งระหว่างการแสวงหาภาคผลแห่งปรภพ กับการแสวงหาปัจจัยอันพึงมีพึงได้ขณะอยู่บนโลกนี้ เพราะบุคคลจะได้รับภาคผลมากน้อยประการใด ย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำความดีบนโลกนี้ว่า มากน้อยแค่ไหน ความดีที่อิสลามต้องการคือความดีที่ยืนอยู่บนหลักธรรมคำสอนของพระองค์อัลเลาะห์ อย่างเคร่งครัด เป็นความดีที่ชี้นำให้มนุษย์ได้เห็นว่าเมื่อโลกใบนี้ไม่ใช่สิ่งจีรัง ก็มิควรที่คนเราจะมายึดติดกับความสุขฉาบฉวยต่างๆที่หาได้ แต่ควรคำนึงถึงความสุขอันเป็นนิรันดรในโลกหน้ามากกว่า 

          ท่านพี่น้องที่เคารพ การคำนึงถึงความสุขในโลกหน้า มิได้หมายความให้มุสลิมละทิ้งและหันหลังให้ความสุขบนโลกนี้อย่างสิ้นเชิง แต่หมายถึงให้แสวงหาความสุขอย่างพอเพียงแก่สถานะของผู้ที่พักอาศัยในโลกเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่ลุ่มหลงมัวเมากับความสุขบนโลก จนลืมภาระหน้าที่ของตนและเป็นชะตากรรมที่ต้องประสบในโลกนี้ เมื่อคนเราจำเป็นต้องอาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยในการดำรงชีพ นั่นหมายความว่าคนเราต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในการดำรงอยู่ เศรษฐกิจที่จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีทั้งในภพนี้ และ ปรภพ คือเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นเศรษฐกิจที่ทำให้บุคคลไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่มีชีวิตสมถะเรียบง่าย ขณะเดียวกันก็ไม่เพิกเฉยต่อการพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามคำบัญชาแห่งพระองค์อัลเลาะห์ ที่ทรงรับสั่งให้มนุษย์ทำหน้าที่ผู้แทนพระองค์บนพื้นภิพบว่า



قَالَ رَبُّكَ لِلْمَلَاءِكَةِ إِنِّى جَاعِلٌ فِالْاَرْضِ خَلِيْفَةً وَإِذْ

 

" จงรำลึกเถิด เมื่อครั้งที่องค์พระผู้อภิบาลของเจ้าได้ทรงตรัสกับปวง มลาอิกะห์ ว่า ข้าจะสร้างผู้แทนขึ้นบนพื้นแผ่นดิน "

          ความพอเพียงตามนัยยะแห่งอิสลามจึงหมายถึงการดำรงตนอย่างพอดีบนฐานของการประกอบสัมมาอาชีพโดยไม่เป็นภาระแก่สังคม ขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ แก่เพื่อนร่วมโลกเพื่อสนองพระบัญชาแห่งพระองค์อัลเลาะห์ และเพื่อที่จะได้รับการตอบแทนที่ดีใน ปรภพ

          โดยนัยยะแห่งอิสลาม การพัฒนาตามระบบเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งถูกกำหนดกรอบด้วยจิตวิญญาณของความจงรักภักดีต่อ พระองค์อัลเลาะห์ และสำนึกของการเป็นผู้แทนพระองค์บนพื้นภิภพ เป็นเศรษฐกิจที่มุ่งใช้ทรัพยากรที่พระองค์ประทานให้อย่างสร้างสรรค์ และเกิดความพอเพียงแก่คนส่วนใหญ่ ไม่ส่งเสริมให้เกิดความโลภโมโทสันในการครอบครอง พระองค์อัลเลาะห์ กล่าวในอัลกุรอาน ซูเราะห์อัลอะอ์รอฟ سورة الأعراف อายะห์ที่ ๓๑ พระผู้อภิบาลทรงตรัสว่า


وَكُلُوا وَاشْرَبُوا وَلَا تُسْرِفُوا إِنَّهُ لَا يُحِبُّ الْمُسْرِفِينَ (31)


 

"จงกิน จงดื่ม แต่จงอย่าฟุ่มเฟือย แน่แท้พระองค์อัลเลาะห์ ไม่ทรงรักคนฟุ่มเฟือย"

          บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง แม้จะเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย แต่บุคคลจะสามารถก้าวนำสังคมไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และมีความอบอุ่นในการใกล้ชิดพระองค์อัลเลาะห์ ผู้เป็นที่รักเป็นฐานรองรับอย่างแน่นหนา โดนนัยยะนี้ เศรษฐกิจพอเพียงจึงหล่อเลี้ยงบุคคลได้ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ เป็นเศรษฐกิจที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สังคมและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน เพราะสามารถสร้างความสมดุลแก่ชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในเศรษฐกิจทุนนิยมปัจจุบัน


 

 

คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ