เลี้ยงลูกให้ถูกทาง ตามคำสอนของอัลกุรอานและซุนนะฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  37743

เลี้ยงลูกให้ถูกทาง ตามคำสอนของอัลกุรอานและซุนนะฮฺ

 

เขียนโดย ฟารามาซ บิน มุฮัมหมัด เราะฮฺบัร


 

        การเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ พ่อแม่ควรกระตือรือร้นป้องกันลูกไม่ให่หลงทาง นี่เป็นการท้าทายอันยิ่งใหญ่ในตัวของมันเอง และจะยากยิ่งเป็นทวีคูณสำหรับมุสลิมที่ต้องเลี้ยงลูกในสังคมที่ไม่ใช่อิสลาม ที่ซึ่งความกดดันของสังคมมักจะกระทบต่อหลักการและอุดมคติของศาสนาอิสลาม พ่อแม่สามารถรับมือกับปัญหาการเลี้ยงลูกได้ หากมีความพยายามอย่างมากที่จะกระทำตามกุรอานและซุนนะฮฺ

 

         ความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูลูก เริ่มเมื่อผู้ชายเลือกภรรยาของตน เพราะมันเป็นการเลือกแม่เพื่อมาเลี้ยงดูลูกของเขา ด้วยการเลี้ยงลูกตามกุรอานและซุนนะฮฺเป็นความพยายามที่ต้องทำงานร่วมกันเมื่อเด็กเกิดมาแล้ว พ่อแม่ควรตั้งชื่อที่เป็นมงคล และจัดทำอากีเกาะฮฺให้แก่เขา พ่อแม่มีหน้าที่ต้องสอนลูกตั้งแต่เด็กๆ ถึงเรื่องพระเจ้า คือ เตาฮีด (ความเป็นหนึ่งเดียวของพระผู้เป็นเจ้า) และชิริก (การตั้งภาคีกับพระผู้เป็นเจ้า) ในทำนองเดียวกัน พ่อแม่ต้องคุยเรื่องเสาหลักแห่งอิสลาม อีหม่าน และชีวิตที่ยิ่งใหญ่กว่าหลังวันสิ้นโลก

 

   -♥- เมื่อลูกอายุ 7 ขวบ พ่อแม่ควรต้องสอนให้ลูกทำการอาบน้ำละหมาดและสอนว่าจะละหมาดอย่างไร 

 

   -♥- เมื่อลูกอายุ 10 ขวบ พ่อแม่สามารถลงโทษเขาได้หากเขาปฏิเสธที่จะละหมาด เป็นเรื่องสำคัญว่าผู้ปกครองควรสอนลูกด้วยปัญญา และการยกย่องลูกบ้าง ไม่ควรเอาแต่ลงโทษหรือดุด่าเพียงอย่างเดียว จุดประสงค์ของการจัดระเบียบก็เป็นการเตรียมพร้อมให้เด็กสนใจ อัลลอฮฺ  เมื่อเขาอายุมากขึ้น จะได้ไม่ต้องเตือนให้ทำละหมาดและหน้าที่อื่นๆ 
 

   -♥- พ่อแม่ควรอธิบายเรื่องการประพฤติตัวในมัสญิดด้วย ควรสนับสนุนให้ลูกท่องจำกุรอานโดยเริ่มจากซูเราะฮฺสั้นๆ โดยให้ท่องเป็นประจำและเรียนหลักการท่องจำไปพร้อมๆ กับการเข้าใจความหมายในเรื่องที่เขาเรียนรู้ 

 

   -♥- เมื่อลูกเป็นหนุ่มสาวก็เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเขาที่จะต้องถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอน เว้นแต่จะได้รับการยกเว้นตามบทบัญญัติศาสนา นอกจากนี้ควรสอนให้ลูกรู้จักการออกซะกาตและการสร้างกุศล และถ้าเป็นไปได้ พ่อแม่ก็น่าจะพาลูกไปประกอบพิธีฮัจญ์หรือพิธีอุมเราะฮฺด้วย

 

   -♥- พ่อแม่ต้องเตรียมพร้อมให้กับลูกตลอดชีวิตในการที่จะสอนพวกเขาว่า จะพัฒนาทัศนคติให้ได้รับชัยชนะอย่างไร ท่านนบี  ได้สอนถึงความสำคัญของความซื่อสัตย์ จริงใจ ประพฤติดี และทัศนคติที่ดี พ่อแม่ควรพยายามเต็มที่ที่จะปลูกฝังคุณสมบัติเหล่านี้ให้แก่ลูกๆ ของพวกเขา พ่อแม่ควรยับยั้งความโกรธของตนและสอนให้ลูกหัดควบคุมอารมณ์ด้วยเช่นกัน เด็กๆ ต้องการการสนับสนุนและความรัก พวกเขาควรได้รับการสอนให้อดทนและพยายามฝ่าฟันอุปสรรคและการทดสอบ

 

   -♥- พ่อแม่ควรสอนให้ลูกๆ ของพวกเขากล้าหาญและเข้มแข็ง มันเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะปลูกฝังความรักต่อ “การญิฮาด” ในหัวใจของลูกๆ แต่ต้องเตือนพวกเขาว่าอิสลามไม่อนุญาตให้ต่อสู้เพื่อโอ้อวด เพื่อชื่อเสียง เพื่อความภาคภูมิใจ หรือเพื่อความเป็นชาตินิยม แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงของญิฮาด คือเพื่อทำให้ศาสนาของอัลลอฮฺยิ่งใหญ่บนโลก ขั้นแรกมุสลิมต้องเผยแพร่โดยการเป็นตัวอย่างที่ดีและชี้แจงต่อคนต่างศาสนาให้เข้าใจศาสนาอิสลามอย่างแจ่มแจ้ง

 

   -♥- พ่อแม่ต้องสอนลูกให้ทักทายแบบอิสลาม โดยกล่าวว่า “อัสลามุอะลัยกุม” ดังที่ท่านนบี  ได้สั่งไว้ และพวกเขาจะต้องสอนว่า จะมีความเมตตาต่อเพื่อนบ้านและให้เกียรติต่อแขกอย่างไร

   -♥- พ่อแม่ต้องแน่ใจว่าลูกๆ ของพวกเขารู้ว่าอาหารชนิดใดรับประทานได้หรือไม่ พวกเขาจะต้องสอนลูกๆ ให้ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร ให้ใช้มือขวารับประทานอาหาร และกล่าว “บิสมิลลาฮฺ” ก่อนรับประทานอาหาร พร้อมทั้งกล่าว “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ เด็กๆ จะต้องถูกสอนให้รู้ถึงอันตรายของยาเสพติดและอันตรายของบุหรี่กับสุราด้วย

   -♥- ลูกๆ จะต้องถูกสอนให้เคารพเชื่อฟังคำสั่งพ่อแม่ของพวกเขาในเรื่องที่ถูกต้องทุกเรื่อง เด็กมุสลิมควรปฏิบัติต่อบุพการีของพวกเขาด้วยความเคารพ และดูแลเมื่อพวกท่านเริ่มแก่ตัว เด็กๆ ควรเรียนรู้ที่จะขออภัยต่อพ่อแม่ และขอให้พวกท่านขอดุอาอฺให้ พ่อแม่ไม่ควรสาปแช่งลูกเมื่อโกรธ เพราะอัลลอฮฺอาจประทานสิ่งที่ขอก็ได้ และเด็กทุกคนควรได้รับการสอนให้เคารพญาติของพวกเขา

   -♥- มุสลิมมีการเฉลิมฉลองได้ 2 เทศกาลเท่านั้น คือ “วันอีดิลฟิตริ” กับ “อีดิลอัฎฮา” วาระแห่งการเฉลิมฉลองที่ชาวมุสลิมไม่ได้รับอนุญาต ได้แก่ การเฉลิมฉลองที่ทำโดยคนต่างศาสนา มุสลิมควรหลีกเลี่ยงการกระทำตามจารีตของศาสนิกอื่น

   -♥- อิสลามมีคำสั่งว่าความต้องการทางเพศจะสนองตอบได้โดยผ่านการแต่งงาน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ทางเพศลับๆ ซึ่งไม่ถูกต้อง พ่อแม่ควรสอนลูกตั้งแต่อายุประมาณ 7-10 ขวบเรื่องความเป็นส่วนตัว เด็กๆ ต้องขออนุญาตก่อนเข้าห้องนอนพ่อแม่ และเข้าได้เฉพาะเวลาที่กำหนดเท่านั้น พ่อแม่ควรอธิบายถึงเรื่องการปะปนระหว่างชายหญิง และความจำเป็นของ “ฮิญาบ” และผู้ปกครองจะต้องยืนยันให้มีการแต่งตัวตามแบบของอิสลามในครอบครัวของพวกเขา

   -♥- เมื่อมีเรื่องเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง วัยรุ่นมุสลิมควรได้รับการสั่งสอนเรื่อง “ฮะยา” เด็กทุกคนควรมีห้องนอนเป็นสัดส่วน เด็กผู้ชายและผู้หญิงต้องแยกนอนกันคนละห้อง พ่อแม่ควรห้ามไม่ให้ลูกดูรายการโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสม และอ่านหนังสือหรือนิตยสารเกี่ยวกับความรัก/กามารมณ์ ควรสอนลูกว่าโดยปกติในอิสลาม ความรักจะมาหลังการแต่งงาน ควรป้องกันไม่ให้เรื่องความรักโรแมนติกและการอยู่กินก่อนแต่งงานเกิดขึ้นกับลูก พ่อแม่ต้องป้องกันไม่ให้ลูกคบเพื่อนที่ไม่มีคุณลักษณะของอิสลามและควรกวดขันเรื่องการแยกระหว่างชายและหญิงที่ผ่านวัยเจริญพันธุ์มาแล้ว

   -♥- ปัญหาอีกประการหนึ่งของเด็กวัยรุ่นคือ ความปรารถนาอันรุนแรงและเต็มไปด้วยอารมณ์ในเรื่องดนตรี พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกทราบถึงจุดยืนของอิสลามในเรื่องดนตรีและการเต้นรำ และจัดหาทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมให้แก่พวกเขาพ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกอ่านกุรอาน ซึ่งสามารถสร้างสันติและความสงบภายในจิตใจของเด็กได้ หรือให้ฟังอนาซีด

         โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้ชายควรเล่นกิจกรรมด้านกีฬาต่างๆ เช่น ว่ายน้ำ ขี่ม้า ศิลปะแห่งการยิงปืน ศิลปะการป้องกันตัว ตกปลา ฯลฯ หลายโรงเรียนได้เสนอกิจกรรมหลังเวลาเรียนที่เป็นความสนุกและมีประโยชน์ พ่อแม่ควรส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว

   -♥- เด็กที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวควรได้รับการแนะนำอย่างเข้มงวด พ่อแม่ควรกระตุ้นให้ลูกขยันเรียนในโรงเรียน อย่างไรก็ตามพ่อแม่จะต้องอธิบายว่า การแสวงหาความรู้ควรเป็นไปเฉพาะเพื่ออัลลอฮฺ  ไม่ใช่เพื่อโลกนี้เพียงอย่างเดียว ควรหางานที่ “ฮะลาล” แม้ว่าอาจจะทำเงินได้น้อยกว่าก็ตาม เด็กหนุ่มสาวควรได้รับคำแนะนำให้มีการเผยแพร่ศาสนาและเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนมุสลิมด้วยกัน ซึ่งมีอิสลามศึกษา การแข่งขันและการบริการชุมชน รวมถึงการออกค่าย เล่นกีฬา และกิจกรรมกลางแจ้งชนิดอื่นๆ

   -♥- เด็กมุสลิมควรเตรียมพร้อมสำหรับการแต่งงาน ความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานไม่ได้รับอนุญาตอย่างเด็ดขาด การจัดการแต่งงานอาจมีได้เมื่ออายุยังน้อยแม้ว่าจะยังไม่ถึงวัยหนุ่มสาวก็ได้ แต่หากไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง การแต่งงานของผู้เยาว์ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ในการเลือกคู่ชีวิต หลักสำคัญควรอยู่ที่การ “ตักวา” แล้วจึงพิจารณาจากความสามารถในการเลี้ยงดูภรรยา ความพร้อมทางร่างกาย เรื่องที่น่าสนใจของกันและกัน ความสัมพันธ์ของครอบครัว ฯลฯ แม้ว่าพ่อแม่สามารถสนับสนุนให้แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยได้ แต่ก็ไม่ควรบังคับให้ลูกสาวแต่งงานถ้าลูกไม่เต็มใจ

 

          สรุปได้ว่าเป็นที่แน่ชัดว่า พ่อแม่มุสลิมต้องเผชิญกับความรับผิดชอบอย่างมากมายมหาศาล ในการเลี้ยงลูกให้เป็นไปตามหลักการอิสลามในด้านความศรัทธาและความประพฤติที่เหมาะสม และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจหลักการแห่ง “อะฮฺลุสซุนนะฮฺ” ซึ่งท่านนบี  สรุปข้อควรประพฤติของชาวมุสลิมด้วยประโยคประโยคเดียวที่ว่า 

“อัลเอี๊ยะฮฺซาน ก็คือการเคารพภักดีอัลลอฮฺราวกับท่านเห็นพระองค์ และแม้ว่าท่านจะไม่เห็นพระองค์ แต่พระองค์ทรงเห็นพวกท่าน”

(รายงานโดยมุสลิมและอะฮฺหมัด)

         พ่อแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นถึงความมีสติมีสำนึกต่ออัลลอฮฺ  ในการกระทำทุกอย่างของพวกเขา ถ้าเด็กอยู่ด้วยความเกรงกลัวและด้วยความหวังต่ออัลลอฮฺ  ตลอดเวลา เขาก็จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ฝ่าฝืน และแม้ว่าบางครั้งเขาจะตกเป็นเหยื่อของซัยตอนและไม่เชื่อฟังอัลลอฮฺ  เป็นบางโอกาส เขาก็จะสำนึกผิดต่อการกระทำที่แล้วมา เพื่อให้อัลลอฮฺ  ยกโทษให้ และโปรดปรานเขาต่อไปหากพระองค์ประสงค์

          พูดให้ถึงที่สุดก็คือ พ่อแม่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อลูก และสิ่งแวดล้อมในบ้านก็มีบทบาทสำคัญที่สุดในการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็ก เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีมักอยู่บ้านร่วมกับพ่อแม่ประมาณ 95,000 ชั่วโมง และโรงเรียนเพียง 7,000 ชั่วโมง ดังนั้นจึงจำเป็นที่พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก 

          อย่างไรก็ตามพ่อแม่ต้องเข้าใจว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเขาไม่สามารถทำให้ลูกได้ แต่ต้องไม่ปล่อยให้ลูกโดดเดียวท่ามกลางอิทธิพลผิดๆ และจงมองว่าอิทธิพลผิดๆ เหล่านั้นเป็นการทดสอบ เด็กต้องเผชิญปัญหาคนเดียวบ้าง แต่จากปัญหาเหล่านี้ความเข้มแข็งใหม่ก็จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันพ่อแม่ควรหาวิธีการแก้ปัญหามาเสนอเด็ก สนับสนุนเด็ก และให้เขารู้ว่าพ่อแม่เคียงข้างเขาเสมอ

“คู่มือในการนำชีวิตที่ดีที่สุดคือ อัลกุรอานอันประเสริฐ”

 

“ครูที่เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดสำหรับพ่อแม่ และลูก คือ ท่านศาสดามุฮัมหมัด  ”

         ขอความสันติสุขและพรจากอัลลอฮฺ  จงอยู่กับท่าน ครอบครัว และสาวกผู้สูงส่งของท่าน และบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามพวกเขาในสิ่งที่เป็นคุณธรรม

 

 

 

ที่มา : หนังสือ “เลี้ยงลูกให้ถูกทาง ตามคำสอนของอัลกุรอานและซุนนะฮฺ”

 

แปลโดย ปาริตฉัตต์ ทรรศนะสฤษดิ์