สรุปประเด็นสำคัญของการทำกุรฺบาน
  จำนวนคนเข้าชม  17608

 

สรุปประเด็นสำคัญของการทำกุรฺบาน

 

 

โดย... อ. มุหำหมัด  บินต่วน


 

1. กุรฺบาน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งในภาษาอาหรับว่า "อัลอุฎฮียะฮฺ" 

 
          หมายถึง สัตว์ที่ศาสนากำหนดในประเภท วัว,ควาย แพะ แกะ และอูฐ โดยการเชือดที่ถือเป็นการทำอิบาดะฮฺ ในวันและเวลาที่กำหนดไว้ตามบทบัญญัติของศาสนาเท่านั้น


 

2. ถือเป็นซุนนะฮฺ (ส่งเสริมให้กระทำ) 

 
          สำหรับผู้ที่มีเจตนาจะทำกุรฺบาน เมื่อเริ่มเข้าวันที่ 1 เดือนซุลฮิจญะฮฺ ให้เขางดการตัดผม และตัดเล็บ จนกระทั่งถึงวันที่เชือดกุรฺบานของเขา ก็ให้ตัดผมหรือตัดเล็บ ดังกล่าวเป็นเพียงซุนนะฮฺเท่านั้น มิใช่ข้อบังคับที่เป็นวาญิบ บรรดาอุละมาอฺได้อธิบายถึงเหตุผลดังกล่าวว่าเพื่อต้องการให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ครบสมบูรณ์ เพื่อการปลดปล่อยจากไฟนรก และ เนื่องจากการเชือดกุรฺบานเป็นอิบาดะฮฺที่ยิ่งใหญ่ ถือเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาของอัลลอฮฺ ดังนั้นผู้ที่ทำกุรฺบานจึงสมควรได้รับเกียรติดังกล่าว


 

3. การบนบานเพื่อเชือดกุรฺบาน เป็นสิ่งวาญิบ

 
          นักปราชญ์ส่วนใหญ่ (ญุมฮูรฺ) มีทรรศนะว่า หุก่มของการเชือดกุรฺบานถือว่าเป็นซุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ (ซุนนะฮฺที่สนับสนุนและเน้นหนักให้กระทำ) ยกเว้นสิ่งที่บนบานไว้จะถือว่าเป็นวาญิบ (จำเป็น) ซึ่งเป็นไปตามกฎของหลักนิติศาสตร์อิสลามที่ว่า สิ่งที่เป็นซุนนะฮฺหรือมุบาห์ (อนุญาตให้ทำ ไม่เป็นซุนนะฮฺและวาญิบ) เมื่อนำไปบนบาน จะกลายเป็นสิ่งวาญิบ ส่วนในมัซฮับหะนะฟีย์ และสิ่งที่ใช้เป็นคำฟัตวา (ชี้ขาด) ในมัซฮับคือ กุรฺบานเป็นวาญิบสำหรับผู้ที่ศาสนาถือว่าร่ำรวย และไม่อยู่ในช่วงเดินทาง (ในทุกๆปี) นอกเหนือจากการบนบาน


 

4. ประเภทของกุรฺบานเมื่อแบ่งตามหุก่ม


ก. มัซฮับหะนะฟีย์ กุรฺบานมี 2 ประเภทคือ 1. ประเภทวาญิบ(จำเป็น) 2. ประเภทอาสา (ตะเฏาวุอฺ) เป็นซุนนะฮฺหรือไม่จำเป็น

1. ประเภทวาญิบ(จำเป็น) มี 3 ชนิด

1.1 สิ่งที่บนบานไว้ โดยคนที่บนบานจะเป็นคนที่ร่ำรวยหรือยากจนก็ตาม หากเขาบนบานว่าขอสาบานต่ออัลลอฮฺฉันจะต้องเชือดกุรฺบาน การเชือดกุรฺบานก็เป็นสิ่งวาญิบสำหรับเขาทันที

1.2 สัตว์ที่คนจนซื้อไว้ ด้วยกับการตั้งเจตนาว่า จะใช้ทำกุรฺบาน

1.3 สิ่งที่ศาสนาเรียกร้อง (บังคับเป็นวาญิบ) เหนือคนร่ำรวย ให้ทำกุรฺบานในทุกๆปีสำหรับผู้ที่ศาสนาถือว่าเป็นบุคคลร่ำรวย คือบุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินเท่ากับพิกัดของการจ่ายซะกาตในวันอีดอัลอัฎฮา หรือวันเชือด หลังจากหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับค่าครองชีพของเขาและผู้ที่อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของเขา พิกัดดังกล่าวไม่ต้องครบรอบปี เพียงมีอยู่ในช่วงวันเชือดก็เพียงพอแล้ว จึงจำเป็นที่เขาจะต้องทำกุรฺบาน (ส่วนพิกัดของซะกาต คือ น้ำหนักทองคำ 85 กรัม หรือเงิน 595 กรัม)

2. ประเภทอาสา (ตะเฏาวุอฺ) มีดังนี้

2.1 กุรฺบานของผู้ที่เดินทาง

2.2 กุรฺบานของคนจนที่ไม่ได้บนบานไว้ หรือซื้อไว้โดยไม่ได้ตั้งเจตนาว่าจะทำเป็นสัตว์กุรฺบาน

2.3 กุรฺบานที่คนรวย ทำให้กับลูกของเขาที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ แต่สำหรับส่วนที่เขาจะทำให้กับตัวเขาเอง ถือว่าเป็นวาญิบ ยกเว้นเขาจะทำส่วนอื่นที่เพิ่มเติมไปกว่านั้น (ด้วยกับทรัพย์ของเขา)

ข.-. มัซฮับชาฟิอีย์ กุรฺบานแบ่งออกเป็นสองประเภท เช่นกันคือ 1. ประเภทวาญิบ(จำเป็น) 2. ประเภทอาสา (ตะเฏาวุอฺ)

1. ประเภทวาญิบ มี 2 ชนิด คือ

1.1 ชนิดที่ได้บนบานไว้

1.2 ชนิดที่เจ้าของสัตว์ได้เจาะจงไว้เป็นสัตว์กุรฺบาน เช่น กล่าวว่า "นี่คือกุรฺบานของฉัน" หรือ "ฉันได้ทําให้สัตว์ตัวนี้เป็นสัตว์กุรฺบาน" เป็นต้น

2. ประเภทอาสา (ตะเฏาวุอฺ)

          คือสิ่งที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่เป็นวาญิบ ถือเป็นซุนนะฮฺอัยน์ ส่วนตัวให้กับบุคคลเพียงคนเดียวที่มีความสามารถจะเชือดกุรฺบาน เป็นซุนนะฮฺเจาะจงสำหรับตัวเขาให้เชือดกุรฺบานอย่างน้อยในชีวิตหนึ่งครั้ง หากเขาทำมากไปกว่านั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องของการทำความดีสำหรับเขา และถือเป็นซุนนะฮฺกิฟายะฮฺ (ซุนนะฮฺแบบพอเพียง) ที่สมาชิกคนหนึ่งคนใดในครอบครัวเดียวกัน เชือดกุรฺบานก็ถือว่าเป็นซุนนะฮฺที่พอเพียงแล้วสำหรับสมาชิกทั้งหมดคนอื่นๆในครอบครัว หากเขาจะทำเพิ่มเติมก็ถือว่าเป็นเรื่องของการทำความดี ของแต่ละบุคคล

          สำหรับผู้ที่มีความสามารถมีซุนนะฮฺให้เชือดกุรฺบานนั้น ในคำอธิบายของมัซฮับชาฟิอีย์คือ คนที่มีทรัพย์ที่ครอบครองไว้ ที่สามารถซื้อกุรฺบานได้ในวันอีด และวันเชือดหลังจากนั้นอีก 3 วัน โดยหักค่าเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับตนเอง และผู้ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบที่จะต้องดูแล


5. เวลาเชือดกุรฺบาน


          การเชือดกุรฺบานจะต้องเชือดตามเวลาของมันเหมือนกับทำอิบาดะฮฺอื่นๆ เช่น การนมาซ เวลาเชือดกุรฺบานเริ่มต้นในวันที่ 10 ซุ้ลฮิจญะฮฺ (เดือนที่ 12 ตามปฏิทินอิสลาม) ในเวลาหลังนมาซอีดอัลอัฎฮา ตามทรรศนะของมัซฮับหะนะฟีย์ และหลังคุตบะฮฺเสร็จ ตามทรรศนะของมัซฮับชาฟิอีย์ ดังนั้นผู้ใดเชือดก่อนนมาซอีด ตามทรรศนะของมัซฮับหะนะฟีย์ และก่อนคุตบะฮฺทั้งสอง ตามทรรศนะมัซฮับชาฟิอีย์ ก็ถือว่าไม่ใช่กุรฺบาน และจะต้องเชือดตัวอื่นแทน เนื่องจากมีตัวบทหะดีษรับรองทั้งสองทรรศนะ แต่ในทางที่ดีที่สุด ควรจะเชือดหลังอ่านคุตบะฮฺทั้งสอง
 

         สำหรับบุคคลใดที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนมุสลิม มีบ้านเรือนอยู่ห่างไกล ซึ่งไม่สามารถจัดนมาซอีดได้ หากเขาจะเชือดกุรฺบานตามทรรศนะของมัซฮับหะนะฟีย์ให้เชือดได้ตั้งแต่แสงอรุณ(ฟัจรฺ)ของเช้าวันอีดขึ้น (วันที่10 ซุ้ลฮิจญะฮฺ) ส่วนในมัซฮับชาฟิอีย์ให้เขาเชือดหลังจากเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น และเลยเวลาที่พอๆกับการนมาซสองร๊อกอะฮฺ กับคุตบะฮฺทั้งสองแบบสั้นๆ


6.ระยะเวลาที่เชือดกุรฺบานได้และดีเลิศ


         ทางที่ดีที่สุดให้เชือดกุรฺบานหลังอ่านคุตบะฮฺทั้งสองของนมาซอีดจบ และการเชือดในเวลาที่ดี คือเชือดในวันที่ 10 ซุลฮิจญะฮฺ (วันอีดอัลอัฎฮา) จนถึงเวลาก่อนเที่ยงวัน ในมัซฮับหะนะฟีย์ให้เชือดได้ต่อจากวันอีดอีกสองวัน หรือวันที่11 และ 12 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ หมดเวลาก่อนตะวันตกดินของวันที่ 12 รวมเวลาเชือดทั้งหมด 3 วัน ในมัซฮับชาฟิอีย์อนุญาตให้เชือดได้ถึงวันที่ 13 ซุลฮิจญะฮฺ ก่อนพระอาทิตย์ตกดินของวันดังกล่าว รวมเวลาเชือดทั้งหมด 4 วัน

อนึ่ง การเชือดในยามค่ำคืนของระยะเวลาที่อนุญาตให้เชือดได้ ถือว่าเป็นมักโรฮฺ (ไม่ส่งเสริม)


7. สัตว์ที่ใช้ทำกุรฺบาน และลักษณะของสัตว์


         สัตว์ที่อนุญาตให้เชือดกุรฺบานจะต้องเป็นสัตว์ประเภท (นะอัม) คือ อูฐ ,วัว หรือควาย แพะหรือแกะ เท่านั้น สัตว์ดังกล่าวจะต้องครบอายุ และมีลักษณะที่สมบูรณ์


8. อายุของสัตว์กุรฺบาน


ก.มัซฮับหะนะฟีย์ มีทรรศนะว่า

1.- อูฐ จะต้องมีอายุครบ 5 ปีบริบูรณ์ย่างเข้าปีที่ 6

2.- วัวหรือควาย อายุครบ 2 ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่ 3

3.- แพะ หนึ่งปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่สอง

4.- แกะมีอายุ 6 เดือนบริบูรณ์ ย่างเข้าเดือนที่เจ็ด แต่มีข้อแม้ว่าแกะตัวนั้นจะต้องอ้วน เมื่ออยู่ปะปนกับแกะตัวอื่นที่อายุหนึ่งปี ดูจากระยะไกลขนาดพอพอกัน ไม่แตกต่างกันมาก

ข.- มัซฮับชาฟิอีย์ มีทรรศนะว่า

1.- อูฐจะต้องมีอายุครบ 5 ปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่ 6

2.- วัว,ควาย,แพะ จะต้องมีอายุครบสองปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่สาม

3.- แกะ จะต้องมีอายุหนึ่งปีบริบูรณ์ ย่างเข้าปีที่สอง



9. ลักษณะของสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้ทำกุรฺบาน


         นักนิติศาสตร์อิสลามเห็นพ้องกันว่าสัตว์ที่มีข้อบกพร่องสี่ประการต่อไปนี้ใช้ทำเป็นสัตว์กุรฺบานไม่ได้ ที่ระบุอยู่ในตัวบทคือ

1. สัตว์ตาบอดข้างเดียว หรือมีตาข้างเดียว ที่ลักษณะการบอดของมันชัดเจน

2. สัตว์ที่ขาเป๋ หรือเป็นง่อยอย่างชัดเจน

3. สัตว์ที่มีอาการป่วยอย่างชัดเจน

4. สัตว์ที่ผอมโซ จนไม่มีไขกระดูก หรือไขมันติดกระดูก

         นักวิชาการส่วนใหญ่ได้ใช้หลักอนุมาน (กิยาส) ข้อบกพร่องอื่นๆในตัวสัตว์ที่มีสภาพเดียวกับสี่ประการดังกล่าว หรือรุนแรงกว่าสี่ประการดังกล่าว เช่นสัตว์ที่ตาบอดทั้งสองข้าง หรือสัตว์ที่ขาขาด เป็นต้น ก็ถือว่าไม่อนุญาตให้นำมาเชือดเป็นสัตว์กุรฺบาน


10. หุ้นกรรมสิทธิ์ในการครอบครองสัตว์ และการเข้าร่วมในส่วนร่วมของผลบุญ


     1. อูฐ,วัว,ควาย อนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ได้ หนึ่ง หุ้น(หัว) จนถึง เจ็ด หุ้น ( หัว )

     2. แพะ,แกะ อนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในการเชือดกุรฺบานได้หนึ่งคน แต่ในแพะหรือในแกะหนึ่งตัว หรือในหนึ่งหุ้นของวัว หรืออูฐนั้น บุคคลนั้นอาจจะใช้เชือดกุรฺบานแทนตัวเองและบุคคลในครอบครัวของตนเองก็ได้ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวจะได้มีส่วนร่วมในผลบุญ หรือบุคคลอื่นที่เป็นมุสลิมจะเป็นญาติ หรือมิใช่ญาติ จะมีชีวิต หรือไม่มีชีวิตก็ตาม

ตัวอย่างเช่น

1. นาย ก. ซื้อแพะ หรือแกะมาหนึ่งตัว เพื่อเชือดกุรฺบาน เมื่อเชือดกุรฺบาน นาย ก. ก็ตั้งเจตนาว่า นี่คือกุรฺบานของฉันและของครอบครัวของฉัน อย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้

2. นาย ก. ได้ไปลงหุ้นซื้อวัวหรืออูฐกับเพื่อนอีก 6 คน และขณะที่ ทำกุรฺบานอูฐหรือวัวตัวนั้น นาย ก. ตั้งเจตนาว่า นี่คือกุรฺบานของฉันและของครอบครัวของฉัน อย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้

3. หากนาย ก. กับนาย ข. ได้ร่วมกันหุ้นซื้อแพะหนึ่งตัว โดยที่แต่ละคนเจตนาทำเป็นกุรฺบานของแต่ละคนแยกต่างหาก อย่างนี้ใช้ไม่ได้ เนื่องจากแพะหรือแกะใช้สำหรับการมีกรรมสิทธิ์แค่คนเดียว

อนึ่ง หากคนหนึ่งคนจะเชือดอูฐหรือวัวหนึ่งตัว ก็ใช้ได้ หรือแบ่งเป็นสองหรือสามหุ้นก็ใช้ได้ แต่จะต้องไม่เกินเจ็ดหุ้น (หัว)


11. หุก่ม รับประทานเนื้อกุรฺบานสำหรับเจ้าของกุรฺบาน


          สำหรับเจ้าของกุรฺบานไม่อนุญาตให้รับประทานเนื้อกุรฺบานที่เป็นวาญิบ (จำเป็นสำหรับตนเอง) ตามทรรศนะของมัซฮับหะนะฟีย์และมัซฮับชาฟิอีย์ แต่อนุญาตให้รับประทานได้ตามทรรศนะของมัซฮับอัลมาลิกีย์ และมัซหัมบะลีย์


12. การแจกจ่ายเนื้อกุรฺบาน


         ในกรณีที่กุรฺบานประเภทอาสา (ตะเฏาวุอฺ) นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ให้แบ่งเนื้อออกมาเป็นสามส่วน ส่วนที่หนึ่งให้เจ้าของเก็บไว้รับประทาน ส่วนที่สองมอบเป็นของขวัญ (ฮะดียะฮฺ) แก่ญาติใกล้ชิด หรือเพื่อนฝูง ถึงแม้จะร่ำรวย ส่วนที่สามให้บริจาคทานกับคนยากจนที่เดินทางมาขอ หรือไม่มาขอ

          ในส่วนที่เป็นกุรฺบานประเภทวาญิบ ตามทรรศนะของหะนะฟีย์และชาฟิอีย์ให้บริจาคหมดทั้งตัว เพราะหากไม่บริจาคทั้งตัวก็เท่ากับว่ายังทำสิ่งที่เป็นวาญิบไม่สมบูรณ์ ก็เท่ากับว่ายังไม่หลุดพ้นจากสิ่งที่เป็นวาญิบให้กับตนเอง


13. วิธีแจกจ่ายเนื้อกุรฺบาน


          อนุญาตให้ผู้ที่ทำกุรฺบานทำเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน โดยจัดเลี้ยงอาหาร หรือจะแจกจ่ายเนื้อดิบก็ได้


14. การแจกจ่ายเนื้อกุรฺบานให้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม


         ทรรศนะของมัซฮับหะนะฟีย์ และชาฟิอีย์ไม่อนุญาตให้เอาเนื้อกุรฺบาน (เนื้อดิบ) ให้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมเนื่องจากเป็นเนื้อที่ถูกเชือดในรูปของอิบาดะฮฺ ประดุจดังซะกาต ส่วนในมัซฮับหัมบะลีย์ อนุญาตเฉพาะกุรฺบานที่เป็นอาสา (ตะเตาวุอฺ) แต่กุรฺบานที่เป็นวาญิบ ไม่อนุญาต ส่วนในมัซฮับมาลิกีย์ ถือว่าเป็นมักโรฮฺ (ไม่ส่งเสริม)


15. การขายบางส่วนของสัตว์กุรฺบานหลังเชือด


          ไม่อนุญาตให้เอาส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์กุรฺบาน เช่น หนัง กระดูก เขา เนื้อ หรือส่วนอื่นๆ นำไปขายหรือในส่วนที่เข้าข่ายทำนองนั้น เช่น เป็นค่าจ้างของคนเชือด หรือถลกหนัง หรือพนักงานทำความสะอาด หรืออื่นใดทั้งสิ้น เนื่องจากประเด็นดังกล่าวมีตัวบทระบุไว้อย่างชัดเจน และจุดประสงค์ของการทำกุรฺบานคือ การเชือดในรูปแบบของการเป็นอิบาดะฮฺที่มีผลบุญมหาศาล เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีเป้าหมายให้เป็นทานบริจาค ดังนั้นการขายชิ้นส่วนของสัตว์กุรฺบานหรือนําชิ้นส่วนไปทำเป็นค่าจ้างคนชำแหละเนื้อหรือเชือด จึงผิดเป้าประสงค์ทางศาสนาของสัตว์พลี

         มีนักวิชาการ (อุละมาอฺ) ในมัซฮับหะนะฟีย์ได้วินิจฉัย หาทางออกให้กับผู้ทำกุรฺบานในกรณีที่ไม่สามารถนำเอาชิ้นส่วนบางอย่างของสัตว์กุรฺบานมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง เนื่องจากในยุคหนึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ใช้ทำภาชนะใส่น้ำได้ดี แต่ในบางยุค ภาชนะใส่น้ำอาจจะมีผลิตภัณฑ์อย่างอื่นเข้ามาทดแทนที่ดีกว่า จึงทำให้การใช้หนังสัตว์โดยตรง อาจจะไม่ได้รับความนิยม แต่หนังสัตว์ก็ถือเป็นสิ่งที่มีค่าอยู่ หากนำไปทิ้งก็ทำให้เกิดการเสียผลประโยชน์ บรรดาอุละมาอฺในมัซฮับหะนะฟีย์ หรือแม้กระทั่งท่านอิมามอะบูหะนีฟะฮฺ รอฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้ให้ทรรศนะที่เป็นทางออกว่า ให้เอาหนังหรือชิ้นส่วนอวัยวะของสัตว์กุรฺบานที่ไม่ใช้ประโยชน์โดยตรงไปขาย หรือแลกกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้แล้วยังคงสภาพตัวตนของมันอยู่ เช่น ตะแกรงร่อนแป้ง หรือเครื่องใช้อื่นๆ แต่จะไม่ไปแลกกับสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป เช่น อาหารหรือเครื่องดื่ม แต่หากเอาไปแลกกับเงินตรา หรือขายเป็นรูปของเงินตราก็จะต้องเอาเงินเหล่านั้นไปบริจาคทาน


16. ทำกุรฺบานให้กับผู้ที่เสียชีวิต


         นักปราชญ์ส่วนใหญ่ในอะลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ มีความเห็นว่า อนุญาตให้ทำกุรฺบานให้กับผู้ที่เสียชีวิตได้ ส่วนผู้ตายก็จะได้รับผลบุญ ไม่ว่าผู้ตายจะสั่งเสียไว้หรือไม่ได้สั่งเสียไว้ก็ตาม เนื่องจากการกระทําดังกล่าวถือว่าเป็นประเภทหนึ่งของการบริจาคทาน(ซอดะเกาะฮฺ) ซึ่งการบริจาคทาน(ซอดะเกาะฮฺ) ให้กับคนตายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักศาสนา  และให้ประโยชน์ต่อผู้ตายและถึงผู้ตาย ซึ่งเป็นมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ (อิจญฺมาอฺ) 

        และในกรณีที่ผู้ตายได้สั่งเสียไว้ จะต้องพิจารณาว่าเงินที่ใช้ซื้อกุรฺบานนั้นเกินหนึ่งส่วนสามของทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือไม่ หากเกินก็ไม่อนุญาต แต่หากไม่เกินหนึ่งส่วนสามของกองมรดกของเขาหลังหักหนี้สินของผู้ตายแล้ว ก็ให้ผู้ที่รับมอบหมายไปจัดการเชือดกุรฺบานแทนผู้ตาย เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของการสั่งเสียและห้ามเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่น เอาเงินไปบริจาคแทนการเชือด ยกเว้นผู้ตายสั่งเสียไว้ให้กระทำ