The Halal Economy : เศรษฐกิจฮาลาลระดับโลก
  จำนวนคนเข้าชม  11262

 

The Halal Economy : เศรษฐกิจฮาลาลระดับโลก

 

 

นิพล แสงศรี

 

 

          นับวันคำว่า เศรษฐกิจ กับคำว่า ฮาลาล ยิ่งมีบทบาทและเป็นประโยชน์หรือประจักษ์ชัดต่อมนุษยชาติมากยิ่งขึ้น ทั้งที่แต่เดิมเป็นข้อบังคับใช้กับมุสลิมเท่านั้น อัลกรุอานระบุว่า 
 

“พระองค์ได้ทรงจำแนกอย่างแจ่มแจ้งแก่สูเจ้าแล้วว่า อันใดที่พระองค์ทรงทำเป็นสิ่งฮารอมสำหรับสู่เจ้า” 
 

(6:119) 
 

“และจงอย่ากล่าวตามที่ลิ้นของสูเจ้าอ้างมุสาว่า นี่เป็นสิ่งอนุมัติ (ฮาลาล) และนี่เป็นสิ่งต้องห้าม(ฮารอม)

เพื่อสูเจ้าจะกุการมุสาต่ออัลลอฮฺ แท้จริงบรรดาผู้กุการมุสาต่ออัลลอฮฺ ไม่เจริญ” 

(16:116) 

 

“ฮาลาล คือ สิ่งที่อัลลอฮฺทรงอนุมัติให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องในคัมภีร์ของพระองค์ และฮารอม คือสิ่งที่พระองค์ ได้ทรงห้ามไว้

และสิ่งที่พระองค์ทรงนิ่งเงียบนั้น พระองค์ได้ทรงอนุมัติถือให้เป็นความโปรดปรานแก่พวกท่าน” 
 

          จากข้อห้ามและข้อใช้ที่ปรากฏในพระคัมภีร์อัลกุรอานมา 1400 ปี ปัจจุบันกำลังกลายเป็นอุตสาหกรรมฮะลาลระดับโลกที่มีมูลค่าและเม็ดเงินมหาศาล ชนิดที่ทุกชาติต้องจับตามอง ต่างยอมรับ และมิอาจมองข้าม อีกทั้งยังตอกย้ำความจริงที่ว่า 

"เรามิได้ส่งท่าน(มุฮัมมัด)มา นอกจากเพื่อแสดงออกถึงความเมตตาแก่มนุษยชาติ"

(อัลอัมบิยาอ 107)


 

ความหมาย
 

          เศรษฐกิจ (Economy) หมายถึง การกระทำใด ๆ อันก่อให้เกิด การผลิต การจำหน่ายและการบริโภค คำว่า เศรษฐกิจ ตรงกับคำในภาษาอาหรับว่า الاقتصاد  ตามหลักภาษาศาสตร์หมายถึง การดำรงอยู่บนแนวทางและความเป็นธรรม โดยตรงข้ามกับคำว่า มากเกินไป หรือ สิ่งที่อยู่ระหว่างความฟุ่มเฟือยกับความตระหนี่ กล่าวคือ มีความพอดี ประหยัด สายกลาง ไม่ขาดแคลนแต่ไม่เหลือเฟือมากนัก ดังปรากฏในอัลกุรอานความว่า

"ในหมู่พวกเขานั้นมีกลุ่มคนที่มีความเป็นกลางหรือยุติธรรม และส่วนมากจากพวกเขานั้น มีสิ่งเลว ร้ายจริงๆ จากสิ่งพวกเขากระทำ"
 

 (อัลมาอิดะฮฺ : 66)

          ส่วนนิยามตามหลักนิติศาสตร์มีหลายคำนิยามด้วยกัน โดยท่าน al-Qahtan กล่าวสรุปคำนิยามเศรษฐกิจอิสลามทั้งหมดมักจะเกี่ยวข้องกับ บทบัญญัติและข้อชี้ขาดต่างๆของศาสนา ที่เข้ามาจัดระบบการแสวงหาทรัพย์สิน การใช้จ่าย และการนำมาใช้ประโยชน์ และการพัฒนา

          ฮาลาล (Halal) ในภาษาอาหรับ ที่ถูกต้องควรออกเสียงว่า ฮะลาล แปลว่า ถูกต้องตามกฎ (Lawful) อนุญาต หรือ อนุมัติ (Permit) ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า ฮารอม (Haram) ที่ถูกต้องควรออกเสียงว่า ฮะรอม แปลว่า ผิดกฎ (Unlawful) ต้องห้าม หรือ ไม่อนุมัติ (Prohibit) ส่วนฮาลาลในทางนิติศาสตร์อิสลามหมายถึง สิ่งที่อัลลอฮฺและนบีมุฮัมมัด (ซล) ทรงอนุมัติ และฮารอมหมายถึง สิ่งที่อัลลอฮฺและนบีมุฮัมมัด ทรงห้าม

          โดยทั้ง 2 คำได้มาจากหลักศรัทธาที่ว่า"ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมมัดเป็นศาสนฑูตของอัลลอฮฺ" ผลจากความเชื่อข้างต้น ทำให้พระบัญชาของอัลลอฮฺ (อัลกุรอาน) และคำสอนหรือแบบอย่างของนบีมุฮัมมัด  (ซุนนะห์) เป็นเรื่องที่มุสลิมจะต้องปฏิบัติตามด้วยความจริงใจและจริงจัง กล่าวคือ จะต้องปฏิบัติตามในสิ่งที่อัลกุรอานและซุนนะห์ทรงอนุมัติ (ฮาลาล) และไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ทรงห้าม (ฮารอม) ด้วยความยินดีและเต็มใจในทุกๆด้านตามวิถีชีวิตแบบอิสลาม



ฮาลาลกว้างไกลกว่าที่คิด

          ตามคำนิยามข้างต้น คำว่า ฮาลาล จึงไม่ได้ใช้เฉพาะกับอาหารการกินเท่านั้น แต่หมายถึงกิจการของมุสลิมหรือเกี่ยวข้องกับความเชื่อ ศาสนพิธี สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตของคนมุสลิมด้วย โดยเศรษฐกิจฮาลาลที่เกี่ยวข้องกับโลกมุสลิมและพบมากที่สุดได้แก่

♦ -อุตสาหกรรมได้แก่ อาหาร/เครื่องดื่ม/เครื่องสำอาง/เครื่องนุ่งห่ม/เครื่องหนัง/ฯลฯ

♦ -ท่องเที่ยวได้แก่ โรงแรม/ที่พัก/ภัตตาคาร/บริการที่เกี่ยวข้อง/ฯลฯ

♦ -การเงินได้แก่ ธนาคาร/ประกันภัย/พันธบัตร/ฯลฯ

♦ -การแพทย์ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์/ยารักษาโรค/สมุนไพร/ฯลฯ

♦ -สื่อสิ่งพิมพ์และบันเทิงได้แก่ หนังสือ/นิตยสาร/ภาพยนตร์/ดนตรี/ฯลฯ

♦ -โครงสร้างพื้นฐานได้แก่ มาตรฐาน/ระบบการผลิต/ห้องปฎิบัติการ /การรับรอง /โลจิสติกส์

♦ -ไอซีทีได้แก่ ซอฟแวร์/ว็บไซต์/ ฯลฯ


ตลาดฮาลาลโลก

          กลุ่มผู้บริโภคและอุปโภคฮาลาลนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมูลค่ามหาศาล ตามการขยายตัวของประชากรมุสลิมประมาณ 1,800–1,900 ล้านคน เฉพาะตลาดอาหารฮาลาลอย่างเดียวในโลกมุสลิมน่าจะมีมูลค่าประมาณ 6,000,000 ถึง 8,000,000 ล้านบาท (ประมาณ 150,000–200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ที่สำคัญตลาดอาหารฮาลาลมิได้จำกัดเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปด้วย ดังนั้นมูลค่าตลาดอาหารฮาลาล น่าจะมีขนาดใหญ่กว่าที่ประมาณกันไว้ ทั้งนี้ยังไม่ได้นับเศรษฐกิจและเม็ดเงินมหาศาลในภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำว่า ฮาลาล


ฮาลาลที่อัลลอฮ์ รองรับและมนุษย์รับรอง

          ปกติมุสลิมจะถือว่าสิ่งที่ฮาลาล เช่น น้ำ ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่ผ่านการเชือด หรือสิ่งที่ฮาราม เช่น น้ำเมา ผักเจือปนสารต้องห้าม ผลไม้ที่ใช้เซ่นไหว้บูชา และเนื้อสัตว์ไม่ผ่านการเชือด สิ่งเหล่านี้ได้ถูกระบุอย่างชัดเจนในพระคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งในอดีตห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ส่วนใหญ่จะได้มาจากการเพาะปลูก การเกษตร และกสิกรรม แต่เมื่อความต้องการน้ำและอาหารของมนุษย์ทวีคูณเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรโลก พร้อมๆกับความก้าวหน้าทางสติปัญญา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดกระบวนการผลิตมากมายหลายรูปแบบใหม่ๆ น้ำ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และอาหารสด ถูกนำเข้าสู่กระบวนการ ขั้นตอน หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ และโยกย้ายจากดินแดนหนึ่งสู่ดินแดนหนึ่ง เพื่อดึงดูดลูกค้าและตอบสนองความต้องการของตลาดและทุกคน จนทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีอิทธิพลต่อการดำรงชีพของทุกคนพอๆ กับภาคเกษตรกรรมและภาคกสิกรรมแบบเดิม

          กระบวนการผลิตและขั้นตอนต่างๆ ก็ก่อปัญหาที่ตามมาสำหรับมุสลิมนั้นคือ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ที่ผ่านกระบวนการผลิตและกรรมวิธีขั้นตอนเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะมีข้อมูลระบุว่า มุสลิมปล่อยปะละเลยที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมฮาลาล จนทำให้อุตสาหกรรมอาหารส่วนมากตกอยู่ในมือคนไม่ใช่มุสลิม หรือมุสลิมทำเองแต่กระบวนการผลิตและขั้นไม่ถูกต้องตามบัญญัติศาสนา กลุ่มลูกค้ามุสลิมหรือผู้บริโภคจึงตกอยู่ในความกังวล คลุมเครือ และไม่ชัดเจน หรือเรียกว่า ชุบอาต

          หากมองในมุมอาหารของมนุษย์ที่ได้มาจากการเพาะปลูก การเกษตร และกสิกรรม ส่วนใหญ่มักจะฮาลาลชัดเจนตามธรรมชาติของตัวเอง แต่หากมองในมุมอาหารของมนุษย์ที่ได้มาจากภาคอุตสาหกรรมแปรรูป ส่วนใหญ่มักจะคลุมเครือและไม่ชัดเจน (ชุบฮาต) เพราะผ่านกรรมวิธี ขั้นตอน การผสมทางวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ ทีซับซ้อนและเรื่องยากที่ผู้บริโภคจะหยั่งรู้และเข้าใจ 

          เมื่อมุสลิมไม่สามารถตรวจสอบได้ การไม่ใช้หรือไม่บริโภค ตลอดจนหลีกเลี่ยง และออกห่างไกลจากสิ่งที่คลุมเครือและไม่ชัดเจน (ชุบฮาต) ย่อมดีกว่า เพราะมีความเสี่ยง และรอจนกว่าจะสามารถพิสูจน์และตรวจสอบได้ การนำมาแสวงหาประโยชน์คือทางเลือกอีกทางหนึ่ง ....จุดนี้เองก่อให้เกิดการจัดตั้งศูนย์และหน่วยงานตรวจสอบฮาลาลขึ้นในแต่ละประเทศหรือร่วมมือระหว่างประเทศ

นบีมูฮัมมัด กล่าวว่า 

"อันที่จริงฮาลาลนั้นชัดเจนและฮารามก็ชัดเจน แต่ระหว่าง 2 ประการยังมีสิ่งที่คลุมเครือไม่ชัดเจน โดยผู้คนส่วนมากยังไม่รู้"

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)



การจัดตั้งศูนย์/สถาบันตรวจสอบ

          เมื่อภาคอุตสาหกรรมแปรรูปขยายตัวมากขึ้นเท่าใด สิ่งที่คลุมเครือและความไม่ชัดเจนในผลิตภัณฑ์ สินค้า และอาหาร ยิ่งเพิ่มทวีมากขึ้นเท่านั้น ความจำเป็นในการปรับตัวของสังคมมุสลิมให้เข้ากับสังคมโลกจึงเกิดขึ้น แม้จะล่าช้าไปบ้าง ปัจจุบันพบสถาบันและหน่วยงานทั้งในประเทศและร่วมมือระหว่างประทศ ทำหน้าที่คอยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบโลจีสติก และออกใบรับรอง เพื่อสร้างขจัดความคลุมเครือและไม่ชัดเจนตลอดจนสร้างความมั่นใจ สบายใจ แก่ลูกค้าและผู้บริโภค ซึ่งอาศัยความร่วมมือของนักวิชาการศาสนาและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

          Halal International Authority หรือ เอชไอเอ HIA ก่อตั้งปี 1990 (23ปีที่แล้ว) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สหราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เป็นหนึ่งจากสถาบันหรือหน่วยงานทำหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อตรวจสอบมาตรฐานฮาลาล ออกหนังสือรับรอง จัดอบรม สัมมนา วิจัย วินิจฉัย ตีพิมพ์ และออกสื่อ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิม ภายใต้คณะบริหารจัดการ Halal International Shariah Board (HISB) ที่มาจากกลุ่มนักกฎหมายอิสลาม และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ยา วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี โดยสนับสนุนและร่วมมือกับองค์กรและสถาบันฮาลาลอื่นๆทั่วโลก ซึ่งบางส่วนอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การระหว่างประเทศ เช่น OIC, World Halal forum, Halal Research Council, World Halal Food Forum บางส่วนอยู่ภายใต้สถาบันและหน่วยงานภายในประเทศ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโนเซีย สิงค์โป ฟิลิปินส์ บังลาเทศ ฮ่องกง อินเดีย ปากีสถาน อีหร่าน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ออสเตรีย อิตาลี เยอรมัน เบลเยียม สวีเดน สเปน บราซิล เคนยา เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี 

          การจัดตั้งกลุ่มบุคคลและหน่วยงาน องค์กร บริษัท และอื่นๆ ตลอดจนการทำงานเป็น Team Works คือ สิ่งที่คัมภีร์อัลกุรอานได้เรียกร้องบรรดามุสลิม และนบีมุฮัมมัด  ให้ความสำคัญมาตลอด เพื่อบริหารจัดการและรับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับกิจกรรมด้านศาสนา สังคม การปกครอง และการศึกษา โดยเฉพาะองค์กรขับเคลื่อนทางระบบเศรษฐกิจฮะลาล และถือเป็นโครงสร้างเชิงสถาบันสำคัญที่จะสานฝันให้เป็นจริงขึ้นมา ตามที่วัตถุประสงค์ของความมั่นคงและมั่งคั่งทางสังคมมุสลิมละสังคมโลก

          ในอดีตนบีมุฮัมมัด  เคยแต่งตั้งบุคคลและคณะบุคคลรับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจหลายท่าน เช่น อะบอุบัยด์ บุตร อัลญัรรอฮฺ รับผิดชอบด้านกองคลัง, อุมัร บุตร อัลค็อฎฎอบ เป็นหัวหน้าคณะรวบรวมซะกาตฺ, อะบูอุบัยด์ บุตร อัลญัรรอฮฺ เป็นผู้เก็บภาษีในเขตบาห์เรน, มุอาศ บุตร ญะบัล เก็บภาษีในเมืองเยเมน, อุบัยย์ บุตร กะอับ ดูแลด้านบัญชีและสัญญาข้อตกลงต่างๆ, อับดุลเลาะฮฺ บุตร เราะวาฮะฮฺ กับ ญับบาร บุตร เศาะค็อร เป็นผู้เชี่ยวชาญและค้นคว้าด้านการเกษตร นอกจากนั้นท่านจัดตั้งตลาดตามกฎหมายอิสลามขึ้นในนครมะดีนะฮฺ และแต่งตั้ง ซะอีด บุตร ซะอีด กับพระนาง ซัมรออฺ บุตร นุฮัยก์ ควบคุมการตลาดทางนครมักกะฮฺ  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นในการบริหารจัดการงานของประชาชาติอิสลาม 

          ข้อสำคัญการดำเนินงานของกลุ่มบุคคล องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายอิสลามและวางอยู่บนหลักที่ว่าด้วยการส่งเสริมในกระทำสิ่งที่ดีงาม มีประโยชน์ต่อสังคม เช่นเดียวกับการหยุดยั้งในสิ่งที่ชั่ว หรือเป็นภัยคุกคามต่อตนเองและสังคมส่วนรวม อัลกุรอานระบุความว่า

"และพวกเจ้าจงทำให้มีขึ้นจากหมู่พวกเจ้าคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดี

และใช้ให้กระทำในสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้กระทำในสิ่งที่มิชอบ และชนเหล่านี้คือบรรดาผู้ที่ได้รับความสำเร็จ "

 

(อาลิอิมรอน : 104)



พื้นฐานอุตสาหกรรมฮาลาล

          พื้นฐานอุตสาหกรรมฮาลาลในแต่ละประเทศโดยรวม ต้องได้มาจากข้อห้ามข้อใช้ที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะห์ ซึ่งมีทั้งข้อห้ามที่ส่วนไม่เกี่ยวกับอาหาร เช่น ข้าวของเครื่องใช้ต้องไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อตัวเองและผู้อื่นหรือนำตนเองไปสู่ความหายนะ และข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น การเชือดหรือประเภทสัตว์ที่อนุญาตให้รับประทานได้ เป็นต้น

          เบื้องต้นเป็นหน้าที่ของผู้รู้ศาสนาและมุสลิมช่วยกันตรวจสอบ แต่หลังกระบวนการผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ และอาหารมีความซับซ้อนหรือคลุมเครือมาขึ้น นักวิชาการศาสนาร่วมมือกับนักวิทยาสาสตร์พัฒนาโปรแกรมพิเศษขึ้นมาใช้งานในบางประเทศ เพื่อช่วยในการตรวจสอบผู้ผลิต สินค้า ผลิตภัณฑ์ และตัวอาหาร โดยเฉพาะการปนเปื้อนและแยกแยะส่วน/สารผสมในตัวสินค้า ผลิตภัณฑ์ และตัวอาหาร บนพื้นฐานข้อห้ามข้อใช้ที่ปรากฏใน คัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะห์ เช่น โปรแกรมจีเอ็มพี/เอชเอซีซีพี (Halal-GMP/HACCP) ที่พัฒนามาจาก GMP และ HACCP

          GMP ย่อมาจาก Good Manufacturing Practice (GMP) เป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ โคเด็กซ์ (CODEX) เพื่อให้สมาชิกทั่วโลกใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

         ส่วน HACCP หรือ แฮซเซป ย่อมาจากคำว่า Hazard Analysis Critical Control Point เป็นหลักการวิเคราะห์อันตราย จุดควบคุมวิกฤติ เป็นแนวคิดเกี่ยวกับ มาตรการป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดขึ้น ในแต่ละขั้นตอน ของการดำเนินกิจกรรมใด ๆ โดยมีกระบวนการดำเนินงานเชิงวิทยาศาสตร์ กล่าวคือมีการศึกษาถึงอันตราย หาทางป้องกันไว้ล่วงหน้า รวมทั้งมีการควบคุม และเฝ้าระวัง เพื่อให้แน่ใจว่า มาตรการป้องกันที่กำหนดขึ้นนั้น มีประสิทธิภาพตลอดเวลา

          แต่ในทางปฎิบัติการและกระบวนการสร้างความยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างประเทศอาจจะมีปัญหาบ้าง เพราะมีแนวคิดเชิงเศรษฐกิจการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพื่อหวังครอบครองตลาด ผลประโยชน์ และผลกำไร เช่น อินโดนิเซียไม่ยอมรับเนื้อสัตว์ที่ส่งออกผ่านตรวจสอบฮาลาลจากนิวซีแลนด์ และยังรวมถึงคุณภาพและศักยภาพของหน่วยงานตรวจสอบฮาลาลในแต่ละประเทศด้วย เช่น ความโปร่งใสและการแสวงหาผลประโยชน์จากการทำงาน















อ้างอิง


-วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี www.wikipedia.com [2013 Jan 08 ].
-Ibn Mansur . n.d. Lisan al-Arab. (Lebanon : Dar Sar), หน้า 353 (เล่ม 3).
-al-Zuhaili, Muhammad. 1992. al-Atidal Fi al-Tadaiyun. (Lebanon : al-Yamamah), หน้า 199
-al-Qahtan, Musfir Ali. 2002. al-Nisam al-Iqtisadi Fi al-Islam. (Riyadh : al-Malik Fahd), หน้า 2.
-Alam al-Din, Mustafa. 1992. al-Mujtama al-Islami. (Lebanon : Dar al-Nahdhah al-Arabia), หน้า 36.
-Halal International Authority (HIA)
-Halal Research Council (HRC)
- http://islamqa.info/ar/10887