การเจรจาระหว่างอิบนุอับบาสกับพวกเคาะวาริจญ์
อับดุลลอฮฺ บิน อับบาส กล่าวว่า ครั้งเมื่อพวกเคาะวาริจญ์ได้แยกตัวออกไปพวกเขาได้พำนัก ณ สถานที่แห่งหนึ่งเป็นจำนวน 6,000 คน พวกเขามีมติเห็นพ้องว่าจะกบฏต่อท่านเคาะลีฟะฮฺ อะลีย์ บิน อบี ฏอลิบ
มีผู้คนมาเข้าพบท่านอะลีย์หลายคนและบอกกับท่านว่า “โอ้ผู้นำของศรัทธาชน แท้จริงมีคนกลุ่มหนึ่งเป็นกบฏต่อท่าน”
ท่านอะลีย์กล่าวว่า “จงปล่อยพวกเขาเถิดแท้จริงฉันจะไม่สู้รบกับพวกเขาจนกว่าพวกเขาจะเริ่มสู้รบกับพวกเราก่อนและพวกเขาต้องทำอย่างนั้นแน่นอน”
อยู่มาวันหนึ่งฉันได้ไปละหมาดซุฮฺริ และฉันได้กล่าวแก่ (ท่านอะลีย์) ว่า “โอ้ผู้นำของศรัทธาชน จงรีบละหมาดเถิดเพราะฉันจะไปพบกับคนกลุ่มหนึ่งเพื่อไปเจรจาสนทนากับพวกเขา (คือพวกเคาะวาริจญ์)”
อะลีย์ กล่าวว่า “แท้จริงฉันเกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อตัวท่าน”
ฉันกล่าวตอบว่า “ไม่หรอก แท้จริงฉันเป็นผู้มีอัธยาศัยที่ดีไม่เคยข่มเหงรังแกใคร”
ในที่สุด ท่านอะลีย์ก็อนุญาตให้ฉันไปพบกับพวกเคาะวาริจญ์ได้ ฉันจึงสวมเสื้อผ้าที่สวยที่สุดจากประเทศเยเมน ฉันได้หวีผมเรียบร้อย และได้เข้าพบกับพวกเขาช่วงตอนเที่ยง ฉันไม่เคยพบเห็นคนที่ขยันประกอบศาสนกิจเช่นพวกเขาเลย หน้าผากของพวกเขามีรอยถลอกเนื่องจากการก้มสุญูดอย่างมาก มือของพวกเขาหยาบกร้านเหมือนหัวเข่าของอูฐ พวกเขาสวมเสื้อผ้าเก่าๆ หน้าตาของพวกเขาเหมือนคนอดหลับอดนอน ฉันจึงให้สลามแก่พวกเขา
พวกเขากล่าวว่า ยินดีต้อนรับท่านอิบนุ อับบาส พวกเขาถามว่า “สาเหตุใดที่ท่านมาถึงที่นี่?”
ฉันตอบว่า “ฉันเป็นตัวแทนของชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศอรฺ และตัวแทนลูกเขยของท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงอัลกุรอานถูกประทานลงมาแก่พวกเขาและพวกเขาย่อมรู้ดีกว่าในการตีความอัลกุรอานมากกว่าพวกเจ้า”
มีบางคน(จากพวกเคาะวาริจญ์) กล่าวว่า “พวกท่านอย่าไปเถียงกับพวกกุร็อยชฺ เพราะอัลลอฮฺได้ตรัสว่า แท้จริงพวกเขานั้นเป็นผู้คนชอบถกเถียง”
แต่มีสองหรือสามคนจากพวกเขากล่าวว่า “เราลองพูดคุยกับเขาดูก่อน”
ฉันจึงกล่าวว่า “เหตุใดที่พวกท่านโกรธแค้นผู้เป็นเขยของท่านนบี พวกมุฮาญิรีนและพวกอันศอรฺ ทั้งๆ ที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาแก่พวกเขา และไม่มีคนใดในหมู่พวกเจ้าที่จะไปรู้มากกว่าพวกเขาในการอธิบายอัลกุรอาน”
พวกเขาตอบว่า “มีสาเหตุอยู่สามประการ”
ฉันกล่าวว่า “จงกล่าวมาเถิดว่ามีอะไรบ้าง?”
พวกเขากล่าวว่า ประการแรกคือ
การยอมให้มีการตัดสินโดยใช้เกณฑ์ของมนุษย์ในบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ทั้งที่อัลลอฮฺตรัสว่า “แท้จริงการตัดสินนั้นเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ”
ดังนั้น เหตุใดจึงต้องให้มนุษย์มาตัดสินอีกหลังจากมีพระดำรัสของอัลลอฮฺอยู่แล้ว
อิบนุ อับบาสกล่าวว่า “นี่คือประการแรก แล้วพวกท่านยังมีเหตุผลอะไรอีก?”
พวกเขากล่าวว่า ประการที่สองคือ
ประเด็นที่ท่านอะลีย์ทำสงคราม (สงครามญะมัล) แต่ไม่ยอมยึดทรัพย์สินและเชลยไว้ เพราะถ้าหากผู้คนที่ท่านอะลีย์ทำการสู้รบกับพวกเขาเป็นผู้ศรัทธา ก็ย่อมไม่เป็นที่อนุญาตให้เราทำการสู้รบกับพวกเขาหรือฆ่าพวกเขาหรือยึดทรัพย์สินของพวกเขา (แต่นี่ ท่านอะลีย์ได้ทำการสู้รบกับพวกเขา ทว่ากลับไม่ยอมยึดทรัพย์และเชลย!)
อิบนุ อับบาส กล่าวว่า แล้วสาเหตุประการที่สามคืออะไร?
พวกเขาตอบว่า ประการที่สามคือ
เพราะท่านอะลีย์ได้ลบตำแหน่ง “อะมีรุลมุอ์มินีน - ผู้นำของศรัทธาชน” จากชื่อตัวเอง (ตอนทำสัญญาสงบศึกกับมุอาวิยะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ) ในเมื่อท่านอะลีย์ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นอะมีรุลมุอ์มินีน(ผู้นำศรัทธาชน) ท่านก็ต้องเป็นอะมีรุลกาฟิรีน (ผู้นำของพวกปฏิเสธศรัทธา) อย่างเสียมิได้
อิบนุ อับบาส ถามอีกว่า “พวกท่านยังมีประเด็นอื่นๆ นอกเหนือสามประการนี้?”
เขาตอบว่า “เพียงพอแค่นั้นแล้ว”
อิบนุอับบาส อธิบายตอบข้อคลุมเครือดังนี้
“หนึ่ง ประเด็นที่พวกท่านคัดค้านเรื่องให้มนุษย์เป็นผู้ตัดสินพิพากษาในบางปัญหานั้น ฉันขอชี้แจงแก่พวกท่านว่า ประเด็นดังกล่าวมิได้ขัดกับคัมภีร์อัลกุรอานเลย และหากคำกล่าวอ้างของพวกท่านขัดแย้งกับคัมภีร์อัลกุรอานแล้วพวกท่านจะกลับตัวหรือไม่?”
พวกเขาตอบว่า “ใช่ พวกเราจะกลับตัว”
อิบนุ อับบาสจึงกล่าวว่า “อัลลอฮฺได้เคยยอมรับการตัดสินของมนุษย์ในการกำหนดพิกัด เศษหนึ่งส่วนสี่ดิรฮัม สำหรับค่าปรับของการล่ากระต่ายขณะถือครองอิหฺรอมอยู่”
และอิบนุอับบาสได้อ่านอายะฮฺ “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอย่าฆ่าสัตว์ล่าในขณะที่พวกเจ้ากำลังครองอิหฺรอมอยู่” (อัล-มาอิดะฮฺ : 95) จนจบอายะฮฺ
และกรณีเมื่อเกิดการพิพาทระหว่างสามีกับภรรยาให้มีคนกลางเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ดังคำดำรัสของพระองค์ที่ว่า
“และหากพวกเจ้าหวั่นเกรงการแตกแยกระหว่างเขาทั้งสอง ก็จงส่งผู้ตัดสินคนหนึ่งจากครอบครัวของฝ่ายชาย และผู้ตัดสินอีกคนหนึ่งจากครอบครัวฝ่ายหญิง”
(อัน-นิสาอ์ : 35)
ดังนั้นฉันขอถามพวกท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ระหว่างการที่ให้มนุษย์พิพากษาตัดสินเพื่อความปรองดองและรักษาเลือดเนื้อ กับการให้มนุษย์ตัดสินในเรื่องฆ่ากระต่าย หรือสามีภรรยาทะเลาะกัน อย่างไหนจะมีความประเสริฐมากกว่ากัน?”
พวกเขาตอบว่า “ประการแรกย่อมดีกว่า”
อิบนุอับบาสถามอีกว่า “ทีนี้พวกท่านกระจ่างในประเด็นนี้ไหม?”
พวกเขาตอบว่า “เข้าใจอย่างชัดเจนแล้ว”
สอง ประเด็นที่ท่านกล่าวว่า ท่านอะลีย์ทำสงคราม(ญะมัล) แล้วไม่จับเชลยนั้น อิบนุ อับบาสกล่าวตอบว่า
“พวกท่านจะจับผู้เป็นมารดาของพวกท่านเอง (ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา) มาเป็นเชลยกระนั้นหรือ? หากพวกท่านไม่ยอมรับว่านางเป็นมารดาของผู้ศรัทธา แน่นอน พวกท่านย่อมหลุดออกไปจากการเป็นมุสลิม
หรือถ้าจับท่านหญิงอาอิชะฮฺเป็นเชลยก็เท่ากับว่านางกลายเป็นทาสีของท่าน และสามารถร่วมหอกับนางได้เหมือนที่สามารถร่วมหอกับทาสีคนอื่น ๆ ใครที่กล่าวเช่นนี้เขาก็ย่อมหลุดออกไปจากอิสลามเช่นกัน ความเชื่อเช่นนี้ทำให้พวกท่านอยู่ระหว่างสองประการที่หลงทาง
ทั้งที่อัลลอฮฺตรัสว่า
“นบีนั้นเป็นผู้ใกล้ชิดกับบรรดาผู้ศรัทธายิ่งกว่าตัวของพวกเขาเอง และบรรดาภริยาของเขา (นบี) คือมารดาของพวกเขา”
(อัล-อะหฺซาบ : 6)
อิบนุ อับบาส ถามว่า “ทีนี้พวกท่านกระจ่างในประเด็นนี้ไหม?”
พวกเขาตอบว่า “เข้าใจอย่างชัดเจนแล้ว”
สาม ประเด็นที่ท่านอะลีย์ ลดฐานะตัวเองไม่ใช้ตำแหน่งอะมีรุลมุอ์มินีน (ผู้นำของศรัทธาชน) เมื่อตอนที่ทำสัญญาสงบศึก(กับมุอาวิยะฮฺ)นั้น
อิบนุ อับบาส ได้โต้ตอบว่า
“ท่านนบี เมื่อครั้งทำสัญญาอัล-หุดัยบิยะฮฺ กับพวกกุร็อยชฺ (อบู สุฟยาน บิน หัรบฺ และสุฮัยลฺ บิน อัมรฺ) ตอนแรกท่านให้เขียนว่า นี่คือสนธิสัญญาที่ทำขึ้นกับมุหัมมัด เราะสูลุลลอฮฺ-ศาสนทูตของอัลลอฮฺ แต่พวกกุร็อยชฺไม่ยอมรับ โดยอ้างว่าถ้าพวกเขาเชื่อว่าท่านนบีเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ พวกเขาก็ย่อมไม่คัดค้านหรือขัดขวางตั้งแต่แรก และไม่ต้องทำสัญญากันให้มากความ
ท่านนบี จึงกล่าวแก่อะลีย์ว่า เจ้ารู้ดีว่าฉันคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ จงลบคำว่า เราะสูลุลลอฮฺ (ศาสนทูตของอัลลอฮฺ) และเขียนแทนว่า นี่คือสนธิสัญญาที่ทำขึ้นกับมุหัมมัด บุตร ของ อับดุลลอฮฺ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺย่อมประเสริฐกว่าท่านอะลีย์ แต่ท่านนบี ก็ยินยอมไม่ใช้ตำแหน่งของการเป็นศาสนทูตกับพวกปฏิเสธศรัทธาในการทำสัญญาครั้งนั้น”
อิบนุอับบาส กล่าวว่า พวกเคาะวาริจญ์จำนวน 2,000 คน ได้กลับตัวจากการเป็นเคาะวาริจญ์ส่วนที่เหลือนั้นไม่ยอมกลับตัว จึงทำให้ถูกสังหารไป
อิบนุ ตัยมิยะฮฺ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า
“และพวกเคาะวาริจญ์นั้น พวกเขาจะไม่ยึดถือซุนนะฮฺ นอกจากในสิ่งที่มาอธิบายแบบกว้างๆ พวกเขาจะไม่ยึดซุนนะฮฺที่ขัดกับหลักฐานผิวเผินของอัลกุรอาน ดังนั้น พวกเขาจะไม่ลงโทษผู้ผิดประเวณีด้วยการขว้างก้อนหิน และเห็นว่าไม่มีการกำหนดพิกัดจำนวนทรัพย์ในการลงโทษตัดมือผู้ลักขโมย (เพราะสิ่งดังกล่าวไม่มีระบุในอัลกุรอาน)"
ในปัจจุบันแนวคิดที่คล้ายคลึงกับพวกเคาะวาริจญ์ก็ยังคงมีอยู่ เช่น กลุ่มอัต-ตักฟีรฺ วัล ฮิจญ์เราะฮฺ กลุ่มอัต-ตะวักกุฟ วัต ตับยีน เป็นต้น ผู้คนทั่วไปในวันนี้ยังคงได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากแนวคิดที่หลงทางนี้ พวกเขายังคงเผยแพร่ความคลุมเครือแก่ผู้คนต่อไป ตราบใดที่มุสลิมยังไม่ยึดมั่นและเข้าใจอย่างถ่องแท้ในแนวทางของชาวสะลัฟ-กัลยาณชนรุ่นแรก
ขออัลลอฮฺทรงคุมครองมุสลิมทั้งมวลจากภยันตรายทุกประการ อามีน
ผู้แปล - อันวา สะอุ : Islamhouse