การตอบโต้และเปิดโปงพวกอุตริ คือหน้าที่ของมุสลิม
  จำนวนคนเข้าชม  3420

 

การตอบโต้และเปิดโปงพวกอุตริ คือหน้าที่ของมุสลิม


 

แปลและเรียบเรียง อาบีดีณ โยธาสมุทร

 

 

ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้ตอบคำถามในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการนินทา โดยท่านได้พูดว่า

        ในกรณีของการตักเตือนนั้น ถือเป็นหน้าที่จำเป็นต้องปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของศาสนาทั้งโดยภาพรวมและโดยการจำเพาะ เช่น ในกรณีของผู้รายงานอัลฮะดีษที่มีข้อบกพร่องรายงานผิดพลาดหรือกล่าวเท็จในการรายงาน ดังเช่นที่ท่าน ยะฮฺยา อิบนุ ซะอี้ด ได้ถามท่านมาลิก ท่านอัซเซารีย์ และท่านอัลเอาซาอีย์ ถึงบุคคลที่เป็นที่ต้องสงสัยในการรายงานฮะดีษ หรือบุคคลที่จำฮะดีษที่ตนรายงานไม่ได้ พวกท่านต่างตอบกันว่า “จงชี้แจงสภาพของบุคคลนั้นๆให้เป็นที่ทราบกันเสีย”

         มีคนบางคนเคยพูดกับท่านอะฮฺหมัด อิบนุ ฮันบัล ว่า กระผมรู้สึกไม่ค่อยดีกับการที่ต้องคอยบอกว่าบุคคลนั้นเป็นอย่างนี้ บุคคลนี้เป็นอย่างนั้น ท่านจึงตอบเขาไปว่า 

        “ถ้าหากท่านเงียบ และฉันก็เงียบ (ต่างคนต่างเงียบ) แล้วเมื่อไหร่คนที่เขาไม่รู้จะสามารถรับรู้และแยกแยะของที่ถูกต้องออกมาจากของที่ผิด ของที่ศ่อเฮี้ยฮฺออกจากของที่ด่ออีฟได้เสียที ?

         ในกรณีเดียวกันบุคคลที่เป็นแกนนำของพวกอุตริในเรื่องศาสนาที่มีแนวคิดที่ขัดต่ออัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺ หรือประกอบพิธีกรรมที่ขัดแย่้งกับสิ่งที่อัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺได้กำหนดรูปแบบเอาไว้ การชี้แจงและเปิดโปงตัวตนของพวกเขาตลอดจนการแจ้งเตือนให้สังคัมได้ระวังอันตรายของพวกนี้นั้น ถือเป็นหน้าที่ที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมติเอกฉันฑ์ของบรรดามุสลิมีน

         จนกระทั่งได้มีคนๆนึงเคยมาพูดกับท่านอะฮฺหมัด อิบนุ ฮันบัล ว่า ระหว่างคนที่ทำการละหมาด ถือศีลอดและเอี้ยอฺติก้าฟ กับคนที่ออกมาพูดเปิดโปงข้อเท็จจริงของพวกอุตริในเรื่องศาสนา ท่านชอบใครมากกว่ากัน? 

         ท่านตอบว่า “เวลาคนเรากระทำการละหมาด ถือศีลอดหรือเอี้ยอฺติก้าฟ การกระทำดังกล่าวมันก็ก่อประโยชน์ให้แก่เฉพาะตัวผู้กระทำเองเท่านั้น แต่ถ้าหากเขาออกมาพูดเปิดโปงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพวกอุตริแล้วนั้น ก็เท่ากับเป็นการสร้างประโยชน์ให้เกิดกับสังคมมุสลิมโดยรวมด้วย ดังนั้นคนลักษณะที่สองนี้จึงมีความประเสริฐมากกว่า” 

          จากคำตอบในประเด็นนี้ของท่านจึงนับได้ว่าเป็นการชี้แจงให้เห็นว่าคุณประโยชน์อันเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของบุคคลลักษณะที่สองนั้น เป็นสิ่งที่สร้างผลดีให้กับสังคมมุสลิมโดยรวมในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ซึ่งนับว่าเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นชนิดหนึ่งของการ “ญิฮาด” ในหนทางของอัลลอฮฺเลยทีเดียว ทั้งนี้เนื่องจากการปัดกวาดชำระล้างหนทางแห่งอัลลอฮฺ ตลอดจนศาสนาและวิถีทางแห่งพระองค์ รวมไปถึงการปกปักษ์รักษาและตอบโต้ต่อความประพฤติร้ายของบุคคลเหล่านี้นั้น ถือเป็นหน้าที่จำเป็นที่สังคมมุสลิมต้องร่วมกันรับผิดชอบ(ฟัรดูกิฟายะฮฺ)ตามมติเอกฉันฑ์ของบรรดามุสลิมีน 

        ถ้าหากว่าอัลลอฮฺ ตะอาลา ไม่ทรงทำให้ใครสักคนลุกขึ้นมาทำหน้าที่ตรงนี้แล้ว แน่นอนว่า ศาสนาก็คงจะพังพินาศสิ้น ซึ่งความเสื่อมเสียที่เกิดจากการกระทำของบุคคลพวกนี้ มันร้ายแรงเสียยิ่งกว่าความเสื่อมเสียที่เกิดจากการถูกศัตรูเข้ามายึดครองเสียอีก เพราะเวลาที่ศัตรูเข้ามาทำการยึดครอง พวกเขาไม่สามารถสร้างความเสื่อมเสียโดยตรงใดๆต่อหัวใจและความเชื่อมันต่อศาสนาที่มีอยู่ในใจของมุสลิมตั้งแต่ต้นได้ เว้นเสียแต่ในบางกรณีที่มีขึ้นเป็นผลพวงตามมาเท่านั้น ต่างกับพวกที่ทำอุตริ พวกเขากลับสร้างความเสื่อมเสียให้เกิดแก่หัวใจได้ตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว... 

มั้จมูอุ้ลฟะตาวา /๒๘/๒๓๑-๒๓๒