ญะมาอะฮ์
อับดุลอะซีซ บิน มัรซูก อัฏ-เฏาะรีฟีย์
การอยู่ร่วมกับญะมาอะฮฺเป็นสิ่งจำเป็น(วาญิบ) และไม่นับว่าเป็นญะมาอะฮฺนอกจากจะต้องมีผู้นำ (อิมาม) การเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้นำปวงชนมุสลิมนั้น ต้องกระทำภายใต้การเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺ
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ أَطِيعُواْ ٱللَّهَ وَأَطِيعُواْ ٱلرَّسُولَ وَأُوْلِي ٱلۡأَمۡرِ مِنكُمۡۖ﴾ [النساء : 59]
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังเราะสูล และผู้ปกครองในกลุ่มของพวกเจ้าเถิด”
(อัน-นิสาอ์ : 59)
คำดำรัสของพระองค์ที่ว่า (مِنكُمۡۖ) ส่วนหนึ่งจากพวกท่าน หมายถึง ส่วนหนึ่งจากบรรดาปวงชนมุสลิมการแต่งตั้งผู้นำที่เป็นผู้ปฏิเสธ(กาฟิรฺ)ถือว่าไม่ถูกต้อง การสัตยาบัน(บัยอะฮฺ)แก่เขาถือว่าใช้ไม่ได้ และไม่จำเป็น(ไม่วาญิบ)ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามนอกจากสิ่งที่ตรงกับผลประโยชน์ส่วนรวมของมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์สุขส่วนตัวของเขา
หากในกรณีที่ผู้นำหรือผู้ปกครองไม่ใช่เป็นผู้ที่มีความรู้ ให้เขายึดผู้รู้มาเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ดำรงกิจการงานทางด้านศาสนาและด้านโลกดุนยาอย่างเที่ยงธรรม
อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿وَإِذَا جَآءَهُمۡ أَمۡرٞ مِّنَ ٱلۡأَمۡنِ أَوِ ٱلۡخَوۡفِ أَذَاعُواْ بِهِۦۖ وَلَوۡ رَدُّوهُ إِلَى ٱلرَّسُولِ وَإِلَىٰٓ أُوْلِي ٱلۡأَمۡرِ مِنۡهُمۡ لَعَلِمَهُ ٱلَّذِينَ يَسۡتَنۢبِطُونَهُۥ مِنۡهُمۡۗ﴾ [النساء : 83]
“และเมื่อมีเรื่องหนึ่งเรื่องใดมายังพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยก็ดีหรือความกลัวก็ดี พวกเขาก็จะรีบร้อนแพร่กระจายมันออกไป
และหากว่าพวกเขานำมันกลับไปยังเราะสูลและยังผู้ปกครองในกลุ่มพวกเขาแล้ว แน่นอนบรรดาผู้ที่วินิจฉัยมันในกลุ่มพวกเขาก็ย่อมรู้มันได้”
(อัน-นิสาอ์ : 83)
- และไม่อนุญาตให้วินิจฉัยปัญหาศาสนานอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เท่านั้น
- ไม่อนุญาตให้ตีตัวออกจากการเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้นำ หรือโต้แย้งต่อคำสั่งใช้ของเขา และให้อดทนอดกลั้นต่อการอธรรมของเขา ตราบใดที่เขาไม่ทำในสิ่งที่เป็นการปฏิเสธ(กุฟรฺ)ต่ออัลลอฮฺอย่างชัดเจน
ดังมีปรากฏในเศาะฮีหฺมุสลิม จากอุมมุ สะละมะฮฺ รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“แท้จริง จะมีบรรดาผู้นำถูกแต่งตั้งให้แก่พวกท่าน ซึ่งพวกท่านจะเห็นและรู้บางสิ่งบางอย่างที่พวกเขาทำผิดและพวกท่านก็จะปฏิเสธสิ่งนั้น ใครที่เกลียดชังสิ่งนั้นเขาก็ได้เอาตัวเองพ้นความชั่วนั้นไปแล้ว ส่วนผู้ที่ห้ามปรามสิ่งนั้นเขาจะปลอดภัย แต่ทว่าผู้ที่ยินดีพอใจ(ต่อความชั่ว)และปฏิบัติตาม(นั่นแหละคือพวกที่ผิด)”
บรรดาเศาะหาบะฮฺกล่าวว่า โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺเราจะลุกขึ้นสู้กับพวกเขาได้หรือไม่?
ท่านตอบว่า “ไม่ได้ ตราบใดที่พวกเขายังคงละหมาด”
(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขหะดีษ : 1854)
และให้แนะนำตักเตือนบรรดาผู้นำด้วยความรู้คู่กับวิทยปัญญา โดยพยายามกำจัดความชั่วร้ายหรือลดทอนให้ปริมาณความชั่วลดน้อยเบาลง ไม่ใช่ตักเตือนเพื่อความสะใจ ดังมีปรากฏในเศาะฮีหฺมุสลิม จากตะมีม อัด-ดารีย์ รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“ศาสนา คือ การตักเตือนด้วยความจริงใจ”
พวกเรากล่าวว่า เพื่อใครล่ะ?
ท่านเราะสูลตอบว่า “เพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อเราะสูลของพระองค์ เพื่อบรรดาผู้นำของปวงชนมุสลิม และเพื่อสามัญชนทั่วไป”
(บันทึกโดยมุสลิม : 55)
ไม่อนุญาตให้สอดส่องหรือติดตามความลับของผู้นำ หรือนำความตกต่ำในตัวของเขาไปตีแผ่ นำความผิดหรือความไม่ดีไปประจาน และให้แนะนำตักเตือนในเรื่องดังกล่าวอย่างลับๆ เป็นการเฉพาะระหว่างท่านกับเขา
และในกรณีที่เขาได้กำหนดนโยบายที่เป็นความชั่วแก่ประชาชนพร้อมทั้งเปิดเผย หากเขาทราบให้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวแก่เขาเป็นการส่วนตัว จนกระทั่งเขาเปลี่ยนแปลง กลับเนื้อกลับตัว และปรับปรุงตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ให้สนับสนุนเขาต่อ หากไม่เป็นเช่นนั้นให้ชี้แจงความชั่วดังกล่าวแก่ประชาชน เพราะเรื่องดังกล่าวนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกล่าวตักเตือนแก่พวกเขา และเป็นสิทธิของศาสนาที่ผู้ตักเตือนนับถือและศาสนาของคนอื่นๆ ด้วย เพื่อว่าจะได้ไม่เปลี่ยนแปลงบทบัญญัติและศาสนาอิสลาม ซึ่งนี่คือความหมายของหะดีษที่ว่า
“การตักเตือนด้วยความจริงใจเพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อเราะสูลของพระองค์ เพื่อบรรดาผู้นำของปวงชนมุสลิม และเพื่อสามัญชนทั่วไป”
♥ และสิทธิของศาสนานั้นต้องมาก่อนสิทธิของคนอื่น
♥ และผู้รู้นั้นจะต้องไม่ทำตัวออกห่างหรือปลีกตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของประชาชนและสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สำหรับพวกเขา
ถ้าเขาคิดว่าตัวเองควรสมถะ ก็ให้เขารู้ว่าแท้ที่จริงความสมถะนั้นเป็นสิ่งที่น่าชมเชยยกย่องถ้ามันเกี่ยวกับเรื่องโลกส่วนตัวของเขาซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาคนเดียว แต่ความสมถะจะไม่เป็นที่น่าชมเชยถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนมาก โดยที่เขาคิดจะปลีกตัวหรือไม่ทุ่มเทเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเหล่านั้น
เพราะฉะนั้น เขาจะต้องให้การช่วยเหลือผู้ถูกอธรรมถึงแม้จะด้วยการบริจาคทรัพย์แค่น้อยนิด และให้อาหารแก่ผู้ที่หิวโหยแม้ว่าด้วยอินทผลัมเพียงผลเดียวก็ตาม เพราะผู้รู้นั้นมีอำนาจบารมีเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ การที่เขาได้ร่วมส่งเสริมปรับปรุงแก้ไขเรื่องความเป็นอยู่ทางโลกของผู้คนทั้งหลายนั้นจะเป็นประตู(สื่อ)ในการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องศาสนาของพวกเขาด้วย
เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่เคยทำงานแล้วเงยหน้าเพื่อหวังทรัพย์สินในโลกดุนยา ถึงกระนั้น ท่านก็ได้ทุ่มเทช่วยเหลือทาสหญิงที่ชื่อบะรีเราะฮฺและคนอื่นๆ (โดยการไถ่ทาส) ด้วยทองคำจำนวนหนึ่ง และท่านได้เทศนาธรรมส่งเสริมเรียกร้องผู้คนในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย
แปลโดย : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์ / islamhouse