มุ่งมั่นสู่ลัยละตุลกอร์ด
  จำนวนคนเข้าชม  7133

มุ่งมั่นสู่ลัยละตุลกอร์ด



 

โดย อาจารย์มุญาฮิด ลาตีฟี

 


شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِيْ أُنْزِلَ فِيْهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الْهُدَى وَاْلفُرْقَانِ..الآيت قال الله تعالى

         พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงมีความตั้งมั่น ตักวายำเกรงต่ออัลเลาะห์ อย่างแท้จริง ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ ละเว้น ห่างไกลจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม มหากรุณาธิคุณความเมตตาจากเอกองค์อัลเลาะห์ กับการปฏิบัติอามั้ลอิบาดะห์ประจำสัปดาห์ในช่วงบรรยากาศของรอมฎอน ที่มีความพิเศษ มีความเลอเลิศ มีความประเสริฐอย่างที่เดือนอื่น ๆ ไม่มี เป็นเดือนแห่งพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นเดือนแห่งการปฏิบัติอามั้ลอิบาดะห์ เป็นเดือนซึ่งที่มีค่ำคืนหนึ่ง ที่ภาคผลการปฏิบัติในค่ำคืนนั้น มีความประเสริฐยิ่งกว่า การปฏิบัติอิบาดะห์ถึง ๘๓ ปี ๔ เดือน

         พี่น้องที่รักและเคารพทั้งหลาย นัยยะความหมายจากโองการข้างต้น อัลเลาะห์ ทรงบอกกับเราว่า “เดือนรอมฎอน เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา เป็นแนวนำสำหรับมวลมนุษย์ ทั้งชี้แจงหลักการอิสลามและข้อจำแนกระหว่างศาสนาอิสลาม กับศาสนากาเฟร ที่ปฏิเสธหลักการอิสลาม” และตามนัยยะความหมายจากฮะดีษของท่านอะบีฮุรอยเราะห์ ที่รายงานจากท่านนบี  ได้บอกกับเราว่า 

         “บุคคลใดซึ่งที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ในสภาพที่เขามีความเชื่อมั่น ศรัทธามั่น ด้วยกับสัญญาจากอัลเลาะห์ ต่อการตอบแทนผลบุญ และเขาแสวงหาผลบุญจากอัลเลาะห์ โดยความบริสุทธิ์ใจแล้ว สิ่งที่ผ่านพ้น (หมายถึงจากบาปของเขาที่ผ่านพ้นมา) จะได้รับการอภัย”

           เฉพาะบาปเล็ก ๆ ซึ่งที่ไม่ได้กำหนดถึงบทลงโทษที่จะต้องดำเนินการต่อบุคคลนั้น สิ่งที่ได้รับการอภัย ก็คือสายตาที่พาดผ่านไปกับสิ่งซึ่งที่ศาสนาไม่อนุญาตให้มองในสิ่งนั้น ไม่ให้พูดในสิ่งนั้น ไม่ให้กระทำในสิ่งนั้น ที่ไม่ได้มีบทลงโทษใด ๆ และไม่ได้ถูกสาปแช่งจากศาสนาแต่อย่างใด  แม้กระทั่งในเดือนรอมฎอนนี้ หากว่าเรายังเป็นบุคคลซึ่งไม่สามารถที่จะ ละเลิก จากการนินทา ใส่ร้าย ป้ายสี คดโกง เล่นการพนัน ปล่อยเงินกู้ เสพยาเสพติด และสิ่งที่มันเสมือนเหมือนกับบาปต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ก็ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการอภัยจากอัลเลาะห์ บุคคลนั้นจะต้องขอลุโทษต่ออัลเลาะห์ ในความผิดของตน รอมฎอนไม่สามารถที่จะช่วยเหลือใด ๆ แก่เขาได้ 


         บุคคลซึ่งปฏิบัติอามั้ลอิบาดะห์ในค่ำคืนกอร์ด   ที่มวลมุสลิมทั่วโลกมีความปราถนา มีความต้องการที่จะให้การปฏิบัติอิบาดะห์ตรงกับค่ำคืนนั้น แน่นอนที่สุดว่า ทัศนะต่าง ๆ ของบรรดาอุลามาอ์ได้มีมากมาย เกี่ยวกับค่ำคืนลัยละตุลกอร์ด มากถึง ๔๗ ทัศนะ แต่ทัศนะที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่จะเป็นค่ำคืนลัยละตุลกอร์ด ตามทัศนะของอุลามาอ์ส่วนใหญ่แล้ว ก็คือ ค่ำคืนที่ ๒๗ ที่เราถือปฏิบัติกันมา ที่จะเน้นหนัก การปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามในค่ำคืนนั้น แต่อย่าลืมว่า เพียงค่ำคืนเดียวที่ทุ่มเทเพียงคืน ๆ เดียวนั้นไม่พอ เราจะต้องทุ่มเทการพยายามในการกระทำดีในรูปแบบต่าง ๆ ในทุก ๆ คืน เพื่อตอบสนอง วิทย-ปัญญาแห่งอัลเลาะห์ ที่จะให้บ่าวของพระองค์ได้แสวงหาค่ำคืนนั้น ในทุก ๆ วันและทุก ๆ คืนของรอมฎอน 

         แน่นอนที่สุด หากเรามีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ ต่อการทำให้ทุกวันและคืน เป็นอิบาดะห์แล้ว ลัยละตุลกอร์ดก็จะเป็นของเรา ถึงแม้ว่าเราจะไม่พบไม่เห็น เครื่องหมายที่บ่งชี้ถึงค่ำคืนนั้น  แต่เราจะได้รับพลานิสงค์จากอัลเลาะห์ โดยที่ตั้งเจตนามุ่งมั่นในการปฏิบัติเป็นสำคัญ  และในช่วง ๑๐ คืนสุดท้าย ให้มุ่งมั่นมากยิ่งกว่าช่วงต้นและช่วงกลางที่ผ่านมา ซึ่งท่านนบี  ท่านได้ปฏิบัติไว้เป็นตัวอย่าง

           เมื่อช่วงเวลาของ ๑๐ คืน ๑๐ วันสุดท้ายของรอมฎอนได้มาเยือน นบี  จะทำให้ค่ำคืนนั้นมีชีวิตชีวา ด้วยกับการปฏิบัติอิบาดะห์ รวมถึงการปลุกสมาชิกในครอบครัว ขึ้นมาปฏิบัติอิบาดะห์ด้วย และท่านจะทรงทุ่มเท และปลีกตัวจากภรรยา แต่ละคนในครอบครัวจะต่างคนต่างปฏิบัติอามั้ลอิบาดะห์ส่วนตัวของแต่ละคน 

ท่านอิบนุฮะญัร อัลอัสกอลานีย์ จึงบอกกับเราว่า 

         “พวกท่านทั้งหลายอย่าได้ทำบ้านของท่านนั้นเป็นสุสาน ด้วยกับการนอน เพียรพยายามต่อการที่จะนอนในค่ำคืนนั้นให้น้อยที่สุด  เพราะว่าการนอนนั้น มันเป็นพี่น้องของความตาย” 

         หากเราเพียรหา พยายาม ฝักใฝ่ต่อค่ำคืนลัยละตุลกอร์ด เราก็จะต้องทำให้ค่ำคืนนั้น โดยเฉพาะใน ๑๐ คืนสุดท้าย เป็นค่ำคืนที่มีชีวิตชีวา มีแต่กลิ่นอายของอิบาดะห์ มีแต่กลิ่นอายของการปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม กับตัวเรา กับครอบครัวของเรา และความมุ่งมั่นของเรา ทั้งที่บ้านหรือที่มัสยิด ต่อการที่จะมีโอกาสมาเอี๊ยะติกาฟ อยู่ในมัสยิดกับบุคคลที่มีความสามารถ อินชาอัลเลาะห์ ความมุ่งหวัง ความปรารถนา ก็จะเป็นของผู้ซึ่งที่มีความตั้งใจจริง

         ท่านพี่น้องที่รักและเคารพทั้งหลาย มีฮะดีษบทหนึ่งจากท่านอะบีฮุรอยเราะห์ ที่จะต้องทำให้เราฉุกคิด พิจารณาอย่างที่สุด ท่านกล่าวว่า ท่านนบี  กล่าวว่า


يَقُوْلُ مَانَهَيْتُكُمْ عَنْهُ فَاجْتَنِبُوْهُ وَمَاأَمَرْتُكُمْ بِهِ فَافْعَلُوْا مِنْهُ مَاسْتَطَعْتُمْ رَوَاهُ الْبُخَارِيُّ وَمُسْلِمٌ


" สิ่งใดที่ฉันได้ห้ามพวกท่านจากสิ่งนั้น พวกท่านทั้งหลายจงออกห่างจากสิ่งนั้นเถิด

และสิ่งใดที่ฉันใช้พวกท่าน ในรูปของฟัรดู หรือในรูปของสุนัต พวกท่านทั้งหลายจงปฏิบัติมัน ตามสิ่งที่พวกท่านมีความสามารถ” 

         เรามีความเสมอภาคกัน เท่าเทียมกันในสิ่งที่นบี ใช้ ในฐานะที่เป็นมุกั้ลลัฟ ผู้ที่อยู่ในขอบข่ายการบังคับ ที่อัลเลาะห์ กำหนดในสิ่งที่เป็นฟัรดูเหนือเรา ไม่ได้เกินความสามารถของความเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา เราละหมาด ๕ เวลา เท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่นอกเหนือจากนี้ ในรูปของสุนัต สุดแล้วแต่ความสามารถ ความมุ่งมั่น เห็นความสำคัญ หรือไม่เห็นความสำคัญ ขึ้นอยู่ที่ตัวเราแล้ว ว่าเราจะกอบโกยในสิ่งที่เป็นอิบาดะห์ในรูปของสุนัตได้มากน้อยเพียงใด

 

         สิ่งหนึ่งที่ปรากฏในฮะดีษบทนี้ ท่านนบี  บอกกับเราให้ออกห่างจากสิ่งที่นบี  ห้าม ไม่มีเงื่อนไขต่อการที่เราจะอ้างเหตุผลให้กับตัวเอง ที่จะกระทำความผิดหนึ่ง ทั้งความผิดที่มันก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวผู้กระทำ หรือความผิดที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อบุคคลรอบข้าง ชุมชน สังคม ไม่มีเหตุที่จะอ้างต่อการกระทำนั้นได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ เราอยู่ในเดือนรอมฎอน สิ่งที่จะต้องคิดก็คือ การละทิ้งสิ่งที่เป็นมัวะซิยะห์ต่าง ๆ ทางความคิด คำพูด และการกระทำ สำคัญที่สุดก็คือว่า เรารู้ไหม ว่าได้กระทำผิดในเรื่องใด ในสภาพความเป็นอยู่ในสังคม อะไรคือเหตุที่ทำให้เยาวชนลูกหลานของเรา จะต้องเหินห่างจากความรู้ การศึกษา ไม่ทำความเข้าใจในหลักการอิสลามที่อัลเลาะห์ ทรงกำหนดเหนือผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่ ที่จะต้องให้กับลูก มีสถานที่ใดในชุมชน ที่เบี่ยงเบนความบริสุทธิ์ของลูกหลานของเรา  จงพิจารณาตัวเถิด เพราะเดือนรอมฎอนนี้ เป็นเดือนแห่งการละทิ้งในสิ่งที่เป็นมัวะซิยะห์ เป็นมหันตภัยร้ายกับตัวเองและสังคม ไม่ใช่เดือนแห่งการทำอิบาดะห์เท่านั้น แต่เป็นเดือนแห่งการละทิ้งสิ่งที่ไม่ดีไปสู่การทำอิบาดะห์ 

         การขอดุอาอ์ การขอพรของเราต่ออัลเลาะห์ ที่ไม่ได้รับการตอบรับจากอัลเลาะห์ เพราะเมื่อใดที่หมวกของเรา เสื้อผ้าของเรา อาหารที่เรากิน น้ำที่เราดื่ม เป็นสิ่งที่ฮารอม จึงไม่ได้รับการตอบรับจากอัลเลาะห์ ถึงแม้ว่าเขาจะขอต่ออัลเลาะห์ ถึงพันครั้งก็ตาม สิ่งที่ท่านอิหม่ามนะวาวีย์ ได้ย้ำเตือนว่า รอมฎอนเป็นเดือนแห่งความเมตตา เป็นเดือนแห่งความปรานี ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นคุณธรรมความดี มีอยู่ในเดือนนี้ จงกลับมา กลับมาสู่หลักการอิสลามเถิด กับบุคคลซึ่งที่กลับมาแล้ว อัลฮัมดุลิ้ลลาห์ คงอยู่เส้นทางนี้ตลอดไป อินชาอัลเลาะห์ สิ่งที่เรามุ่งมั่นปรารถนา ความสุข ความอิ่มเอมใจ ความเบิกบานใจ อัลเลาะห์ ไม่ทรงผิดสัญญา อัลเลาะห์ จะทรงประทานสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ให้กับเรา ตราบเท่าที่เราปฏิบัติตามเงื่อนไข ตามกฏเกณฑ์ที่อัลเลาะห์ ได้ทรงบอกกับเราไว้

          ท่านพี่น้องที่รักและเคารพทั้งหลาย ในช่วงท้ายนี้ ขออัลเลาะห์ ทรงประทานแนวทาง พลังใจให้เราทุก ๆ คน ต่อการที่เราจะใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายสุดท้ายของรอมฎอนในปีนี้ และขอดุอาอ์จากอัลเลาะห์ ได้ทรงประทานโอกาสแห่งรอมฎอนในปีต่อ ๆ ไปให้กับพวกเรา และขออัลเลาะห์ ได้ทรงทำให้การดำเนินชีวิตของเรา ความมุ่งมั่นของเราในรอมฎอน ในการปฏิบัติอามั้ลอิบาดะห์ ในการละทิ้งการทรยศต่ออัลเลาะห์ เป็นแบบฉบับของการดำเนินชีวิตของเราในช่วง ๑๑ เดือน และตลอดชีวิตของเราจวบจนกระทั่งวาระสุดท้าย ลมหายใจสุดท้ายของเรา ก่อนที่เราจะจากดุนยานี้ไปสู่อาลัมบัรซัค





 

คุตบะห์วันศุกร์  ณ มัสยิดท่าอิฐ