การถือศีลอดและพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานมุสลิม
  จำนวนคนเข้าชม  8411

 

การถือศีลอดและพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานมุสลิม


 

         เป้าหมายสูงสุดของการถือศีลอด คือ การยำเกรงต่ออัลลอฮฺ การถือศีลอด เป็นสื่อหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ช่วยปกป้องจิตใจมิให้สิ่งเลวร้ายมาทำลายการถือศีลอด

 

        ความหมายของการถือศีลอด ในด้านศาสนบัญญัติ หมายถึง การละเว้นจากการกิน ดื่ม การร่วมประเวณีระหว่างสามีภรรยา และการพูดจาไร้สาระ ตลอดจนการกระทำที่ขัดกับคุณธรรม เริ่มตั้งแต่รุ่งอรุณจนตะวันลับขอบฟ้า ด้วยเจตนา (เนียต) เพื่อพระองค์อัลลอฮฺ เท่านั้น

 

       สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการถือศีลอด จะต้องได้รับการตรวจสุขภาพในเดือนก่อนที่จะถือศีลอด เพื่อประเมินความสามารถในการถือศีลอด


 

ผู้ป่วยเบาหวานที่ถือศีลอดจะส่งผลให้การปฏิบัติ พฤติกรรมสุขภาพเปลี่ยนไป ดังนี้

 

        ด้านการรับประทานอาหาร ผู้ป่วยเบาหวานมุสลิมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยเปลี่ยนจาก 3 มื้อต่อวัน เป็นเหลือ 2 มื้อ คือ มื้ออาหารเย็น (มื้อละศีลอด รับประทานหลังตะวันตกดิน) และมื้อก่อนรุ่งอรุณ (มื้อก่อนตะวันขึ้น) ดังนั้น เมื่อถึงเวลาละศีลอด ผู้ป่วยเบาหวานควรละศีลอดด้วยอินทผลัมหรือด้วยน้ำ ไม่ควรรับประทานอาหารหนักในทันที รับประทานอาหารให้ได้สัดส่วน ครบถ้วนตามหลักโภชนาการทุกมื้อ หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัดหรือขนมหวานต่างๆ รับประทานผักผลไม้มากๆ


 

          การบริหารยาในช่วงรอมฎอน (Drug intake during Ramadon) การบริหารยาในเดือนรอมฎอน เป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการบริหารยาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผลในการรักษาลดลง หรือมากเกินจนทำให้เกิดผลเสียได้

 

       เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมุสลิม จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงความถี่ของการบริหารยา (Dosing schedule) ปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารให้เหลือ 2 มื้อ ดังนั้น ผู้ป่วยที่รับประทานยาวันละ 3 ครั้ง จึงต้องปรับลดยาลงให้เหลือวันละ 2 ครั้ง ตามเวลาการรับประทานอาหาร

 

     - การบริหารยาที่รับประทานวันละครั้ง (single daily dose) มีทางเลือกให้ผู้ป่วยรับประทานยาในเวลาละศีลอด (ช่วงเย็น) หรือเวลาซะฮูร (ก่อนรุ่งอรุณ) ขึ้นกับช่วงเวลาที่ยาสามารถออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด

 

     - การบริหารยาที่รับประทานวันละ 2 ครั้ง หรือมากกว่า (Two or more daily doses) มีทางเลือกให้ผู้ป่วยรับประทานยาในระหว่างเวลาละศีลอด (ช่วงเย็น) และเวลาซะฮูร (ก่อนรุ่งอรุณ)ด้านการพักผ่อนและการจัดการกับความเครียด ในช่วงถือศีลอดนั้น การถือศีลอดส่งผลดีทางด้านจิตใจ สร้างความสงบ และความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.)สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีผลต่อสุขภาพจิตอย่างไม่ต้องสงสัย 
 

 

        นอกจากนี้ การถือศีลอดยังเป็นโอกาสดีของการปรับพฤติกรรมการกินอาหารอย่างฟุ่มเฟือย ลดการกินอาหารขยะทั้งหลาย รวมถึงการสร้างพฤติกรรมที่ดีต่างๆ เช่น การแบ่งปัน การช่วยเหลือผู้อดอยากและยากจน การอ่านอัลกุรอาน การซิกรุลลอฮฺ (รำลึกถึงอัลลอฮฺ) การบริจาคทาน ไม่พูดปด ไม่พูดจาไร้สาระ ไม่ทำชั่ว และอื่นๆ เหล่านี้จะกลายเป็นผลบุญที่จะได้รับ เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดี และสร้างสังคมที่เป็นสุข

 

         ด้านการป้องกันและควบคุมภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากการที่ผู้ป่วยต้องมีการเตรียมตัวและปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการรักษา ดังนั้น ผู้ป่วยต้องมีความรู้ ความเข้าใจอย่างดีและเคร่งครัดในการดูแลตนเอง และปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับแผนการรักษา เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้
 

        ดังนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการถือศีลอด แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการการดูแลผู้ป่วยที่ประสงค์จะถือศีลอด ต้องคำนึงถึงการให้คำแนะนำผู้ป่วย 3 ประเด็นหลักๆ คือ
 

1) การปรับยา (Drug adjustment)

2) กิจวัตรประจำวัน (Daily activity)

3) การควบคุมอาหาร (Diet control)

 

       เมื่อผนวกกับการให้คำแนะนำที่เพียงพอ (Proper education) และการจัดการควบคุมโรคอย่างถูกวิธี (Disease management) ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจว่า จะป้องกันไม่ให้เกิดภวะแทรกซ้อนระหว่างเดือนรอมฎอนได้

       ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น อายุ โรคร่วม ภาวะแทรกซ้อน พฤติกรรมการบริโภค ระดับความเข้าใจ และปัจจัยอื่นๆ ของผู้ป่วยแต่ละราย จะต้องถูกนำมาประมวลความเสี่ยงว่าสามารถถือศีลอดได้หรือไม่ มีข้อเสนอแนะให้จำแนกประเภทความเสี่ยงของผู้ป่วย แล้วใช้ดุลยพินิจของผู้ให้การรักษา และความสมัครใจของผู้ป่วยเพื่อที่จะระบุว่า ผู้ป่วยรายใด ควรหรือไม่ควรถือศีลอด เพราะเหตุใด

          เนื่องจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นบทบัญญัติทางศาสนาที่มีความละเอียดอ่อนอยู่มาก ผู้ให้บริการผู้ป่วยสามารถใช้ตารางแสดงระดับความเสี่ยงของผู้ป่วยในการประเมินผู้ป่วยในความดูแล เพื่อจะได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น

 

การพิจารณาระดับความเสี่ยงของผู้ป่วยเบาหวาน

ความเสี่ยงสูงมาก (ไม่แนะนำให้ถือศีลอด)

- มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำถึงขั้นหมดสติภายใน 3 เดือนก่อนการถือศีลอด

- มีประวัติระดับน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ

- ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ค่อยเชื่อฟังคำแนะนำของแพทย์หรือไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้

- มีภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนภายใน 3 เดือนก่อนการถือศีลอด

- ผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน

- ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

- ผู้ใช้แรงงานหนัก

- ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

- เป็นโรคติดเชื้อ 

 

        ความเสี่ยงสูง (จะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคสูง และสามารถรู้ตัวเองเมื่อเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ)

- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน (อยู่ในช่วง 150-300 mg%)

- มีภาวะไตเสื่อม

- มีภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดใหญ่

- ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง

- ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอื่นๆ ร่วมด้วย

- ผู้สูงอายุ และมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย

- ผู้ป่วยที่รับประทานยาที่มีผลทำให้ง่วงนอน 

 

ความเสี่ยงปานกลาง (สามารถถือศีลอดได้)

- ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดคงที่โดยยาเม็ดลดระดับน้ำตาลในเลือด 

 

ความเสี่ยงน้อย (สามารถถือศีลอดได้)

- ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลคงที่โดยการควบคุมอาหาร หรือรับประทานยา Metformin, Thiazolidione 

 

 


          ที่มา : การบูรณาการองค์ความรู้บทบัญญัติศาสนาอิสลามกับการสร้างเสริมสุขภาพ: โรคเรื้อรัง (โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง), โครงการสร้างเสริมสุขภาพตามวิถีมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2551 โดย คณะทำงานวิชาการและวิจัย สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข