จงดำรงการละหมาดไว้เถิด
  จำนวนคนเข้าชม  8700

จงดำรงการละหมาดไว้เถิด


 

โดย เชค อับดุ้รเราะฮฺมาน บิน นาซิร อั้ซซะอฺดี้

 

45العنكبوت { تصنعون ما يعلم والله أكبر الله ولذكر والمنكر الفحشاء عن تنهى الصلاة إن الصلاة وأقم الكتاب من إليك أوحي ما اتل }

 

"จงดำเนินตามสิ่งที่ได้มีบัญชามายังเจ้าจากคัมภีร์นี้และจงดำรงการละหมาดไว้เถิด

แน่นอนว่าการละหมาดนั้นจะหักห้ามจากเรื่องเสื่อมเสียและสิ่งชั่วช้า และแน่นอนว่าการรำลึกถึงอัลลอฮฺนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำ"
 

 

(อั้ลอันกะบู้ท /๔๕)

 

           พระองค์อัลลอฮฺ ได้ทรงสั่งใช้ให้ทำการดำเนินตามพระบัญชาของพระองค์และคำชี้แนะที่ได้ทรงประทานลงมาซึ่งได้แก่พระมหาคัมภีร์ฉบับนี้นี่เอง 

 

         ส่วนความหมายของการ “ติลาวะตุฮฺ” อ่านและดำเนินตามสิ่งนั้น ซึ่งหมายถึง การดำเนินตามคัมภีร์นี้ โดยการปฏิบัติตามสิ่งที่คัมภีร์ได้สั่งใช้ไว้ ออกห่างจากสิ่งที่คัมภีร์ได้ห้าม ดำเนินตนตามวิถีทางแห่งคัมภีร์ เชื่อในข้อมูลต่างๆที่ระบุไว้ พินิจพิจรณาความหมายและตลอดจนการอ่านถ้อยคำของคัมภีร์ฉบับนี้ด้วย ดังนั้นการอ่านถ้อยคำของคำภีร์จึงถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความหมาย ของคำว่า "ติลาวะฮฺ"เท่านั้น 

 
         ในเมื่อสิ่งที่ได้กล่าวไปนี้คือความหมายของการ “ติลาวะฮฺคัมภีร์” ก็ทำให้ทราบได้ว่า การดำรงไว้ซึ่งศาสนาอย่างสมบูรณ์นั้นย่อมอยู่ภายใต้ความหมายของคำว่า”ติลาวะฮฺคัมภีร์”ด้วยเช่นกัน จากจุดนี้จึงทำให้ พระดำรัสที่ว่า "และจงดำรงการละหมาดไว้เถิด" ตกอยู่ในฐานะของการผนวกประเด็นที่เป็นการจำเพาะเจาะจงเข้ากับประเด็นที่เป็นภาพรวมนั้นเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงสถานะและความประเสริฐของการละหมาดตลอดจนบ่งบอกถึงร่องรอยอันงดงามอันเป็นผลมาจากการละหมาดด้วยนั้นเอง ซึ่งร่องรอยดังกล่าวนั้นก็คือ "แน่นอนว่าการละหมาดนั้นจะหักห้ามจากเรื่องเสื่อมเสียและสิ่งชั่วช้า"


 

       อั้ลฟะฮฺช้าอฺ(เรื่องเสื่อมเสีย): พฤติกรรมเสื่อมเสียทุกชนิดที่อยู่ในกลุ่มของการประพฤติผิดต่อบทบัญญัติในรูปแบบของการกระทำที่อารมณ์ให้การสนับสนุนและต้องการการสนองตอบ


       อัลมุนกั้ร(สิ่งชั่วช้า): การประพฤติผิดต่อบทบัญญัติทุกชนิดที่อยู่ในรูปแบบของการกระทำที่สติปัญญาและสามัญสำนึกให้การต่อต้านและคัดค้าน


         ส่วนเหตุผลที่การละหมาดสามารถหักห้ามจากพฤติกรรมเสื่อมทรามและสิ่งชั่วช้าได้นั้นเป็นเพราะว่า หากผู้เป็นบ่าวที่เป็นบุคคลที่ดำรงไว้ซึ่งการละหมาดอย่างจริงจัง กระทำการละหมาดตามหลักการและเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้อย่างครบถ้วนด้วยความคุชั้วอฺ(สำรวมตนและมีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งที่กำลังปฏิบัติ) หัวใจของเขาก็จะสว่างไสว จิตใจก็จะสะอาดผุดผ่องและอีหม่านก็จะเพิ่มพูน ความใฝ่ดีของเขาก็จะเข้มแข็ง ในขณะที่ความรู้สึกอยากในเรื่องชั่วก็จะลดน้อยหรือไม่มีเหลืออยู่อีกเลย 


        เมื่อเป็นเช่นนี้การดำรงรักษาการละหมาดที่มีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสภาพการณ์ที่ได้กล่าวมา ย่อมเป็นตัวระงับและยับยั้งเรื่องเสื่อมเสียและสิ่งชั่วช้าอย่างแน่นอนที่สุด ซึ่งจุดนี้นี่เองเป็นสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายและผลลัพท์ที่สำคัญที่สุดผลลัพท์หนึ่งของการละหมาด


         อย่างไรก็ตามอันที่จริงแล้วการละหมาดยังมีจุดประสงค์และเป้าหมายอื่นที่สำคัญและยิ่งใหญ่กว่า นั่นก็คือการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ที่ถูกรวบรวมไว้ในการละหมาดทั้งที่เป็นการรำลึกด้วยหัวใจ ด้วยลิ้นและด้วยร่างกาย เนื่องจากอัลลอฮฺ  พระองค์ทรงสร้างบ่าวของพระองค์ขึ้นมาเพื่อการอิบาดะฮฺแด่พระองค์ ซึ่งการกระทำที่เป็นอิบาดะฮฺที่ประเสริฐที่สุดที่พวกเขาประกอบขึ้นนั้น ก็คือการละหมาด ทั้งนี้ในการปฏิบัติละหมาดมีการแสดงออกถึงการยอมจำนนตนเป็นบ่าวของอวัยวะในร่างกายทุกส่วนในบริบทที่การอิบาดะฮฺชนิดอื่นๆไม่มี และด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงทรงตรัสว่า 

 

"และแน่นอนว่าการรำลึกถึงอัลลอฮฺนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"
 

        ซึ่งสามารถเข้าใจได้ว่า หลังจากที่พระองค์ได้ทรงสั่งใช้ให้ทำการละหมาดและยังกล่าวชื่นชมการละหมาดไปแล้ว จากนั้นพระองค์จึงได้ทรงแจ้งให้ทราบว่า การรำลึกถึงพระองค์นอกการละหมาดนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าการละหมาดเสียอีก ดังที่นักวิชาการด้านการอรรถาธิบายส่วนใหญ่ได้กล่าวชี้แจงไว้ แต่ทว่าการเข้าใจตามรูปแบบที่หนึ่งนั้นมีความเหมาะสมมากกว่า เนื่องจากอันที่จริงแล้วการละหมาดนั้นประเสริฐกว่าการรำลึกนอกละหมาด และเนื่องด้วยการละหมาดนั้น -ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า- โดยตัวตนของมันเองก็ถือเป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งอยู่แล้วนั้นเอง


 

"และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำ (ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องดีหรือชั่ว)

แล้วพระองค์ก็จะทรงตอบแทนพวกเจ้าต่อการกระทำดังกล่าวอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด"

 

 

 

 

อาบีดีณ  โยธาสมุทร แปลและเรียบเรียง