เข้าสู่รอมาฎอนอย่างไร?
  จำนวนคนเข้าชม  8268

เข้าสู่รอมาฎอนอย่างไร?

 
เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

 
         อัลลอฮได้เลือกเดือนรอมาฎอนให้ปวงบ่าวของพระองค์ได้ทำการถือศีลอด และพระองค์ได้เลือกรอมาฎอนเป็นเดือนที่ประทานอัลกุรอานลงมา ดังนั้นรอมาฎอนคือเดือนที่มีความประเสริฐ และอัลลอฮฺได้ให้ความประเสริฐมากมายในเดือนนี้ ดังนั้นเป้าหมายของการถือศีลอดเหมือนที่เราได้ทราบจากอายะห์อัลกุรอาน ที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ว่า

 
قول الله تعالى :يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ ﴿١٨٣﴾
 

"บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว

เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง"

 
         นี่คือเป้าหมายของการถือศีลอด คือให้บรรดาผู้ศรัทธาได้บรรลุถึงความยำเกรง ดังนั้นการถือศีลอดจึงเป็นอิบาดะห์อย่างหนึ่งที่อัลลอฮฺได้ประทานความประเสริฐอย่างมากมายที่มาพร้อมกับบทบัญญัติของการถือศีลอด โดยที่ความดีจากการถือศีลอด อัลลอฮฺจะตอบแทนเป็นกรณีพิเศษ แต่เป้าหมายหลักของการถือศีลอด เพื่อจะได้นำบรรดาปวงบ่าวไปสู่ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และหากการถือศีลอดของเราเป็นการถือศีลอดที่ถูกต้องความยำเกรงจะเกิดขึ้นกับตัวของเราอย่างแน่นอน


         แต่ประเด็นหนึ่งที่เกิดข้อถกเถียงในกลุ่มมุสลิมถึงวิธีการที่เราจะเข้าสู่เดือนรอมาฎอนนั้น เราจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ และยึดทัศนะไหนในการปฏิบัติ ในเรื่องของการดูเดือนเข้าสู่รอมาฎอน เพราะนักวิชาการแต่ละท่านต่างก็ให้น้ำหนักกับมุมมองของตัวเอง เลยเป็นเหตุให้บรรดามุสลิมเกิดความสับสน และบางครั้งนำไปสู่การโต้เถียงและทะเลาะกัน 
 

          ดังนั้นการนำเสนอหลักการและทำความเข้าใจกับกับผู้คนในเรื่องหลักการศาสนาเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับประเด็นนี้ขอนำเสนอทัศนะของนักวิชาการ ในเรื่องของการดูเดือนเข้าสู่เดือนรอมาฎอนนั้น นักวิชาการมีทัศนะอย่างไรบ้าง และทัศนะของบรรดานักวิชาการนั้นเป็นการอ้างโดยมีหลักฐานหรือไม่

 

นักวิชาการมีความเห็นในเรื่องนี้ออกเป็นสามทัศนะด้วยกัน จากหนังสือ ซอเอียะฟิกอุซซุนนะห์ เล่มที่ ๒/หน้าที่๙๕/๙๖


ทัศนะที่หนึ่ง 

 

         เมื่อเมืองหนึ่งเมืองใดได้เห็นจันทร์เสี้ยว กับให้ประเทศอื่นๆที่รู้ข่าวการเห็นจันทร์เสี้ยว ต้องทำการถือศีลอดโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของ หานาฟียะห์ และ อัลมาลีกียะห์ และชาฟีอียะห์บางส่วน และเป็นทัศนะที่เป็นที่รู้กันของ หานาบิละห์ (ไปดูหนังสือ หาชิยะห์ อิบนุลอาบีดีน )เล่มที่ ๒/๓๙๓ หนังสือ อัรชัรหฺ อัลกาบีร ๑/๕๑๐ หนังสือ อัลมัจมัวะ ๖/๒๗๓)

โดยที่หลักฐานของพวกเขา จากคำพูดของท่านนบี ที่ว่า


قوله صلى الله عليه وسلم :(إذا رأيتموه فصوموا )
 

"เมื่อพวกท่านได้เห็นมัน(จันทร์เสี้ยว) ดังนั้นพวกท่านจงถือศีลอด"


         ซึ่งคำสั่งที่ใช้ให้ถือศีลอดในหะดีษนี้มันเป็นการเชิญชวนมุสลิมทั้งหมด และมันเป็นทัศนะที่สามารถสร้างเอกภาพให้แก่มุสลิม และในยุคสมัยนี้การติดต่อสื่อสารสะดวกและทันสมัย สามารถติดตามการเห็นเดือนได้ง่ายดาย

 

ทัศนะที่สอง


 แท้จริงทุกๆเมืองหรือประเทศนั้นให้ยึดตามการเห็นของเมืองหรือประเทศของตัวเอง โดยที่พวกเขาได้ยึดตามหลักฐาน


وقد نقله ابن المنذر عن عكرمة والقاسم وسالم وإسحاق ودليلهم حديث كريب ـ مولى ابن عباس ـ قال ((قدمت الشام واستهل علي هلال رمضان ،وأنا بالشام ، فرأينا الهلال ليلة الجمعة ، ثم قدمت المدينة في آخر الشهر فسألنى ابن عباس ،ثم ذكر الهلال فقال: متى رأيتم الهلال ؟ قلت :رأينا ليلة الجمعة ،فقال :أنت رأيته ليلة الجمعة ؟ قلت :نعم ورآه الناس ،صاموا ، صام معاوية ،فقال :لكنا رأيناه ليلة السبت ،فلا نزال نصوم حتى نكمل ثلاثين أو نراه فقلت :ألا تكفى برؤية معاوية وصيامه ؟ فقال : لا ، هكذا أمرنا رسول الله صلى الله عليه وسلم
 

 

         โดยที่อิบนุลมุนซิรได้รายงาน จาก ฮิกริมะห์ และอัลกอซิม และซาลิม และอิสหาก หลักฐานของพวกเขา จากหะดีษของท่าน กุรัยบฺ คนใช้ของท่านอิบนุ อับบาส ได้กล่าวว่า 

          "ฉันได้ไปยังเมืองชาม ได้ฉันได้เห็นจันทร์เสี้ยวของรอมาฎอน โดยที่ฉันยังอยู่เมืองชาม โดยที่พวกเราได้เห็นจันทร์เสี้ยวในค่ำคืนวันศุกร์ หลังจากนั้นฉันได้กลับมายังเมืองมาดีนะห์ในช่วงปลายเดือน ท่านอิบนุ อับบาสได้ถามฉัน หลังจากนั้นท่านได้กล่าวถึงจันทร์เสี้ยว

และถามฉันว่า พวกท่านเห็นจันทร์เสี้ยวเมื่อไหร่

ฉันได้ตอบว่า พวกเราได้เห็นในค่ำคืนของวันศุกร์ 

แล้วท่านอิบนุ อับบาสได้กล่าวว่า ท่านได้เห็นมันในคืนวันศุกร์หรือ? 

ฉันได้ตอบว่า ใช่ ผู้คนได้เห็นมัน และได้ถือศีลอด ท่านมูฮาวิยะห์ก็ได้ถือศีลอด 

ท่านอิบนุ อับบาสได้กล่าวว่า แต่ว่าพวกเราได้เห็นมันในคืนวันเสาร์ เรายังคงถือศีลอดจนกว่าจะเห็นมัน (จันทร์เสี้ยว) หรือไม่ก็เราถือจนครบสามสิบวัน 

ฉันได้กล่าวว่า การเห็นของเดือนของท่านมูฮาวิยะห์ และการถือศีลอดไม่เป็นการเพียงพอดอกหรือ? 

ท่าน อิบนุ อับบาสได้กล่าว เช่นนั้นหละ ที่ท่านรอซูลุลลอฮฺได้ใช้เรา

หลักฐานจากคำดำรัสของอัลลอฮฺ ตาอาลา


قوله تعالى :(فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ ۖ)   سورة البقرة 185
 

"ดังนั้นผู้ใดในหมูพวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น"
 

(ซูเราะห์อัลบากอเราะห์อายะห์ที่ ๑๘๕)

          โดยที่ความเข้าใจอายะห์นี้ ใครที่ยังไม่เข้าสู่เดือนรอมาฎอนก็ไม่ต้องถือศีลอด จนกว่าจะเห็นเดือน หรือเดือนชะบานครบสามสิบวัน


ทัศนะที่สาม


          จำเป็นต้องถือศีลอดสำหรับประเทศที่ไม่ได้มีความแตกต่างกันในเรื่องของเวลา หมายถึงเวลาไม่ได้คลาดเคลื่อนกัน และทัศนะนี้ถือว่าทัศนะที่ถูกต้องที่สุดของอัชชาฟีอีย์ และยังเป็นทัศนะบางส่วนของอัลมาลีกีย์ และหานาฟีย์ และยังเป็นทัศนะหนึ่งของหัมบาลีย์ และท่านอิบนู ตัยมียะห์ เลือกปฏิบัติตามทัศนะนี้ด้วย และถือว่าทัศนะนี้เป็นทัศนะกลางๆ เพราะความแตกต่างของเวลาในพื้นที่ต่างๆ เป็นที่รู้กันและไม่มีใครคัดค้าน หากว่าเวลามันตรงกันก็ให้ทำการถือศีลอด หากไม่ตรงกันก็ไม่ต้องถือศีลอด

          สรุปจากทัศนะที่กล่าวสามทัศนะข้างต้นเป็นแนวปฏิบัติของมุสลิมที่ปรากฏในโลกอิสลาม และแต่ละทัศนะก็มีหลักฐานเข้ามายึดถือปฏิบัติ ดังนั้นการให้เกียรติกับทุกความเห็นบรรดานักวิชาการนั้นถือว่าจำเป็น ใครจะปฎิบัติตามแนวทางใดและให้น้ำหนักตามแนวทางใดนั้นถือว่าเป็นสิ่งอนุญาต และไม่มีการตำหนิแก่ผู้ที่เห็นต่างกับเราในเรื่องนี้ เพราะแต่ละคนมีความมั่นใจในหลักฐานของตัวเอง


          มุสลิมต้องเข้าใจว่าในประเด็นปลีกย่อยมีอีกมากมายที่เกิดขึ้นในกลุ่มของนักวิชาการ ที่พวกเขาได้มีความเห็นแตกต่างกันออกไป ทั้งที่บางครั้งหลักฐานอันเดียวกัน ความเข้าใจที่แตกต่างกันนั้นเกิดขึ้นในยุคของท่านนบี 


حدثنا عبد الله بن محمد بن أسماء حدثنا جويرية بن أسماء عن نافع عن ابن عمر رضي الله عنهما قال قال النبي صلى الله عليه وسلم يوم الأحزاب لا يصلين أحد العصر إلا في بني قريظة فأدرك بعضهم العصر في الطريق فقال بعضهم لا نصلي حتى نأتيها وقال بعضهم بل نصلي لم يرد منا ذلك فذكر ذلك للنبي صلى الله عليه وسلم فلم يعنف واحدا منهم

 

         ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนู มูฮัมหมัด บิน อัสมาฮฺ ยุไวรีญะ บิน อัสมาฮฺได้เล่าให้เราฟัง มีรายงานจากท่าน นาเฟียะ จากอิบนุ อุมัร รอฎิยัลลอฮูอันอุมา ได้กล่าวว่า

         ท่านนบี  ได้กล่าว ในวันสงครามอะซาบ คนหนึ่งอย่าได้ละหมาดอัสรฺ นอกจากไปละหมาดที่บนีกูรัยเซาะห์ บางคนในหมู่พวกเขาเวลาอัสรฺมาถึงแต่พวกเขาอยู่ระหว่างทาง 

มีบางคนในพวกเขากล่าวว่า เราจะไม่ละหมาดจนกว่า เราถึงไปยังที่นั้น(บนีกูรัยเซาะ) 

บางคนในพวกเขากล่าวว่า แต่เราจะละหมาด และไม่มีใครจากพวกเราคัดค้านในเรื่องดังกล่าว 

          และเรานำเหตุการณ์ดังกล่าวไปบอกกับท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ท่านรอซูลไม่ได้ตำหนิคนใดจากพวกเขาเลย

(บันทึกโดย บุคอรีย์หะดีษที่๙๐๔ มุสลิมหะดีษที่ ๑๗๗๐)


          นี่คือบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคของท่านนบี   ที่เหล่าศอหาบะห์ของท่านนบี ได้เข้าใจจุดประสงค์ของท่านไปคนละอย่างจนทำให้มีการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป แต่เหล่าศอหาบะห์ก็ไม่ได้มีความแตกแยกจากการเข้าใจจุดประสงค์ที่ผิดพลาดจากคำพูดของ ท่านนบี  และเมื่อ ท่านนบี  ได้รับรู้เรื่องราวท่านก็ไม่ตำหนิผู้ใด ทั้งที่จุดประสงค์ของหะดีษนี้เพื่อต้องการให้รีบเร่งให้ไปทันละหมาดอัสรฺที่บนี กูรัยเซาะ


          เรากลับมาดูในยุคของเรามีประเด็นต่างๆมากมายที่บรรดานักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันออกไปในปัญหาปลีกย่อย จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ บางครั้งอาจจะเป็นเพราะมั่นใจว่าหลักฐานที่ตัวเจอนั้นเป็นหลักฐานที่ถูกต้อง และหลักฐานที่คนอื่นนั้นเป็นหลักฐานที่อ่อนแอ หรือบางครั้งอาจจะเป็นเพราะการยึดติดกับมัสฮับ หลักฐานที่ถูกต้องมาแล้วไม่ยอมรับ หรือบางครั้งอาจจะไม่เจอหลักฐาน ยึดหลักฐานตามที่ตัวเองมีอยู่ หรืออาจจะยึดตามแนวของอาจารย์ที่เขาร่ำเรียนความรู้มา 


          แนวทางของคนในยุคอดีต ถ้ามีความเห็น ความเข้าใจจากหลักฐานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งบางครั้งเป็นหลักฐานอันเดียวกันแต่ความเข้าใจไปคนละอย่าง ก็ไม่ได้เป็นประเด็นหรือชนวนที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง เขาสามารถช่วยเหลือซึ่งกันละกันในเรื่องที่เป็นคุณงามความดี เช่นตัวอย่างของอิหม่าม อะหมัด และอิหม่ามอัชชาฟีอีย์ ขออัลลอฮฺได้โปรดเมตตาต่อท่านทั้งสอง ซึ่งมีหลายๆประเด็นที่เป็นปัญหาปลีกย่อยที่ท่านทั้งสองมีความเห็นต่างกัน แต่ทั้งสองยังคงไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนความรู้กัน นี่คือแบบอย่างของชนสลัฟกับปัญหาปลีกย่อยที่มีความเห็นที่ต่างกัน ไม่ได้เป็นสาเหตุให้มีความโกรธเกลียดและนำไปสู่การเป็นศัตรู  บรรดาชนสลัฟตั้งแต่ยุคของศอหาบะห์พวกเขาจะไม่มีประเด็นที่แตกต่างในเรื่องของหลักความเชื่อ ถึงแม้พวกเขาจะมีประเด็นที่แตกต่างในปัญหาปลีกย่อย แต่พวกเขาทั้งหมดมีหลักความเชื่ออันเดียวกัน


          ดังนั้นประเด็นในการเข้าสู่เดือนรอมาฎอน หากมุสลิมได้ถือศีลอดพร้อมเพรียงกันทั่วโลกนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชาติอิสลาม แต่หากว่าไม่สามารถที่จะถือศีลอดพร้อมเพรียงกันได้ คนในประเทศหนึ่งสมควรถือศีลอดพร้อมกัน แต่หากไม่สามารถทำได้ก็ไม่สมควรตำหนิกลุ่มอื่นที่เลือกปฏิบัติตามความมั่นใจของตัวเอง การไปวิพากวิจารณ์ถึงการกระทำของกลุ่มอื่นที่ปฏิบัติตามทัศนะหนึ่งทัศนะใดนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่ถ้าเรามั่นใจในหลักฐานของเราว่าถูกต้องที่สุดและปฏิบัติไปตามแนวทางที่เชื่อมั่น โดยไม่ตำหนิในสิ่งที่คนอื่นปฏิบัติคงเป็นสิ่งที่ดี ที่จะนำความดีงามให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะความเห็นต่างไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในยุคของเรา แต่ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว

         เป้าหมายสูงสุดของการถือศีลอด คือ การที่ถือศีลอดแล้วส่งผลต่อจิตใจของเรา และทำให้เราบรรลุจุดประสงค์ที่อัลลอฮฺต้องการคือ เกิดความยำเกรง และการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีๆ


         และหลังจากรอมาฎอนผ่านไป ความยำเกรงต้องกลายเป็นพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของเรา ฉะนั้นการจะเข้าสู่รอมาฎอนพร้อมหรือไม่พร้อมกันก็ตาม หากเราถือศีลลอดแล้วจิตใจไม่ได้มีความยำเกรง พฤติกรรมที่ไม่ดีไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น มันก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะเราไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการถือศีลอดได้

 

         รอมฎอนปีนี้ขอให้อัลลอฮฺ ประทานความดีงามแก่บรรดามุสลิมทั้งหมดที่ทำการถือศีลอดด้วยความศรัทธาต่อพระองค์ และหวังผลตอบแทนจากพระองค์...อามีน