ทวีปอัฟริกาจะตามการดูจันทร์เสี้ยวของมักกะฮฺได้หรือไม่ ?
แปลโดย อาจารย์มุหำหมัด บินต่วน
คำถาม
มุสลิมในทวีปอัฟริกาจะถือศีลอดตามการดูจันทร์เสี้ยวของชาวมักกะฮฺได้หรือไม่ ?
คำตอบ
เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวทางสภาอุละมาฮฺอาวุโสของประเทศซาอุดิอารเบีย เคยมีการลงมติมาแล้วซึ่งมีใจความดังต่อไปนี้
1. เรื่องความแตกต่างของการปรากฏจันทร์เสี้ยวเริ่มต้นเดือน(มัตละอฺ)นั้น เป็นเรื่องที่สามารถรับรู้ได้โดยปริยายทั้งทางความรู้สึก(สัมผัส) และสติปัญญา ไม่มีอุละมาอ (ผู้รู้) คนใดขัดแย้งกัน แต่ความเห็นที่แตกต่างของบรรดาผู้รู้ (อุละมาฮฺ)คือ การจะนำเอาความแตกต่างของตำแหน่งการปรากฏของจันทร์เสี้ยวในแต่ละส่วนของโลกมาเป็นประเด็นการกำหนดการถือศีลอดและการออกอีดหรือไม่ ?
2. ปัญหาการนำเอาความแตกต่างของตำแหน่งการปรากฏของจันทร์เสี้ยว (มัตละอฺ)ในส่วนต่างๆ ของโลก หรือไม่นำเอาความแตกต่างดังกล่าวเป็นหลักบรรทัดฐานในการกำหนดการถือศีลอดและการออกอีดนั้น เป็นปัญหาเชิงทฤษฎีที่เปิดช่องทางให้มีการวินิจฉัย (อิจติฮาด) ในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดความแตกต่างทางความคิดได้ในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านศาสนา
ความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ตามกระบวนการวินิจฉัยปัญหา ซึ่งปราชญ์มุจญ์ติฮิด (ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาระดับมุจญ์ตะฮิด) หากเขาวินิจฉัยถูก เขาก็จะได้รับผลบุญสองเท่า คือ ผลบุญการวินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) และผลบุญความถูกต้อง ส่วนปราชญ์มุจญ์ตะฮิดที่วินิจฉัยผิดเขาก็จะได้รับผลบุญการวินิจฉัยของเขา (อิจญ์ติฮาด) อย่างเดียว
ดังนั้นบรรดาผู้รู้จึงมีทรรศนะที่แตกต่างกันในเรื่องนี้เป็นสองทรรศนะ คือ ทรรศนะที่ถือเอาความแตกต่างของจันทร์เสี้ยวตามตำแหน่งที่ปรากฏในส่วนต่างๆ ของโลก (ยึดความแตกต่างของมัตละอฺ) และทรรศนะที่มิได้ยึดเอาความแตกต่างของจันทร์เสี้ยวตามตำแหน่งที่ปรากฏในส่วนต่างๆ ของโลก (ไม่ยึดความแตกต่างของมัตละฮฺ) ซึ่งบรรดาผู้รู้ทั้งสองทรรศนะต่างก็ยึดหลักฐานจากอัลกุรอาน และอัซซุนนะฮฺ ทั้งสิ้น และในบางครั้งทั้งสองทรรศนะก็ใช้ตัวบทตัวเดียวกันในการอ้างหลักฐาน ประหนึ่งตัวบทดังกล่าวมีแง่มุมให้อ้างอิงได้ทั้งสองทรรศนะร่วมกัน เช่น พระดำรัสของอัลลอฮฺ
{ يَسْأَلُوْنَكَ عَنِ الأَهِلَّةِ قُلْ هِيَ مَوَاقِيْتُ للنَّاسِ وَ الْحَجِّ }
“ พวกเขาเหล่านั้น จะถามเจ้าเกี่ยวกับเดือนแรกขึ้น จงกล่าวเถิดว่า มันคือกำหนดเวลาต่างๆ สำหรับมนุษย์ และสำหรับประกอบพิธีฮัจญ์ ”
(อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 189)
และพระวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม
(( صُوْمُوْا لِرُؤْيَتِهِ وَ أَفْطِرُوْا لِرُؤْيَتِهِ ))
“ สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน)
และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน ”
เป็นผลมาจากความเข้าใจในตัวบทและแนวทางการยึดตัวบทในการอ้างอิงที่แตกต่างกัน
เมื่อพิจารณาจากมุมมองดังกล่าว ทางองค์กรอุละมาอฺอาวุโสมีทรรศนะและให้เกียรติต่อแนวการวินิจฉัยดังกล่าว ประกอบกับการวินิจฉัยที่แตกต่างกันของบรรดาผู้รู้ใน ประเด็น(มัสอะละอฺ) มิได้สร้างผลกระทบอันก่อให้เกิดผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัว และด้วยเหตุที่ศาสนานี้ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลา (กว่า) 14 ศตวรรษ เราไม่ทราบเลยว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าวจะมีสักช่วงหนึ่งที่ประชาชาติอิสลามมีความพร้อมเพรียงกันบนบรรทัดฐานการดูจันทร์เสี้ยวอันเดียวกัน (หมายถึงจากที่เดียวกัน)
ดังนั้นสมาชิกของสภาอุลามะอฺอาวุโสจึงมีความเห็นว่า ให้คงสภาพดังกล่าว (หมายถึงสภาพการเข้าบวชและการออกบวชที่ต่างกันของประชาชาติอิสลาม)ไว้เหมือนดังเช่นที่เป็นอยู่ และจะไม่เข้าไปขุดคุ้ยในเรื่องนี้ และให้ประเทศอิสลามแต่ละประเทศมีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติตามทรรศนะหนึ่งทรรศนะใดจากสองทรรศนะนี้ ตามที่ได้ชี้แจงไว้เบื้องต้น โดยผ่านความเห็นชอบของบรรดาผู้รู้ (อุละมาอฺ) ของประเทศนั้นๆ เนื่องจากทั้งสองทรรศนะต่างก็ตั้งอยู่บนหลักฐานและบรรทัดฐานเดียวกัน
3. ทางสภาอุละมาอฺอาวุโส (ซาอุดิอารเบีย) ได้พิจารณาปัญหาการยืนยันจันทร์เสี้ยวด้วยการคำนวณทางดาราศาสตร์และตัวบทที่ระบุอยู่ในอัลกุรอาน และอัซซุนนะฮฺเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ตลอดจนทรรศนะและคำพูดของปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญของอัลอิสลาม ในประเด็นดังกล่าวทางสภาฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่อนุมัติให้ยึดเอาการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นการยืนยันการเกิดจันทร์เสี้ยวที่จะนำมายึดถือในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการศาสนา
เนื่องจากท่านศาสดามุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
( صُوْمُوْا لِرُؤْيَتِهِ وَ أَفْطِرُوْا لِرُؤْيَتِهِ )
“ สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน)
และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน ”
และพระวจนะศาสดาที่
“สูเจ้าทั้งหลายจงอย่าถือศีลอด จนกว่าสูเจ้าทั้งหลายจะได้เห็นมัน(จันทร์เสี้ยวเริ่มต้นของเดือน)
และสูเจ้าทั้งหลายจงอย่าออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) จนกว่าสูเจ้าทั้งหลายจะได้เห็นมัน”
และพระวจนะศาสดา ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในทำนองเดียวกันนี้
ขอพระองค์อัลลอฮฺได้ประทานความสำเร็จและทางนำที่ถูกต้องและขอพระองค์ทรงโปรดประทานความซอละวาตและสลามต่อท่านศาสดามุฮัมมัด และวงศ์วานของพวกท่าน และซอฮาบะฮฺของท่าน
จากหนังสือ ฟะตาวา อัลลุจนะฮฺ อัดดาอิมะฮฺ ลิลบุหูษอัลอิลมียะฮฺ วัลอิฟตาอฺ เล่มที่ 10 หน้าที่ 102-104