อิบาดะฮฺในสิบคืนสุดท้ายของเราะมะฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  8219

การมุ่งมั่นทำอิบาดะฮฺในสิบคืนสุดท้ายของเราะมะฎอน

อ.อาหมัด อัลฟารีตีย์

 
عَنْ عَائِشَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهَا قَالَتْ : كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا دَخَلَ الْعَشْرُ شَدَّ مِئْزَرَهُ، وَأَحْيَا لَيْلَهُ، وَأَيْقَظَ أَهْلَهُ. (البخاري رقم 1884، مسلم رقم 2008)

จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เล่าว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้น

เมื่อถึงช่วงสิบวันสุดท้ายของเราะมะฎอน ท่านจะรัดผ้านุ่งไว้ให้แน่น(หมายถึงไม่ร่วมหลับนอนกับภรรยา)

ท่านจะให้ชีวิตแก่ค่ำคืน(หมายถึงประกอบอิบาดะฮฺในยามค่ำคืน) และท่านจะปลุกบรรดาภริยาของท่าน(ให้ลุกขึ้นมาประกอบอิบาดะฮฺ) 

(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1884 และมุสลิม หมายเลข 2008)


คำอธิบายหะดีษ

          ท่าน อัล-ค็อฏฏอบีย์ กล่าวว่า สำนวน “รัดผ้านุ่งไว้ให้แน่น”  หมายถึง ความจริงจังในการประกอบอิบาดะฮฺ หรือหมายถึง การปลีกตัวห่างจากภรรยาและประกอบอิบาดะฮฺอย่างจริงจัง เนื่องจากมีปรากฏอยู่ในรายงานของอาศิม บิน เฎาะมุเราะฮฺว่า

“ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ผูกสายคาดเอวและปลีกตัวออกห่างจากภรรยา”

          ส่วนความหมายของการกิยาม(การลุกขึ้นยามค่ำคืน)นั้น คือ การอดหลับในเวลากลางคืน  ด้วยการประกอบอะมัลอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ เนื่องจากการนอนหลับนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความตาย

          และในรายงานของอัต-ติรมีซีย์ จากซัยนับ บินติ อุมมุ สะละมะฮฺ มีว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อเดือนเราะมะฎอนเหลืออีกสิบวัน ท่านก็จะปลุกสมาชิกครอบครัวของท่านทั้งหมดที่สามารถประกอบกิยามุลลัยลฺได้ให้ลุกขึ้นมาทำอิบาดะฮฺ

(ตุหฺฟะตุลอะหฺวะซีย์ 3/508)

            ท่านอิหม่าม อัน-นะวะวีย์ กล่าวว่า สุนัตให้เพิ่มการประกอบอะมัลในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเราะมะฎอนให้มาก และสุนัตให้ลุกขึ้นยามค่ำคืนในสิบวันนั้นเพื่อการประกอบอิบาดะฮฺ

(ชัรหุ เศาะฮีหฺ มุสลิม 8/71)

 

บทเรียนจากหะดีษ

     1.      ความประเสริฐของสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนและความประเสริฐของค่ำคืนดังกล่าว

     2.      อะมัลของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในช่วงสิบวันสุดท้ายของเราะมะฎอนคือการประกอบอิบาดะฮฺในยามค่ำคืนและพยายามใกล้ชิดอัลลอฮฺ (ด้วยการประกอบอิบาดะฮฺ)

     3.      ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะปลุกสมาชิกในครอบครัวเพื่อร่วมกันประกอบ    อะมัลอิบาดะฮฺ อันเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นำครอบครัวมุสลิม

     4.      ส่งเสริมให้มีความมุ่งมั่นจริงจัง อันเป็นสัญลักษณ์ของอะมัลอิสลามีย์(การทำงานเพื่ออิสลาม) และเป็นคุณลักษณะของมุสลิมที่มีความกระตือรือร้น

     5.      การร่วมกันระหว่างสามีภรรยาในการประกอบอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺนั้น เป็นสิ่งที่อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมปฏิบัติ

 

 

ค้นหาลัยละตุลก็อดรฺในสิบคืนสุดท้ายของเราะมะฎอน

 
عَنْ عَائِشَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهَا قَالَتْ : كَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُجَاوِرُ فِي الْعَشْرِ الأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ، وَيَقُولُ : «تَحَرَّوْا لَيْلَةَ الْقَدْرِ فِي الْعَشْرِ الأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ». (البخاري رقم 1880)

          จากท่านหญิง อาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เล่าว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เก็บตัวอิอฺติกาฟในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน และท่านได้กล่าวว่า

“พวกท่านจงค้นหาลัยละตุล ก็อดรฺในช่วงสิบวันสุดท้ายของเราะมะฎอน” 

(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1880)


คำอธิบายหะดีษ

คำว่า “تَحَرَّوا” (จงแสวงหา) หมายถึง การตั้งเจตนาพร้อมการมุ่งมั่นในการกระทำบางสิ่งบางอย่างเป็นการเฉพาะ

            ในหะดีษข้างต้นในขณะที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อิอฺติกาฟสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนนั้น ท่านสั่งให้บรรดาเศาะหาบะฮฺใช้ความพยายามในการค้นหาคืนลัยละตุลก็อดรฺ เพื่อที่จะได้มาซึ่งความประเสริฐของคืนนั้นในสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน โดยการเสียสละเวลาอิอฺติกาฟในมัสยิด

            ดังมีหะดีษที่รายงานโดยมุสลิมและอัต-ติรมีซีย์ ว่า

 في رواية مسلم والترمذى بلفظ : «رَأَيْتُ ليَلَةَ القَدْرِ فَأُنْسِيْتُهاَ، فَاطْلُبُوْهَا فِي العَشْرِ الأَوَاخِرِ، وَهِيَ لَيْلَةُ رِيْحٍ وَمَطَرٍ وَرَعْدٍ»
 

  ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

“ฉันได้เห็นค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ หลังจากนั้นฉันถูกทำให้ลืมมัน ดังนั้น พวกเจ้าจงแสวงหามันในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนเถิด

นั่นคือ ในคืนที่ปรากฎลมพัด ฝนตก และฟ้าร้อง”

 (ตุหฺฟะตุล อัล-อะหฺวะซีย์ 3/504)
 

         ทัศนะที่ถูกต้องที่สุดมีว่า ค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺจะปรากฎในเดือนเราะมะฎอนก่อนสิบวันสุดท้าย  และจะปรากฏในคืนเลขคี่โดยมิได้ระบุว่าจะเกิดขึ้นเป็นคืนใด

            ท่านอิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์ กล่าวในฟัตหุลบารีย์ว่า บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่ไม่สอดคล้องเกี่ยวกับค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺมากกว่าสี่สิบทัศนะ ทัศนะที่ถูกต้องที่ถูกคือ ค่ำคืนที่เป็นเลขคี่ของสิบคืนสุดท้าย ที่คาดว่าใกล้เคียงความถูกต้องที่สุด นั่นคือ คืนที่ยี่สิบเอ็ด หรือยี่สิบสามตามทัศนะของอัช-ชาฟีอีย์ และคืนที่ยี่สิบเจ็ดตามทัศนะของอุละมาอ์ส่วนใหญ่

(ตุหฺฟะตุล อัล-อะหฺวะซีย์ 3/505)

 

บทเรียนจากหะดีษ

     1.      ส่งเสริมให้มีการอิอฺติกาฟในสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนเพื่อเป็นการเจริญรอยตามซุนนะฮฺของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

     2.      เป้าหมายของการอิอฺติกาฟได้แก่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความบะเราะกะฮฺ และความประเสริฐของค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ

     3.      ให้มีความตั้งใจเข้มแข็ง จริงจังในการประกอบอะมัลที่ดีในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน

     4.      ความประเสริฐของสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ซึ่งจะเกิดค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺในค่ำคืนใดค่ำคืนหนึ่ง และท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ตระหนักในเรื่องนี้ด้วยการเจาะจงอิอฺติกาฟในสิบคืนดังกล่าว และท่านได้สั่งเพื่อให้บรรดาเศาะหาบะฮฺค้นหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺอย่างจริงจังด้วย

     5.      ความประเสริฐของการอิอฺติกาฟในสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนและความประเสริฐของการค้นหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺอย่างจริงจัง