คุณค่าของการทำอิบาดะฮฺในคืนลัยละตุลก็อดรฺ
อ.อาหมัด อัลฟารีตีย์
عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ عَنِ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : «مَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ». (البخاري رقم 1768، مسلم رقم 1268)
จากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า
“ผู้ใดที่ลุกขึ้น(ละหมาดกลางคืนและประกอบอิบาดะฮฺอื่นๆ)ในคืนลัยละตุลก็อดรฺ
ด้วยเปี่ยมศรัทธาและความหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิดบาปที่ผ่านมาของเขา”
(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1768 และมุสลิม หมายเลข 1268)
คำอธิบาย
อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า เหตุที่ตั้งชื่อว่าเป็นคืน อัล-ก็อดรฺ เพราะว่า ในคืนนั้นบรรดามะลาอิกะฮฺจะเขียนเกาะดัรฺ(สิ่งที่อัลลอฮฺกำหนด)ต่างๆ ไม่ว่าสิ่งที่เกี่ยวกับริสกี(ปัจจัยและโชคลาภ) รวมถึงอะญัล(อายุขัย)ของมวลมนุษย์ในปีนั้นๆ
บางท่านกล่าวว่า เนื่องจากสถานภาพและความทรงเกียรติของค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ และบรรดาอุละมาอ์มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺจะปรากฏตลอดไปจนถึงวันกิยามะฮฺ
ท่าน อัล-กอฎีย์ อิยาฎ กล่าวว่า บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่ไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับค่ำคืน ลัยละตุลก็อดรฺ บางท่านมีทัศนะว่า ค่ำคืนดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงในเดือนเราะมะฎอน จากปีหนึ่งไปยังอีกปีหนึ่ง (หมายถึงมีการเลื่อนและไม่ตรงกันทุกปี)
บทเรียนจากหะดีษ
1. กล่าวถึงความประเสริฐของผู้ที่ประกอบอะมัลอิบาดะฮฺในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ
2. ส่งเสริมให้มีการกิยาม (การละหมาดกลางคืนและการประกอบอิบาดะฮฺต่างๆ) ในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ
3. การปฏิบัติกิยามในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺต้องกระทำเพื่อสนองตามคำสั่งของอัลลอฮฺเท่านั้น และมีความเชื่อมั่นในสัญญาผลตอบแทนที่จะได้รับ และต้องปราศจากการโอ้อวดอื่นๆ
4. ผลตอบแทนสำหรับผู้ที่ประกอบอิบาดะฮฺตรงกับคืนลัยละตุลก็อดรฺ ก็คือ จะได้รับการอภัยโทษในบาปทั้งหลายที่ผ่านมา และผลบุญอื่นๆ
การขวนขวาย ลัยละตุลก็อดรฺ
عن أَبِيْ سَعِيْدٍ الْخُدْرِيِّ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : «إِنِّيْ أُرِيْتُ لَيْلَةَ الْقَدْرِ ثُمَّ أُنْسِيْتُهَا أَوْ نُسِّيْتُهَا فَالْتَمِسُوْهَا فِيْ الْعَشْرِ الأَوَاخِرِ فِيْ الْوَتْرِ». (البخاري رقم1877)
จากท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
“แท้จริงฉันได้รับการบอกให้รู้เห็นคืนลัยละตุล ก็อดรฺแล้ว แต่ฉันก็ถูกทำให้ลืมอีก
ดังนั้นพวกท่านจงหามันในค่ำคืนสิบวันสุดท้าย(ของเราะมะฎอน) ในค่ำคืนที่เป็นคี่”
(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1877)
คำอธิบายหะดีษ
ลัยละตุลก็อดรฺ คือค่ำคืนแห่งความประเสริฐที่อัลลอฮฺได้กำหนดการประทานอัลกุรอานลงมา ซึ่งมันอยู่ในเดือนเราะมะฎอนเท่านั้น ความประเสริฐของมันถูกระบุไว้ในพระดำรัสของอัลลอฮฺว่า
﴿لَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِّنْ أَلْفِ شَهْرٍ ( 3 ) تَنَزَّلُ الْمَلَائِكَةُ وَالرُّوحُ فِيهَا بِإِذْنِ رَبِّهِم مِّن كُلِّ أَمْرٍ ( 4 ) سَلَامٌ هِيَ حَتَّى مَطْلَعِ الْفَجْرِ ( 5 ) ﴾
“ลัยละตุลก็อดรฺนั้น ดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน มลาอิกะฮฺทั้งหลาย รวมถึงมลาอิกะฮฺญิบรีลจะลงมาในคืนนั้นด้วยพระอนุมัติของอัลลอฮฺ
พร้อมๆ กับการกำหนดกิจการสำหรับทุกๆ เรื่อง มันจะเปี่ยมล้นด้วยความศานติ จนกระทั่งรุ่งอรุณ”
(สูเราะฮฺ อัล-ก็อดรฺ 3-5)
คืนลัยละตุลก็อดรฺดีกว่าคืนอื่นๆ ถึงพันเดือน หมายถึงว่า การประกอบคุณความดีและอิบาดะฮฺในคืนนั้นคืนเดียว มีผลบุญและรางวัลตอบแทนมากมายทวีคูณเสมือนการประกอบอิบาดะฮฺในคืนอื่นๆ ถึงพันเดือนเลยทีเดียว
บทเรียนจากหะดีษ
1. ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แนะนำให้แก่ประชาชาติของท่านเกี่ยวกับค่ำคืน ลัยละตุลก็อดรฺ
2. ค่ำคืน ลัยละตุลก็อดรฺ นั้นเกิดขึ้นในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงสิบคืนสุดท้าย โดยไม่ได้กำหนดชัดว่าเกิดในคืนไหน
3. การที่ไม่ได้กำหนดว่าค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺปรากฎขึ้นในคืนใดนั้น เพื่อให้บรรดาผู้ศรัทธาพยายามแสวงหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยความมุ่งมั่น
4. กล่าวถึงความประเสริฐของเดือนเราะมะฎอนและสิบคืนสุดท้ายของเดือน
5. ความประเสริฐของจำนวนนับเลขคี่ ซึ่งแม้แต่ลัยละตุลก็อดรฺเองก็จะเกิดขึ้นในค่ำคืนที่เป็นจำนวนคี่
6. ส่งเสริมให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ เช่น การละหมาดในยามค่ำคืน การอ่านอัลกุรอาน การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และการดุอาอ์ขออภัยโทษและการเตาบัต
7. ส่งเสริมให้มีการตั้งเจตนาที่บริสุทธิ์ในการประกอบอิบาดะฮฺ มุ่งหวังผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ
8. อะมัลอิบาดะฮฺในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺจะได้รับผลบุญตลอดจนการอภัยโทษในบาปต่างๆ ที่ผ่านมา
9. ความโปรดปรานจากอัลลอฮฺนั้นมีความกว้างไพศาล และพระองค์ทรงให้อภัยแก่บ่าวของพระองค์เสมอ