ดุอาอ์ของผู้ถือศีลอดไม่ถูกผลักไส
  จำนวนคนเข้าชม  10900

ดุอาอ์ของผู้ถือศีลอดไม่ถูกผลักไส


อ.อาหมัด อัลฟารีตีย์

 
عَنْ أَنَسِ بنِ مَالِكٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : «ثَلاَثُ دَعْوَاتٍ لاَ تُرَدُّ : دَعْوَةُ الْوَاْلِدِ، وَدَعْوَةُ الصَّائِمِ، وَدَعْوَةُ الْمُسَافِرِ». (البيهقي في الكبرى رقم6185، صحيح الجامع الصغير للألباني رقم3032: حسن)
 

จากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า

 

“ดุอาอ์สามประเภทที่จะไม่ถูกผลักไส คือดุอาอ์ของบุพการี(บิดามารดา) ดุอาอ์ของผู้ถือศีลอด และดุอาอ์ของผู้เดินทาง”

 

(รายงานโดย อัล-บัยฮะกีย์ ใน สุนัน อัล-กุบรอ หมายเลข 6185 ดู เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ หมายเลข 3032 เป็นหะดีษหะสัน)


บทเรียนจากหะดีษ

1.       หะดีษกล่าวถึง ดุอาอ์ของบุคคลสามจำพวกที่อัลลอฮฺไม่ปฏิเสธ คือ

- ดุอาอ์ของบุพการี

- ดุอาอ์ของผู้ถือศีลอดที่รักษามารยาทที่ดีงามและมีเจตนาที่บริสุทธิ์

- ดุอาอ์ของคนที่เดินทาง

       2.      อย่างไรก็ตาม ได้มีหะดีษในสายรายงานอื่นที่กล่าวถึงบุคคลประเภทต่างๆ ที่ดุอาอ์ของพวกเขาจะไม่ถูกปฏิเสธเช่นเดียวกัน อาทิ ดุอาอ์ของอิมามที่ยุติธรรม และดุอาอ์ของผู้ที่ถูกรังแกโดยไม่เป็นธรรม เป็นต้น

3.      ความโปรดปรานของอัลลอฮฺจะครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง

4.      ส่งเสริมให้มีการขอดุอาอ์ในขณะที่ถือศีลอดและขณะละศีลอด

5.      การขอดุอาอ์สามารถทำได้ง่ายแม้ในขณะที่กำลังถือศีลอด หรือขณะใช้ชีวิตปกติในแต่ละวันก็ตาม

 


ความประเสริฐของการเลี้ยงอาหารละศีลอด

 
عَنْ زَيْدِ بْنِ خَالِدٍ الْجُهَنِيِّ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : «مَنْ فَطَّرَ صَائِمًا كَانَ لَهُ مِثْلُ أَجْرِهِ غَيْرَ أَنَّهُ لاَ يَنْقُصُ مِنْ أَجْرِ الصَّائِمِ شَيْئًا». (الترمذي رقم735، صحيح سنن الترمذي رقم647: صحيح)

จากท่านซัยดฺ อิบนุ คอลิด อัล-ญุฮะนีย์ เล่าจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า

 

“ผู้ใดที่เลี้ยงอาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอด เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับผลบุญของผู้ถือศีลอด(ที่เขาให้อาหาร)

 โดยที่ผลบุญนั้น (หมายถึงผลบุญเดิมของผู้ถือศีลอดที่เขาเลี้ยงอาหาร) ไม่ได้ลดน้อยลงไปจากผู้ถือศีลอดนั้นแต่อย่างใด”

 

(รายงานโดย อัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 735 ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 647 เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)


บทเรียนจากหะดีษ

       1. ความประเสริฐของผู้ที่ให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอด เขาจะได้รับผลบุญอย่างเต็มเปี่ยม เหมือนคนที่ถือศีลอด โดยที่ผลบุญดังกล่าวจะไม่ลดไปจากผู้ถือศีลอดที่เขาเลี้ยงอาหารนั้นแม้แต่น้อย

2.  ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงอาหารแก่ผู้ที่ถือศีลอด ไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่ร่ำรวยหรือยากจน

3.   อาหารหรือเครื่องดื่มที่จัดเตรียมให้แก่ผู้ที่ถือศีลอดนั้นจะต้องมาจากทรัพย์สินที่หะลาล

4.   ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นเป็นลักษณะของผู้ที่เป็นมุสลิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเราะมะฎอน

5.   สังคมอิสลามเป็นสังคมที่มีความรักใคร่ปรองดองกัน มีการเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน