ซะกาต ความสำคัญอันดับที่สาม(วาญิบ)
  จำนวนคนเข้าชม  18868

ซะกาต ความสำคัญอันดับที่สาม(วาญิบ)


แปลโดย  อบูชีส


         โอ้ พี่น้องร่วมศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ในทุกอิริยาบถ และจงจ่ายซะกาตจากทรัพย์สินที่ดีงามของท่าน และแข่งขันกันในการบริจาค แท้จริงแล้วการจ่ายซะกาตนั้นคือสิ่งยืนยันถึงการศรัทธา และมันคือ รุกุ่นเงือนไขหลัก ของอัลอิสลามประการที่สาม กระทั่งที่ว่าท่านนบี กล่าวว่า

"ใครที่ไม่จ่ายซะกาต ก็ไม่มีการละหมาดใดๆสำหรับเขา"

หมายความว่า การละหมาดของผู้ปฏิเสธการจ่ายซะกาตนั้น จะไม่ยังผลใดๆสำหรับเขา อัลลอฮฺ ได้มีพระดำรัสในอัลกุรอานว่า

اليوم أكملت لكم دينكم وأتممت عليكم نعمت ورضيت لكم الإسلام دينا

"วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า และข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า

และข้าได้โปรดปรานอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว"

 (อัล-มาอิดะฮฺ : 3)

         ความสมบูรณ์ของอิสลามตามนัยของโองการดังกล่าวนั้น คือ การที่อิสลามมีบทบัญญัติและหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้มนุษย์สามารถดำรงตนได้อย่างถูกต้องในทุกแง่มุม ทุกกิจการ ทุกความเคลื่อนไหว และทุกด้านที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตในโลกนี้

         ในคำสอนของอิสลาม เราจะพบว่ามีรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับหลักพื้นฐานอันเป็นปัจจัยในการดำรงอยู่ของมนุษย์ไว้อย่างครบถ้วน ครอบคลุมทุกอิริยาบทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อาทิ ด้านความเชื่อและอิบาดะฮฺซึ่งเป็นภาคความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้า ด้านมารยาท ศีลธรรมและจริยธรรม ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสถาบันครอบครัว ด้านงานสาธารณกุศล ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านบทบาทสตรี ด้านภารกิจของเยาวชน และอื่นๆ

         หากจะพิจารณาคร่าวๆ จากหลักการอิสลามทั้งห้าประการ ก็จะพบว่าอิสลามไม่ได้เน้นหรือให้ความสำคัญเฉพาะแค่ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อิสลามได้มุ่งหมายเพื่อสร้างความสมดุลให้กับมนุษย์ในด้านอื่นๆ ด้วย ท่านนบี ได้กล่าวถึงหลักการอิสลามทั้งห้านี้ไว้ว่า

«بُنِيَ الْإِسْلَامُ عَلَى خَمْسٍ، شَهَادَةِ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللهُ وَأَنَّ مُحَمَّدًا رَسُولُ اللهِ، وَإِقَامِ الصَّلَاةِ، وَإِيتَاءِ الزَّكَاةِ، وَالْحَجِّ، وَصَوْمِ رَمَضَانَ»

 “ศาสนาอิสลามนั้นถูกสถาปนาบนหลักห้าประการ นั่นคือ การปฏิญาณว่า

ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺและมุหัมมัดนั้นเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ

การดำรงไว้ซึ่งการละหมาด การจ่ายซะกาต การทำหัจญ์ และการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน”

 (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษที่ 8, และมุสลิม หมายเลข 122)

 

         โดยสรุปแล้ว หลักการอิสลามทั้งห้าประการนี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ในแต่ละด้านของศาสนาอิสลาม ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยและแตกแขนงเป็นบทบัญญัติในรูปแบบต่างๆ ออกไปอีกมากมาย กล่าวคือ

    -♥- หลักการอิสลามข้อที่หนึ่ง การปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺและมุหัมมัดนั้นเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ คือสัญลักษณ์ในด้านความเชื่อและการศรัทธา ซึ่งหมายรวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ด้วยเช่น การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ต่อคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ต่อมะลาอิกะฮฺ ต่อศาสนทูตทั้งหลาย ต่อวันกิยามะฮฺ และต่อกฎสภาวการณ์(เกาะฎออ์ เกาะดัรฺ)ของอัลลอฮฺ เป็นต้น


     -♥- หลักการอิสลามข้อที่สอง การละหมาด เป็นสัญลักษณ์ในด้านอิบาดะฮฺ เป็นภาคปฏิบัติในบริบทหน้าที่ของมนุษย์ต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะรวมถึงอิบาดะฮฺต่างๆ นอกเหนือไปจากการละหมาดด้วย เช่น การอ่านอัลกุรอาน การขอดุอาอ์ การซิกิรฺ และอื่นๆ


     -♥- หลักการอิสลามข้อที่สาม การจ่ายซะกาต เป็นสัญลักษณ์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีนัยรวมถึงระบบการจัดการทรัพย์สินในรูปแบบอื่นๆ ด้วย อาทิ การค้าขาย การกสิกรรม การจัดการมรดก การบริจาค การวะกัฟ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


     -♥- หลักการอิสลามข้อที่สี่ การทำหัจญ์ คือสัญลักษณ์ในแง่ของระบบประชาคมแห่งอิสลาม(อุมมะฮฺ อิสลามียะฮฺ) เป็นการใช้ชีวิตในรูปหมู่คณะและการร่วมสังคมเดียวกัน และจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการในด้านการเมืองการปกครองเป็นกลไกและเครื่องมือ ซึ่งในคำสอนอิสลามก็มีบทบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการต่างๆ เหล่านั้นไว้เพียบพร้อม เช่น กฎหมายอาญา การกำหนดบทลงโทษ การพิพากษา การบริหารชุมชน ฯลฯ


     -♥- หลักการอิสลามข้อที่ห้า การถือศีลอด คือสัญลักษณ์ในด้านการขัดเกลาจิตวิญญาณ การมุ่งเน้นสร้างจริยธรรมและทำนุบำรุงศีลธรรมของมนุษย์ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคมให้มีความเสถียรและมั่นคงอยู่เสมอ


ซะกาต เสาหลักต้นที่สามของศาสนาอิสลาม

          จากข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ซะกาตคือหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญของศาสนาอิสลาม เป็นรุก่นหนึ่งในจำนวนรุก่นอิสลามทั้งห้าประการ สถานะของซะกาตจึงไม่ได้น้อยไปกว่าสถานะของรุก่นข้ออื่นๆ เลย ประหนึ่งว่า หากไม่มีการจ่ายซะกาตรวมอยู่ในหลักการทั้งห้าประการนี้ อิสลามก็ไม่ใช่ศาสนาที่สมบูรณ์อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้เอง ท่านอบู บักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เคาะลีฟะฮฺคนแรกของอิสลามจึงได้ยืนกรานที่จะทำสงครามต่อสู้กับบรรดาผู้ที่ปฏิเสธการจ่ายซะกาต หลังจากการเสียชีวิตของท่านนบี

          นอกเหนือไปจากการกำหนดให้ซะกาตเป็นหนึ่งในหลักการอิสลามทั้งห้าประการ อิสลามยังได้สร้างกระบวนการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจ่ายซะกาตอย่างครบถ้วน ด้วยการกำหนดผลบุญ ความประเสริฐ และคุณค่าอันยิ่งใหญ่ ให้กับบรรดาผู้ที่ทำหน้าที่ในการจ่ายซะกาตได้อย่างเต็มความสามารถ

          โอ้ พี่น้องมุสลิมทั้งหลาย พระองค์อัลลอฮ์ ผู้ทรงปรีชาญาณ ผู้ทรงรอบรู้ ได้วางกฏเกณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ไว้อย่างมากมายต่อบทบัญญัติของซะกาต ดังนั้นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์  ได้วางบทบัญญัติไว้ ย่อมเป็นผลลัพท์ที่ดีงามต่อผู้เสียสละ ผู้ที่พร้อมที่ให้สังคมมุสลิมเกิดผลประโยชน์ และภาคผลที่จะเกิดแก่ผู้ให้และผู้รับ อีกทั้งยังความจำเริญที่มีต่อผู้ให้และผู้รับ เมื่อพวกเขาเป็นผู้ที่บริสุทธิใจต่ออัลลอฮ์ และปฏิบัติตามแนวทางอันดีงามของท่านนบี มุฮัมหมัด

          แท้จริงแล้วการเสียสละทรัพย์สินเพื่ออัลลอฮ์นั้น เป็นสัญลักษณ์ของอีหม่าน เป็นสัญลักษร์แห่งความสัจจริงต่อกฏเกณฑ์ต่างๆและเชื่อมั่นในสัญญาของอัลลอฮ์ และหวังในการตอบแทนเพื่อให้ตราชั่งของเขานั้นหนักอึ้งจากความดีงาม และเป็นสาเหตุแห่งชัยชนะและการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่จากผู้ทรงมั่งมีและเมตตาเสมอ

ดังที่พระองค์ ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

الَّذِينَ يُنْفِقُونَ أَمْوَالَهُمْ بِاللَّيْلِ وَالنَّهَارِ سِرًّا وَعَلَانِيَةً فَلَهُمْ أَجْرُهُمْ عِنْدَ رَبِّهِمْ وَلَا خَوْفٌ عَلَيْهِمْ وَلَا هُمْ يَحْزَنُونَ

"บรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขาทั้งในเวลากลางคืน และกลางวัน ทั้งโดยปกปิด และเปิดเผยนั้น

 พวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขา ณ พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และไม่มีความกลัวอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแก่พวกเขา และทั้งพวกเขาก็จะไม่เสียใจ"

[البقرة:274]

**หมายถึงบรรดาผู้บริจาคทานทั้งหลายจะไม่กลัวต่อการลงโทษ และจะไม่เสียใจจากสิ่งที่พวกเขาจะได้รับมันในวันแห่งการตอบแทน

          การจ่ายซะกาตนั้นคือสิ่งที่จะมาซักฟอกจิตใจของผู้จ่ายมันจากความผิดบาป ชำระล้างจิตใจของเขาจากความตระหนี่ถี่เหนียว จากมารยาทที่ไม่ดีงามทั้งหลาย และจะทำให้เขานั้นเป็นผู้ใจบุญศุลทาน ได้พำนักอยู่ในสรวงสวรรค์ใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ กี่มากน้อยแล้วบรรดาผู้ตระหนี่นั้นคือกลุ่มชนหนึ่งที่อัลลอฮ์ไม่ทรงโปรดให้พวกเขาได้ใกล้ชิดพระองค์ และกี่มากน้อยแล้วสำหรับคนที่เสียสละไปในหนทางของอัลลอฮ์ที่เขาได้รับการปกป้องจากพระองค์ จากความผิดบาป และจากภัยพิบัติทั้งหลาย

ดังที่อัลลอฮ์ตรัสไว้ความว่า

"(มุฮัมมัด) เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สมบัติของพวกเขาเป็นทาน เพื่อทำให้พวกเขาบริสุทธิ์ และล้างมลทินของพวกเขาด้วยส่วนตัวที่เป็นทานนั้น

และเจ้าจงขอพรให้แก่พวกเขาเถิด เพราะแท้จริงการขอพรของพวกเจ้านั้น ทำให้เกิดความสุขใจแก่พวกเขา"

 

          การแจกจ่ายซะกาต เป็นการซักฟอกทรัพย์สินให้บริสุทธิ์จากความตระหนี่ เป็นการรักษาทรัพย์สินมิให้สูญหายและลดน้อยลง ดังกล่าวนั้นยังถือว่าเป็นการเพิ่มพูนความจำเริญให้แก่ทรัพย์สิน และยังทำให้มีการงอกเงยขึ้นจากความจำเริญในการบริจาคสู่หนทางของอัลลอฮ์ ดังที่มีบันทึกในฮะดิษซ่อเฮียะห์จากท่านนบี กล่าวว่า

ما نقصت صدقة من مال"    "การซ่อดาเกาะห์บริจาคทานนั้นไ ม่ได้ทำให้ทรัพย์สินพร่องลงเลย"

และอีกรายหนึ่งท่านกล่าวว่า

" بل تزده "    "แต่ทว่ามันจะเพิ่มขึ้น"

อัลลอฮ์  ตรัสสำทับเอาไว้อีกว่า

"และอันใดที่พวกเจ้าบริจาคจากสิ่งใดก็ดีพระองค์จะทรงทดแทนมัน และพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ดีเลิศแห่งบรรดาผู้ประทานปัจจัยยังชีพ"

سبأ:39]

และในฮะดิษกุดซีย์ ท่านนบี ได้กล่าวว่า อัลลอฮ์ตรัสเอาไว้ว่า

أنفق يا بن آدم ينفق عليك"   "จงบริจาคเถิดโอ้ลูกหลานอาดัม และเจ้าก็จะได้รับการดูแล"

         พระองค์อัลลอฮ์ เป็นผู้ร่ำรวยยิ่ง สิ่งที่อยู่ ณ ที่พระองค์ไม่มีหมดสิ้น ผู้ทรงใจบุญ ผู้ทรงประทานความโปรดปราน และทรงตอบแทนแก่บ่าวที่กตัญญูด้วยกับมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์ และท่านนบี กล่าวว่า

" من أدى زكاة ماله فقد ذهب عنه شره "

"ผู้ใดที่จ่ายซะกาตจากทรัพย์สินของเขา แน่นอนความไม่ดีในตัวเขาได้ถูกชำระไป"

และท่านยังกล่าวไว้อีกว่า

حصنوا أموالكم بالزكاة، وداووا مرضاكم بالصدقة "

"พวกท่านจงรักษาทรัพย์ของพวกท่านด้วยกับการจ่ายซะกาต และรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยกับการบริจาคทาน"

 

 

 

 


http://khutabaa.com