การละหมาดตะรอวีหฺ
  จำนวนคนเข้าชม  10251

 

การละหมาดตะรอวีหฺ


อ.อาหมัด อัลฟารีตีย์


ความเป็นมาของละหมาดตะรอวีหฺ

 
عَنْ عَائِشَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهَا  قَالَتْ : أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ خَرَجَ مِنْ جَوْفِ اللَّيْلِ فَصَلَّى فِي الْمَسْجِدِ، فَصَلَّى رِجَالٌ بِصَلاَتِهِ، فَأَصْبَحَ النَّاسُ يَتَحَدَّثُونَ بِذَلِكَ فَاجْتَمَعَ أَكْثَرُ مِنْهُمْ، فَخَرَجَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي اللَّيْلَةِ الثَّانِيَةِ فَصَلَّوْا بِصَلاَتِهِ، فَأَصْبَحَ النَّاسُ يَذْكُرُونَ ذَلِكَ، فَكَثُرَ أَهْلُ الْمَسْجِدِ مِنَ اللَّيْلَةِ الثَّالِثَةِ، فَخَرَجَ فَصَلَّوْا بِصَلاَتِهِ، فَلَمَّا كَانَتِ اللَّيْلَةُ الرَّابِعَةُ عَجَزَ الْمَسْجِدُ عَنْ أَهْلِهِ، فَلَمْ يَخْرُجْ إِلَيْهِمْ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَطَفِقَ رِجَالٌ مِنْهُمْ يَقُولُونَ : الصَّلاةَ، فَلَمْ يَخْرُجْ إِلَيْهِمْ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، حَتَّى خَرَجَ لِصَلاَةِ الْفَجْرِ، فَلَمَّا قَضَى الْفَجْرَ أَقْبَلَ عَلَى النَّاسِ ثُمَّ تَشَهَّدَ، فَقَالَ : «أَمَّا بَعْدُ، فَإِنَّهُ لَمْ يَخْفَ عَلَيَّ شَأْنُكُمْ اللَّيْلَةَ، وَلَكِنِّيْ خَشِيْتُ أَنْ تُفْرَضَ عَلَيْكُمْ صَلاَةُ اللَّيْلِ فَتَعْجِزُوا عَنْهَا».  (مسلم رقم 1271)

 จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา เล่าว่า

          ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ออกไปยังมัสญิดในเวลาดึก(ของเดือนเราะมะฎอน)แล้วทำการละหมาด และได้มีผู้ชายบางคนละหมาดพร้อมท่าน เรื่องที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นที่โจษขานกันในหมู่ผู้คน จนกระทั่งมีคนมาละหมาดกับท่านรอซูลมากขึ้น

คืนที่สองท่านรอซูลได้ออกไปละหมาดอีก ได้มีผู้คนมาละหมาดกับท่านมากขึ้นอีก และพวกเขาก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ในเวลารุ่งขึ้น

เมื่อถึงคืนที่สามท่านรอซูลได้ออกไปละหมาดอีกและมีผู้คนมาละหมาดกับท่านเหมือนเดิม

พอถึงคืนที่สี่มัสญิดก็เต็มจนไม่สามารถจุผู้คนที่มีจำนวนเยอะได้ ท่านรอซูลไม่ได้ออกมาในคืนนี้ ผู้ชายบางคนจึงได้กล่าวว่า “อัศ-ศอลาฮฺ(มาละหมาดกันเถิด)” 

ท่านรอซูลยังคงไม่ได้ออกไปจนกระทั่งถึงรุ่งเช้า ท่านจึงออกไปละหมาดฟัจรฺ(ละหมาดศุบหฺ) เมื่อท่านละหมาดเสร็จ ท่านได้หันหน้าเข้าหาบรรดาผู้ที่ร่วมละหมาด ท่านกล่าวคำเริ่มต้นเพื่อให้โอวาท และได้ให้เทศนาว่า

“เอาล่ะ แท้จริงแล้ว เรื่องราวของพวกท่าน(การรวมตัวกันเพื่อละหมาด)เมื่อคืนนี้

ไม่ใช่สิ่งที่ปกปิดสำหรับฉันแต่อย่างใด(คือท่านรอซูลรู้เห็นการรวมตัวของเศาะหาบะฮฺ)

หากแต่ฉันกลัวว่า(ถ้าฉันออกมาละหมาดกับพวกท่านอีก)

การละหมาดในยามค่ำคืนจะถูกบัญญัติให้เป็นภารกิจบังคับแก่พวกท่าน แล้วพวกท่านก็จะอ่อนแรงที่จะปฏิบัติมัน”

  (รายงานโดย มุสลิม หมายเลข 1271)

บทเรียนจากหะดีษ

     1.      ส่งเสริมให้มีการละหมาดกิยามุลลัยลฺหรือละหมาดตะรอวีหฺในเดือนเราะมะฎอน เพราะในการละหมาดตะรอวีหฺมีความประเสริฐที่ยิ่งใหญ่มาก

     2.      ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในฐานะเป็นผู้นำของประชาชาติมุสลิม ท่านเองได้ประกอบการละหมาดตะรอวีหฺในเดือนเราะมะฎอน

     3.      ชี้ให้เห็นถึงความจริงจังของบรรดาเศาะหาบะฮฺ และความตั้งใจในการปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮฺตามท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

     4.      ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีความโอบอ้อมอารีต่อประชาชาติของท่าน

 


ความประเสริฐของการละหมาดตะรอวีหฺ

 
عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِيَ الله عَنهُ أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : «مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ». (البخاري رقم 36، مسلم رقم 1266)

 จากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าจากท่าน รอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า

“ผู้ใดที่ลุกขึ้น(เพื่อละหมาดและประกอบอิบาดะฮฺ)ในคืนของเดือนเราะมะฎอน ด้วยความศรัทธาและหวังในความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ

เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิดบาปที่ผ่านมาของเขา” 

(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 36 และมุสลิม หมายเลข 1266)

คำอธิบาย

            อะมัลที่ศาสนาอิสลามส่งเสริมให้บรรดามุสลิมกระทำในเดือนเราะมะฎอน คือ การละหมาดในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าเป็นการละหมาดตะรอวีหฺ และผลการตอบแทนในการปฏิบัตินั้นยิ่งใหญ่ไม่หย่อนไปกว่าการประกอบอิบาดะฮฺประเภทอื่นๆ ที่ใช้ให้ปฏิบัติในเดือนเราะมะฎอน เช่น การถือศีลอด เพราะต่างได้รับการสัญญาว่าจะได้รับการอภัยโทษในบาปที่กระทำมา 

         เฉกเช่นเดียวกับการตอบแทนที่ได้สัญญาแก่คนที่ปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮฺในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺในด้านการได้รับอภัยโทษ ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับความมั่นใจของเราต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ รวมทั้งความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติอะมัลดังกล่าวด้วย
          
          ส่วนหุก่มของการละหมาดตะรอวีหฺนั้น บรรดาอุละมาอ์ได้ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า เป็นสุนัตสำหรับชายและหญิง และใช้ให้ปฏิบัติทั้งในรูปแบบญะมาอะฮฺหรือในลักษณะต่างคนต่างทำ แต่การปฏิบัติในรูปแบบญะมาอะฮฺจะมีความประเสริฐมากกว่า


บทเรียนจากหะดีษ

     1.      กล่าวถึงความประเสริฐของเดือนเราะมะฎอนและอิบาดะฮฺกิยามุลลัยลฺในเดือนเราะมะฎอน

     2.      มีความยะกีน/มั่นใจต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ และความบริสุทธิ์ในการประกอบอิบาดะฮฺนั้นถือว่าเป็นเงื่อนไขหลักของการได้มาซึ่งการตอบแทนจากอัลลอฮฺ (หมายถึงอัลลอฮฺจะทรงพิจารณาถึงความบริสุทธิ์ใจในการประกอบอิบาดะฮฺของบ่าว)

     3.      ชี้ถึงเราะหฺมัตหรือความเมตตาของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์จะให้อภัยต่อบาปต่างๆ ที่ผ่านมาแก่ผู้ที่ดำรงละหมาดในค่ำคืนเดือนเราะมะฎอน