ให้รีบละศีลอดทันทีเมื่อถึงเวลา
อ.อาหมัด อัลฟารีตีย์
عَنْ سَهْلِ بْنِ سَعْدٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : «لاَ يَزَالُ النَّاسُ بِخَيْرٍ مَا عَجَّلُوا الْفِطْرَ». (البخاري رقم 1821، مسلم رقم 1838)
عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ عَنْ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : «لاَ يَزَالُ الدِّينُ ظَاهِرًا مَا عَجَّلَ النَّاسُ الْفِطْرَ، لأََنَّ الْيَهُودَ وَالنَّصَارَى يُؤَخِّرُونَ». (أبو داود رقم 2006، صحيح سنن أبي داود للألباني رقم2063: حسن)
จากท่าน สะหฺล์ อิบนุ สะอฺด์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
“ผู้คนทั้งหลายจะยังคงมีสุขภาพดี ตราบใดที่พวกเขารีบละศีลอดทันที(ที่ถึงเวลา)”
(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ เลขที่ 1821 และมุสลิม เลขที่ 1838)
และจากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ เล่าจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า
“ศาสนาจะยังคงเชิดเด่น ตราบใดที่ผู้คนยังรีบละศีลอดทันที(เมื่อถึงเวลา) เพราะพวกยิวและคริสต์จะชักช้า(ไม่รีบละศีลอดทันทีเมื่อถึงเวลา)”
(รายงานโดย อบู ดาวูด เลขที่ 2006 ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อบี ดาวูด ของอัล-อัลบานีย์ หมายเลข 2063 เป็นหะดีษหะสัน)
คำอธิบายหะดีษ
จากหะดีษข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ในเรื่องการให้รีบละศีลอดเป็นความประเสริฐในหลักคำสอนอิสลามที่ต่างจากหลักคำสอนของศาสนาอื่นๆ เช่น ยิวและคริสต์ และศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มุสลิมมีคุณลักษณะแตกต่างไปจากผู้ที่นับถือในศาสนาคริสต์และยิว
ซึ่งในรายงานของอบู ฮุร็อยเราะฮฺได้ระบุเพิ่มเติมว่า “เพราะว่าบรรดาชาวยิวและคริสต์นั้นจะล่าช้าในการละศีลอด”
ในรายงานอิบนุ หิบบาน และอัล-หากิมระบุว่า
“ประชาชาติของฉันจะคงอยู่บนสุนนะฮฺของฉัน ตราบใดพวกเขาไม่รอคอยการละศีลอดกระทั่งดวงดาวโผล่ออกมา”
อัล-มุฮัลลับ กล่าวว่า วิทยปัญญาดังกล่าวเพื่อมิให้การเพิ่มเวลากลางวันในเวลากลางคืน และให้ละศีลอดทันที ซึ่งเป็นการเพิ่มความอ่อมน้อมถ่อมตนแก่ผู้มีศีลอด ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มพลังในการประกอบอิบาดะฮฺ
(ฟัตหุลบารีย์ 4/194)
ในรายงานบทหนึ่งของอบู ฮุร็อยเราะฮฺ กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวถึงพระดำรัสของอัลลอฮฺว่า
“บ่าวของฉันที่รักฉันมากที่สุดก็คือผู้ที่ละศีลอดทันที(เมื่อถึงเวลา)”
อัต-ติรมีซีย์มีทัศนะว่า เป็นหะดีษหะสันเฆาะรีบ
อัฏ-ฏ็อยบีย์ กล่าวว่า เป็นการหวังว่าจะได้รับความกรุณาปรานีจากอัลลอฮฺ อันเนื่องมาจากการเจริญรอยตามสุนนะฮฺของท่านรอซูลและห่างไกลจากบิดอะฮฺ และเป็นการขัดแย้งกับชาวคัมภีร์
อัล-กอรีย์ กล่าวว่า ในหะดีษข้างต้นชี้ให้เห็นถึงความประเสริฐของประชาชาติของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม การเจริญรอยตามซุนนะฮฺ และเป็นการยืนยันว่าจะได้รับความกรุณาปรานีจากอัลลอฮฺ ตามที่พระองค์ได้ตรัสว่า
﴿قُلْ إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللهُ﴾ (آل عمران : 31 )
“จงกล่าวเถิดมุหัมมัด หากพวกท่านรักใคร่อัลลอฮฺอย่างแท้จริงแล้ว ดังนั้นพวกท่านก็จงตามฉัน แน่แท้อัลลอฮฺก็จะทรงรักพวกท่าน”
(อาล อิมรอน 31)
อัมร์ บิน มัยมูน อัล-เอาดีย์ กล่าวว่า แท้จริงบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบีนั้น จะละศีลอดทันที (เมื่อถึงเวลาละศีลอด) และเป็นผู้ที่ล่าช้าที่สุดในการรับประทานอาหารสะหูรฺ
(ตุหฺฟะตุล อะหฺวะซีย์ 3/386)
บทเรียนจากหะดีษ
1. ศาสนาอิสลามยังคงเป็นศาสนาที่สูงส่งและประสบชัยชนะเหนือศาสนาอื่น ด้วยความสัจธรรมและการยอมรับจากอัลลอฮฺอันเป็นศาสนาที่พระองค์ทรงโปรดปราน
2. อิสลามยังคงเป็นศาสนาแห่งสัจธรรม ตราบใดที่ผู้ที่นับถืออิสลามยังคงยึดมั่นในหลักคำสอนอิสลามอย่างมั่นคง ประการหนึ่งคือ ด้วยการรักษาเวลาในการละศีลอด (ละทันทีเมื่อถึงเวลา)
3. ฝึกฝนให้มุสลิมมีความเคยชินกับระเบียบและการตรงต่อเวลาในการประกอบอิบาดะฮฺ
4. อิสลามเอาใจใส่ต่อผู้ที่ถือศีลอดและส่งเสริมให้ประกอบอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ
5. ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะไม่พึงพอใจหากประชาชาติของท่านล่าช้าในการละศีลอด ฉะนั้นด้วยเหตุการล่าช้าในการละศีลอดจะนำไปสู่ความเสียหายต่อศาสนาได้
6. เพื่อให้เกิดความแตกต่างไปจากการดำเนินชีวิตของชาวยิวและคริสต์ โดยเฉพาะวิธีการละศีลอด ซึ่งหลักฐานจากหะดีษพบว่าพวกเขาจะล่าช้าในการละศีลอด
7. การละศีลอดทันทีเมื่อถึงเวลานั้นเป็นซุนนะฮฺของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
8. การละศีลอดทันทีจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ถือศีลอด