ส่งเสริมให้ทาน สะหูรฺ ในช่วงท้ายสุดของกลางคืน
  จำนวนคนเข้าชม  5163

ส่งเสริมให้ทาน สะหูรฺ ในช่วงท้ายสุดของกลางคืน


อ. อาหมัด  อัลฟารีตีย์

 
عَنْ أَنَسِ بنِ مَالِكٍ عَنْ زَيْدِ بْنِ ثَابِتٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُمَا قَالَ : تَسَحَّرْنَا مَعَ رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، ثُمَّ قُمْنَا إِلَى الصَّلاَةِ، قُلْتُ : كَمْ كَانَ قَدْرُ مَا بَيْنَهُمَا؟ قَالَ : خَمْسِينَ آيَةً. وفي رواية :  قَدْرُ خَمْسِينَ أَوْ سِتِّينَ يَعْنِي آيَةً. (البخاري رقم 541، مسلم رقم 1837)

 จากท่าน อะนัส เล่าจากท่าน ซัยดฺ อิบนุ ษาบิต เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา ได้กล่าวว่า

“พวกเราได้ทานสะหูรฺกับท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เสร็จแล้วก็ได้ลุกขึ้นไปละหมาด(ศุบหฺ)กับท่าน”

ฉัน(อะนัส)ถามว่า “ช่วงเวลาเท่าใดระหว่างทั้งสอง? (หมายถึงหลังจากที่ทานสะหูรฺเสร็จกับเวลาของการละหมาดศุบหฺ)”

ซัยดฺตอบว่า “ห้าสิบอายะฮฺ (หมายถึงช่วงเวลาระหว่างนั้นเท่ากับเวลาที่ใช้ในการอ่านอัลกุรอานประมาณห้าสิบอายะฮฺ)”

 

ในอีกรายงานหนึ่งมีว่า “ประมาณห้าสิบหรือหกสิบอายะฮฺ”

(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ เลขที่ 541 และมุสลิม เลขที่ 1837)


คำอธิบายหะดีษ

            บทเรียนจากหะดีษฺนี้คือ สุนัตให้ทานสะหูรฺอย่างล่าที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

           ♦ ในรายงานของ อัล-บุคอรีย์ ระบุว่า คำว่า “นานเพียงใดระหว่างการอะซานและอาหารสะหูรฺ” คือ การอ่านอัลกุรอานประมาณ 50 อายะฮฺ (อ่านอย่างปกติ) ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป

            ♦ อัล-มุฮัลลับ และคนอื่น ๆ กล่าวว่า ให้คำนวนเวลาอะมัลทางกายเหมือนกับการคิดของคนอาหรับ ซึ่งโดยปกติแล้วคนอาหรับจะคิดคำนวนเวลาตามการทำงานของเขาตาม เช่น พวกเขาจะกล่าวว่าใช้เวลาประมาณรีดนมแพะ หรือประมาณการเชือดอูฐ

            ♦ อิบนุ อะลีย์ หัมซะฮฺ กล่าวว่า ในหะดีษดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเวลาของบรรดาเศาะหาบะฮฺหมดไปในแต่ละวันกับการทำอะมัลอิบาดะฮฺจนเห็นดวงดาวบนท้องฟ้า


 
บทเรียนจากหะดีษ

1.      ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านจะรับประทานอาหารสะหูรฺในช่วงเวลาใกล้ๆ กับเวลาละหมาดศุบหฺ

2.      ส่งเสริมให้มีการรับประทานอาหารสะหูรฺรวมกันเป็นญะมาอะฮฺ (ทานเป็นกลุ่ม)

3.      ระยะห่างระหว่างเวลาสะหูรฺกับเวลาละหมาดศุบฮฺคือ ระยะเวลาการอ่านอัลกุรอานอย่างปกติประมาณ 50 อายะฮฺ