อิสรออ์เมียะอ์รอจ กับการละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  45572

อิสรออ์เมียะอ์รอจ กับการละหมาด

 

โดย อาจารย์มูฮำหมัด แสงเราะหมัด


         พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทุกท่าน ขอเราท่านทั้งหลายได้ยืนหยัดอย่างมั่นคงอยู่บนอุดมการณ์อันสำคัญของผู้ศรัทธา นั่นก็คือ มีการยำเกรงต่ออัลเลาะห์ มีตักวาอย่างแท้จริง แล้วก็เพิ่มปริมาณมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ความยำเกรงหรือการตักวานั้น เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุด สำหรับผู้ศรัทธา ที่จะแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง ได้ทุกอย่าง ทั้งปัญหาของโลกดุนยา แล้วก็ปัญหาแห่งโลกอาคิเราะห์

         ในช่วงนี้เราอยู่ในช่วงบรรยากาศที่องค์อัลเลาะห์ ได้ทรงเมตตากับเรา ให้เราอยู่ในช่วงเดือนสำคัญของอิสลามอีกเดือนหนึ่ง นั่นก็คือเดือนรอญับ เป็นหนึ่งจากเดือนต้องห้าม ซึ่งอัลเลาะห์ ได้ทรงให้เกียรติ บรรดาเดือนต้องห้าม ที่จะต้องให้ความเคารพ ต้องปฏิบัติในสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวพวกเรา วันนี้เป็นวันที่ดีวันศุกร์ เดือนรอญับ เมื่อก้าวเข้าสู่เดือนรอญับแล้ว นั่นก็แปลว่า ประตูแห่งรอมฎอนซึ่งในชีวิตของผู้ศรัทธาได้พยายามตั้งตารอคอย เตรียมมาพบกับเรา ดังนั้นผู้ศรัทธาที่ฉลาด จะต้องมีการเตรียมการ ที่จะต้อนรับเทศกาลที่อัลเลาะห์ นั้น ได้ทรงโปรยปรายคุณงามความดี มีการเตรียมกาย เตรียมใจทุกอย่างให้พร้อมสรรพ เพื่อที่จะได้รับสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ให้แก่ตัวของเราอย่างสูงสุด

         เดือนรอญับเป็นเดือนที่มีรายงานมาจากท่านศาสดามูฮำมัด ว่าท่านทำการถือศีลอด  เดือนต้องห้ามมีอยู่ ๔ เดือนด้วยกัน นั่นก็คือ ซุ้ลเกาะดะห์ ซุ้ลฮิจยะห์ มุฮัรรอม และรอญับ ๓ เดือนแรกอยู่ติดกันเลย มีเดือนรอญับนี้ ไม่ได้ติดต่อกับใคร ไปอยู่ตรงกลางเป็นเดือนที่ ๗ ของปฏิทินอิสลาม เพราะฉะนั้นแล้ว ทั้งหลายทั้งปวงตรงนี้ มันมีฮิกมะห์ ที่พระองค์อัลเลาะห์   ต้องการที่จะให้บรรดาผู้ศรัทธาได้หวนรำลึกนึกถึงคืนวันอันยิ่งใหญ่ ที่พระผู้เป็นเจ้าถือว่าเป็นเดือนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องของการต้องให้เกียรติที่จะไม่ทำความผิด ถึงขนาดที่ว่ามีการต่อสู้ มีการทำศึกสงครามกัน เมื่อถึงเดือนเหล่านี้ จำเป็นจะต้องยุติ เพื่อเป็นการให้เกียรติ


         ศรัทธาชนทั้งหลาย ต้องหยุดคิดและพิจารณา ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นว่าเรานั้น ได้กระทำการอันใดที่ละเมิดต่อบทบัญญัติของพระองค์อัลเลาะห์ มากน้อยเพียงไร หยุดคิด เพื่อที่จะได้แก้ไข ปรับปรุง ในสิ่งที่เกิดความบกพร่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีนักวิชาการบอกว่า เดือนรอญับเป็นเดือนแห่งการ تَطْهِيْرُ اْلبَدَنِ ชำระล้างร่างกาย ให้มีความสะอาดผ่องแผ้ว และเดือนชะอ์บานที่จะเกิดขึ้นตามมา เป็นเดือนแห่งการ تَطْهِيْرُ اْلقَلْبِ ชำระ ขัดเกลาหัวใจ ให้มีความสะอาดผ่องใส หลังจากชะอ์บานก็จะเกิดเดือนรอมฎอนตามมา ซึ่งเดือนรอมฎอนนั้น เป็นเดือนแห่ง تَطْهِيْرُ الرُّوْحِ การชำระ ขัดเกลาจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้น คนที่จะหัวใจสะอาดได้ ต้องผ่านการขัดเกลาในเรื่องของร่างกายมาเสียก่อน และเช่นกันจิตวิญญาณของมนุษย์ จะอยู่ในระดับที่เป็นที่พึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า ก็ต้องผ่านการขัดเกลาหัวจิตหัวใจมาก่อนด้วยเช่นกัน

          เพราะฉะนั้น จากคำกล่าวของนักวิชาการ ถ้าหากว่าเดือนรอญับ เรายังเพิกเฉย ยังเป็นเดือนธรรมดาที่ไม่ได้มีการกระตือรือร้น ในเรื่องของการชำระ ขัดเกลาร่างกายของเรา โอกาสที่เราจะไปขัดเกลาหัวใจในเดือนชะอ์บานก็เป็นเรื่องยาก และเมื่อ ๒ เดือนนี้ ไม่ได้มีการขยับเขยื้อน เมื่อถึงรอมฎอน เราจะทุ่มเททำอิบาดะห์ เพื่อที่จะยกระดับจิตวิญญาณของเรานั้น ยิ่งเป็นเรื่องยากไปใหญ่ อย่างที่เรียนตอนต้นว่า ต้องเตรียมการ เตรียมกาย เตรียมใจ เพราะฉะนั้นเตรียมกายเวลานี้คือทำให้สะอาดไม่ให้มีมลทินในเรื่องของบาป ด้วยการเตาบัตต่ออัลเลาะห์  อย่างจริงจัง เตาบัตอย่างชนิดที่ เราไม่หวนกลับไปกระทำในสิ่งที่เป็นความผิดพลาดนั้นอีก เพื่อทำให้ร่างกายสะอาดจริง ๆ และหลังจากนั้นก็ทุ่มเทในเรื่องของสิ่งที่เป็นฟัรดูให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อที่จะทำให้หัวใจเกาะเหนี่ยวยึดติดอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า จะทำให้หัวใจของเราได้รับการขัดเกลา เป็นหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว และในท้ายสุด เมื่อรอมฎอนมาถึง เป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับผู้ศรัทธาในการปฏิบัติศาสนกิจ การถือศีลอด จะเป็นการปฏิบัติได้อย่างมีคุณภาพ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะผ่านการเตรียมการมาเป็นอย่างดีล่วงหน้า เป็นเวลาถึง ๒ เดือน

          มีตัวบทจากฮะดีษของท่านนบีมูฮำมัด  ที่ท่านได้พูดถึงเกี่ยวกับการถือศีลอดในช่วงของเดือนต้องห้ามทั้งหลาย ท่านบอกว่า

صُمْ مِنَ اْلحُرُمِ وَاتْرُكْ 3 رَوَاهُ أَبُوْدَاوُدَ

“ท่านจงทำการถือศีลอดกันจากช่วงของเดือนต้องห้าม และจงละทิ้ง งดเว้นจากการถือศีล”

 

         ท่านนบี  พูดถึง ครั้ง เพื่อเป็นการบอกให้เรารู้ว่า เรื่องของการถือศีลอดในช่วงของ เดือนต้องห้ามทั้ง ๔ เป็นเรื่องที่ชอบด้วยตัวบท และเป็นเรื่องที่เป็นสุนัต ไม่ใช่ฟัรดู เพราะในขณะที่ท่านใช้ให้ทำการถือศีล ท่านก็บอกว่าให้ละทิ้งบ้าง ถือบ้าง ละทิ้งบ้าง แปลว่า ไม่ใช่เป็นวายิบ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบังคับใช้แบบเด็ดขาด


          ท่านพี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย และจาก ๔ เดือนนี้ นักวิชาการได้มาบอกกับเราอีกว่า เดือนที่ أَفْضَلُ จาก ๔ เดือน ที่ควรค่าแก่การถือศีลอดที่จะนำมาซึ่งภาคผลอันยิ่งใหญ่ อันดับหนึ่งก็คือ เดือนมุฮัรรอม สอง เดือนรอญับ สาม เดือนซุ้ลฮิจยะห์ และสี่ เดือนซุ้ลเกาะดะห์ เราอยู่ในเดือนรอญับ อยู่ในลำดับที่ ๒ ดังนั้นโอกาสตรงนี้ เราจะทำการถือศีลอดในช่วงของเดือนรอญับนี้ได้ ก็ไม่ควรจะละเลยซุนนะห์ทั้ง قَوْلِيَّةٌ และก็ فِعْلِيَّةٌ ของท่านนบี   ท่านนบี  ได้พูดสอนและในขณะเดียวกันท่านก็ปฏิบัติด้วย และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ในช่วงปลายเดือนรอญับ มีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของท่านนบีมูฮำมัด และเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของโลกที่เกิดขึ้น เพราะเป็นมัวะอ์ยิซาต เป็นการท้าทายความสามารถของมนุษย์และญิน โดยถ้วนหน้า

          นั่นก็คือเหตุการณ์ اَلْإِسْرَاءُ وَالْمِعْرَاجُ อิสรออ์เมียะอ์รอจเป็นเหตุการณ์ที่อัลเลาะห์ได้ทรงให้การ إِكْرَامٌ ให้เกียรติต่อท่านนบีมูฮำมัด อย่างสูงสุด อนุญาตให้ท่านนบี  ของเราได้เดินทางในยามค่ำคืนจากมัสยิดฮารอม ไปยังมัสยิดอักซอ ซึ่งมัสยิดฮารอมอยู่ที่มหานครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ส่วนมัสยิดอักซอ ซึ่งแปลว่า มัสยิดที่อยู่ไกลโพ้นสุด อยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม ประเทศปาเลสไตน์ ทั้งสองเมืองนี้มีระยะทางห่างกัน หลายพันกิโลเมตร แต่ว่าด้วยกับมัวะอ์ยิซาตในยุคนั้น ที่การคมนาคมไม่มีความเจริญ ท่านนบี สามารถที่จะเดินทางไปได้ในยามค่ำคืน เพียงแค่เสี้ยวคืนเท่านั้น และเดินทางไปเมียะอ์รอจ ขึ้นไปเข้าเฝ้าพระองค์อัลเลาะห์ คือเหตุการณ์ที่ท่านเดินทางจากมัสยิดอัลอักซอ ไปเข้าเฝ้าพระองค์อัลเลาะห์ ผ่านฟ้าทั้ง ชั้น ขึ้นไป ซึ่งการไปเข้าเฝ้าพระองค์อัลเลาะห์ ในครั้งนี้ท่านนบี  ได้รับโองการในเรื่องของการตราบัญญัติละหมาดฟัรดู เวลาลงมา เป็นกฏข้อบังคับ เป็นวาญิบที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด


         ท่านพี่น้องที่เคารพรัก ระยะทางจากมักกะห์ไปมัสยิดอักซอ มาถึงยุคของเรานี้ ไม่ใช่มัวะอ์ยิซาต มันเป็นเรื่องที่สามารถเดินทางกันได้ วันละ ๑๐ รอบก็ได้ ด้วยกับอุปกรณ์ยานพาหนะที่ทันสมัย แต่เหตุการณ์เมียะอ์รอจ ถึงวันนี้ ยังคงท้าทายความสามารถมนุษย์ ที่จะขึ้นไปสู่ชั้นฟ้าชั้นที่หนึ่ง ทะลุไปยังชั้นฟ้าชั้นที่เจ็ด แล้วก็เลยไปเข้าเฝ้าอัลเลาะห์ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่อัลเลาะห์ได้ทรงกล่าวถึงในพระมหาคัมภีร์ อัลกุรอาน และก็ได้ทรงให้เกียรติเหตุการณ์ครั้งนี้ ด้วยการตั้งชื่อเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นซูเราะห์หนึ่งของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน นั่นก็คือ سُوْرَةُ اْلإِسْرَاءِ ในตอนต้นของ سُوْرَةُ اْلإِسْرَاءِ ดังที่อัญเชิญไปตอนต้น ที่อัลเลาะห์  ได้กล่าว

 

“มหาบริสุทธิ์แห่งพระผู้ซึ่งที่ได้นำเอาบ่าวของเขาได้เดินทางในยามค่ำคืน จากมัสยิดฮารอมไปสู่มัสยิดอักซอ

มัสยิดอักซอซึ่งที่เราได้ให้ความศิริมงคลเกิดขึ้นรอบๆ มัน ทั้งนี้เพื่อที่เราจะได้ให้เขา(มูฮำมัด) ได้แลเห็นส่วนหนึ่งจากสัญลักษณ์ต่างๆ อันยิ่งใหญ่ของข้า

แน่แท้พระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน อีกทั้งทรงแลเห็นยิ่ง”

 

           เหตุการณ์อิสรออ์เมียะอ์รอจเกิดขึ้น เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อท่านนบี  ในขณะเดียวกันก็เป็นการปลอบประโลมใจที่ท่านนั้นได้เกิดความรู้สึกท้อแท้ ในงานที่ได้รับมอบหมาย ในการประกาศศาสนาของพระองค์อัลเลาะห์ ผู้คนรอบข้างทั้งในมักกะห์ รวมทั้งเมืองอื่น ๆ ที่ท่านพยายามจะแสวงหาสถานที่ที่จะนำเอาวะฮีย์ของอัลเลาะห์ไปประกาศ แต่บรรยากาศไม่เอื้ออำนวย ทุกคนตั้งตัวเป็นศัตรู ตั้งตัวเป็นฝ่ายตรงข้าม และในปีนั้นอีกเหมือนกัน ที่ท่านนบี ของเราได้เกิดความสูญเสียบุคคลที่เป็นที่รัก ถึงสองคน เพราะฉะนั้น ขวัญและกำลังใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสามัญชน เมื่อเกิดอุปสรรค มันก็เกิดความท้อแท้ รู้สึกค่อนข้างที่จะเดียวดาย ไม่มีผู้คนที่ให้ความช่วยเหลือ อัลเลาะห์ ต้องการที่จะประกาศ บอกแก่ท่านศาสดาของเรา รวมถึงบอกกับผู้ศรัทธาทุกคนว่า อย่าได้ท้อแท้ในงานของอัลเลาะห์ อย่าได้หมดหวังในอุปสรรคต่าง ๆ ที่มันขัดขวาง ถ้าเรามีความ มีความบริสุทธิ์ใจ มีความแน่วแน่ที่จะปฏิบัติในเรื่องของงานศาสนาแล้ว อัลเลาะห์เป็นผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ค้ำจุนอย่างแน่นอน


        จากอิสรออ์เมียะอ์รอจ ให้ข้อคิดอะไรต่าง ๆ กับเรามากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการละหมาดที่อัลเลาะห์ทรงประสงค์ให้ท่านนบี  ไปรับวะฮี สาส์นแห่งการละหมาด โดยตรงจากพระองค์อัลเลาะห์ เป็นการส่งสัญญาณบอกให้รู้ว่า เรื่องของการละหมาดเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดในชีวิตของผู้ศรัทธา ผู้ศรัทธาจะต้องละหมาด ผู้ศรัทธาจะต้องไม่ขาดละหมาด ผู้ศรัทธาจะต้องละหมาดตรงตามเวลา ไม่ใช่ละหมาดตามเวลา ตรงตามเวลา ไม่ใช่ปล่อยเวลาหมดก่อนแล้วก็ละหมาดตามทีหลัง นั่นคือตามละหมาดตามเวลา  มันมีค่ามีราคาที่เกินจะบรรยายได้

         ละหมาดเพียงแค่เวลาเดียวเท่านั้น สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราจากคนที่เป็นชาวสวรรค์ อาจจะเป็นชาวนรก ด้วยละหมาดหนึ่งเวลาอีกเหมือนกัน ที่จะหักเหชีวิตของคนบางคนที่เป็นชาวนรก กลับกลายสภาพเป็นชาวสวรรค์ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ในโอกาสแห่งเดือนรอญับที่ประเสริฐนี้ ก็ขอให้นำเอาเรื่องราวของเหตุการณ์ในเดือนนี้ เหตุการณ์อิสรออ์เมียะอ์รอจมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจกับพวกเรา ไปศึกษาหารายละเอียดว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีค่า ในการที่จะทำให้จุดประกายความคิดในเรื่องของการดำรงชีวิตในโลกดุนยา และส่งต่อผ่านไปถึงโลกอาคิเราะห์ ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

         ขอให้ท่านทั้งหลาย ได้หวนรำลึกคิดถึงเรื่องของความสำคัญการละหมาด ดังที่ได้ถูกตราบัญญัติจากเบื้องบน ไม่ใช่ถูกตราบัญญัติอยู่บนหน้าแผ่นดินเหมือนกับรูก่นอื่น ๆ เหมือนกับเรื่องของบัญญัติอื่น ๆ และก็วันนี้อีกเช่นกัน เป็นวันที่ทั่วโลกงดสูบบุหรี่ ก็อยากที่จะวิงวอนให้พวกเราได้ชำระร่างกายของเรานี้ให้สะอาด ควันบุหรี่มันไม่สะอาด มันเป็นควันพิษ เพราะฉะนั้นก็เราลองใช้วิจารญาณของเราพิจารณาดู ทำอย่างไรให้รอญับเป็นเดือนที่เราชำระร่างกายของเราอย่างครบวงจร ต่อไปถึงชะอ์บานเราจะชำระหัวใจของเรา และเมื่อถึงรอมฎอนเราก็จะขัดเกลาจิตวิญญาณสูงส่ง ให้ถึงระดับของอุดมคติ ในความต้องการ ในพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

 

 


คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ