ภัยจากการพูดปดขณะถือศีลอด
  จำนวนคนเข้าชม  6616

ภัยจากการพูดปดขณะถือศีลอด

อ. อาหมัด อัลฟารีตีย์

 
عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : «مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُّورِ وَالْعَمَلَ بِهِ فَلَيْسَ لِلهِ حَاجَةٌ فِي أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ». (البخاري رقم 1770)

 จากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ เล่าจากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า

“ผู้ใดที่ไม่ละทิ้งการพูดเท็จและยังปฏิบัติอยู่อีก(ในขณะที่ถือศีลอด)

ดังนั้น ไม่ใช่ความจำเป็นเลยสำหรับ อัลลอฮฺ ที่เขาผู้นั้นต้องละทิ้งอาหารการดื่มกินของเขา”


 (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ เลขที่ 1770)
 
 

คำอธิบายหะดีษ

            หะดีษนี้ให้หมายความว่า การถือศีลอดของเขาจะไม่มีความหมายหรือผลตอบแทนใดๆ จากอัลลอฮฺ ตราบใดที่เขาไม่ละทิ้งการพูดเท็จในขณะที่ถือศีลอด

          อิบนุ อัล-มุนีร กล่าวว่า คำว่า “อัลลอฮฺไม่ประสงค์ต่อการอดอาหารและการดื่มของเขา” คือ อัลลอฮฺไม่ทรงตอบรับการถือศีลอด

            อัล-บัยฎอวีย์ กล่าวว่า เนื่องจากการถือศีลอดนั้นไม่ใช่ความหิวและความกระหาย แต่ผลจากการถือศีลอดนั้นสามารถลดอารมณ์ใฝ่ต่ำและลดอารมณ์ชั่วร้ายได้ จนทำให้อารมณ์ดังกล่าวมีความสงบและมีความสุข (ดังนั้น เมื่อยังทำชั่วอยู่ขณะถือศีลอด ก็แสดงว่าการถือศีลอดนั้นไม่ได้ผลอะไรเลย)

            อิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์ กล่าวว่า  อาศัยหลักฐานจากคำกล่าวดังกล่าว จึงสรุปได้ว่าการกระทำอันชั่วร้ายทำให้(มีผลกระทบต่อ)ผลบุญของการถือศีลอด คือจะทำให้มันลดลง

            อิบนุ บัฏฏ็อล กล่าวว่า (หะดีษข้างต้น) มิใช่หมายความว่าสั่งให้เขาละทิ้งการถือศีลอด แต่ความหมายของหะดีษดังกล่าวเพื่อเตือนเขาไม่ให้พูดโกหก


บทเรียนจากหะดีษ

1.      ผู้ที่ถือศีลอดจะต้องละทิ้งคำพูดที่โกหกมดเท็จ

2.      ผู้ที่ยังคงพูดจาโกหกมดเท็จขณะที่เขากำลังถือศีลอดนั้น ในความหมายที่แท้จริงแล้ว เขามิใช่เป็นผู้ที่ถือศีลอด

3.      การถือศีลอดจะไม่มีความหมาย และจะไม่ได้รับผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ หากเขายังพูดโกหกมดเท็จอยู่

4.      การพูดโกหกและการประพฤติเช่นนั้นเป็นตัวบ่อนทำลายผลบุญของการถือศีลอด

5.      ส่งเสริมให้รักษามารยาทของการถือศีลอดเพื่อให้การถือศีลอดของเขาได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ