รักษามารยาทในการถือศีลอด
  จำนวนคนเข้าชม  6747

  

รักษามารยาทในการถือศีลอด


อ. อาหมัด  อัลฟารีตีย์

 
عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : «رُبَّ صَائِمٍ لَيْسَ لَهُ مِنْ صِيَامِهِ إِلاَّ الْجُوعُ، وَرُبَّ قَائِمٍ لَيْسَ لَهُ مِنْ قِيَامِهِ إِلاَّ السَّهَرُ». (ابن ماجه رقم1680، صحيح سنن ابن ماجه للألباني رقم1371: حسن صحيح)

จากท่าน อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ เล่าจากท่าน รอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า

“บ่อยครั้งที่ผู้ถือศีลอดไม่ได้รับผลตอบแทนจากการถือศีลอดของเขา นอกเสียจากความหิว(เพราะไม่รักษามารยาทในการถือศีลอด)

และบ่อยครั้งที่ผู้ยืน(ละหมาดในเวลากลางคืน)ไม่ได้รับผลตอบแทนจากการยืนละหมาดของเขานอกเสียจากการอดนอน”

(รายงานโดยอิบนุ มาญะฮฺ เลขที่ 1680 ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อิบนิ มาญะฮฺ ของ อัล-อัลบานีย์ เลขที่ 1371 เป็นหะดีษ หะสัน เศาะฮีหฺ)


คำอธิบายหะดีษ

            ถึงแม้ว่าการถือศีลอดและการละหมาดกลางคืนจะมีคุณค่าที่ประเสริฐอย่างใหญ่หลวงตามที่มีระบุในหลายหะดีษจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถบรรลุถึงความประเสริฐดังกล่าวได้ อันเนื่องจากว่าคุณค่าและความประเสริฐดังกล่าวนั้นมีเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติต้องมีไว้และต้องรักษาไว้เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่ออะมัลของเขา

ตัวอย่างเช่น ผู้ถือศีลอดที่อดข้าวอดน้ำ แต่ไม่ได้ละเลิกจากสิ่งต้องห้ามที่อัลลอฮฺทรงโกรธ อาทิ ไม่ได้ระวังรักษาลิ้นของเขาจากการพูดปดหรือด่าทอผู้อื่น หรือไม่ได้รักษาตาของเขาจากการดูสิ่งหะรอม หรือไม่ได้ดูแลหูของเขาจากการฟังสิ่งที่ผิดบาป นั่นก็แสดงว่าเขาไม่ได้รับอานิสงค์อะไรเลยจากการถือศีลอดของเขา

เช่นเดียวกับผู้ที่ละหมาดกลางคืน แต่ปฏิบัติไปด้วยความโอ้อวด หรือด้วยจุดประสงค์อื่นที่ไม่ใช่เพราะความศรัทธาและหวังความโปรดปราน เขาก็ย่อมไม่ได้รับผลดีใดๆ จากอะมัลนั้นของเขาเลย เป็นต้น

 

บทเรียนจากหะดีษ

1.      เตือนให้คนที่ถือศีลอดให้มีเจตนาที่บริสุทธิ์ ขณะเดียวกันให้รักษามารยาทของการถือศีลอดให้ดี

2.      ผู้ถือศีลอดที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ หรือถือศีลอดโดยไม่ได้รักษามารยาทของการถือศีลอดย่อมถือว่าการถือศีลอดของเขาสูญเปล่า

       3.      การถือศีลอดและการกิยามุลลัยลฺ (ละหมาดกลางคืน) บางครั้งได้รับผลตอบแทนและบางครั้งก็ไม่ได้รับผลตอบแทน ซึ่งขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ปฏิบัติและมารยาทต่างๆ ของเขา

4.      ใช้ให้มีความพยายาม เพื่อให้อะมัลที่ปฏิบัติทุกอย่างได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ