หลักการสำคัญและรากฐานบางประการของแนวทางอัซซะละฟีย์
  จำนวนคนเข้าชม  3846

หลักการสำคัญและรากฐานบางประการของแนวทางอัซซะละฟีย์


เขียนโดย อับดุลลอฮฺ อิบนุ อับดุรร่อฮีม อัลบุคอรีย์

อาจารย์ คณะอัลฮะดีษ ม.มะดีนะฮฺอันนะบะวียะฮ์

 

         ท่านเชค มุฮัมหมัด อิบนุ อมาน อิบนุ อลี อัลญามี (เสียชีวิตเมื่อปีฮ.ศ. ๑๔๑๖) اللهرحمه ได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านที่นับว่าเป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย ที่มีชื่อว่า “อั้ศศิฟ้าต อั้ลอิลาฮียะฮฺ” หน้าที่ 57 และหน้าถัดๆมาในบทที่ 5 ว่า

         “เมื่อเรากล่าวถึงคำว่า “อัซซะลัฟ”   ในแง่วิชาการ หมายถึง บรรดาศ่อฮาบะฮฺของท่านร่อซูลุลลอฮฺ صلى الله عليه وسلم ที่มีชีวิตอยู่ทันยุคสมัยของท่าน หรือที่รู้จักในนาม "ศอฮาบะฮ์" ซึ่งเป็นผู้ที่รับศาสนานี้มาจากท่านนบี  โดยตรง ทั้งในประเด็นหลัก และประเด็นปลีกย่อย นอกเหนือไปจากนั้นยังรวมไปถึงบรรดาตาบีอีน และตาบิตตาบิอีน ที่ทำหน้าที่สืบทอดความรู้ต่อจากบรรดาศอฮาบะฮ์ ซึ่งบุคคลที่ได้รับการรับรองและสรรเสริญจากท่านร่อซุ้ล صلى الله عليه وسلم ว่าเป็นผู้คนที่ดีที่สุด โดยท่านได้พูดไว้ว่า “ผู้คนที่ดีที่สุดคือยุคของฉันจากนั้นก็คือยุคถัดไปและหลังจากนั้นก็คือยุคถัดไป” "

         และเนื่องจากการที่รุ่นแรกของชาวซะลัฟเป็นบุคคลร่วมสมัยเดียวกันกับท่านรอซูล   จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า วิชาการและศาสนาที่ได้รับมาจะชัดเจนและบริสุทธิ์ขนาดไหน? และยิ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งที่พวกท่านได้ถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลังนั้นจะครบถ้วนและเที่ยงตรงหรือไม่? เพราะอย่าลืมว่าการที่คนๆนึงจะได้ไปเกิดอยู่ในช่วงยุคใดและทำหน้าที่อะไรนั้น จริงๆแล้วมันมาจากการคัดสรรและกำหนดของ อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลทั้งสิ้น

"เราไม่ได้บกพร่องในการกำหนดแม้แต่เพียงเรื่องเดียว"

( อั้ลอันอาม/๓๘ )

        ดังนั้นเมื่อทราบเช่นนี้ เราในฐานะชนรุ่นหลังจึงไม่มีหน้าที่ออกไปแสวงหาเส้นทางและวิธีการอะไรอื่นอีก ขอเพียงแค่พยามศึกษาหาความเข้าในและดำรงตนให้มั่นคงอยู่บนเส้นทางสายตรงที่ชาวซะลัฟได้พยามชี้แจงไว้ให้นี้ก็เพียงพอและสมบูรณ์แล้ว เพราะพวกท่านย่อมรู้จักศาสนานี้มากกว่าเรา และวิถีทางในการทำความเข้าใจศาสนาของพวกท่านย่อมรัดกุมและปลอดภัยกว่าวิทยาการจอมปลอมที่เข้ามาบทบังสายตาของพวกเราอยู่เป็นแน่

         ถ้าหากเราเข้าใจสิ่งที่ได้นำเสนอไปข้างต้นนี้ เราก็จะสามารถทราบได้ทันทีว่า จริงๆแล้วบุคคลที่มีความประสงค์และมุ่งมั่นจะดำเนินตนตามทางของชาวซะลัฟ หรือที่เรียกว่า อัซซะละฟียะฮฺ นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่พยามปรับแต่งแนวคิดและมุมมองของตนต่อเรื่องศาสนาไปตรงตามมุมมองและความเข้าใจของชาวซะลัฟนั้นเอง

         เหตุผลที่ต้องพยามชี้แจงให้พวกเราเขาใจกันอย่างกระจ่างชัด เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น คนทุกคนและกลุ่มทุกกลุ่มที่เข้ามาสู่เส้นทางสายงานศาสนา ล้วนอ้างตนว่าเป็นผู้ที่ดำรงตนตานเส้นทางของชาวซะลัฟ และเป็นฮะลิ้ซซุนนะฮฺวั้ลญะมาอะฮฺกันทั้งสิ้น ทั้งๆที่เจ้าตัวอาจยังไม่รู้จักเลยว่าซะลัฟคือใคร ? มีวิธีการในการทำความเข้าใจและดำเนินศาสนาอย่างไร ? หรือบางคนอาจถึงขั้นอุปโลคใส่ความ ยัดเยียดแนวคิดอันบูดเบี้ยวของตนให้กับบรรดาซะลัฟ แล้วออกไปอ้างกับผู้คนอย่างหน้าตาเฉยว่า “วิธีการทำความเข้าใจเรื่องศาสนาวิธีที่ฉันใช้อยู่นี้คือ วิถีแห่งซะลัฟ”

       จากประเด็นปัญหานี้เองจึงเป็นหน้าที่สำหรับเราทุกคนที่ต้องหันกลับมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่า คำว่า “อัซซะละฟียะฮฺ” คืออะไร ? และมีหลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้บ่งบอกถึงการเป็น อั้ซซะละฟียะฮฺ อะไรบ้าง ? ซึ่งจะชี้แจงให้ทราบกันต่อไปนี้

        อัซซะละฟียะฮฺ คือ ชื่อเรียกทฤษฎีหรือแนวทางในการทำความเข้าใจเรื่องศาสนาโดยอ้างอิงข้อมูล และแนวคิดมาจากชนชาวซะลัฟ หรือหากพูดในสำนวนที่ง่ายขึ้นก็จะสามารถกล่าวได้ว่า อัซซะละฟียะฮฺ คือ การยึดถืออัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺ ให้ตรงกับความเข้าใจของบรรดาซะลัฟ เข้าใจอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺตามที่ ซะลัฟเข้าใจ และรู้จักอิสลามในแบบที่ชาวซะลัฟรู้จักนั่นเอง

 

หลักเกณฑ์สำคัญ(บางประการ)ที่ใช้บ่งบอกถึงการเป็น “อั้ซซะละฟียะฮฺ”


♥ หลักการข้อที่หนึ่ง ทำให้หลักฐานจากกิตาบุ้ลลอฮฺและซุนนะฮฺมานำหน้าเหตุผลทางด้านสติปัญญา

          ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการที่บอกว่าให้นำหลักฐานจากกิตาบุ้ลลอฮฺและซุนนะฮฺมาวางไว้อยู่ข้างหน้าสติปัญญานั้น ไม่ได้หมายความว่าให้เราเข้าใจกันว่าบรรดาซะลัฟนั้นปฏิเสธการใช้สติปัญญาหรือปฏิเสธการเข้าถึงข้อมูลความรู้ด้วยสติปัญญา และปฏิเสธการใช้สติปัญญาในการพินิจใคร่ครวญสัญญาณต่างๆแห่งการสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน ตลอดจนสัญญาณที่ปรากฏอยู่ในจักวาลทั้งมวลด้วย (ไม่ใช่เช่นนั้น) หากแต่จริงๆ แล้วพวกท่านไม่ได้ใช้สติปัญญาไปตามวิถีทางที่บรรดานักตรรกวิทยาใช้กันต่างหาก

          โดยที่พวกเขาได้ยึดถือการใช้สติปัญญาเพียงอย่างเดียวเพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องของพระเจ้า... แต่ทว่าจริงๆแล้ววิถีทางของบรรดาซะลัฟ คือ การไม่สร้างข้อกล่าวอ้างที่ว่า หลักฐานทั้งสองชนิดนี้ได้เกิดการขัดแย้งต่อกัน ยิ่งไปกว่านั้นพวกท่านยังปฏิเสธข้อกล่าวอ้างดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งข้อกล่าวอ้างนี้เป็นข้อกล่าวอ้างที่พวกนักวิชาการทางด้านตรรกศาสตร์ได้กำหนดกันขึ้นมาเป็นทฤษฎีไว้ ซึ่งพวกเขาได้รับเอาความคิดนี้มาจากนักปรัชญาชาวกรีกอีกที

        การไม่นำสติปัญญามานำหน้าตัวบท ไม่คิดว่าตนจะรู้จักอิสลามดีกว่าอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับ ลักษณะของพระเจ้า โดยจะต้องเชื่อตามที่บอกและมั่นใจว่าสิ่งที่บอกคือความจริง ไม่สงสัย ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่เปรียบเทียบ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ดูถูกคุณค่าของปัญญาที่อัลลอฮฺให้มา หากแต่เพียงต้องรู้จักจัดสรร ใช้ให้ถูกที่ถูกเรื่องถูกเวลา เพราะอย่าลืมว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเป็นพระเจ้า หากแต่ถูกสร้างมาเพื่อเป็นทาสของพระผู้ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริงต่างหาก ดังนั้นอย่าให้ความรู้ที่เรามีมาหลอกเราได้ ทาสก็คือทาสต้องรู้จักฐานะของตัวเอง

          สรุปว่า สาเหตุที่บรรดาชาวซะลัฟนำหลักฐานจากกิตาบุ้ลลอฮฺและซุนนะฮฺมาไว้เหนือเหตุผลทางด้านสติปัญญา เป็นเพราะความศรัทธาว่าอัลลอฮฺ ทรงส่งบรรดาร่อซูลและประทานคัมภีร์จากพระองค์มา พร้อมกันนั้นยังสั่งบรรดาร่อซูลทำหน้าที่ชี้แจงและอธิบายในประเด็นต่างๆ ที่ต้องการความกระจ่าง(ในจุดที่เป็นเรื่องสำคัญ) ซึ่งย่อมหมายความว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ตลอดจนสิ่งที่บรรดาร่อซูลได้ชี้แจงไว้ย่อมเพียงพอแล้ว ไม่ต้องการสิ่งใดเข้ามาให้ความกระจ่างเพิ่มเติมอีก ผิดกับสิ่งอื่นๆหรือข้อมูลที่ได้มาจากที่อื่นๆที่ล้วนแล้วแต่ยังต้องการพึ่งพาหลักฐานจากอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งจุดนี้ถือได้ว่าเป็นคำตอบสำคัญของประเด็นนี้ ดังนั้นผู้คนที่อยู่ในยุคหลังจึงมีหน้าที่เพียงดำเนินตามบรรดาชาวซะลัฟเท่านั้น โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากพวกท่านมีความรู้มากกว่า และวิถีทางของพวกท่านย่อมปลอดถัยและรัดกุมมากกว่า

 

♥ หลักการข้อที่สอง ปฏิเสธต่อการตีความ

          ท่านเชคก็ได้กล่าวถึงชื่อเรียกและรูปแบบต่างๆของคำๆนี้ที่ถูกใช้กัน แล้วจึงกล่าวต่อไปว่า คำว่าการตีความในความหมายของนักตรรกวิทยา หมายถึง การใช้สติปัญญาเป็นหลัก จนถึงขั้นทำให้หลักฐานจากกิตาบุ้ลลอฮฺและซุนนะฮฺกลายเป็นเพียงตัวช่วย

          ดังนั้นถ้าหากมีประเด็นขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างหลักฐานทั้งสองชนิดนี้ -ตามคำกล่าวอ้างของพวกเขา- จะให้ทำการตีความความหมายของหลักฐานจากกิตาบุ้ลลอฮฺและซุนนะฮฺ จนกระทั่งสามารถให้ความหมายในเชิงที่สอดคล้องกันกับสติปัญญาได้ในที่สุด ซึ่งพวกเขาไม่ทราบ หรืออาจแกล้งทำเป็นไม่ทราบก็ได้ว่า จริงๆ แล้วหลักฐานทางด้านสติปัญญานั้น ถ้าหากมันกระจ่างชัดเจน ย่อมไม่ขัดแย้งกับหลักฐานจากกิตาบุ้ลลอฮฺและซุนนะฮฺที่ถูกต้องเป็นอันขาด ยกเว้นในกรณีที่หนึ่งในหลักฐานทั้งสองชนิดนี้อยู่ในสภาพที่ใช้เป็นหลักฐานไม่ได้ หรือไม่ก็หลักฐานทั้งสองชนิดที่กล่าวถึง ล้วนแล้วแต่อยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การใช้งานทั้งคู่ ซึ่งสำหรับบรรดาชาวซะลัฟแล้ว พวกท่านจะยึดถือเอาหลักฐานที่ได้มาจากกิตาบุลลอฮฺและจากซุนนะฮฺมาเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาดสำหรับในทุกๆกรณีและเชื่อมั่นว่าแค่เพียงหลักฐานที่ได้มาจากทั้งสองสิ่งนี้ ก็เป็นสิ่งที่ถือได้ว่าเพียงพอและสมบูรณ์แล้ว อีกทั้งยังไม่นำเอาเหตุผลและหลักฐานทางสติปัญญาเข้ามาคัดค้านและต่อต้านหลักฐานที่ได้มาจากกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺอีกด้วย

         การปฏิเสธการตีความและเปลี่ยนแปลงความหมายของอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺ ถ้าหากเรายอมรับในหลักเกณฑ์ข้อที่หนึ่งปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงความหมายนี้ก็จะหมดไป เพราะถ้าเราไม่เข้าใจความหมาย หน้าที่ของเราคือต้องทำความเข้าใจหาความรู้และคำอธิบายที่ถูกต้อง ที่ชาวซะลัฟและนักวิชาการที่ดำเนินตามแนวทางของซะลัฟได้ชีแจงไว้ ไม่ใช่บังอาจไปเปลี่ยนแปลงความหมายของอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺให้เป็นไปอย่างที่เราคิดอยากจะให้เป็นตามใจของเรา หรือตามอุดมการณ์หรือความรู้ที่เราภูมิใจกับมัน โปรดรู้ไว้ว่า “ความรู้ ถ้ามันขัดกับอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺที่ ชาวซะลัฟเขาเข้าใจกัน สิ่งที่เราเรียกมันว่าความรู้นั้นย่อมไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง”

 

♥ หลักการข้อที่สาม ไม่ทำการแบ่งแยกระหว่างกิตาบุ้ลลอฮฺและซุนนะฮฺ

          บรรดาชาวซะลัฟต่างเห็นว่า ซุนนะฮฺนั้นทำหน้าที่แจกแจง สร้างความกระจ่างและอธิบายอัลกุรอ่าน และยังถือกันว่าซุนนะฮฺคือคำอธิบายอัลกุรอ่านที่ดีที่สุด รองลงมาจากคำอธิบายของอัลกุรอ่านที่มาอธิบายอัลกุรอ่านด้วยกันเอง ยิ่งไปกว่านั้นอัลกุรอ่านบางอายะฮฺอาจไม่สามารถเข้าใจจุดมุ่งหมายโดยละเอียดของอายะฮฺได้ หากขาดซุนนะฮฺช่วยชี้แจง...ซึ่งได้เห็นแล้วว่าบรรดาชาวซะลัฟ ต่างให้ความสำคัญกับอัลกุรอ่านกันอย่างมาก ทั้งในแง่ของการอ่าน การท่องจำ การหยุดเพื่อหาความหมายและทำความเข้าใจ และพวกท่านยังนำบทบัญญัติของอัลกุรอ่านมาดำเนินการจริงอีกด้วย ทั้งยังได้ทำการวิเคราะห์กฏเกณฑ์ต่างๆ ออกมาจากตัวบทอัลกุรอ่านในมุมมองของเหตุผลและสติปัญญา และยังใช้ข้อมูลที่ได้ไปในการต่อยอดสู่การรู้จักข้อเท็จจริงแห่งโลกอันลี้ลับนี้อีกด้วย

         ไม่อ้างว่าอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺ(ที่ศ่อเฮี้ยฮฺ)นั้นขัดแย้งกันเอง เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ถ้าหากเราไม่มีความเข้าใจ หน้าที่ของเราก็คือต้องหาความรู้ ไม่ใช่อ้างกันตามความคิดเห็นและตัดสินกันโดยสติปัญญาอันจำกัด อัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺจะขัดแย้งกันเองได้อย่างไรในเมื่อเจ้าของ อัซซุนนะฮฺคือบุคคลที่อัลลอฮฺ ทรงส่งมาให้ทำหน้าที่อธิบายและชี้แจงคำพูดของพระองค์ในอัลกุรอ่าน หากแต่มนุษย์ส่วนมากนั้นไม่รู้

"แน่นอนเราได้ทำให้มีกำแพงขวางกั้นอยู่ที่เบื้องหน้าและเบื้องหลังพวกเขา และเราได้ปกคลุมพวกเขาพวกเขาจึงมองไม่เห็น"

( ยาซีน/๙ )

          ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ชี้ให้เห็นโดยชัดเจนว่าคำว่า อัซซะละฟียะฮฺนั้น ได้กลายเป็นคำที่ได้รับการนิยามความหมายเฉพาะที่เป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายไว้แล้ว ซึ่งคำๆ นี้ถูกใช้เรียกแทนเส้นทางของบรรพชนรุ่นแรกตลอดจนบุคคลที่ดำเนินรอยตามพวกท่าน ในการถ่ายทอดความรู้ วีถีทางในการทำความเข้าใจและตลอดจนธรรมชาติในการเชิญชวนสู่ความรู้นี้ ดังนั้นจึงไม่นับว่าความหมายของคำๆนี้นั้นถูกจำกัดไว้เพียงช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่ต้องทำความเข้าใจว่าจริงๆแล้วความหมายของคำๆนี้ ให้ความหมายที่สืบเนื่องต่อไปจนชั่วชีวิต และยังต้องจำกัดความหมายของคำว่า “กลุ่มชนผู้รอดพ้น” ไว้แต่เพียงกับบรรดานักวิชาการฮะดีษและซุนนะฮฺ ซึ่งพวกท่านเป็นบุคคลแห่งแนวทางสายนี้ เป็นกลุ่มชนที่จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปตราบจนถึงวันกิยามะฮฺ

สืบเนื่องมาจากคำพูดของท่านร่อซูลลุ้ลลอฮฺ صلى الله عليه وسلم ที่ว่า

“ชนกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉันจะยังคงได้รับการสนับสนุนให้ดำรงอยู่บนสัจธรรม

ซึ่งผู้ที่หักหลังและคัดค้านต่อพวกเขาจะไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนใดๆแก่พวกเขาได้เลย”

         มุ้ตตะฟะกุนอลัยฮฺ -จบประเด็นที่ต้องการอ้างอิงจากคำพูดของท่านเชค ขออัลลอฮฺทรงเมตตาต่อท่านและทรงให้ท่านได้พำนักอยู่ในสวรรค์อั้ลฟิรเดาซ์อันสูงส่งยิ่งด้วยเถิด-

 


แปลและเรียบเรียงโดย อาบีดีณ โยธาสมุทร