เมื่อต้องการดะอฺวะห์
โดย ซัยคฺ ศอลิหฺ บิน เฟาซาน อัลเฟาซาน
ภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ ถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่และสูงส่ง สนามแห่งการดะอฺวะห์เป็นสนามที่จะนำมาซึ่งผลบุญที่ยิ่งใหญ่ และยังเป็นภารกิจที่อัลลอฮฺ สั่งใช้แก่บรรดาศาสนาทูตของพระองค์ และบรรดาผู้ปฏิบัติตามพวกเขา ตราบถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ผู้ที่ดำเนินภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ เป็นมนุษย์ที่มีคำพูดที่ดีที่สุด
แต่เป็นที่น่าเสียใจที่บางคน ไม่เข้าใจแก่นแท้และเป้าหมายของการดะอฺวะห์อย่างแท้จริง จนกระทั่งมีบางคนมิได้มีเป้าหมายเพื่อเชิญชวนสู่อัลลอฮฺ แต่กลับมีเป้าหมายเพื่อเชิญชวนสู่สิ่งอื่น มีบางคนเรียกร้องสู่กลุ่มหรือแนวคิดที่เฉพาะเจาะจง และมีบางคนแอบอ้างภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาปัจจัยทางโลกและผลประโยชน์ส่วนตัว และยังมีบางคนแอบอ้างภารกิจแห่งการดะอฺวะห์เพื่อให้มีพรรคพวกและผู้คล้อยตาม
อะไรคือเป้าหมายของภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ที่แท้จริง ? และอะไรคือสิ่งที่เหล่าดาอีย์ (บรรดานักเผยแผ่ ) จะต้องคำนึงถึงเมื่อเขาต้องการดะอฺวะห์ ?
จงพิจารณาสิ่งต่อไปนี้ :
ภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ คือ การเรียกร้องเชิญชวนสู่ศาสนาของอัลลอฮฺ บทบัญญัติของพระองค์ และห้ามปรามในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ทั้งในเรื่องของอากีดะหฺ(หลักความเชื่อ) การปฏิบัติงานต่างๆ รวมถึงในเรื่องของอัคลาค(มารยาท) ด้วยเป้าหมายหลักของภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ คือ การนำมนุษย์ออกจากความมืดสู่แสงสว่าง นำเสนอและอธิบายสัจธรรมให้แก่มนุษยชาติ อัลลอฮฺ ทรงชื่นชมผู้ที่ดำเนินภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ ว่า
“พวกเจ้านั้นเป็นประชาชาติที่ดียิ่ง ซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นสำหรับมนุษยชาติ
โดยที่พวกเจ้าใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่มิชอบ และศรัทธาต่ออัลลอฮฺ”
(อาลิอิมรอน : 110)
การสั่งใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ และห้ามปราบมิให้ปฏิบัติสิ่งที่มิชอบ ถือเป็นส่วนหนึ่งจากการดะอฺวะห์สู่อัลลอฮฺ อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
“และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งกลุ่มชนหนึ่งที่จะเรียกร้องไปสู่ความดีงาม
และสั่งใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ และห้ามปรามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่มิชอบ และชนเหล่านี้แหละคือผู้ได้รับความสำเร็จ”
(อาลิอิมรอน : 104)
ภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ เป็นภารกิจหลักของบรรดาศาสนทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนทูตมูฮำหมัด ซึ่งเป็นศาสนทูตคนสุดท้าย
อัลลอฮฺตรัสความว่า
“จงกล่าวเถิด(มูฮำหมัด) นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮอย่างประจักษ์แจ้งทั้งตัวฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน
และมหาบริสุทธิ์แห่งอัลลอฮ ฉันมิได้อยู่ในหมู่ตั้งภาคี”
(ยูซูฟ : 108)
และอัลลอฮฺ เป็นผู้ที่เรียกร้อง เชิญชวนบ่วงบ่าวของพระองค์ สู่ความดีงาม ความสงบสุข และสวนสวรรค์ของพระองค์
“และอัลลอฮทรงเรียกร้องเชิญชวนไปสู่สถานที่แห่งศานติ และทรงชี้แนะ แนวทางที่ถูกต้องแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ไปสู่แนวทางที่เที่ยงธรรม”
(ยูนุส : 25)
และพระองค์ตรัสความว่า
“พระองค์ทรงเรียกร้องพวกท่านเพื่ออภัยโทษในความผิดของพวกท่านและทรงผ่อนผันพวกท่าน จนกระทั่งถึงวาระที่ถูกกำหนดไว้”
(อิบรอฮีม : 10)
และทรงตรัสความว่า
“อัลลอฮฺนั้นทรงเชิญชวนไปสู่สวนสวรรค์ และไปสู่การอภัยโทษ ด้วยอนุมัติของพระองค์”
(อัลบากอเราะหฺ : 221)
หมายความว่า อัลลอฮฺกำลังเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์สู่ศาสนาของพระองค์ และการเคารพภัคดีต่อพระองค์ เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้รับความสุขและความสันติภาพ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
เมื่อเราใคร่ครวญคำสั่งใช้และคำสั่งห้าม ที่มีอยู่ในอัลกุรอานแล้ว เราจะได้รับบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ คือ อัลลอฮฺ บรรดาศาสนทูตของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธานั้น กำลังเรียกร้องเชิญชวนไปสู่ความดีงามและความสันติภาพ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า และตรงกันข้าม ซัยตอน(มารร้าย) และพรรคพวกของมันนั้น กำลังเรียกร้องสู่ไฟนรก และความพินาศทั้งโลกนี้และโลกหน้า
อัลลอฮฺตรัสความว่า
“แท้จริง ชัยตอน(มารร้าย)นั้นเป็นศัตรูกับพวกเจ้า ดังนั้น พวกเจ้าจงถือว่ามันเป็นศัตรู
แท้จริงมันเรียกร้องพลพรรคของมัน เพื่อให้พวกมันเป็นสหายแห่งไฟนรกอันลุกโชติช่วง”
(ฟาฏิร : 6)
ท่านรอซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า
“จะมีบรรดาผู้ที่เรียกร้องเชิญชวน(ดาอีย์) สู่ไฟนรกญะฮันนัม และใครก็ตามที่เดินตามการเรียกร้องเชิญชวนของเขา
แน่แท้เสมือนว่าเขากำลังโยนตัวของเขาเองสู่มัน(ไฟนรกญะฮันนัม)”
(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์)
ดังนั้นจงระวังตัวเถิด จากดาอีย์(ผู้เชิญชวน)ประเภทดังกล่าว และขอให้มาร่วมกันกลับสู่สัจธรรม และการเรียกร้องเชิญชวนสู่อัลลอฮฺ ตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ในอัลกุรอาน และสิ่งที่ถูกอธิบายโดยท่านศาสนทูตมูฮำหมัด ในหะดีษของท่าน
ส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะที่นักดาอีย์พึ่งมีเมื่อต้องการดะอฺวะห์ คือ
1.นักดาอีย์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้
เมื่อนักดาอีย์ ต้องการที่จะดะอฺวะห์สู่อิสลาม เขาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอิสลาม เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลหนึ่งจะเรียกร้องเชิญชวนไปสู่สิ่งที่เขาไม่รู้
อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
“จงกล่าวเถิด(มูฮำหมัด) นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮอย่างประจักษ์แจ้ง”
(ยูซูฟ : 108)
ความหมายของคำว่า “ประจักษ์แจ้ง” ในที่นี้ คือ ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องสมบูรณ์ ในสิ่งที่เขากำลังเชิญชวน ท่านรอซูลุลลอฮฺเคยให้คำสั่งเสียแก่ท่านอาลี บิน อบีฏอลิบ ขณะที่ท่านอาลี กำลังจะถูกส่งตัวไปยัง ค็อยบัร ว่า
“ท่านจงเดินไปจนกว่าจะถึงที่ของพวกเขา หลังจากนั้นท่านจงเชิญชวนพวกเขาสู่อิสลาม
และจงอธิบายแก่พวกเขาถึงสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) เหนือพวกเขา ในสิ่งที่เป็นสิทธิของอัลลอฮฺเหนือพวกเขา"
(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์ )
ความหมาย คือ จงอธิบายแก่พวกเขาในเรื่องของอิสลาม ด้วยคำอธิบายที่ชัดเจนและประจักษ์ที่สุด เพราะบางครั้งอาจมีบางคนที่อยู่บนความหลงผิดแต่แอบอ้างว่าอยู่บนสัจธรรม ฉะนั้นจึงต้องมีความชัดเจนให้มากที่สุด
และภารกิจแห่งการดะอฺวะห์นี้ ย่อมไม่สมควรถูกปฏิบัติโดยคนโง่ ที่ไม่เข้าใจแก่นแท้ของสัจธรรม (ภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ จะต้องถูกปฏิบัติโดยผู้ที่มีความรู้และเข้าใจแก่นแท้ของสัจธรรม-ผู้แปล) เพราะเขาไม่สามารถชี้แจงและอธิบายในความหลงผิดพลาดของพวกเขาด้วยความชัดเจนและความประจักษ์แจ้ง
2. นักดาอีย์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดะอฺวะห์ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ
นักดาอีย์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดะอฺวะห์ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ และหวังในความพึงพอใจของพระองค์ และทำคุณประโยชน์ต่อผู้คน มิใช่เพื่อการโอ้อวด หวังการชื่นชมจากผู้คน ชื่อเสียง และความชื่นชอบจากผู้คน หากนักดาอีย์ปฏิบัติภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ด้วยจุดประสงค์ดังกล่าวแล้ว การเชิญชวนของเขาก็ไม่ถือว่าเป็นการเชิญชวนสู่อัลลอฮฺ และกำลังเชิญชวนไปสู่สิ่งอื่นที่นอกเหนือจากอัลลอฮฺ
อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
“ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮ”
(ยูซูฟ : 8)
เช่นเดียวกันภารกิจแห่งการดะอฺวะห์นั้น มิใช่เป็นภารกิจที่เรียกร้องเชิญชวนสู่กลุ่มหรือองค์กรเฉพาะ หรือนอกเหนือจากกรอบของท่านรอซูลุลลอฮฺ หรือผลประโยชน์ทางโลก
อัลลอฮฺตรัสความว่า
จงกล่าวเถิดมูฮำหมัด ”ฉันมิได้ขอค่าจ้างจากพวกท่านในการทำงานดะอฺวะห์”
(อัลฟุรกอน : 57)
3. นักดาอีย์ ต้องเริ่มต้นภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ ด้วยสิ่งที่จำเป็นที่สุดก่อน
สิ่งที่จำเป็นที่สุดในศาสนาอิสลาม คือ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับหลักศรัทธา (อากีดะห์) เพราะฉะนั้น นักดาอีย์ต้องเริ่มต้นภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ของเขา ด้วยการเผยแผ่และอธิบาย เกี่ยวกับหลักศรัทธาที่ถูกต้องเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะเผยแผ่ในเรื่องอื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท่านรอซูลุลลอฮฺ ได้สั่งเสียแก่ท่าน มุอาซ อิบนุ ญะบัล ก่อนที่จะส่งมุอาซ อิบนุ ญะบัล ไปยังเยเมน ท่านรอซูลุลลอฮฺกล่าวว่า
“แท้จริงท่านจะต้องพบกับกลุ่มชนหนึ่งจากชาวคัมภีร์ ดังนั้นท่านจงเรียกร้องพวกเขาให้ปฏิญาณตนว่า
" ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ และมูฮำหมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ "
หากพวกเขายอมจำนน จงบอกไปว่า แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงบัญญัติการละหมาดวันละ 5 เวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน
หากพวกเขายอมจำนน จงบอกไปว่า แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงบัญญัติการจ่ายซะกาต ที่มาจากบรรดาคนร่ำรวย และถูกแบ่งให้แก่บรรดาคนยากจนขัดสน”
(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์)
เช่นเดียวกันกับบรรดาศาสนทูตทั้งหลาย พวกเขาเหล่านั้น ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ การเรียกร้องสู่เตาฮีด (การให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ)
อัลลอฮฺตรัสความว่า
“และจงเคารพสักการะอัลลอฮฺเถิด และอย่าให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์”
(อันนิซาอฺ : 36)
ดังนั้นภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ ที่ไม่ได้เรียกร้องสู่เตาฮีดเป็นลำดับแรก ทั้งๆที่มนุษย์อยู่กับการตั้งภาคีในรูปแบบต่างๆนั้น ย่อมเป็นการกิจแห่งการดะอฺวะห์ ที่ตรงกันข้ามกับภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ของบรรดาศาสนทูตและจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
4. นักดาอีย์ ต้องพยายามปฏิบัติในความรู้ที่ตนเองมีอยู่ ก่อนที่จะนำความรู้ดังกล่าวไปเผยแผ่ให้แก่คนอื่น
อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
“พวกเจ้าใช้ให้ผู้คนให้กระทำความดี โดยที่พวกเจ้าลืมตัวเองกระนั้นหรือ ?
และทั้ง ๆ ที่พวกเจ้าอ่านคัมภีร์กันอยู่ แล้วพวกเจ้าไม่ใช้ปัญญากระนั้นหรือ ?”
(อัลบะกอเราะหฺ : 44)
และพระองค์ตรัสความว่า
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ทำไมพวกเจ้าจึงกล้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติเป็นสิ่งที่น่าเกลียดยิ่งที่อัลลอฮฺ การที่พวกเจ้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ ”
(อัศศ็อฟ : 2-3 )
5. นักดาอีย์ ต้องประดับประดาตนเองด้วยความอดทน
นักดาอีย์ ต้องมีความอดทนในการเผชิญหน้ากับบททดสอบต่างๆในภารกิจแห่งการดะอฺวะห์
อัลลอฮฺตรัสความว่า
“ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน
นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน ”
(อัลอัศร์ : 1-3)
และอัลลอฮฺตรัสความเกี่ยวกับคำตักเตือนของ ลุกมาน แก่ลูกของเขา ว่า
“โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และจงใช้กันให้กระทำความดี และจงห้ามปรามกันให้ละเว้นการทำความชั่ว และจงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า
แท้จริง นั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่น มั่นคง”
(ลุกมาน : 17)
6. นักดาอีย์ ต้องไม่สิ้นหวัง กับภารกิจแห่งการดะอฺวะห์
นักดาอีย์ ต้องไม่สิ้นหวังในการปฏิบัติภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ ต่อการเรียกร้อง เชิญชวนผู้คน แม้ว่าต้องใช้เวลานานก็ตาม
อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
“และจงรำลึกถึงขณะที่กลุ่มชนหนึ่ง ในหมู่พวกเขา กล่าวว่า
เพราะเหตุใดเล่าพวกท่านจึงตักเตือนกลุ่มชนที่อัลลอฮจะทรงเป็นผู้ทำลายพวกเขาหรือเป็นผู้ลงโทษพวกเขาอย่างรุนแรง?
พวกเขากล่าวว่า (การที่เราตักเตือนนั้น) เพื่อเป็นเหตุผล ต่อพระเจ้าของพวกเจ้า และเพื่อว่าพวกเขาจะได้ยำเกรง”
(อัลอะอฺรอฟ : 164)
การอดทนในภารกิจแห่งการดะอฺวะห์ จะทำให้ได้รับ 2 ประการ ต่อไปนี้ คือ
1. หากว่าได้รับการตอบรับ ก็จะเป็นทางนำที่ถูกต้องแก่มนุษย์อันเนื่องมาจากงานเผยแผ่ของเขา
2. หากว่าถูกปฏิเสธก็ถือว่า พ้นหน้าที่ความรับผิดชอบของนักดาอีย์ เพราะหน้าที่ของนักดาอีย์ คือ เผยแผ่เชิญชวนสู่สัจธรรม ส่วนทางนำและการเปิดใจนั้น เป็นของอัลลอฮฺ
นี่เป็นส่วนหนึ่งจากสิ่งที่นักดาอีย์รู้และทำความเข้าใจเมื่อต้องการดะอฺวะห์ ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภารกิจแห่งการดะอฺวะห์
แปลและเรียบเรียง มูฮำหมัดกามัล อัลฟัจรีย์