สัญญาณที่บ่งชี้ว่าหัวใจมีโรค
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
ทั้งนี้ หัวใจแบ่งออกได้สามประเภทคือ หัวใจบริสุทธิ์ (القَلبُ السَلِيم) หัวใจมืดบอด (القَلبُ المَيِّت) และ หัวใจมีโรค (القَلبُ المَرِيض)
ประเภทแรก: หัวใจบริสุทธิ์
ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
“วันที่ทรัพย์สมบัติและลูกหลานจะไม่อำนวยประโยชน์ได้เลย เว้นแต่ผู้มาหาอัลลอฮฺด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส”
(อัชชุอะรออ์: 88-89)
อิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวอธิบายว่า
“คือหัวใจที่ปลอดจากการตั้งภาคี (ชิริก) ความเคียดแค้นเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา ความตระหนี่ถี่เหนียว หยิ่งยโสโอหัง และความลุ่มหลงในดุนยาและอำนาจ เป็นหัวใจที่ปราศจากความปรารถนาที่ขัดกับคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ปราศจากอารมณ์ความต้องการที่สวนทางกับพระประสงค์ของพระองค์ และห่างไกลจากสิ่งที่มาบั่นทอนความผูกพันที่มีต่อพระองค์”
(บะดาอิอฺ อัต-ตัฟสีร เล่ม 3 หน้า 327)
ประเภทที่สอง: หัวใจมืดบอด
เป็นหัวใจที่ไร้ชีวิตชีวา ไม่รู้จักพระผู้อภิบาล ไม่ยอมศิโรราบภักดีต่อพระองค์ ไม่สนใจไตร่ตรองว่าสิ่งใดที่พระองค์ทรงพอพระทัย หัวใจประเภทนี้ลุ่มหลงอยู่ในวังวนของอารมณ์ใฝ่ต่ำและความสำเริงสำราญ แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะนำมาซึ่งความโกรธกริ้วและความไม่พอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าก็ตาม หัวใจที่มีลักษณะเช่นนี้คือหัวใจของผู้ปฏิเสธศรัทธานั่นเอง
อัลลอฮฺตรัสว่า
“และแน่นอนเราได้บังเกิดสำหรับญะฮันนัมซึ่งจำนวนมากมายจากญินและมนุษย์
โดยที่พวกเขามีหัวใจซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันทำความเข้าใจ พวกเขามีตาแต่พวกเขาไม่ใช่มันมอง พวกเขามีหูแต่พวกเขาไม่ใช้มันฟัง
ชนเหล่านี้แหละประหนึ่งปศุสัตว์ ใช่แต่เท่านั้น พวกเขาเป็นผู้หลงผิดยิ่งกว่า ชนเหล่านี้แหละ พวกเขาคือผู้ทีเผอเรอ”
(อัล-อะอฺรอฟ: 179)
ประเภทที่สาม: หัวใจมีชีวิตแต่ในขณะเดียวกันก็มีโรค
จึงมีความก้ำกึ่ง เอนไปทางโน้นทีทางนี้ทีไม่มีความมั่นคง ลักษณะเช่นนี้คือหัวใจของมุนาฟิกผู้กลับกลอก และผู้ที่เดินตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า ประเภทที่สาม: หัวใจมีชีวิตแต่ในขณะเดียวกันก็มีโรค จึงมีความก้ำกึ่ง เอนไปทางโน้นทีทางนี้ทีไม่มีความมั่นคง ลักษณะเช่นนี้คือหัวใจของมุนาฟิกผู้กลับกลอก และผู้ที่เดินตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ
อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า
“และเรามิได้ส่งเราะสูลและนบีคนใดก่อนหน้าเจ้า เว้นแต่ว่าเมื่อเขาหวังตั้งใจชัยฏอนก็จะเข้ามายุแหย่ให้หันเหออกจากความหวังตั้งใจของเขา
แต่อัลลอฮฺก็ทรงทำลายล้างสิ่งที่ชัยฏอนยุแหย่ แล้วอัลลอฮฺก็ทรงทำให้โองการทั้งหลายของพระองค์มั่นคง และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ทรงปรีชาญาณ
เพื่อพระองค์จะทรงทำให้สิ่งที่ชัยฏอนยุแหย่นั้น เป็นการทดสอบสำหรับบรรดาผู้ที่ในจิตใจของพวกเขามีโรค และจิตใจของพวกเขาแข็งกระด้าง
และแท้จริงบรรดาผู้อธรรมนั้นอยู่ในการแตกแยกที่ห่างไกล และเพื่อบรรดาผู้รู้จะตระหนักว่าอัลกุรอาน นั้นคือสัจธรรมจากพระเจ้าของเจ้า
เพื่อพวกเขาจะได้ศรัทธาต่อมัน (อัลกุรอาน) แล้วจิตใจของพวกเขาจะได้นอบน้อมต่อมัน (อัลกุรอาน)
และแท้จริงอัลลอฮฺทรงเป็นผู้ชี้แนะบรรดาผู้ศรัทธาสู่แนวทางอันเที่ยงตรง”
(อัล-หัจญฺ: 52-54)
ส่วนหนึ่งของสัญญาณที่บ่งชี้ว่าหัวใจมีโรคก็เช่น
1. การให้ความสำคัญกับโลกดุนยาเหนือความสุขอันจีรังในอาคิเราะฮฺ
อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“พวกท่านจงรีบเร่งปฏิบัติความดี ก่อนที่จะเกิดฟิตนะฮฺความวุ่นวายโกลาหลดั่งราตรีกาลอันมืดทมิฬ
กระทั่งว่าบางคนตื่นเช้ามาในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธา แต่เมื่อตกเย็นกลับกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาไปเสีย
หรือบางคนในตอนเย็นยังเป็นผู้ศรัทธา แต่เมื่อตื่นขึ้นมาอีกวันก็กลับกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา
ยอมขายศาสนาเพื่อแลกกับความสุขอันจอมปลอมเพียงน้อยนิดในโลกดุนยา”
(บันทึกโดย มุสลิม: 118)
2. ความตื่นตระหนกหวาดกลัว
อัลลอฮฺตรัสว่า
“เราจะโยนความกลัวเข้าไปในหัวใจของบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้น เนื่องจากการที่พวกเขาให้มีภาคีแก่อัลลอฮฺ
ซึ่งสิ่งที่พระองค์มิได้ทรงประทานหลักฐานใดๆมายืนยันในสิ่งนั้น”
(อาลอิมรอน: 151)
3. การรู้สึกว่าสิ่งชั่วร้ายต่างๆ เป็นเรื่องเล็ก และลุ่มหลงอยู่กับการฝ่าฝืน
อัลลอฮฺตรัสว่า
“และในหมู่มนุษย์นั้น มีผู้ที่คำพูดของเขาทำให้เจ้าพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้ และเขาจะอ้างอัลลอฮฺเป็นพยานซึ่งสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเขา และขณะเดียวกันก็เป็นผู้โต้เถียงที่ฉกาจฉกรรจ์ยิ่ง และเมื่อเขาให้หลังไปแล้ว เขาก็เพียรพยายามในแผ่นดินเพื่อก่อความเสียหายในนั้น และทำลายพืชผลและเผ่าพันธุ์ และอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงชอบการก่อความเสียหาย”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 204-205)
“ เจ้าเคยเห็นผู้ที่ยึดถือเอาอารมณ์ต่ำของเขาเป็นพระเจ้าของเขาบ้างไหม ? และอัลลอฮฺจะทรงให้เขาหลงทางด้วยการรอบรู้ (ของพระองค์) และทรงผนึกการฟังของเขาและหัวใจของเขา และทรงทำให้มีสิ่งบดบังดวงตาของเขา ดังนั้นผู้ใดเล่าจะชี้แนะแก่เขาหลังจากอัลลอฮฺ พวกเจ้ามิได้ใคร่ครวญกันดอกหรือ ? ”
(อัล-ญาษิยะฮฺ: 23)
4. มีความรู้สึกว่าหัวใจแข็งกระด้าง
ชาวสลัฟบางท่านกล่าวว่า การลงโทษของอัลลอฮฺอันหนักหน่วงที่สุดที่มีต่อบ่าวของพระองค์ในโลกนี้ คือการที่พระองค์ทรงทำให้หัวใจของเขาแข็งกระด้าง พระองค์ตรัสว่า
“ดังนั้นความวิบัติจงประสบแด่ผู้ที่หัวใจของพวกเขาแข็งกระด้างต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ชนเหล่านี้อยู่ในการหลงผิดอันชัดแจ้ง”
(อัซซุมัร: 22)
และพระองค์ตรัสว่า
“(แต่ถึงแม้จะได้เห็นสัญญาณเหล่านี้แล้วก็ตาม) หัวใจของสูเจ้าก็ยังกระด้างเป็นหินหรือยิ่งกว่าหินเสียอีก”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ: 74)
ซึ่งหนทางการเยียวยารักษาโรคเหล่านี้ (ข้าพเจ้าหมายถึงโรคที่คอยรุมเร้าหัวใจ) คือการเตาบัตกลับตัวอย่างบริสุทธิ์ใจ พร้อมยึดมั่นในแนวทางของกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺของท่านเราะสูล สองสิ่งนี้คือยารักษาโรคและแสงรัศมีนำทาง
อัลลอฮฺตะอาลาตรัสว่า
“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงตอบรับอัลลอฮฺและเราะสูลเถิด เมื่อเขาได้เชิญชวนพวกเจ้าสู่สิ่งที่ทำให้พวกเจ้ามีชีวิตชีวาขึ้น
และพึงรู้เถิดว่าแท้จริงอัลลอฮฺนั้นจะทรงกั้นระหว่างบุคคลกับหัวใจของเขา และแท้จริงยังพระองค์นั้นพวกเจ้าจะถูกนำกลับไปชุมนุม”
(อัล-อันฟาล: 24)
และพระองค์ตรัสว่า
“โอ้มนุษย์เอ๋ย แท้จริงข้อตักเตือน (อัลกุรอาน) จากพระเจ้าของพวกท่านได้มายังพวกท่านแล้ว
และมันเป็นการบำบัดสิ่งที่มีอยู่ในทรวงอก เป็นการชี้แนะทาง และเป็นความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา”
(ยูนุส: 57)
ทั้งนี้ หัวใจนั้นอยู่ในเงื้อมพระหัตถ์ของอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงพลิกทรงเปลี่ยนแปลงมันอย่างไรก็ได้ตามที่พระองค์ทรงประสงค์ ดังนั้น จึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องวิงวอนขอให้มีศรัทธาที่มั่นคงและยืนหยัดภักดีตลอดไป
มีรายงานจากท่านหญิงอุมมุสะละมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มักจะกล่าวดุอาอ์บทนี้เป็นประจำ
« اللهُمَّ مُقَلِّبَ القُلُوبِ ثَبِّتْ قَلْبِي عَلى دِيْنِكَ » [رواه أحمد برقم 26576]
“โอ้อัลลอฮฺผู้ทรงพลิกผันหัวใจ ขอพระองค์ทรงให้หัวใจของข้าพระองค์มั่นคงอยู่ในศาสนาของพระองค์ด้วยเถิด”
(บันทึกโดย อะหมัด: 26576)
แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา / Islamhouse