การลงโทษเชิงตักเตือนและสั่งสอน
มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
การลงโทษเชิงตักเตือนและสั่งสอน (อัต-ตะอฺซีร)
อัตตะอฺซีร หมายถึง การลงโทษต่อผู้ที่ฝ่าฝืนโดยไม่มีบทกำหนดอย่างแน่นอน ไม่มีการกำหนดโทษ ไม่ใช่การชดใช้ชีวิต (กิศอศ) และไม่ใช่การชดเชย (กัฟฟาเราะฮฺ)
1. การฝ่าฝืนที่ถูกกำหนดจำนวนของบทลงโทษ เช่นการผิดประเวณี การลักขโมย การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ลักษณะความผิดที่กล่าวมาไม่มีค่าชดเชยและไม่มีการตักเตือน
2. การฝ่าฝืนที่ต้องจ่ายค่าชดใช้แต่ไม่กำหนดบทลงโทษ เช่น การร่วมประเวณีขณะที่ครองเอี๊ยะรอมหรือในตอนกลางวันของเดือ
นเราะมะฎอน และการฆ่าโดยไม่ได้เจตนา
3. การฝ่าฝืนที่ไม่มีบทลงโทษและไม่มีการชดใช้ ดังนั้นลักษณะนี้การลงโทษคือการตักเตือนสั่งสอน
วิทยปัญญาที่มีบทบัญญัติให้มีการลงโทษแบบตักเตือน
อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดบทการลงโทษโดยระบุบทกำหนดอย่างแน่นอน ไม่มีการเพิ่ม ไม่มีการลดหย่อนจากอาชญากรรมที่ได้กระทำขึ้นซึ่งเพื่อเป็นมาตรฐานแก่ประชาชาติเป็นการปกปักษ์รักษาศาสนา เลือดเนื้อชีวิต ทรัพย์สินสมบัติ เกียรติยศศักดิ์ศรี และสติปัญญา
ด้วยเหตุดังกล่าวบทบัญญัติจึงได้กำหนดบทลงโทษเพื่อเป็นการห้ามปราม นับเป็นหัวใจสำคัญที่ประชาชาติไม่สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้นอกจากด้วยการรักษาความจำเป็นทั้งห้าด้านโดยการดำรงไว้ซึ่งบทลงโทษต่างๆ ที่อัลลอฮฺกำหนด
บทการลงโทษที่กล่าวมานี้มีเงื่อนไขและข้อปฏิบัติต่างๆบางกรณีมีเงื่อนไขไม่ครบถ้วน บทการลงโทษที่ถูกกำหนดก็จะเปลี่ยนไปเป็นบทลงโทษที่ไม่ถูกกำหนดตามการพิจารณาหรือตีความของผู้นำ (อิมาม) ซึ่งเรียกว่า การตักเตือนหรือสั่งสอน(อัตตะอฺซีร)
บทบัญญัติว่าด้วยการตักเตือนหรือสั่งสอน (อัตตะอฺซีร)
นับเป็นความจำเป็นต่อผู้ที่กระทำผิดที่ไม่ถึงขั้นได้รับบทลงโทษหรือต้องจ่ายชดใช้ ไม่ว่าการกระทำผิดนั้นเกิดจากการละเมิดข้อห้ามหรือละเลยต่อข้อบังคับ อาทิเช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (อิสติมตาอฺ)ซึ่งไม่มีการกำหนดโทษ การลักขโมยที่ไม่ถึงขั้นต้องตัดมือ การประทุษร้ายที่ไม่ถึงขั้นต้องชดใช้ด้วยชีวิต การมีสัมพันธ์สวาทระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง การใส่ร้ายผู้อื่นนอกจากการใส่ร้ายว่าด้วยกระทำผิดประเวณี ฯลฯ หรือการเมินเฉยต่อการทำหน้าที่ทั้งที่มีความสามารถ อาทิเช่น การชดใช้หนี้สิน การคืนของฝาก การคืนของที่ปล้นชิงเขามา การคืนสิ่งของที่อธรรมเขามา ฯลฯ และผู้ที่ได้ทำการฝ่าฝืนซึ่งไม่ถึงขั้นที่มีการกำหนดโทษต่อจากนั้นเขาได้สารภาพผิด เสียใจต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็ไม่จำเป็นต้องตักเตือนหรือสั่งสอน
ประเภทของการตักเตือนหรือสั่งสอน (อัตตะอฺซีร)
การตักเตือนหรือสั่งสอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. การตักเตือนที่เป็นการลงโทษและอบรมสั่งสอน เช่น พ่ออบรมสั่งสอนลูก สามีอบรมสั่งสอนภรรยา เจ้านายอบรมสั่งสอนคนรับใช้ในความผิดที่ไม่ได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติ กรณีเช่นนี้ไม่อนุญาตให้เฆี่ยนตีเกิน 10 ครั้ง เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“ท่านทั้งหลายอย่าได้เฆี่ยนตีเกินจำนวน 10 ครั้ง ยกเว้นในกรณีที่ลงโทษหนึ่งโทษใดจากบทลงโทษของอัลลอฮฺ”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ6850 สำนวนหะดีษเป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 1708)
2. การตักเตือนเนื่องจากการกระทำฝ่าฝืน ในกรณีนี้เป็นที่อนุญาตให้เพิ่มจำนวนการลงโทษ ตามที่ผู้ปกครองเห็นว่าสมควรและตามความจำเป็น โดยพิจารณาจากน้ำหนักการฝ่าฝืนมากหรือน้อยเพราะไม่มีบทลงโทษที่กำหนดตายตัว ส่วนกรณีที่การฝ่าฝืนมีการระบุจำนวนบทลงโทษไว้ เช่น การผิดประเวณี การลักขโมย เป็นต้น กรณีเช่นนี้ไม่ต้องมีการตักเตือนหรือสั่งสอน
ชนิดของการตักเตือนหรือสั่งสอน
การตักเตือนหรือสั่งสอนมีการลงโทษหลายรูปแบบ โดยเริ่มด้วยการตักเตือน ชี้แนะ คว่ำบาตร (ทอดทิ้ง) ตำหนิ ข่มขู่ คาดโทษ หรือถอดถอนจากตำแหน่ง และลงท้ายด้วยโทษสถานหนัก เช่น กักขัง เฆี่ยนตี และบางทีถึงขั้นต้องฆ่าเพื่อเป็นการสั่งสอนเมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์โดยภาพรวม เช่น การฆ่าสายลับ ผู้ทำบิดอะฮฺ และผู้ที่ก่อความผิดร้ายแรง หรือบางครั้งการสั่งสอนโดยการประจาน ปรับเงิน หรือเนรเทศ
การลงโทษแบบสั่งสอน
การลงโทษแบบสั่งสอนนั้นไม่ถูกระบุตายตัว สำหรับผู้ปกครอง (หากิม)มีสิทธิเลือกการลงโทษที่เห็นว่าเหมาะกับผู้กระทำความผิดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยมีเงื่อนไขว่าไม่ได้ออกไปจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงใช้หรือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม โดยดังกล่าวจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานที่ วันเวลา บุคคล ความผิด และสภาพการณ์
การไถ่โทษ (กัฟฟาเราะฮฺ)ของคนที่จูบผู้หญิงอื่นที่ไม่อนุญาตแก่เขาและเขาได้เสียใจ
จากอิบนิมัสอูด กล่าวว่า แท้จริงชายคนหนึ่งได้จูบผู้หญิงคนหนึ่งและเขามาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม และได้บอกเรื่องราวกับท่าน ดังนั้นอัลลอฮฺได้ประทานอัลกุรอานลงมาความว่า
“และเจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาดตามปลายช่วงทั้งสองของกลางวันและยามต้นจากกลางคืน
แท้จริงความดีทั้งหลายย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลาย นั่นคือข้อเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก”
(ฮูด :114)
ชายคนนั้นก็กล่าวว่า : โอ้ท่านรอสูลุลลอฮฺ ดังกล่าวหมายรวมถึงฉันด้วยใช่ไหม?
ท่านตอบว่า “หมายรวมถึงทุกคนที่เป็นประชาชาติของฉัน”
(บันทึกโดยอัลบุคอรียฺ หมายเลขหะดีษ 526 สำนวนหะดีษเป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลขหะดีษ 2763)
แปลโดย ยูซุฟ อบูบักรฺ / Islamhouse