ซะกาต ฐานการจัดระบบเศรษฐกิจอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  9218

ซะกาต ฐานการจัดระบบเศรษฐกิจอิสลาม


 โดย  ดร.วิสุทธิ์  บิลล่าเต๊ะ


        การจัดระบบซะกาตนับเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจบนฐานคิดของจักรวาลทัศน์อิสลามอย่างแท้จริง ระบบเศรษฐกิจเป็นภาคปฏิบัติการที่จำเป็นสำหรับการดำรงอัตลักษณ์หนึ่ง ๆ เพราะการดำรงอยู่ของมนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงการบริโภคทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของมนุษย์จึงผูกพันอยู่กับการบริโภคทรัพยากรอย่างแยกกันไม่ออก

          โดยฟิตรอฮ์แล้วมนุษย์มีความต้องการทางกายภาพ จึงต้อนดิ้นรนแสวงหาความต้องการทางกายภาพนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากครอบครอง จึงต้องมีการเก็บกักทรัพยากรบางส่วนไว้เป็นส่วนตัว แต่ขณะเดียวกันมนุษย์ก็มีจิตวิญญาณที่ต้องการความดีงาม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสงบสันติด้วย นี่เป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่คู่กับมนุษย์ตลอดมา และวัฒนธรรมนี้ แท้จริงแล้วไม่สามารถแยกออกจากจักรวาลทัศน์และวิธีคิดในการมองโลกและชีวิตของคนเราได้เลย หากแต่ระบบเศรษฐกิจก็คือภาพสะท้อนของระบบสังคมและการเมือง สังคมจะยึดถือหรือจัดระบบเศรษฐกิจแบบใดขึ้นอยู่กับจักรวาลทัศน์ในการมองโลกและชีวิตของผู้คนในสังคมนั้นนั่นเอง

 

ระบบทุนนิยม

คามาล (Kamal. 1990 : 6) กล่าวว่า

         ระบบทุนนิยมตั้งอยู่บนพื้นฐานปรัชญาแห่งเสรีภาพ เนื้อแท้แล้วระบบนี้คือ การปฏิวัติระบบเศรษฐกิจแบบศักดินาและปฏิวัติการเอาเปรียบของศาสนจักร โดยรับอิทธิพลความคิดมาจากสังคมมุสลิมในเอนดาลูเซีย (Endalusia) แต่ก็นำไปปรับใช้บนฐานคิดแบบคริสต์ศาสนาที่กำหนดว่า สิ่งที่เป็นของพระเจ้า ก็ปล่อยให้พระเจ้าไป สิ่งใดที่เป็นของกษัตริย์ ก็ต้องมอบแก่กษัตริย์ไป ด้วยเหตุนี้ ปัจเจกจึงเปรียบเหมือนพระเจ้าในที่ดินของตนเอง สามารถตรากฎระเบียบของตัวเอง กำหนดระบบศีลธรรมและคุณค่าของตัวเองได้ตามแต่ผลประโยชน์ที่แลเห็น ศาสนาจึงต้องไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการทางโลก

แนวคิดนี้ปรากฏในสำนักคิดธรรมชาตินิยม (Phisiocrates) ซึ่งเรียกร้องไปสู่เสรีภาพทางเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินั้น มีระบบธรรมชาติควบคุมอยู่อย่างถาวร ระบบดังกล่าว จะรวนเรไปหากมีการแทรกแซงเกิดขึ้น (โดยระบบธรรมชาติ) หากปัจเจกสามารถสร้างผลประโยชน์แก่ตนเองได้ ผลประโยชน์นั้นก็จะเป็นของทุกคนด้วย คำขวัญที่สำนักคิดนี้ชูเชิดขึ้นจึงมีว่า ปล่อยเขาให้ทำงานไป ปล่อยเขาให้ก้าวต่อไป (Laissez Faire,Laissez Passer) หลังจากนั้นในตอนต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม

        อาดัม สมิธ (Adam Smith) ซึ่งได้เข้าร่วมในการสัมมนาของกลุ่มนักคิดธรรมชาตินิยมด้วย ก็ได้วางหลักการของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมขึ้นบนพื้นฐานของเสรีภาพและการแข่งขัน

 

รบบคอมมิวนิสต์

คามาล (Kamal. 1990 : 7) ยังกล่าวถึงระบบคอมมิวนิสต์ไว้ว่า

         สำหรับระบบเศรษฐกิจในสังคมคอมมิวนิสต์นั้นตั้งอยู่บนฐานการปฏิเสธพระเจ้า และถือว่าวัตถุคือ ต้นกำเนิดของจักรวาล นักคิดในสายนี้สร้างทฤษฎีวิภาษวิธีขึ้น เพื่ออธิบายความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในจักรวาล ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ดำเนินไปบนความขัดแย้งตรงข้าม ในโลกไม่มีอะไรอื่นนอกจากวัตถุที่ต่อสู้กัน แนวคิดเช่นนี้เองที่เป็นฐานในการจัดระบบโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และจริยธรรม

มีการอธิบายประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในรูปของความขัดแย้งทางชนชั้น ซึ่งสิ้นสุดลงที่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนกับกรรมกร ระบบนี้เห็นว่ามูลเหตุของความขัดแย้งระหว่างมนุษย์คือ การถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง หนทางแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าว และการสถาปนาความสงบเรียบร้อยในสังคมคือ ต้องให้ทุกคนมีกรรมสิทธิ์ถือครองทรัพย์สินร่วมกัน โดยชนชั้นแรงงานต้องควบคุมการผลิตและยึดทรัพย์สินต่าง ๆเป็นของรัฐ

 

         จะเห็นว่าทั้งระบบทุนนิยมและคอมมิวนิสต์นั้นจริง ๆ แล้วก็คือภาคปฏิบัติการส่วนหนึ่งของจักรวาลทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้โค่นล้มจักรวาลทัศน์แบบคิรสต์ศาสนาลงได้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16-18 แม้จะดูว่าขัดแย้ง แต่ระบบเศรษฐกิจทั้งสองก็ก่อกำเนิดมาจากรากเดียวกันคือ รากของจักรวาลทัศน์ซึ่งปฏิเสธศาสนาและพระเจ้า เป็นรากของความเชื่อมั่นต่อโลกทางวัตถุท่านั้น ปฏิบัติการในภาคเศรษฐกิจน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่สุด ที่ทำให้จักรวาลทัศน์นี้ดำรงสืบเนื่องมายาวนานและยังสามารถแผ่ขยาย ครอบงำ เบียดขับ และสลายจักวาลทัศน์อื่นๆ ลงได้แทบจะราบคาบ

        เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่าคุณธรรมจริยธรรมต่าง ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ใดก็แล้วแต่ หากชาติพันธุ์นั้นไม่สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเพื่อเลี้ยงตนเอง และเป็นระบบที่จะช่วยผลิตซ้ำคุณค่าทางจริยธรรมของตนได้แล้วไซร้ อัตลักษณ์ดังกล่าวก็จะถูกเบียดแทรกและแทนที่โดยระบบทุนนิยมได้อย่างง่ายดาย เพราะทุนนิยมสร้างปฏิสัมพันธ์กับอารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์เป็นด้านหลัก

          ทุนนิยมสามารถกระตุ้นและสนองตอบความต้องการทางตันหา อารมณ์ได้อย่างล้ำลึก จนเบียดขับพื้นที่ทางปัญญาของมนุษย์ไปอยู่ชายขอบได้ แล้วปล่อยให้อารมณ์ กิเลส ตัณหา เป็นตัวนำในการสร้างความหมายและคุณค่าแก่ชีวิตแทน ชีวิตที่มีหางเสือเป็นอารมณ์ ความรู้สึก ไม่ใช่เหตุผลและปัญญา เป็นชีวิตที่อ่อนแอดุจต้นไม้ที่ไร้รากแก้ว และยังบ่อนเซาะศักยภาพของฟิตรอฮ์ที่มีอยู่ในตนเองอีกด้วย

 

ระบบอิสลาม

         จักรวาลทัศน์อิสลามจึงมีระบบเศรษฐกิจของตนเอง และเป็นระบบที่ช่วยผลิตซ้ำคุณค่าซึ่งอิสลามกำหนดให้เป็นหน้าที่ของมุสลิมในการปกปักรักษา ดังที่คามาล (Kamal. 1990 : 7) กล่าวไว้ว่า

         เป็นระบบที่เกิดจากความศรัทธามั่นต่ออัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้าและปรโลก อัลลอฮ์ผู้ทรงสอนว่ามนุษย์ต้องรับผิดชอบต่ออายุขัยที่พระองค์ทรงประทานมาให้ ว่าเขาใช้มันหมดไปอย่างไร รับผิดชอบต่อทรัพย์สินว่าได้มาจากไหน และใช้จ่ายไปในทิศทางใด ด้วยเหตุนี้คนเราจึงมีในการครอบครองและใช้จ่ายทรัพย์สิน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีที่มาอันสะอาดสุจริต ไม่ใช่การเอารัดเอาเปรียบ และการฉ้อโกง ความเชื่อมั่นว่าปรโลกคือโลกแห่งการตอบแทนอันแท้จริง ช่วยปลดเปลื้อง บั่นทอนความเห็นแก่ตัวให้ลดลง และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อ่อนแอมากขึ้น จักรวาลทัศน์เช่นนี้เองที่กำหนดระบบซะกาตขึ้น เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยปลดปล่อยคนเราจากความอัปยศของความยากจน


โดยนัยนี้ ชุมชนมุสลิม หากไม่มีการจัดระบบซะกาต ย่อมง่ายต่อการตกเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยม อันหมายถึงการล่มสลายของชุมชนมุสลิมนั่นเอง

 

 

 

สำนักจุฬาราชมนตรี