เราจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างไร ?
ที่จริงแล้วแนวทางในการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มีมากมาย ซึ่งมุสลิมสามารถเลือกปฏิบัติตามแนวทางใดก็ได้ที่เห็นว่าเหมาะสมและเกิดประโยชน์ที่สุดสำหรับตน ส่วนหนึ่งของแนวทาง (ที่มุสลิมสามารถเลือกปฏิบัติ) มีดังนี้
- ท่องจำและศึกษาคัมภีร์อัลกุรฺอาน
การท่องจำและศึกษาอัลกุรอานเป็นการใช้เวลาที่ประเสริฐที่สุดของมุสลิม เพราะท่านนบี ได้ส่งเสริมให้ศึกษาอัลกุรฺอาน ท่านได้กล่าวไว้ว่า
«خَيْرُكُمْ مَنْ تَعَلَّمَ الْقُرْآنَ وَعَلَّمَهُ»
“ผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเจ้าคือ ผู้ที่ศึกษาและสอนอัลกุรฺอาน”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 5027)
- แสวงหาความรู้
บรรดาบรรพชนสะลัฟ อัศศอลิหฺในอดีต จะมีความพากเพียรอย่างมากในการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ด้วยการแสวงหาและเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ เพราะพวกเขาทราบดีว่าความรู้มีความจำเป็นต่อพวกเขายิ่งกว่าความจำเป็นที่มีต่ออาหารและเครื่องดื่ม การใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ในการแสวงหาและเก็บเกี่ยวความรู้มีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การศึกษาบทเรียนต่างๆที่สำคัญ การสดับฟังเทปบันทึกเสียงต่างๆที่เป็นประโยชน์ และการอ่านหนังสือที่มีคุณค่า เป็นต้น
- ซิกรุลลอฮฺ (การรำลึกถึงอัลลอฮฺ)
ไม่มีการงานใดที่สามารถปฏิบัติตลอดช่วงเวลาเหมือนกับการรำลึกถึงอัลลอฮฺ (ซิกรุลลอฮฺ) การรำลึกถึงอัลลอฮฺเป็นแนวทางที่สะดวกและเรียบง่าย มุสลิมไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองหรือความอุตสาหะใดๆ แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งเสียแก่เศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งไว้ว่า
«لا يَزَالُ لِسَانُكَ رَطْباً مِنْ ذِكْرِ اللهِ»
“จงให้ปากของเจ้าเปียกชุ่มกับการกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺอยู่ตลอดเวลา”
(บันทึกโดยอะหฺมัด หมายเลขหะดีษ 17680 ชัยคฺอัล-อัลบานีย์ ในเศาะหีหฺอัตตัรฆีบวัตตัรฮีบ 1491)
ช่างเป็นสิ่งที่สวยงามยิ่ง หากหัวใจของมุสลิมอุดมด้วยการรำลึกถึงพระผู้อภิบาลของของเขาอยู่ตลอดเวลา เมื่อเขาจะพูดก็จะรำลึกถึงพระองค์ และเมื่อเขาจะเคลื่อนไหวก็ด้วยกับคำสั่งใช้ของพระองค์
- หมั่นปฏิบัติอามัลสุนนะฮฺให้มาก
การปฏิบัติอามัลสุนนะฮฺเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการใช้เวลาแห่งชีวิตให้เกิดประโยชน์ในหนทางแห่งการภักดีต่ออัลลอฮฺ และเป็นตัวแปรที่สำคัญในการขัดเกลาจิตใจให้ผ่องใส นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับชดเชยและเติมเต็มในสิ่งที่บกพร่องขณะปฏิบัติสิ่งที่เป็นฟัรฎู และที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ การปฏิบัติอามัลสุนนะฮฺจะทำให้บ่าวคนหนึ่งได้รับความรักจากอัลลอฮฺ (ดังที่พระองค์ได้กล่าวในหะดีษกุดซีย์ว่า)
«ومَا يَزَالُ عَبْدِي يَتَقَرَّبُ إِلَيَّ بِالنَّوَافِلِ حَتَّى أُحِبَّهُ»
“และบ่าวของข้าจะยังคงใกล้ชิดข้าด้วยการปฏิบัติอามัลสุนนะฮฺต่าง ๆ จนกระทั่งข้ารักเขา”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 6502)
- เชิญชวนผู้คนสู่อัลลอฮฺ สอนสั่งในสิ่งที่ความดีงาม ห้ามปรามจากความชั่วร้าย และให้คำตักเตือนแก่ชาวมุสลิมทั้งหลาย
แนวทางต่างๆเหล่านี้ล้วนสะดวกและเรียบง่ายสำหรับการใช้ห้วงเวลาแห่งชีวิตให้เกิดประโยชน์ การเรียกร้องและเชิญชวนผู้คนสู่อัลลอฮฺ ตะอาลาเป็นภารกิจหลักของบรรดาเราะสูลและเป็นสาสน์ของเหล่านบี อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสในเรื่องนี้ว่า
﴿قُلْ هَذِهِ سَبِيْلِي أَدْعُو إِلَى اللهِ عَلَى بَصِيْرَةٍ أَنَا وَمَنِ اتَّبَعَنِيْ﴾
“จงกล่าวเถิด (โอ้มุหัมมัด ว่า) นี่คือแนวทางของฉัน ฉันจะเรียกร้อง (ผู้คน) ไปสู่อัลลอฮฺอย่างประจักษ์แจ้ง ทั้งตัวฉันและผู้ดำเนินตามฉัน”
(สูเราะยูสุฟ : 108)
พี่น้องมุสลิมของฉัน ท่านจงเพียรพยายามอย่างที่สุดในการใช้เวลาของท่านให้เกิดประโยชน์ด้านการเรียกร้องและเชิญชวนผู้คน (สู่อัลลอฮฺ) ไม่ว่าจะด้วยวิธีการกล่าวบรรยาย หรือแจกจ่ายหนังสือเล่มเล็กๆ หรือเทปบันทึกเสียงต่างๆ หรือเชิญชวนครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนบ้านของท่าน (สู่การภักดีต่ออัลลอฮฺ)
- เยี่ยมเยียนเครือญาติและผูกสัมพันธไมตรีกับพวกเขา
การเยี่ยมเยียนเครือญาติและผู้สัมพันธไมตรีกับพวกเขาเป็นสาเหตุหนึ่งจะทำให้ได้เข้าสวรรค์ ได้รับความเมตตา (จากอัลลอฮฺ) ได้รับการเพิ่มพูนอายุ (มีความบะเราะกะฮฺในชีวิต) และมีความสะดวกในปัจจัยยังชีพ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ أَحَبَّ أَنْ يُبْسَطَ لَهُ فِي رِزْقِهِ ، وَيُنْسَأَ لَهُ فِي أَثَرِهِ ، فَلْيَصِلْ رَحِمَهُ»
“ผู้ใดที่ประสงค์จะให้เกิดความสะดวกในปัจจัยยังชีพและมีอายุยืน เขาก็จงผูกสัมพันธไมตรีกับเครือญาติของเขา”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ 2067 มุสลิม หมายเลขหะดีษ 6615)
- ฉกฉวยเวลาประจำวันที่ประเสริฐ
เช่น เวลาหลังจากละหมาด ช่วงระหว่างการอะซานและอิกอมะฮฺ ช่วงสุดท้ายของค่ำคืน ในขณะได้ยินเสียงเรียกร้องสู่การละหมาด และหลังจากละหมาดศุบหฺกระทั่งตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า ช่วงเวลาต่างๆเหล่านี้จะประกอบด้วยอิบาดะฮฺต่างๆที่ศาสนาส่งเสริมให้ปฏิบัติ (ด้วยการปฏิบัติอิบาดะฮฺสุนนะฮฺในเวลาต่างๆดังกล่าว) จะส่งผลให้บ่าวผู้นั้นได้รับการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่และผลบุญอันมหาศาล
- เรียนรู้สิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์
เช่น เรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาษาต่างๆ ท่อน้ำประปา ไฟฟ้า ช่างไม้และอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวมุสลิมเองและพี่น้องของเขา
พี่น้องมุสลิมของฉัน นี่คือโอกาสที่ทรงคุณค่า วิธีการที่มีมากมาย และแนวทางที่หลากหลาย ซึ่งข้าพเจ้าได้นำเสนอให้แก่ท่านเพื่อเป็นตัวอย่าง –ที่จริงแล้วเส้นทางแห่งทำความดีงามนั้นไม่มีขีดจำกัด- ทั้งนี้เพื่อให้ท่านสามารถใช้เวลาของท่านให้เกิดประโยชน์เคียงข้างหน้าที่รับผิดชอบหลักที่ท่านจำเป็นต้องปฏิบัติ
ฝ่ายวิชาการสำนักพิมพ์ ดารฺ อัล-วะฏ็อน
แปลโดย : แวซาบรี แวยะโก๊ะ / Islamhouse