ปัจจัยต่างๆที่จะช่วยในการรักษาเวลา
- ทบทวนตัวเอง
การทบทวนตัวเองถือเป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้มุสลิมสามารถใช้ประโยชน์จากเวลาของเขาในหนทางแห่งการเชื่อฟังอัลลอฮฺ การทบทวนตัวเองเป็นกิจวัตของบรรดาผู้ศอลิหฺและเป็นวิถีทางของบรรดาผู้ยำเกรง
พี่น้องมุสลิมของฉัน ท่านโปรดทบทวนตัวเองเถิด และถามตัวเองว่า ในแต่ละวันที่ผ่านพ้นไปได้ทำอะไรไว้บ้าง ? ท่านใช้เวลาให้หมดไปทางไหน ? ท่านใช้เวลาแต่ละวันของท่านให้ดำเนินไปกับสิ่งใด ? เวลาแต่ละวันของท่านได้เพิ่มพูนความดีงามบ้างหรือไม่ ? หรือเพิ่มพูนแต่ความผิดบาป
- ขัดเกลาจิตใจให้มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่
ผู้ใดที่ได้ขัดเกลาจิตใจของเขาให้ผูกพันกับกิจการต่างๆที่ประเสริฐและมีคุณค่า และหลีกห่างออกจากกิจการต่างๆที่ไร้สาระและไม่เกิดประโยชน์ เขาก็จะกลายเป็นผู้ที่จัดกสรรการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และผู้ใดที่มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ เขาก็จะไม่ยอมรับความต้อยต่ำ และหากมีความพากเพียรขนาดไหนผลของความพากเพียรก็จะไปหาเขาดั่งที่เขาได้พากเพียรไว้
“หากผู้ใดไม่ยอมไขว่คว้าสิ่งที่สูงส่ง และพอใจกับความต่ำต้อย ก็จะไม่มีผู้ใดต่ำต้อยกว่าเขา”
- คบหากับผองเพื่อนที่ใส่ใจกับเวลา
การคบหาและคลุกคลีกับพวกบรรดาผู้ที่ใส่ใจกับเวลา และพยายามใกล้ชิดกับพวกเขา รวมทั้งยึดพวกเขาเป็นแบบอย่าง จะช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากเวลาอย่างเต็มที่ และจะทำให้จิตใจมีพลังที่จะใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาแห่งชีวิตในหนทางแห่งการเชื่อฟัง (ฏออะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ และขออัลลอฮฺโปรดเมตตาผู้ที่กล่าวว่า
“หากท่านอยู่ท่ามกลางกลุ่มชนหนึ่ง ก็จงคบหากับผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเขา
และจงอย่าคบหากับผู้ที่ต่ำช้า เพราะท่านจะกลายเป็นผู้ที่ต่ำช้าตามไปด้วย
ท่านจงอย่าถามว่าตนนั้นเป็นใคร แต่จงถามว่าใครคือมิตรสหายของเขา
เพราะมิตรสหายแต่ละคน ย่อมต้องฉายให้เห็นถึง (ธาตุแท้ของ) คู่หูของเขา”
- เรียนรู้วิธีการบริหารเวลาของชาวสะลัฟ
การเรียนรู้ถึงสภาพการดำเนินชีวิตของชาวสะลัฟและอ่านชีวประวัติของพวกเขา เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้มุสลิมสามารถใช้ประโยชน์จากเวลาได้อย่างถูกวิธี เพราะพวกเขาคือกลุ่มชนที่ตระหนักที่สุดถึงคุณค่าของเวลาและความสำคัญของชีวิต พวกเขาคือแบบอย่างที่ดีที่สุดในการใช้ประโยชน์จากนาทีแห่งชีวิตอย่างคุ้มค่า และใช้ประโยชน์ทุกลมหายใจในวิถีทางแห่งการเชื่อฟัง (ฏออะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ
- สร้างความหลากหลายในการใช้เวลา
โดยธรรมชาติแล้วจิตใจของมนุษย์ค่อนข้างจะเบื่อหน่ายเร็ว ไม่ชอบสิ่งที่ซ้ำซากจำเจ ดังนั้นการสร้างความหลากหลายในการงานจะทำให้จิตใจรู้สึกผ่อนคลาย และสามารถใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาได้มากที่สุด
- ตระหนักว่าเวลาที่เคลื่อนผ่านจะไม่หวนกลับมาอีกและไม่สามารถชดเชยได้
ทุกๆวันจะดำเนินไป ทุกๆชั่วโมงจะสิ้นสุด ทุกๆวินาทีจะเคลื่อนผ่านไป โดยไม่สามารถเรียกกลับคืนมาอีก และไม่สามารถชดเชยได้อีก นี่คือความหมายของคำพูดท่านอัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ ที่ว่า
“ไม่มีวันใดที่เคลื่อนผ่านไปจากลูกหลานอาดัม นอกจากมันจะกล่าวขึ้นว่า โอ้ลูกหลานอาดัมเอ๋ย ข้าคือวันใหม่ และจะเป็นสักขีพยานต่อการงานของเจ้า เมื่อข้าได้จากเจ้าไปแล้ว ข้าจะไม่หวนกลับมาหาเจ้าอีก ดังนั้นเจ้าจงสะสางการงานตามแต่เจ้าประสงค์ แล้วเจ้าจะพบมันอยู่เบื้องหน้าเจ้า และจงละเลยการงานตามแต่เจ้าประสงค์ เพราะมันจะไม่หวนกลับมาหาเจ้าอีกตลอดกาล”
- รำลึกถึงความตายและช่วงเวลาที่ใกล้ตาย
ขณะที่มนุษย์กำลังหันหลังให้กับโลกและมุ่งหน้าสู่อาคิเราะฮฺ พวกเขาต่างใฝ่ฝันอยากได้รับการยืดเวลาสักช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อที่จะได้แก้ไขในสิ่งที่ตนเคยสร้างความเสียหายไว้ และจะได้สะสางในสิ่งที่ตนได้พลาดพลั้ง แต่มันย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะช่วงเวลาแห่งการประกอบคุณงามความดีได้สิ้นสุดลง และเวลาแห่งการสอบสวนและการตอบแทนได้มาถึงแล้ว ดังนั้นการที่มนุษย์ได้รำลึกถึงสภาพดังกล่าว จะทำให้เขามีความเพียรพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากเวลาที่มีอยู่ให้เป็นไปเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ตะอาลา
- ไม่คบหากับผู้ที่ชอบปล่อยเวลาให้สูญเปล่า
การคบหากับผู้ที่เกียจคร้านและคลุกคลีกับผู้ที่ชอบปล่อยเวลาให้สูญเปล่า เป็นการทำลายศักยภาพของมนุษย์ และสร้างความสูญเสียต่อเวลาอันมีค่าของเขา เพราะแต่ละบุคคลจะถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนคู่หูและมิตรสหายของเขา
ท่านอับดุลลอฮฺ บินมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จึงกล่าวว่า
“แต่ละคนจะถูกพิจารณาตามบุคลิกของสหายที่เขาคบหาอยู่ เพราะแต่ละคนจะคบหากับสหายที่มีบุคลิกเหมือนกับเขาเท่านั้น”
- รำลึกถึงคำสอบสวนเกี่ยวกับเวลาในวันกิยามะฮฺ
ขณะที่มนุษย์กำลังยืนอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์ของพระผู้อภิบาลของเขาในวันที่แสนจะร้อนระอุ เขาจะถูกถามเกี่ยวกับเวลาและอายุของเขาว่า เขาใช้เวลาให้หมดไปอย่างไร ? เขาใช้เวลาให้หมดที่ไหน ? เขาใช้เวลาให้หมดไปเพื่อการใด ? และเขาเติมเต็มเวลาของเขาด้วยสิ่งใด ?
ท่านนบี ได้กล่าวว่า
«لاَ تَزُولُ قَدَمَا عَبْدٍ يَوْمَ الْقِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ عَنْ أَرْبَعٍ : عَنْ عُمُرِهِ فِيمَا أَفْنَاهُ، وَعَنْ جَسَدِهِ فِيمَا أَبْلاَهُ، وَعَنْ مَالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيمَا وَضَعَهُ، وَعَنْ عِلْمِهِ مَاذَا عَمِلَ فِيهِ»
“ในวันกิยามะฮฺสองเท้าของบ่าวแต่ละคนจะไม่เคลื่อนจนกว่าเขาจะถูกสอบสวนเกี่ยวกับ 4 ประการ
1. เกี่ยวกับอายุของเขาว่า เขาใช้หมดไปในทางใด
2. เกี่ยวกับร่างกายของเขาว่าเขาใช้งานทางใด
3. เกี่ยวกับทรัพย์สินของเขาว่าเขาได้มาอย่างไรและใช้จ่ายไปในทางใด
4. เกี่ยวกับความรู้ของเขาว่าเขานำมันไปปฏิบัติอย่างไร”
(บันทึกโดยอัฏเฏาะบะรอนียฺ 111 ชัยคฺอัล-อัลบานีย์กล่าวว่า เป็นหะดีษเศาะฮีหฺลิฆ็อยริฮฺ)
ด้วยการรำลึกถึงการสอบสวนดังกล่าวจะช่วยให้มุสลิมสามารถใช้เวลาได้อย่างมีคุณค่า และนำมาใช้ประโยชน์ในหนทางแห่งความโปรดปรานของอัลลอฮฺ
ชาวสะลัฟกับการบริหารเวลา
ท่านอัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ กล่าวว่า
“ลูกหลานอาดัมเอ๋ย แท้จริงตัวเจ้าเปรียบเสมือนวันเวลา เมื่อวันหนึ่งได้จากไป ก็เหมือนกับส่วนหนึ่งของตัวเจ้าได้จากไปด้วย”
ท่านยังกล่าวอีกว่า
“ลูกหลานอาดัมเอ๋ย ชีวิตช่วงกลางวันของเจ้าคือแขกคนสำคัญของเจ้า ดังนั้นเจ้าจงทำดีต่อมัน
เพราะหากเจ้าทำดีต่อมัน มันก็จะจากไปพร้อมกับการสรรเสริญเจ้า และหากเจ้าทำไม่ดีต่อมัน มันก็จะจากไปพร้อมกับการประณามเจ้า เช่นเดียวกับช่วงกลางคืนของเจ้า”
ท่านยังกล่าวอีกว่า
“โลกนี้มีเพียง 3 วันเท่านั้น: อาจจะเป็นวันวาน ซึ่งมันได้ผ่านพ้นไปแล้วพร้อมกับสิ่งที่เจ้าได้กระทำไว้
หรืออาจจะเป็นวันรุ่งขึ้น ซึ่งเจ้าอาจจะไม่ทันได้เจอกันมัน ส่วนวันนี้ เป็นวันของเจ้า ดังนั้นเจ้าจงปฏิบัติอามัล (ให้ดีที่สุด) ในวันนี้เถิด”
ท่านอิบนุมัสอูด ได้กล่าวว่า
“ฉันไม่ได้รู้สึกเสียใจกับสิ่งใดมากเท่ากับที่ฉันเสียใจกับวันหนึ่งที่ดวงอาทิตย์ได้ลับขอบฟ้า ทำให้อายุขัยของฉันก็ลดน้อยลง แต่อามัลของฉันกลับไม่เพิ่มขึ้นเลย”
ท่านอิบนุ ก็อยยิม กล่าวว่า
“การสูญเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าความตาย
เพราะการสูญเสียเวลาจะทำให้เจ้าตัดขาดจากอัลลอฮฺและโลกอาคีเราะฮฺ ส่วนความตายจะทำให้เจ้าตัดขาดจากโลกดุนยาและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น”
ท่านอัสสะรียฺ บิน อัล-มุฆ็อลลิส ได้กล่าวว่า
“หากเจ้ารู้สึกเสียใจต่อการลดน้อยลงของทรัพย์สินเจ้า เจ้าก็จงร้องไห้ต่อการลดน้อยลงของอายุขัยเจ้า”
ฝ่ายวิชาการสำนักพิมพ์ ดารฺ อัล-วะฏ็อน
แปลโดย : แวซาบรี แวยะโก๊ะ / Islamhouse