หน้าที่ของผู้ศรัทธาที่ต้องปฏิบัติต่อเวลา
ในเมื่อเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด กระทั่งถูกนับเป็นวินาทีของชีวิตที่แท้จริง ดังนั้น มุสลิมจึงมีหน้าที่ที่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเวลาของเขา โดยที่จำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญ และตั้งมันให้อยู่เบื้องหน้า ส่วนหนึ่งหน้าที่ที่มุสลิมจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเวลา คือ
ต้องพยายามใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
หากมนุษย์มีความกระตือรือร้นในทรัพย์สิน มีความเพียรพยายามที่จะรักษามันไว้และใช้ประโยชน์จากมันให้คุ้มค่าที่สุด โดยที่เขาก็ทราบดีว่าทรัพย์สินเมื่อได้มามันก็จากไป มุสลิมจึงจำเป็นต้องพยายามรักษาเวลาและใช้ไปในหนทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อศาสนาและการใช้ชีวิตบนโลกนี้ของเขา และใช้ประโยชน์ในหนทางที่จะนำมาซึ่งความดีงามและความผาสุกที่สุดแก่ชีวิต โดยเฉพาะ เมื่อได้ทราบว่าเวลาที่ได้พรากจากเขาไปแล้วจะไม่มีวันหวนกลับคืนมาอีก
บรรดาชาวสะลัฟอัศศอลิหฺในอดีต มีความขะมักเขม้นในการรักษาเวลาของเขาเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาทราบดีถึงคุณค่าของเวลา พวกเขาจะพยายามรักษามันอย่างจริงจัง โดยที่พวกเขาไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปแม้เพียงวันเดียว หรือเพียงครึ่งวัน หรือแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของเวลาที่ผ่านไป หรือแม้เพียงน้อยนิด โดยปราศจากการเพิ่มเติมเสบียงแห่งความรู้ที่มีประโยชน์ หรืออามัลที่ดีงาม หรือการต่อสู้กับอารมณ์ และการทำดีต่อผู้อื่น
ท่านอัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ กล่าวว่า
“ฉันได้พบกับกลุ่มชนหนึ่ง ซึ่งพวกเขาได้ให้ความสำคัญต่อเวลาของพวกเขา มากยิ่งกว่าการให้ความสำคัญต่อดิรฮัม และดินาร(ทรัพย์สินเงินทอง)ของพวกเจ้า”
การบริหารเวลา
หน้าที่ประการหนึ่งที่มุสลิมจำเป็นต้องปฏิบัติต่อเวลา คือ การบริหารเวลาให้เป็นระบบระหว่างหน้าที่รับผิดชอบและภารกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภารกิจด้านกิจการศาสนาหรือภารกิจด้านกิจการทางโลก โดยที่ไม่ทำให้ภารกิจหนึ่งเกิดผลกระทบต่ออีกภารกิจหนึ่ง และจะไม่ทำให้ภารกิจที่สำคัญน้อยกว่าไปกระทบต่อภารกิจที่สำคัญมากกว่า
คนศอลิหฺท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า
“เวลาของบ่าวแต่ละคนมีแค่ 4 ช่วงเวลาเท่านั้น และจะไม่มีช่วงเวลาที่ 5 นั่นคือ
1. ช่วงเวลาที่มีความสุข (นิอฺมะฮฺ)
2. ช่วงเวลาแห่งการทดสอบ (บะลาอฺ)
3. ช่วงเวลาแห่งการภักดี (ฏออะฮฺ) และ
4. ช่วงเวลาแห่งการการฝ่าฝืน (มะอฺศียะฮฺ)
ดังนั้นท่านจงให้เวลาที่มีอยู่เป็นไปเพื่ออัลลอฮฺเถิด ด้วยการเคารพภักดีและปฏิบัติในสิ่งที่บ่าวคนหนึ่งจำเป็นที่ต้องทำแด่นายของเขา (รุบูบียะฮฺ)
♥ ผู้ใดที่อยู่ในช่วงเวลาแห่งการเชื่อฟัง (ฏออะฮฺ) เส้นทางของเขาก็ได้ชื่นชมความกรุณาของอัลลอฮฺที่ทรงให้ทางนำแก่เขา และทรงมอบความง่ายดายในการดำรงชีวิตของเขา
♥ ผู้ใดที่ช่วงเวลาอยู่ในความโปรดปราน ดังนั้นเส้นทางของเขาคือการชุกูร (ขอบคุณต่ออัลลอฮฺ)
♥ ผู้ใดที่ช่วงเวลาอยู่ในความฝ่าฝืนต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ (มะอฺศียะฮฺ) ดังนั้นเส้นทางของเขาคือการเตาบะฮฺ (สำนึกผิด) และอิสติฆฟารฺ (ขออภัยโทษ)
♥ ผู้ใดที่ช่วงเวลาอยู่ในห้วงแห่งการทดสอบ ดังนั้นเส้นทางของเขาคือ การยอมรับและอดทน”
ฉกฉวยโอกาสจากช่วงเวลาว่างให้เกิดประโยชน์
เวลาว่างเป็นความโปรดปรานประการหนึ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะหลงลืมไป เราจึงพบว่าพวกเขาไม่คิดที่จะขอบคุณต่อนิอฺมะฮฺของเวลาว่าง และไม่เอาใจใส่อย่างจริงจังต่อคุณค่าของเวลาว่าง
ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า
«نِعْمَتَانِ مَغْبُونٌ فِيهِمَا كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ الصِّحَّةُ وَالْفَرَاغُ»
“มีความโปรดปราน (นิอฺมะฮฺ) สองประการที่มนุษย์ส่วนมากมักจะปล่อยให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ นั่นคือ การมีสุขภาพที่ดีและการมีเวลาว่าง”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ : 6412)
แท้จริงท่านนบี ได้ส่งเสริมให้รีบฉกฉวยโอกาสจากช่วงเวลาว่าง (ให้เป็นประโยชน์) ท่านกล่าวว่า
«اغْتَنِمْ خَمْسًا قَبْلَ خَمْسٍ: شَبَابَكَ قَبْلَ هَرَمِكَ، وَصِحَّتَكَ قَبْلَ سَقَمِكَ، وَغِنَاكَ قَبْلَ فَقْرِكَ، وَفَرَاغَكَ قَبْلَ شُغْلِكَ، وَحَيَاتَكَ قَبْلَ مَوْتِكَ»
“จงฉกฉวยโอกาสกระทำห้าประการก่อนที่อีกห้าประการจะมาถึง
♦ วัยหนุ่มของท่าน ก่อนที่ท่านจะแก่ชรา
♦ สุขภาพที่ดีของท่าน ก่อนที่ท่านจะเจ็บป่วย
♦ ความร่ำรวยของท่าน ก่อนที่ท่านจะยากจน
♦ เวลาว่างของท่าน ก่อนที่ท่านจะมีภาระที่ยุ่งเหยิง
♦ การมีชีวิตของท่านก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต”
(บันทึกโดยอัลหากิม หมายเลขหะดีษ 7846 ชัยคฺอัล-อัลบานีย์ ในเศาะหีหฺอัตตัรฆีบวะตัรฮีบ 3355)
คนศอลิหฺท่านหนึ่งได้กล่าวว่า
“ช่วงเวลาที่ว่างจากภารกิจต่างๆ ถือเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ หากบ่าวท่านใดได้ปฏิเสธ (ไม่ขอบคุณ) ต่อความโปรดปรานนี้ ด้วยการเปิดประตูให้อารมณ์แห่งความใฝ่ต่ำเข้าไป (มีบทบาท) ในชีวิต และชักจูงไปสู่การควบคุมของตัณหาราคะต่างๆ แล้วอัลลอฮฺก็จะทำให้ความโปรดปรานที่มีอยู่ในหัวใจของเขาขุ่นมัว และพระองค์จะทรงถอดถอนความบริสุทธิ์ที่มีอยู่ในหัวใจของเขาออกไป”
ดังนั้น ผู้ที่มีสติปัญญาจำเป็นต้องขับเคลื่อนเวลาว่างของเขาด้วยสิ่งที่ดีงาม หากไม่แล้วความโปรดปรานของเวลาว่างที่มีอยู่ก็จะเปลี่ยนผันเป็นภัยคุกคามตัวเอง ด้วยเหตุนี้จึงมีคนกล่าวว่า
“เวลาว่างสำหรับผู้ชายคือความเผลอเรอ ส่วนผู้หญิงคือการกระตุ้นตัณหาราคะ”
ฝ่ายวิชาการสำนักพิมพ์ ดารฺ อัล-วะฏ็อน
แปลโดย : แวซาบรี แวยะโก๊ะ / Islamhouse