ใช้เวลาอย่างไรให้เกิดประโยชน์
  จำนวนคนเข้าชม  25919

ใช้เวลาอย่างไรให้เกิดประโยชน์


 

มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว การสถาพรและความศานติจงมีแด่ผู้ที่ไม่มีนบีหลักจากท่าน –มุหัมมัด

          ผู้ใดที่ติดตามข่าวคราวของผู้คน ตรึกตรองถึงสภาพต่างๆของพวกเขา และได้รับรู้ว่าพวกเขาใช้ทำอะไร และปล่อยให้อายุผ่านพ้นไปอย่างไรบ้าง เขาก็จะทราบว่าผู้คนส่วนใหญ่จะสูญเสียเวลาในสิ่งเปล่าประโยชน์ พวกเขาจะถูกกีดกั้นจากความสุขของการใช้อายุและเวลาให้เป็นประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่าพวกเขาจะใช้เวลาที่มีอยู่และปล่อยชีวิตให้ดำเนินผ่านไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวเขา

         บางคนรู้สึกแปลกใจต่อความเบิกบานใจและปลื้มปิติกับการใช้เวลาในแต่ละวันให้ผ่านพ้นไปอย่างไร้ค่า โดยลืมไปว่า ทุกเสี้ยวนาทีชีวิตที่ผ่านพ้นไป จะทำให้พวกเขาเข้าใกล้หลุมฝังศพและวันอาคิเราะฮฺมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันมันจะทำให้พวกเขายิ่งออกห่างจากโลกนี้

แท้จริงเราต่างเบิกบานใจกับวันเวลาที่ได้ใช้ไป     ในขณะที่แต่ละวันที่ผ่านไปคือส่วนหนึ่งของอายุ

         เนื่องจากเวลาคือชีวิต ซึ่งเป็นอายุที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์ และการรักษาเวลาเป็นแหล่งบังเกิดของทุกความดีงาม ส่วนการสูญเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์เป็นบ่อเกิดของความชั่วร้ายทั้งปวง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำการชี้แจงถึงคุณค่าของเวลาในชีวิตของมุสลิม ว่ามุสลิมมีหน้าที่ในการบริหารเวลาอย่างไร มีปัจจัยใดบ้างที่จะช่วยให้เขาสามารถรักษาเวลา และมุสลิมจะใช้เวลาในทางใดบ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

         เราขอวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺทรงบันดาลให้เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาผู้ที่พระองค์ทรงให้อายุยืนยาวพร้อมกับการปฏิบัติที่อยู่ในครรลองคลองธรรม และโปรดประทานปัจจัยที่ทำให้เราได้ใช้ประโยชน์จากเวลาของเราให้คุ้มค่า เพราะพระองค์คือผู้ได้รับการวอนขอที่ประเสริฐที่สุด

 

คุณค่าและความสำคัญของเวลา

         มนุษย์เมื่อเขาได้รับรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว เขาย่อมต้องระแวดระวังและรู้สึกเป็นเรื่องใหญ่ (เสียใจ) กับการสูญเสียและพรากจากไปของมัน นี่คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างประจักษ์ชัด ดังนั้น เมื่อมุสลิมได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของเวลาแล้ว เขาย่อมต้องเพียรพยายามอย่างที่สุดเพื่อรักษาเวลาไม่ให้สูญสิ้นโดยเปล่าประโยชน์และใช้ประโยชน์จากมันในกิจการที่สร้างความใกล้ชิดกับพระผู้อภิบาลของเขา

 ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิม ได้ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ว่า

          “เวลาของมนุษย์คือห้วงชีวิตแท้จริงของเขา มันคือองค์ประกอบของชีวิตที่จะคงอยู่ตลอดไปในห้วงแห่งความโปรดปรานอันสถาพร (ในสวนสวรรค์) ขณะเดียวกันมันก็เป็นองค์ประกอบของชีวิตที่ทุกข์ยากในห้วงแห่งการลงโทษที่เจ็บปวด (ในขุมนรก) มันจะเคลื่อนผ่านไปประดุจการเคลื่อนผ่านของปุยเมฆ ดังนั้นผู้ใดที่เวลาของเขาดำเนินไปเพื่ออัลลอฮฺและสำหรับอัลลอฮแล้วไซร้ นั่นแหละคือชีวิตและอายุที่แท้จริงของเขา ส่วนเวลาอื่นจากนั้นไม่ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา... ดังนั้นหากเขาใช้เวลาให้หมดไปกับความหลงระเริงและความใฝ่ฝันที่จอมปลอม และการใช้เวลาที่ดีที่สุดของเขาคือการนอนและเสเพล การเสียชีวิตของคนเช่นนี้ย่อมเป็นการดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป”

ท่านอิบนุลเญาซีย์กล่าวว่า

          “มนุษย์จำเป็นต้องทราบถึงความประเสริฐและคุณค่าของเวลาที่มีอยู่ ดังนั้น เขาก็จะไม่ปล่อยให้เสี้ยวหนึ่งของช่วงเวลาสูญเสียไปในหนทางที่ไม่ก่อให้เกิดความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ และเขาจะดำเนินเวลาของเขาให้หมดไปกับความดีงามตลอดไปทั้งจากคำพูดและการกระทำ และเจตนาของเขาให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี โดยไม่รู้สึกอ่อนล้าและท้อแท้ในสิ่งที่ร่างกายของเขาสามารถกระทำได้”

 

          แน่นอนว่า อัลกุรอานและอัสสุนนะฮฺได้เอาใจใส่กับเวลาในด้านต่างๆ และในรูปแบบที่หลากหลาย แท้จริงอัลลอฮฺได้สาบานด้วยเวลาในการเริ่มต้นของสูเราะฮฺต่างๆ พระองค์ได้สาบานด้วยบางส่วนของเวลา เช่น อัล-ลัยลฺ (กลางคืน) อัน-นะฮาร (กลางวัน) อัล-ฟัจรฺ (ยามรุ่งอรุณ) อัฎ-ฎุฮา (ยามสาย) และ อัล-อัศรฺ (ยามเย็น) ดังปรากฏในคำตรัสของพระองค์ว่า

﴿واللَّيْلِ إِذَا يَغْشَ، والنَّهَارِ إِذَا تَجَلَّى﴾

“ขอสาบานด้วยเวลากลางคืน เมื่อมันปกคลุม และเวลากลางวันเมื่อมันประกายแสง”

(สูเราะฮฺอัล-ลัยลฺ : 1-2)

﴿وَالْفَجْرِ وَلَيَالٍ عَشْرٍ﴾

 “ขอสาบานด้วยยามรุ่งอรุณ และด้วยค่ำคืนทั้งสิบ”

(สูเราะฮฺอัลฟัจรฺ : 1-2)

﴿وَالضُّحَى وَاللَّيْلِ إِذَا سَجَى﴾

“ขอสาบานด้วยเวลาสาย และด้วยเวลากลางคืนเมื่อมันมืด และสงัดเงียบ” 

(สูเราะฮฺอัฎฎุฮา 1-2) 

﴿وَالْعَصْرِ إِنَّ الإِنْسَانَ لَفِيْ خُسْر﴾

 “ขอสาบานด้วยกาลเวลา (หรือเวลาเย็น) แท้จริง มนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน”

(สูเราะฮฺอัลอัศรฺ : 1-2)

         เป็นที่ทราบกันว่า เมื่ออัลลอฮฺทรงสาบานด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างแล้ว ย่อมเป็นการบ่งชี้ถึงความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของสิ่งนั้น และเพื่อดึงความสนใจให้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสาบานไว้

         เช่นเดียวกับอัสสุนนะฮฺซึ่งยืนยันถึงความสำคัญและคุณค่าของเวลา และได้ประกาศว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องถูกสอบสวนเกี่ยวกับการใช้เวลาของเขาในวันกิยามะฮฺ ท่านมุอาซ บินญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า

«لاَ تَزُولُ قَدَمَا عَبْدٍ يَوْمَ الْقِيَامَةِ حَتَّى يُسْأَلَ عَنْ أَرْبَعٍ : عَنْ عُمُرِهِ فِيمَا أَفْنَاهُ، وَعَنْ جَسَدِهِ فِيمَا أَبْلاَهُ، وَعَنْ مَالِهِ مِنْ أَيْنَ اكْتَسَبَهُ وَفِيمَا وَضَعَهُ، وَعَنْ عِلْمِهِ مَاذَا عَمِلَ فِيهِ»

 “ในวันกิยามะฮฺสองเท้าของบ่าวแต่ละคนจะไม่เคลื่อนจนกว่าเขาจะถูกสอบสวนเกี่ยวกับ 4 ประการ

1.  เกี่ยวกับอายุของเขาว่า เขาใช้หมดไปในทางใด

2.  เกี่ยวกับร่างกายของเขาว่าเขาใช้งานทางใด

3.  เกี่ยวกับทรัพย์สินของเขาว่าเขาได้มาอย่างไรและใช้จ่ายไปในทางใด

4. เกี่ยวกับความรู้ของเขาว่าเขานำมันไปปฏิบัติอย่างไร”

(บันทึกโดยอัฏเฏาะบะรอนียฺ 111 ชัยคฺอัล-อัลบานีย์กล่าวว่า เป็นหะดีษเศาะฮีหฺลิฆ็อยริฮฺ)

          ท่านนบี ได้แจ้งอีกว่า เวลานั้นคือความโปรดปราน (นิอฺมะฮฺ) ของอัลลอฮฺประเภทหนึ่งที่มีต่อทุกสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างมา ดังนั้นผู้เป็นบ่าวจึงเป็นต้องขอบคุณ (ชุกูร) ในความโปรดปรานดังกล่าว หากไม่แล้ว ความโปรดปรานที่มีก็จะถูกเพิกถอนและสูญหายไปในที่สุด การขอบคุณในความโปรดปรานของเวลากระทำได้ด้วยการใช้มันในหนทางที่เกิดการภักดีต่ออัลลอฮฺ และใช้ประโยชน์จากมันด้วยกับการทำอามัลที่ดี

ท่านนบี ได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

«نِعْمَتَانِ مَغْبُونٌ فِيهِمَا كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ الصِّحَّةُ وَالْفَرَاغُ»

 “ความโปรดปราน (นิอฺมะฮฺ) สองประการที่มนุษย์ส่วนมากมักจะปล่อยให้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ นั่นคือ การมีสุขภาพที่ดีและการมีเวลาว่าง ” 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ หมายเลขหะดีษ : 6412)

 

 

 

 

ฝ่ายวิชาการสำนักพิมพ์ ดารฺ อัล-วะฏ็อน

แปลโดย : แวซาบรี แวยะโก๊ะ / Islamhouse