ปฏิบัติต่อผู้ที่กระทำบิดอะฮฺอย่างไร ?
  จำนวนคนเข้าชม  2993

ปฏิบัติต่อผู้ที่กระทำบิดอะฮฺอย่างไร ?


ชัยคฺ มุหัมมัด บิน ศอลิหฺ อัล-อุษัยมีน


         ในสมัยเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ก็มีความคิดเห็นที่ต่างกันแม้ในขณะที่ท่านนบี ยังมีชีวิตอยู่ แต่สิ่งนั้นก็ไม่เคยสร้างความแตกแยกหรือความเคียดแค้นเกลียดชังระหว่างกัน ครั้งหนึ่งท่านนบี  กล่าวแก่เศาะหาบะฮฺว่า

 “อย่าได้มีคนใดในหมู่ท่านละหมาดอัศรฺ นอกจากที่บนี กุร็อยเซาะฮฺเท่านั้น”

 (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ: 904 และมุสลิม: 1770)

          เศาะหาบะฮฺจึงออกเดินทางจากมะดีนะฮฺไปยังบนีกุร็อยเซาะฮฺ ระหว่างทางเมื่อได้เวลาละหมาดอัศรฺ พวกท่านก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า เราจะไม่ละหมาดนอกจากที่บนีกุร็อยเซาะฮฺ แม้ว่าตะวันจะลับขอบฟ้าแล้วก็ตาม เพราะท่านเราะสูล กล่าวว่า “อย่าได้มีคนใดในหมู่ท่านละหมาดอัศรฺ นอกจากที่บนี กุร็อยเซาะฮฺเท่านั้น” ซึ่งพวกเราย่อมต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ท่านนบี ต้องการกระตุ้นให้รีบเร่งเดินทางอย่างไม่ชักช้า แต่เมื่อถึงเวลาละหมาดเราก็ต้องละหมาดในเวลา

          เมื่อท่านนบี ทราบเรื่องท่านมิได้ตำหนิหรือดุด่าว่ากล่าวเศาะหาบะฮฺฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในสิ่งที่พวกท่านเข้าใจ พวกท่านเองก็ไม่ได้แตกแยกขัดแย้งกันเพียงเพราะความเข้าใจที่แตกต่างกันต่อตัวบทหะดีษของท่านเราะสูล จึงจำเป็นที่เราจะต้องหลีกห่างความแตกแยก และรักษาไว้ซึ่งความเป็นประชาชาติเดียวกัน

แต่อาจจะมีบางคนถามว่า “ในกรณีซึ่งผู้ที่เห็นต่างจากเรานั้นเป็นผู้ที่กระทำบิดอะฮฺ เราจะปฏิบัติต่อเขาอย่างไร?”

        ก่อนอื่นต้องทราบว่าบิดอะฮฺนั้นมีสองประเภท คือบิดอะฮฺที่ทำให้พ้นสภาพความเป็นมุสลิม และบิดอะฮฺที่ลดหย่อนลงมาโดยไม่ถึงขั้นทำให้พ้นสภาพความเป็นมุสลิม

           ทั้งนี้จำเป็นที่เราจะต้องดะอฺวะฮฺเชิญชวนคนทั้งสองจำพวกนี้ซึ่งประกาศตนเป็นมุสลิม แต่ได้กระทำบิดอะฮฺที่ส่งผลให้พ้นสภาพความเป็นมุสลิมหรือบิดอะฮฺในระดับที่เบากว่า ด้วยการอธิบายชี้แจงสิ่งที่เป็นสัจธรรมความถูกต้อง โดยไม่ตำหนิโจมตีสิ่งที่พวกเขากระทำจนกว่าจะทราบแน่ชัดว่าพวกเขาดื้อดึงและไม่ยอมที่จะรับฟังสิ่งที่เป็นสัจธรรม เนื่องจากอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสแก่ท่านนบี  ว่า

 "และพวกเจ้าจงอย่าด่าว่าบรรดาสิ่งที่พวกเขาวิงวอนขออื่นจากอัลลอฮฺ แล้วพวกเขาก็จะด่าว่าอัลลอฮฺ เป็นการละเมิดโดยปราศจากความรู้"

(อัช-ชูรอ: 108)

         ในลำดับแรกเราจึงต้องเรียกร้องเชิญชวนพวกเขาเหล่านั้นให้เข้าใจในสัจธรรมความถูกต้อง อธิบายแจกแจงให้ชัดเจนพร้อมหลักฐาน เพราะคนทั่วไปที่มีจิตใจปกติและเที่ยงธรรมจะสามารถรับฟังสิ่งที่เป็นความถูกต้องได้ เมื่อพบว่าพวกเขามีความดื้อดึงและไม่ยอมรับฟัง เราจึงค่อยชี้แจงข้อผิดพลาดและความหลงผิดของพวกเขา อย่างไรก็ตามการชี้แจงข้อผิดพลาดนั้นจะต้องไม่นำไปสู่การโต้เถียงกับพวกเขาเหล่านั้น

         ส่วนการปลีกตัวออกห่างและไม่คบหาสมาคมกับผู้ที่กระทำบิดอะฮฺนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของบิดอะฮฺที่เขากระทำ ถ้าหากเป็นบิดอะฮฺที่ทำให้พ้นสภาพความเป็นมุสลิม ก็จำเป็นจะต้องปลีกตัวออกห่างจากคนกลุ่มนี้ แต่ถ้าเป็นบิดอะฮฺที่ลดหย่อนลงมาก็ต้องพิจารณาดู ถ้าเห็นว่าการตัดสัมพันธ์กับพวกเขาก่อให้เกิดประโยชน์ก็ให้ทำได้ แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่น่าจะมีเป็นประโยชน์อันใดก็ควรหลีกเลี่ยง ทั้งนี้เพราะโดยหลักพื้นฐานเดิมนั้นไม่อนุญาตให้ตัดสัมพันธ์ผู้ศรัทธาด้วยกัน เนื่องจากท่านนบี กล่าวว่า

« لا يَحِلُّ لِرَجُلٍ مُؤْمنٍ أَنْ يَهْجُرَ أَخَاهُ فَوْقَ ثَلاثٍ » [رواه البخاري برقم  5727 ومسلم برقم 2560]

 “ไม่อนุญาตให้ผู้ศรัทธาโกรธเคืองและตัดสัมพันธ์พี่น้องมุสลิมเป็นเวลาเกินกว่าสามวัน”

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ: 5727 และมุสลิม: 2560)

         ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้ตัดสัมพันธ์ผู้ศรัทธาด้วยกัน แม้ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นผู้ที่หมกมุ่นในบาปความผิดและการฝ่าฝืนก็ตามหากการตัดสัมพันธ์นั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเป็นประโยชน์ก็ให้ทำได้ เพราะการตัดสัมพันธ์ไม่คบหาสมาคมด้วยนั้นถือเป็นยารักษาโรคขนานหนึ่ง แต่ถ้าไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ มิหนำซ้ำยังทำให้ผู้ที่ถูกตัดสัมพันธ์กระด้างกระเดื่องและถลำลึกลงไปในความผิดและการฝ่าฝืนมากยิ่งขึ้น ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำ

          ซึ่งทางออกของปัญหาที่กล่าวมา หมายถึงปัญหาความแตกแยกนั้น คือการที่เรายึดแนวทางของบรรดาเศาะหาบะฮฺ โดยตระหนักว่าความแตกต่างทางทัศนะและความคิดเห็นอันมีบ่อเกิดจากการ ‘อิจญ์ติฮาด’ (การที่อุละมาอ์ใช้ความรู้ความเข้าใจพิจารณาหลักฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งหุก่ม –ผู้แปล) ในประเด็นที่ให้อิจญ์ติฮาดได้นั้น ไม่ควรจะเป็นสาเหตุให้เกิดความแตกแยก ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้วสิ่งนี้อาจถือเป็นความเห็นพ้องกันเสียด้วยซ้ำ เพราะว่าพวกเราทุกคนต่างยึดถือในทัศนะที่เขาเลือกบนพื้นฐานของตัวบทหลักฐาน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วหลักฐานจึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนยึดถือ และที่ยึดถือทัศนะใดทัศนะหนึ่งก็เพราะเห็นว่าทัศนะดังกล่าวคือความเข้าใจที่ตรงกับตัวบทหลักฐาน ดังนั้นจึงไม่ควรที่เราจะรู้สึกไม่พอใจต่อพี่น้องของเราที่เห็นต่าง ยิ่งไปกว่านั้นเราควรจะต้องชื่นชมเขาด้วยซ้ำ เพราะการที่เขาเห็นต่างจากเรานั้น ก็เพราะเขาเห็นว่าสิ่งที่เขายึดถือคือความเข้าใจที่ถูกต้องจากตัวบทหลักฐานในมุมมองของเขา

         ซึ่งการที่เราจะไปบังคับผู้อื่นให้ยึดตามทัศนะของเรานั้น ก็คงไม่ได้ดีกว่าการที่เขาจะบังคับเราให้ยึดตามทัศนะของเขา ดังนั้นจึงควรทำให้การมีทัศนะที่แตกต่างกันในเรื่องที่วางอยู่บนพื้นฐานของการอิจญ์ติฮาดเป็นสิ่งที่แสดงถึงการมีความเห็นที่สอดคล้องพ้องกัน เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันจะนำมาซึ่งความดีงามต่างๆมากมาย

          ทั้งนี้ ถ้าทุกฝ่ายต่างมีเจตนาที่ดี ก็จะแก้ไขปัญหาได้ไม่ยาก แต่ถ้าเจตนาไม่ดี และต่างฝ่ายต่างยึดติดเห็นดีเห็นงามแต่เฉพาะทัศนะของตนโดยไม่สนใจผู้อื่น เช่นนี้แล้วความสำเร็จก็คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

 อัลลอฮฺได้ทรงกำชับให้บ่าวของพระองค์มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยพระองค์ตรัสว่า

 "โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด และพวกเจ้าจงอย่าตายเป็นอันขาดนอกจากในฐานะที่พวกเจ้าเป็นผู้นอบน้อม

 และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮฺโดยพร้อมกัน และจงอย่าแตกแยกกัน"

(อาล อิมรอน: 102-103)

อายะฮฺนี้ช่างเป็นคำเตือนสติที่ลึกซึ้งยิ่งนัก


         ขออัลลอฮฺตะอาลาทรงให้ข้าพเจ้าและท่านทั้งหลายได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่อยู่ในทางนำและผู้ที่ชี้นำทางสว่างแก่ผู้อื่น เป็นผู้ที่มีคุณธรรมและอุทิศตนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดี แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงโอบอ้อมอารียิ่ง

หมายเหตุ บทความนี้เป็นการถอดเทปบรรยายของเชคอัล-อุษัยมีน จัดทำโดย ฟะฮัด บิน นาศิรฺ บิน อิบรอฮีม อัส-สุลัยมาน

 

 

แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา / Islamhouse